Chonburi Sponsored

รวบ “เก๋ แสงรวี” สาวแสบหลอกเงินลุงคนทำสวนจนหมดตัว

Chonburi Sponsored
Chonburi Sponsored
สยามรัฐออนไลน์ 27 สิงหาคม 2565 15:35 น. อาชญากรรม

ที่ บช.ภ.2 พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.ภ.2 , พล.ต.ต.อิทธิพร โพธิ์ทอง รอง ผบช.ภ.2  พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.ภ.2  พ.ต.อ.กฤตยา เลาประสพวัฒนา รอง ผบก.สส.ภ.2 พ.ต.อ.มาโนต หวังสู้สึก ผกก.สืบสวน 1 บก.สส.ภ.2 , พ.ต.ท.ประจักษ์พงษ์ สุริยา รอง ผกก.ฯ , พ.ต.ท.นรามินธร์ เทพจักรินทร์ รอง ผกก.ฯ ,  พ.ต.ต.เอกกร วรรณทอง สว.กก.สืบสวน 1 , ร.ต.อ.มนตรี บุญเมือง พร้อม พ.ต.ต.สุวิทย์ วิสาเทศ สว.สส.สภ.ปักธงชัย , ร.ต.อ.อดุลย์ ดาวไธสง จับกุมตัวนางสาวแสงรวีหรือเก๋ ฉิมมา อายุ 39 ปี อยู่บ้านเลขที่ 67 ม.8 ต.หัวถนน อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรีผู้ต้องหา ตามหมายจับของศาลจังหวัดนครราชสีมา ที่ 235/2565 ลง 25 ส.ค.65 ตามกล่าวหาว่า     “ฉ้อโกงทรัพย์ผู้อื่น”     โดยจับกุม   หน้าบ้านเลขที่ 27 ม.4 ต.ท่าข้าม อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี

พล.ต.ต.ธีรเดช  กล่าวว่า ชุดลาดตระเวนออนไลน์สืบสวน ภ.2 ตามนโยบาย พล.ต.อ.สุวัฒน์  แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้ตรวจสอบพบว่า วันที่ 26 ก.ค.65 นายอุ่น (สงวนนามสกุล) อายุ 67 ปี ชาว อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา ผู้เสียหาย ได้ร้องเรียนกับผู้สื่อข่าวว่า เมื่อช่วงต้นปี 2563 ได้รู้จักกับ น.ส.เก๋ หรือทราบภายหลังว่าชื่อ น.ส.แสงรวี ฉิมมา ผู้ต้องหานี้  ซึ่งอาศัยอยู่หมู่บ้านเดียวกัน โดย น.ส.เก๋ฯ บอกว่า เห็น นายอุ่นฯ อยู่คนเดียว ไม่มีภรรยา กลัวว่าจะเหงา จึงอยากจะติดต่อหญิงสาวที่รู้จักกันให้ ซึ่งอ้างว่าหญิงสาวคนดังกล่าวชื่อ น.ส.กนกวรรณ ทำงานเป็นแม่ค้าเร่ขายลอตเตอรี่ จากนั้นไม่นาน น.ส.เก๋ ออกอุบายหลอกว่า น.ส.กนกวรรณ ป่วยเป็นไส้ติ่งอักเสบ นอนรอผ่าตัดอยู่ที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา น.ส.กนกวรรณฯ จึงให้ น.ส.เก๋ มาขอเงิน 27,000 บาท ตนจึงมอบเงินสดให้ไป หลังจากนั้น น.ส.เก๋ ยังหาอุบายหลอกว่า น.ส.กนกวรรณ ป่วยเป็นโรคต่างๆ นานา และขอเงินตนนำไปให้ น.ส.กนกวรรณ รักษาตัว ตนหลงเชื่อให้ไปทั้งเป็นเงินสดและเป็นการโอนเงินผ่านแอพลิเคชั่นของธนาคารต่างๆ เข้าบัญชีธนาคารชื่อบัญชีว่า น.ส.แสงรวี  ฉิมมา รวมกว่า 30 ครั้ง รวมเป็นยอดเงินทั้งหมดกว่า 3 แสนบาท ซึ่งตนไม่เคยเพบเห็นหน้า น.ส.กนกวรรณ เลย เพียงแต่โทรศัพท์พูดคุยกันเท่านั้น ต่อมาช่วงเดือนธันวาคม 2564 ตนเริ่มสงสัยในพฤติกรรมของ น.ส.เก๋ และสงสัยว่า น.ส.กนกวรรณ มีตัวตนจริงหรือไม่ จึงเดินทางไปสอบถามที่ รพ.มหาราชนครราชสีมา จนทราบข้อมูลว่า ไม่เคยมีคนไข้ชื่อ น.ส.กนกวรรณ เดินทางมาใช้บริการรักษาตัวที่โรงพยาบาลเลย ต่อมาได้ทราบข้อมูลภายหลังว่า น.ส.เก๋ แท้ที่จริงแล้วชื่อว่า น.ส.แสงรวี  ฉิมมา ซึ่งเป็นชื่อเจ้าของบัญชีที่โอนเงินไปให้ทุกครั้ง จึงเชื่อว่าถูกหลอก จึงได้แจ้งความร้องทุกข์ไว้ที่ สภ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2564 โดยหลังจากแจ้งความ น.ส.เก๋ ได้ย้ายออกจากหมู่บ้านไป และไปอาศัยอยู่กับสามีที่จังหวัดชลบุรี ซึ่งจนถึงขณะนี้เป็นระยะเวลากว่า 7 เดือนแล้ว แต่คดีไม่มีความคืบหน้า ทั้งนี้ตนออกมาร้องขอความเป็นธรรมกับสื่อมวลชน เนื่องจากเงินจำนวน 3 แสนบาท ที่ถูกหลอกลวงไป เป็นเงินเก็บของตนที่เก็บหอมรอมริบมาทั้งชีวิตจากการทำสวนทำไร่ และนอกจากนี้ตนยังเอารถยนต์กระบะของตนไปเข้าไฟแนนซ์เพื่อนำเงินไปช่วยเหลือ น.ส.กนกวรรณ ที่ไม่มีตัวตนจริงอีกด้วย ซึ่งต่อมา สภ.ปักธงชัย ได้รวบรวมพยานหลักฐานออกหมายจับผู้ต้องหานี้เอาไว้ 

