Chonburi Sponsored

มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง มอบเครื่องอุปโภค เนื่องในประเพณีทิ้งกระจาด ประจำปี 65 ชลบุรี

Chonburi Sponsored
Chonburi Sponsored
สยามรัฐออนไลน์ 17 สิงหาคม 2565 12:59 น. อาชญากรรม

วันที่ 16 สิงหาคม 2565 มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ดร.วิเชียร เตชะไพบูลย์ ประธานกรรมการ มอบหมายให้ นางศิริกุล โอภาสวงศ์ กรรมการและเลขาธิการ จัดทีมเจ้าหน้าที่ และอาสาสมัคร นำโดย นางสาวศุภรัตน์ สมบัติเจริญไทย รักษาการหัวหน้าแผนกส่งเสริมการศึกษาและอาชีพ ลงพื้นที่จังหวัดชลบุรี แจกจ่ายชุดข้าวสารพร้อมเครื่องอุปโภคบริโภค ประกอบด้วย ข้าวสาร บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง น้ำมันพืช น้ำปลา บรรจุกระเป๋าผ้าดิบมูลนิธิฯ แก่ผู้ขาดแคลนในพื้นที่อำเภอศรีราชา อำเภอเมือง อำเภอบ้านบึง และอำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี รวม 4 อำเภอ ชุดข้าวสารจำนวน 2,000 ชุด รวมงบประมาณทั้งสิ้น 700,000 บาท (เจ็ดแสนบาทถ้วน) โดยมี ผู้แทนหน่วยงานรัฐ เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย มูลนิธิฯ / สมาคมจีนต่างๆ อาสาสมัครมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง นำโดย นางศิริวรรณ โอภาสวงศ์ นางศิริพร โอภาสวงศ์ อาสาสมัครกิตติมศักดิ์ และ อาสาศิลปิน นำโดย นางสาวพัชรมัย บุญเลิศกุล (แพรว พัชรมัย) นางสาวอธิชา เทศขำ (เมย์ อธิชา) นางสาวไดอนา แอน คาฮิลล์ นางสาวอรภัสญาน์ สุกใส ( มิ้วส์ อรภัสญาน์) นางสาวสุภัตรา ธระเสนา (ต่าย สุภัตรา) ร่วมในพิธี
ดร.วิเชียร  กล่าวว่า ช่วงกลางเดือนสิงหาคม – เดือนกันยายน 2565 มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง กำหนดลงพื้นที่แจกจ่ายชุดข้าวสารพร้อมเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ผู้ขาดแคลนในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร และ 50 เขต กรุงเทพมหานคร เป็นลำดับต่อไป คิดมูลค่าดำเนินการงานแจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภคในประเพณีทิ้งกระจาด ประจำปี 2565 ไม่ต่ำกว่า 11.7 ล้านบาท
เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ที่ยังคงมีการแพร่ระบาดในขณะนี้ เพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันการแพร่ระบาด ในปีนี้ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ยังคงรูปแบบการทำบุญทิ้งกระจาดแบบลดการสัมผัส เป็นการบริจาคทรัพย์เพื่อสมทบทุนในการจัดซื้อชุดข้าวสาร อาหารแห้ง พร้อมเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ โดยสามารถทำบุญได้ 3 ช่องทาง ดังนี้  ​​​​​​​
1. ทำบุญชุดข้าวสาร ที่ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งพลับพลาไชย กรุงเทพฯ(ทั้งนี้ มูลนิธิฯ ขอความร่วมมือในการงดรับข้าวสาร หรือสิ่งของอื่นๆ เพื่อลดการสัมผัส) 2. ทำบุญชุดข้าวสารออนไลน์: ผ่านบัญชีมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง  3. เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในขณะนี้ เพื่อลดความเสี่ยงและการเพิ่มมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาด มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง จึงจัดให้มีช่องทางการร่วมทำบุญทิ้งกระจาดใหม่ ผ่านระบบออนไลน์ https://pttfny.net/newsh/ ในอีกทางหนึ่ง
ทั้งนี้ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมพร้อมติดตามงานประเพณีทิ้งกระจาดได้ที่เฟซบุ๊ก แฟนเพจ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง www.facebook.com/atpohtecktung ​​​​​​​
ประเพณีทิ้งกระจาด ถือได้ว่า เป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่ที่ปฏิบัติสืบทอดมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล โดยมูลนิธิฯ ได้ปฏิบัติสืบเนื่องมาทุกปีเป็นเวลาช้านานกว่า 80 ปี และคาดว่าจะเป็นมูลนิธิแห่งแรก ที่จัดงานทิ้งกระจาดอย่างเป็นทางการและเป็นกิจจะลักษณะ เพราะถือว่าเป็นประเพณีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่เพื่อนมนุษย์ที่ล่วงลับไปแล้วทั้งที่เป็นญาติและไม่เป็นญาติพร้อมกับทำทานให้แก่ผู้ยากไร้ ที่มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง มีผู้ใจบุญจะนำเครื่องเซ่นไหว้ เช่น ข้าวสารอาหารแห้ง และอื่น ๆ มากราบไหว้หลวงปู่ เพื่อทำบุญสะเดาะเคราะห์ ซึ่งมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งจะรวบรวมไว้ไปสมทบกับสิ่งของที่จัดซื้อเพิ่มเติม เพื่อนำไปแจกจ่ายแก่ผู้ยากไร้ พร้อมนำมอบองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ​​​​​​​
ตลอดระยะเวลากว่า 112 ปีที่ผ่านมา มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ได้ขยายขอบข่ายโครงการต่าง ๆ ออกไปอย่างกว้างขวาง ไม่เพียงแต่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข แก่ผู้ตกทุกข์ได้ยากโดยไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนา เท่านั้น แต่ยังได้พัฒนาคุณภาพชีวิตอีกในหลาย ๆ ทาง รวมถึงการพัฒนาด้านการศึกษา เพื่อเป็นองค์กรสาธารณกุศลที่ช่วยเหลือประชาชนครบวงจรในทุกๆ ด้าน ดังปณิธานมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง “ช่วยชีวิต รักษาชีวิต สร้างชีวิต” ​​​​​​​

