Chonburi Sponsored

กระทรวงคมนาคม จัดการฝึกซ้อมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัย

Chonburi Sponsored
Chonburi Sponsored

วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2565

กระทรวงคมนาคมจัดการฝึกซ้อมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัย ประจำปี 2565 (SAREX 2022) พัฒนาขีดความสามารถในการค้นหาและให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่มีความถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นไปตามมาตรฐาน

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีปิดการฝึกซ้อมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัย ประจำปี 2565 (SAREX 2022) โดยมี พลเรือโท พิชัย ล้อชูสกุล ผู้บัญชาการทัพเรือ ภาคที่ ๑ กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการฝึกซ้อมฯ ผู้บริหารกระทรวงคมนาคม ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชนที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมพิธีฯ ในวันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม 2565 ณ ท่าเรือจุกเสม็ด การท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ จังหวัดชลบุรี

นาอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ กล่าวว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัยแห่งชาติ (กชย.) ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาขีดความสามารถในการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย ทั้งกระบวนการ วิธีการช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ถูกต้อง รวดเร็ว เป็นไปตามมาตรฐาน และการประสานงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ให้เป็นไปอย่างบูรณาการและมีประสิทธิภาพ โดยมีการจำลองสถานการณ์สมมติ เพื่อให้สามารถประเมินเหตุการณ์ และวางแผนให้ความช่วยเหลือได้อย่างรอบคอบ รวมทั้งมีรูปแบบและขั้นตอนในการปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากอากาศยานที่สามารถระดมสรรพกำลังจากหน่วยงานต่าง ๆ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้ผู้ประกอบการเดินอากาศเกิดความมั่นใจ หากอากาศยานประสบเหตุในเขตความรับผิดชอบของประเทศ ซึ่งเป็นการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินของประเทศ และเป็นไปตามมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ที่มีพันธะตามอนุสัญญาว่าด้วยการบินพลเรือนระหว่างประเทศในการปฏิบัติตามข้อกำหนดมาตรฐานและข้อพึงปฏิบัติเรื่องการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัย

กระทรวงคมนาคม โดยสำนักงานคณะกรรมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย (สกชย.) ได้จัดให้มีการฝึกซ้อมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัยมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 42 สำหรับการฝึกซ้อม SAREX 2022 กชย. ได้มีมติมอบให้กองทัพเรือ (ทร.) เป็นแกนกลางในการจัดฝึกซ้อมฯ และสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) เป็นหน่วยงานประเมินผล โดยแบ่งการฝึกซ้อมออกเป็น 2 รูปแบบ ดังนี้

1.ภาควิชาการ ดำเนินการในวันที่ 2, 3 และ 10 สิงหาคม 2565 โดยการบรรยายผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Application Zoom Meeting) โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมเจ้าท่า ทร. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สบพ. สกชย. สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และโรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการค้นหาและการช่วยเหลือ 

2.ภาคปฏิบัติ แบ่งเป็น การฝึกซ้อมภาคทฤษฎี ในวันที่ 11 สิงหาคม 2565 ประกอบด้วย การฝึกแก้ปัญหาที่บังคับการ (Command Post Exercise: CPX) การฝึกทดสอบการทำงานของเครื่องส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือฉุกเฉินจากอากาศยาน (Emergency Locator Transmitter : ELT) ผ่านระบบดาวเทียม COSPAS-SARSAT และการฝึกประสานงาน (Coordination Exercise) การฝึกซ้อมภาคปฏิบัติ ระหว่างวันที่ 17 – 18 สิงหาคม 2565 ประกอบด้วย การฝึกแก้ปัญหาบนโต๊ะแผนที่ (Table Top Exercise: TTX) และการฝึกซ้อมการค้นหาและช่วยเหลือฯ (Field Training Exercise: FTX) ณ ฐานทัพเรือสัตหีบ จังหวัดชลบุรี 

สำหรับการฝึกซ้อมฯ ในวันที่ 19 สิงหาคม 2565 ได้กำหนดเป็นอากาศยานแบบ Gulfstream G650 (สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ 19 คน ในระยะทางไม่เกิน 7,000 ไมล์ทะเล ในระดับความสูงสุด 51,000 ฟุต) เส้นทางบินจากท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต ไปยังท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา โดยกำหนดสถานการณ์ให้ศูนย์ประสานงานค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย (Bangkok Rescue Co-ordination Centre : BKKRCC) ได้รับแจ้งเหตุทางโทรศัพท์จากหอบังคับการบินอู่ตะเภา กรณีเครื่องบินโดยสารแบบ Gulfstream G650 เครื่องยนต์เกิดเหตุขัดข้อง ขณะทำการบินอยู่ทางทิศใต้ของท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา หลังจากนั้นได้ขาดการติดต่อ จึงคาดว่าอาจจะประสบอุบัติเหตุ BKKRCC จึงได้ประสานงานหน่วยงานในระบบที่เกี่ยวข้อง เพื่อเริ่มปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือตามขั้นตอนที่กำหนดตามมาตรฐานสากลต่อไป 

ทั้งนี้ การฝึกซ้อม SAREX 2022 เป็นความร่วมมือร่วมใจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อหน่วยงานในระบบการค้นหาและช่วยเหลือให้ได้มีการทบทวนและบูรณาการการฝึกซ้อมฯ ระหว่างหน่วยงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นไปตามแผนการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัยแห่งชาติ พ.ศ.2564 และเป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งในการฝึกซ้อมฯ ในครั้งนี้ ได้จัดแสดงนิทรรศการด้านการค้นหาและช่วยเหลือฯ เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา ประชาชน และผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์การฝึกซ้อมฯ ตระหนักถึงความสำคัญและได้เรียนรู้มากยิ่งขึ้นเกี่ยวกับการปฏิบัติงานด้านการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานที่ประสบภัยด้วย

Chonburi Sponsored
อำเภอ สัตหีบ

ช่วงประมาณรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 สัตหีบเป็นเพียงหมู่บ้านชายทะเล ชาวบ้านประกอบอาชีพทำไร่ ทำนา หาของป่า และประมง การคมนาคมจะใช้ทางน้ำโดยเรือเมล์หรือเรือใบ ส่วนทางบกมีแต่ทางเกวียน ถนนไปชลบุรียังไม่มี ภูมิประเทศส่วนใหญ่ยังเป็นป่ารกทึบ การเดินทางระหว่างเมืองจึงใช้เรือเป็นหลัก ในหมู่บ้านสัตหีบ มีผู้ที่ชาวบ้านนับหน้าถือตามากอยู่คนหนึ่ง ชาวบ้านเรียกว่า "ยายแจง" แกมีฐานะดีมี ที่ดิน เรือ สวน ไร่นามากมาย ตลาดสัตหีบ หนองตะเคียนและโรงเรียนสิงห์สมุทรรวมถึงบริเวณเขาแหลมเทียนอันเป็นที่ตั้งของฐานทัพเรือสัตหีบในปัจจุบันก็เคยเป็นของแก ต่อมา เมื่อกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ทรงฝึกภาคทะเลกับกองเรือและทรงพักที่อ่าวสัตหีบ ทรงเห็นว่าอ่าวสัตหีบเหมาะเป็นที่ตั้งหน่วยเรือ เพราะมีเกาะใหญ่น้อยช่วยกำบังคลื่นลม พระองค์จึงได้บอกถึงพระประสงค์ที่จะใช้บริเวณเขาแหลมเทียนเป็นที่ตั้งหน่วยทหารเรือ ยายแจงก็ยินดีที่จะถวายให้