 ต่อมาวันนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.สส.2 และ สภ.ปักธงชัย ได้ร่วมกันสืบสวนทราบว่า ผู้ต้องหาได้หลบหนีมาซุกซ่อนตัวอยู่ที่บ้านเลขที่ 27 ม.4 ต.ท่าข้าม อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี จึงได้เดินทางไปตรวจสอบพบตัวผู้ต้องหานี้ที่หน้าบ้านหลังดังกล่าว จึงจับกุมตัวดำเนินคดี โดยในชั้นจับกุมผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา แต่ยอมรับว่าเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับจริง และยังไม่เคยถูกจับกุมมาก่อน
 

Chonburi Sponsored
อำเภอ พนัสนิคม

สมัยเมืองพนัสนิคม ในปี พ.ศ. 2371 กำเนิดเมืองขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชานุญาตให้กลุ่มลาวอาสาปากน้ำมาสร้างภูมิลำเนาขึ้นในพื้นที่รกร้างระหว่างเมืองชลบุรีกับเมืองฉะเชิงเทรา พระราชทานนามเมืองว่าพนัสนิคม (บางเอกสารเขียน“พนัศนิคม”) มีฐานะเป็นเมืองจัตวา ขึ้นกับกรมท่า กรุงเทพมหานคร ให้ท้าวอินทิสาร (บางเอกสารเขียน”อินทพิศาล”) หรือ ท้าวทุม ปลัดลาว เมืองสมุทรปราการ บุตรชายคนโตของท้าวไชย (บางเอกสารเขียน”ศรีวิไชย”) อุปราชเมืองนครพนม ให้เป็นเจ้าเมืองพนัสนิคมคนแรกและพระราชทานราชทินนามและบรรดาศักดิ์ที่พระอินทอาษา (บางเอกสารเขียน“อินทรอาษา, อินทอาสา, อินทราษา“) มีข้อความในพระราชพงศาวดารว่า “พวกลาวอาสาปากน้ำ ตั้งขึ้นเมื่อครั้งในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าสุลาลัย ภายหลังเมื่อปีชวดสัมฤทธิศก พวกลาวไม่สบาย ขอไปตั้งอยู่ที่เมืองพระรถ จึงโปรดให้ตัดเอาแขวงเมืองชลบุรี เมืองฉะเชิงเทรา มาตั้งเป็นเมืองขึ้นชื่อเมืองพนัศนิคม เจ้าเมืองชื่อพระอินทอาษา” (พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 เล่ม 2 ของ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ฉบับคุรุสภา พิมพ์ครั้งที่หนึ่ง พ.ศ. 2504 หน้า 180) โดยลาวบุกเบิกเมืองพนัสนิคม เป็นลาวเมืองนครพนม อ้างถึงการอพยพมาสยามครั้งแรกนำโดยท้าวไชย อุปราชเมืองนครพนม เป็นโอรสในพระบรมราชา (ท้าวกู่แก้ว) เจ้าเมืองนครพนม (เมืองนครพนมในอดีต เป็นหัวเมืองในราชอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ ประเทศราชของสยาม) ไม่สมัครใจอยู่ในปกครองของพระบรมราชา (มัง) เจ้าเมืองนครพนมคนใหม่ จึงอพยพพาสมัครพรรคพวก บุตรหลาน ท้าวเพี้ย ขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2352 และโปรดเกล้าฯให้ตั้งบ้านเรือนอยู่คลองมหาวงษ์ เมืองสมุทรปราการ ยุคนั้นจึงเรียกคนกลุ่มนี้ว่าพวกลาวอาสาปากน้ำ แต่ทนสภาพแวดล้อมไม่ไหว เพราะเป็นชาวดอนน้ำจืด ถูกให้ไปอยู่เมืองลุ่มน้ำกร่อยและเค็ม เลยขอเปลี่ยนไปอยู่ที่อื่น ซึ่งสภาพใกล้เคียงที่ดอน ลาวนครพนมกลุ่มนี้ได้บุกเบิกสร้างเมืองพนัสนิคม