Chonburi Sponsored

สทนช.สั่งทุกหน่วยเร่งทบทวนแผนแม่บทฯ น้ำ 20 ปี ตอบโจทย์ความต้องการ ปชช.

Chonburi Sponsored
Chonburi Sponsored

เลขาธิการ สทนช. สั่งการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งทบทวนแผนแม่บทฯ น้ำ 20 ปี ให้ทันสมัย ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง รองรับการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์โลก สร้างความมั่นคงด้านน้ำของประเทศอย่างยั่งยืน 

วันที่ 25 ส.ค.65 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานมอบนโยบายในพิธีเปิดการประชุมกลุ่มย่อยในระดับพื้นที่ “โครงการศึกษาปรับปรุงกรอบแนวทางและค่าเป้าหมายแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี” ณ โรงแรมบางแสน เฮอริเทจ จังหวัดชลบุรี พร้อมทั้งนำคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่และสื่อมวลชน ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการฯ และสถานการณ์น้ำที่อ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี 

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เปิดเผยว่า การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้เร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนผ่านกลไกคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เพื่อให้ทุกหมู่บ้านทั่วประเทศไทยมีน้ำสะอาดใช้เพื่อการอุปโภค-บริโภค น้ำเพื่อการผลิตมั่นคง ความเสียหายจากอุทกภัยลดลง คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ภายใต้การพัฒนาอย่างสมดุลด้วยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยบูรณาการร่วมกับ 9 กระทรวง 40 หน่วยงาน ภายใต้ กนช. คณะกรรรมการลุ่มน้ำ คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดและองค์กรผู้ใช้น้ำ โดยการขับเคลื่อนแผนแม่บทฯน้ำ 20 ปี ดำเนินการมาแล้วตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน และได้มีการติดตามประเมินผลให้สามารถกำหนดทิศทางการดำเนินการระยะต่อไปได้อย่างชัดเจนมากขึ้น 

ผลการประเมินในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ทั้ง 6 ด้าน ประกอบด้วย 1.การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค 2.การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต (เกษตร/อุตสาหกรรม) 3.การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย  4.การจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ 5.การฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน 6. การบริหารจัดการ สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในทุกระดับ ปัจจุบันความก้าวหน้าการดำเนินงานในภาพรวมอยู่ที่ร้อยละ 36.2 ซึ่งพบว่ามีบางกลยุทธ์หรือแผนงานที่ยังไม่ได้ดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมหรือยังไม่มีการขับเคลื่อน บางกลยุทธ์ต้องปรับปรุงแผนงาน ประกอบกับมีการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 เนื่องจากสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา  ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เช่น สถานการณ์โควิด-19 ทำให้แรงงานคืนถิ่นนำไปสู่ความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งน้ำกินน้ำใช้ และน้ำเพื่อการเกษตรเพื่อสร้างรายได้ อีกทั้งภาวะสงครามที่ทำให้เกิดวิกฤติอาหารโลกนำไปสู่ความต้องการพืชอาหารบางประเภทและการใช้น้ำที่มากขึ้นในบางพื้นที่ ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำและภัยธรรมชาติ ทำให้เกิดภัยพิบัติรุนแรงขึ้น ทั้งอุทกภัย ภัยแล้ง และการรุกตัวของน้ำเค็ม ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ มีผลต่อเป้าหมายในแผนแม่บทฯน้ำเดิม จึงต้องปรับปรุงแผนใหม่ให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของประเทศและของโลก 

ทั้งนี้ เพื่อให้มีการปรับปรุงกรอบแนวทางและค่าเป้าหมายแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปีสอดคล้องกับบริบทและความต้องการของพื้นที่ของทั้ง 22 ลุ่มน้ำ สทนช. จึงร่วมกับหน่วยงานด้านน้ำยกร่างการปรับปรุงเผนแม่บทน้ำในระยะถัดไปปี 2566-2580 เพื่อประชุมรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายทั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำ องค์กรผู้ใช้น้ำและภาคประชาชนให้ครอบคลุมรอบด้าน โดยแบ่งการจัดประชุมเป็นกลุ่มย่อยรวม 7 พื้นที่ทั่วประเทศ ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง    ภาคตะวันออก ภาคกลาง ภาคใต้ตอนล่าง ภาคใต้ตอนบน และภาคเหนือ โดยกระบวนการปรับปรุงกรอบแนวทางและค่าเป้าหมายแผนแม่บทฯน้ำครั้งนี้จะเน้นกระบวนการ Co-Design และการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อให้การปรับแผนตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง แล้วหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปขับเคลื่อนสู่แผนปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การแก้ปัญหาด้านน้ำในภาพรวมของประเทศและการจัดทำแผนแม่บทลุ่มน้ำที่สะท้อนปัญหาของพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดีขึ้นจากการอุปโภค-บริโภคน้ำสะอาด มีน้ำใช้สร้างรายได้ทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรมและบริการ ลดความเสียหายจากภัยพิบัติด้านน้ำได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป 

เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบจะสำเร็จได้นั้น   ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน สิ่งสำคัญคือมีองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และร่วมกันบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ทั้งภายในประเทศและกับพันธมิตรต่างประเทศ สำหรับการยกระดับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ  EEC ก็เป็นหนึ่งในแผนงานสร้างความมั่นคงด้านน้ำ ที่ สทนช. ได้เร่งขับเคลื่อนแผนการพัฒนาทรัพยากรน้ำในเขตพื้นที่ EEC มาอย่างต่อเนื่อง จึงได้ดำเนินการจัดทำแผนหลักเพื่อการพัฒนาแหล่งน้ำและจัดการทรัพยากรน้ำ ทำการวิเคราะห์สภาพปัญหา ความต้องการใช้น้ำ และแหล่งน้ำต้นทุนที่มีศักยภาพ จัดทำแผนพัฒนาแหล่งน้ำและบริหารจัดการน้ำพื้นที่ภาคตะวันออก 38 โครงการ ดำเนินการระหว่างปี 2563-2580 ปัจจุบัน สทนช. ได้กำกับขับเคลื่อนโครงการได้รับจัดสรรงบประมาณแล้ว 22 โครงการ ซึ่งจะแล้วเสร็จตามแผนปี 2568 สามาถเพิ่มปริมาณน้ำใช้การ 318 ล้าน ลบ.ม. น้ำต้นทุนเพิ่มขึ้นจากปี รองรับความต้องการใช้น้ำปี 2570 ทั้งนี้ สทนช. มีเป้าหมายขับเคลื่อนอีก 16 โครงการ ซึ่ง สทนช. จะเร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2575 ภายใต้แผนแม่บทน้ำฉบับปรับปรุงเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำในอนาคตที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับหนึ่งในโครงการที่ได้ขับเคลื่อนและจะแล้วเสร็จในปี 2566 คือ โครงการปรับปรุงคลองพานทองเพื่อผันน้ำไปอ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี

ปัจจุบันมีความก้าวหน้าร้อยละ73 ดำเนินการโดย กรมชลประทาน ประกอบด้วย การก่อสร้างกำแพงป้องกันตลิ่ง ขุดลอกคลองชลประทานพานทองระยะทาง 8.2 กิโลเมตร ก่อสร้างสถานีสูบน้ำ 1 แห่ง  การก่อสร้างประตูระบายและท่อระบายน้ำ 5 แห่ง โดยเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำคลองพานทองและสูบผันน้ำนำไปจัดสรรน้ำเพิ่มเติมแก่อ่างเก็บน้ำบางพระได้อีก 20 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี พื้นที่เกษตรได้รับประโยชน์ 5,450 ไร่ รวมทั้งสนับสนุนความมั่นคงของน้ำทั้งภาคอุตสาหกรรมและบริการในพื้นที่ EEC ยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างรายได้ให้ประเทศต่อไป

Chonburi Sponsored
อำเภอ พานทอง

ในปี พ.ศ. 2441 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีการปฏิรูปการปกครองประเทศและจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาล ให้เมืองพนัสนิคม เป็นอำเภอพนัสนิคม ขึ้นกับเมืองชลบุรี มณฑลปราจีนบุรี และบ้านท่าตะกูดมีชุมชนและประชากรเพิ่มขึ้นจึงยกฐานะเป็นอำเภอเรียกชื่อว่าอำเภอท่าตะกูด ขึ้นกับเมืองชลบุรี มณฑลปราจีนบุรี แบ่งการปกครองออกเป็น 15 ตำบล ได้แก่ ตำบลบ้านมาบโป่ง ตำบลบ้านเกาะลอย ตำบลบ้านบางนาง ตำบลตลาดควาย ตำบลบ้านหน้าประดู่ ตำบลบ้านบางหัก ตำบลบ้านเนินถ่อน ตำบลบ้านบางพึ่ง ตำบลบ้านหนองหงษ์ ตำบลบ้านพานทอง ตำบลบ้านมอญ ตำบลบ้านหนองกะขะ ตำบลบ้านมาบกระบก ตำบลหนองจับอึ่ง และตำบลหนองตำลึง