Chonburi Sponsored

ฝนตกหนักเมืองพัทยาทำชายหาดเสียหายอีก ขยะจำนวนมากโผล่ประจานความมักง่าย

Chonburi Sponsored
Chonburi Sponsored

เผยแพร่:   ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ศูนย์ข่าวศรีราชา – ฝนตกหนักเมืองพัทยาช่วงค่ำที่ผ่านมา ทำชายหาดพัทยาเสียหายอีก หลังมวลน้ำจำนวนมากพัดพาผืนทรายลงสู่ทะเลจนเห็นกระสอบทรายที่ใช้ถมพื้นที่โผล่ขึ้นเหนือผืนทราย ขณะชาวบ้านทนไม่ได้เห็นขยะถูกน้ำพัดเกลื่อนถนน พากันนำอุปกรณ์ออกเก็บกวาด  

จากกรณีที่กรมอุตุนิยมวิทยา ได้พยากรณ์อากาศระหว่างวันที่ 5-9 ก.ย.นี้ว่าจะมีร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ในขณะที่ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทย ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-70 ของพื้นที่

และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตรนั้น

ปรากฏว่าช่วงค่ำวานนี้ (4 ก.ย.) ได้มีฝนตกหนักในพื้นที่เมืองพัทยา และเขต อ.บางละมุง จ.ชลบุรี นานกว่า 1 ชั่วโมง และยังมีลมกระโชกแรง ส่งผลให้เกิดมวลน้ำจำนวนมากไหลลงสู่ทะเลอย่างรุนแรง ขณะที่ถนนหลายสายใน อ.บางละมุง และตลาดหนองปรือ จ.ชลบุรี เกิดน้ำท่วมขังทำให้รถสัญจรลำบาก


และจากการลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพชายหาดพัทยาหลังฝนหยุดตก พบว่า มวลน้ำที่ไหลบ่าทะลักลงทะเลอย่างรุนแรงทำให้ชายหาดเมืองพัทยาหลายจุดถูกน้ำพัดทรายลงสู่ทะเล จนเป็นร่องลึกกว่า 1 เมตรและยังทำให้กระสอบทรายที่ใช้ในการถมทรายชายหาดโผล่ขึ้นเหนือผืนทรายอย่างเห็นได้ชัด

และแม้หลังฝนหยุดตกประมาณ 1 ชั่วโมง จะทำให้ปริมาณที่เอ่อท่วมขังบนถนนสายต่างๆ จะลดลงจนเข้าสู่สภาวะปกติ แต่ได้ทิ้งขยะจำนวนมากที่ถูกกระแสน้ำพัดมาติดค้างอยู่บนพื้นถนนแทบทุกสาย จนชาวบ้านในพื้นที่ทนไม่ไหวต้องนำอุปกรณ์มาเก็บกวาดขยะออกจากพื้นที่

อย่างไรก็ตาม ปัญหาการถูกกระแสน้ำเซาะชายหาดพัทยา และขยะจำนวนมหาศาลที่ถูกน้ำพัดขึ้นมาบนถนนหลังเกิดฝนตกหนักในพื้นที่เมืองพัทยา และ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ถือเป็นปัญหาซ้ำซากที่เกิดขึ้นในพื้นที่จนส่งผลต่อภาพลักษณ์เมืองท่องเที่ยวระดับโลกที่ยังคงรอการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม

Chonburi Sponsored
อำเภอ บางละมุง

อำเภอบางละมุงแต่เดิมมีฐานะเป็นเมืองบางละมุง ตั้งอยู่ที่บ้านบางละมุง ตำบลบางละมุง จนถึง พ.ศ. 2444 ได้ยุบเมืองบางละมุงเป็นอำเภอขึ้นต่อจังหวัดชลบุรี โดยมีที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่บริเวณริมคลองนกยาง ซึ่งขณะนั้นบริเวณดังกล่าวเป็นท่าน้ำที่สำคัญทั้งทางด้านการคมนาคมและเป็นที่ชุมนุมของเรือสินค้าต่าง ๆ ต่อมาคลองนกยางตื้นเขินไม่สะดวกต่อเรือสินค้าต่าง ๆ จะล่องเข้าออก ทั้งสภาพพื้นที่ไม่เหมาะสมที่จะขยายชุมชนให้กว้างขวาง นายอำเภอสมัยนั้น คือ นายเจิม (ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาสัตยานุกูล) จึงย้ายที่ว่าการอำเภอไปตั้งที่ใหม่บริเวณริมทะเลในตำบลนาเกลือ เมื่อ พ.ศ. 2452