รายงานการศึกษา : เปิดโลก ‘อาชีวะทวิภาคี’ เรียน ‘สายอาชีพ’ ควบ ‘วิชาชีวิต’
การเปิดโอกาส และพัฒนาเยาวชนเข้าสู่ระบบการศึกษา นับเป็นสิ่งที่หลายองค์กรธุรกิจให้ความสำคัญ บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่เดินหน้าโครงการเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง รวมถึง โครงการพัฒนาเยาวชนให้มีความรู้ความสามารถ เป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ และเป็นผู้นำพาประเทศไปสู่ความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจในระยะยาว โดยประสานความร่วมมือกับภาครัฐ และสถาบันการศึกษา ภายใต้โครงการ “อาชีวศึกษาระบบทวิภาคี”
ที่ผ่านมา บริษัทได้ดำเนินโครงการประสานความร่วมมือกับ วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ จ.ชลบุรี และ วิทยาลัยการอาชีพแกลง จ.ระยอง ในการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประเภทวิชาช่างอุตสาหกรรม สาขาวิชาซ่อมบำรุง และสาขาวิชาเมคคาทรอนิกส์ โดยมีรูปแบบการเรียนการสอนเป็นการเรียนวิชาพื้นฐานที่วิทยาลัย และการเรียนฝึกปฏิบัติที่โรงงาน โดยทีมไลอ้อนเป็นผู้สอน
สายชล ศีติสาร กรรมการบริษัทไลอ้อนฯ กล่าวในวันปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ประจำปี 2565 โครงการ “อาชีวศึกษาระบบทวิภาคี” ว่า ไลอ้อน ประเทศไทย มีเป้าหมายมุ่งผลิตนักศึกษาอาชีวะที่เป็นเลิศด้านคุณธรรม และปฏิบัติงานได้จริง ตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ สอดรับกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นโครงการนำร่องระบบการศึกษาไทย ที่เน้นการเรียนใน 2 ส่วน ได้แก่ วิชาชีพ และวิชาชีวิต นักเรียนที่เข้าโครงการนี้ มีโอกาสเก็บเกี่ยวประสบการณ์ และยกระดับการเรียนรู้อย่างเต็มที่ เพื่อให้พร้อมรับมือกับโลกของเทคโนโลยี AI ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ที่ผ่านมา โครงการนี้ได้เปิดโอกาสทางการศึกษาให้กับเยาวชนมาแล้ว 5 รุ่น จำนวน 58 คน ปัจจุบันอยู่ในรุ่นที่ 6 มีนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ 9 คน ผู้เข้าโครงการจะได้รับการสนับสนุนทุนการศึกษา สวัสดิการระหว่างเรียน ทั้งค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าบำรุงการศึกษา อุปกรณ์การเรียน ค่าที่พัก และรถรับส่ง รวมถึง สวัสดิการบริษัท เสมือนพนักงาน เมื่อเรียนจบจะได้รับใบประกาศนียบัตรวิชาชีพ และได้ใบรับรองการผ่านงาน รวมทั้ง มีโอกาสได้ร่วมงานกับบริษัทในอนาคต
ณัฐวุธ จันทร์เหลือง หรือ ตาต้า น้องใหม่ในโครงการ เปิดใจว่า พลาดหวังจากการสอบเข้าเรียนสายสามัญ ได้รับคำปรึกษาจากอาจารย์ที่ปรึกษา และทราบว่ามีโครงการนี้ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายที่ต้องการเป็นวิศวกร นับเป็นความโชคดีที่ได้รับโอกาสจากไลอ้อน นอกจากได้ทุนการศึกษาแล้ว ยังช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้กับทางบ้าน
“ผมถือเป็นอีกจุดเปลี่ยนที่สำคัญในการปรับตัว เคยอยู่กับครอบครัว ต้องมาใช้ชีวิตนักศึกษาในหอพัก อยากฝากน้องๆ ในรุ่นต่อไป ว่าเป้าหมายไม่ได้อยู่เพียงแค่การเรียนต่อสายสามัญเท่านั้น ยังมีประสบการณ์ใหม่ๆ ให้เราได้เรียนรู้นอกโรงเรียน อนาคตตั้งใจว่าจะเรียน และทำงานไปด้วย โดยมีเป้าหมายคือเรียนให้จบปริญญาตรี เพื่อเป็นวิศวกรให้ได้ตามที่ตั้งใจไว้” ณัฐวุธ กล่าว
รุ่งเรือง สมตน คุณแม่ของณัฐวุธ เล่าความรู้สึกที่ลูกชายได้เข้าร่วมโครงการว่า ตอนที่รู้ว่าลูกไม่ได้เรียนต่อสายสามัญ สงสารลูกมาก แต่ได้ปลอบใจ และปรึกษาอาจารย์ เพื่อคุยว่าจะเดินไปทางไหนต่อ พอรู้ว่ามีโครงการนี้ รู้สึกดีใจมากที่ลูกชายได้ทุนเรียนต่อ ทั้งยังช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายให้กับครอบครัว ขอให้ลูกได้เดินตามฝัน และไปให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งใจไว้
ปิดท้ายที่ สุภาวดี เลสัก หรือ แตงโม รุ่นพี่ ปวช.ปี 3 ที่ใกล้จบการศึกษาจากโครงการนี้ กล่าวว่า การได้ทุนเรียนต่อ นับว่าช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายให้กับแม่ ซึ่งเป็นกำลังหลักหารายได้เพียงคนเดียว แม้จะเป็นจุดเปลี่ยนจากแรงบันดาลใจเดิมที่ต้องการเป็นครู แต่การได้เข้ามาศึกษาในหลักสูตรนี้ ได้เปิดประสบการณ์ เห็นอะไรแปลกใหม่ ได้เรียนรู้จากพี่ๆ ในไลอ้อน ได้เห็นกระบวนการผลิต ใช้หุ่นยนต์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมทั้ง ได้สังคมใหม่ อยู่หอพัก ใช้ชีวิตด้วยตนเอง ส่วนเป้าหมายในชีวิตหลังเรียนจบแล้ว ตั้งใจที่จะเรียนเพิ่มเติม พร้อมกับทำงานไปด้วย เพื่อส่งเงินแบ่งเบาค่าใช้จ่ายให้กับทางบ้าน
นับเป็นอีกโครงการที่มุ่งสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับเยาวชนไทย นอกจากจะได้ความรู้ในการเรียนวิชาพื้นฐานสามัญ และวิชาชีพแล้ว สิ่งที่แตกต่างคือ การสอนวิชาทักษะการใช้ชีวิต ที่เน้นปลูกฝังด้านคุณธรรม และจริยธรรม เป็นอนาคตของชาติ ที่เป็นคนดี และคนเก่ง
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก
Line @Matichon ได้ที่นี่