Chonburi Sponsored
อำเภอ พนัสนิคม

สมัยเมืองพนัสนิคม ในปี พ.ศ. 2371 กำเนิดเมืองขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชานุญาตให้กลุ่มลาวอาสาปากน้ำมาสร้างภูมิลำเนาขึ้นในพื้นที่รกร้างระหว่างเมืองชลบุรีกับเมืองฉะเชิงเทรา พระราชทานนามเมืองว่าพนัสนิคม (บางเอกสารเขียน“พนัศนิคม”) มีฐานะเป็นเมืองจัตวา ขึ้นกับกรมท่า กรุงเทพมหานคร ให้ท้าวอินทิสาร (บางเอกสารเขียน”อินทพิศาล”) หรือ ท้าวทุม ปลัดลาว เมืองสมุทรปราการ บุตรชายคนโตของท้าวไชย (บางเอกสารเขียน”ศรีวิไชย”) อุปราชเมืองนครพนม ให้เป็นเจ้าเมืองพนัสนิคมคนแรกและพระราชทานราชทินนามและบรรดาศักดิ์ที่พระอินทอาษา (บางเอกสารเขียน“อินทรอาษา, อินทอาสา, อินทราษา“) มีข้อความในพระราชพงศาวดารว่า “พวกลาวอาสาปากน้ำ ตั้งขึ้นเมื่อครั้งในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าสุลาลัย ภายหลังเมื่อปีชวดสัมฤทธิศก พวกลาวไม่สบาย ขอไปตั้งอยู่ที่เมืองพระรถ จึงโปรดให้ตัดเอาแขวงเมืองชลบุรี เมืองฉะเชิงเทรา มาตั้งเป็นเมืองขึ้นชื่อเมืองพนัศนิคม เจ้าเมืองชื่อพระอินทอาษา” (พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 เล่ม 2 ของ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ฉบับคุรุสภา พิมพ์ครั้งที่หนึ่ง พ.ศ. 2504 หน้า 180) โดยลาวบุกเบิกเมืองพนัสนิคม เป็นลาวเมืองนครพนม อ้างถึงการอพยพมาสยามครั้งแรกนำโดยท้าวไชย อุปราชเมืองนครพนม เป็นโอรสในพระบรมราชา (ท้าวกู่แก้ว) เจ้าเมืองนครพนม (เมืองนครพนมในอดีต เป็นหัวเมืองในราชอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ ประเทศราชของสยาม) ไม่สมัครใจอยู่ในปกครองของพระบรมราชา (มัง) เจ้าเมืองนครพนมคนใหม่ จึงอพยพพาสมัครพรรคพวก บุตรหลาน ท้าวเพี้ย ขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2352 และโปรดเกล้าฯให้ตั้งบ้านเรือนอยู่คลองมหาวงษ์ เมืองสมุทรปราการ ยุคนั้นจึงเรียกคนกลุ่มนี้ว่าพวกลาวอาสาปากน้ำ แต่ทนสภาพแวดล้อมไม่ไหว เพราะเป็นชาวดอนน้ำจืด ถูกให้ไปอยู่เมืองลุ่มน้ำกร่อยและเค็ม เลยขอเปลี่ยนไปอยู่ที่อื่น ซึ่งสภาพใกล้เคียงที่ดอน ลาวนครพนมกลุ่มนี้ได้บุกเบิกสร้างเมืองพนัสนิคม