Chonburi Sponsored

'ครูเหน่ง' สุ่มตรวจรร. พื้นที่ชลบุรีติดตามการบริหารภายใต้สถานการณ์โควิด

Chonburi Sponsored
Chonburi Sponsored

25 พ.ย.2564-นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้ลงพื้นที่จังหวัดชลบุรี และได้มีการสุ่มตรวจโรงเรียนในพื้นที่ดังกล่าว 2 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนบ้านหนองเขิน อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี และโรงเรียนเทพศิรินทร์ชลบุรี (อุทก อุปถัมภ์) อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี โดยไม่ได้แจ้งให้ผู้เกี่ยวข้องรับทราบ ซึ่งเมื่อมีการเปิดภาคเรียนที่ 2 เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ตนต้องการมาลงพื้นที่ให้เห็นด้วยตัวเองว่าการบริหารจัดการศึกษาภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 โรงเรียนแต่ละแห่งเตรียมความพร้อมการเรียนการสอนไว้อย่างไรบ้าง โดยที่โรงเรียนบ้านหนองเขิน ถือได้ว่าจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์โควิดและเปิดเรียน On Site ได้อย่างดีเยี่ยม ซึ่งได้รับรายงานข้อมูลจากโรงเรียนพบว่า ครูและบุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน ได้รับวัคซีนครบหมดทุกคนแล้วจึงดำเนินการเปิดเรียนแบบ On Site เพราะโรงเรียนมองว่าการเรียนที่ดีที่สุดคือการได้มาเรียนที่โรงเรียนสัมผัสกับครูผู้สอนโดยตรง ทั้งนี้โรงเรียนมีการวางแผนเผชิญเหตุและปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อย่างเคร่งครัด เช่น การสลับวันมาเรียน จำกัดจำนวนนักเรียนต่อห้องไม่เกิน 20 คน การเว้นระยะห่าง เป็นต้น ขณะเดียวกันยังรับทราบข้อมูลอีกว่าโรงเรียนหนองเขินเมื่อเปิดเรียน On Site ไปสักระยะหนึ่งพบนักเรียนอนุบาลติดเชื้อโควิด โดยโรงเรียนสั่งปิดสถานศึกษาแจ้งตรวจคัดกรองผู้เกี่ยวข้อง และดำเนินการพ่นฉีดยาฆ่าเชื้อ ส่วนนักเรียนที่ติดเชื้อได้รับการรักษาจนหายเป็นปกติและกลับมาเรียนได้ตามเดิมแล้ว

สำหรับโรงเรียนเทพศิรินทร์ชลบุรี (อุทก อุปถัมภ์) เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีนักเรียนทั้งหมดตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 จำนวน 90 คน ครู 1 คน อัตราจ้าง 2 คน ถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ทำให้ตนเห็นปัญหาคุณภาพการศึกษา โดยเฉพาะโรงเรียน Stand Alone นางสาวตรีนุชกล่าวว่า เมื่อตนะกลับไปคุยกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่าจะดำเนินการยกระดับคุณภาพการควบรวมโรงเรียนลักษณะนี้ได้อย่างไรบ้าง เพราะเท่าที่รับทราบข้อมูลโรงเรียนโดยรอบของโรงเรียนเทพศิรินทร์ชลบุรี มีโรงเรียนคุณภาพที่มีความพร้อมใกล้เคียงสามารถกระจายเด็กให้ไปเรียนโดยรอบได้ อีกทั้งผู้ปกครองก็เห็นด้วยและพร้อมที่อยากจะขยับให้ลูกหลานของตัวเองไปเรียนโรงเรียนอื่น

“ในประเด็นนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ดิฉันจะต้องคิดโจทย์ในการปักหมุดโรงเรียนคุณภาพระดับชุมชน แต่ทั้งนี้การดำเนินการจะต้องหารือกับคนในชุมชนด้วยว่าพื้นที่ไหนมีความพร้อมและสนับสนุนนโยบายนี้บ้าง”รมว.ศธ.กล่าว

Chonburi Sponsored
อำเภอ พนัสนิคม

สมัยเมืองพนัสนิคม ในปี พ.ศ. 2371 กำเนิดเมืองขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชานุญาตให้กลุ่มลาวอาสาปากน้ำมาสร้างภูมิลำเนาขึ้นในพื้นที่รกร้างระหว่างเมืองชลบุรีกับเมืองฉะเชิงเทรา พระราชทานนามเมืองว่าพนัสนิคม (บางเอกสารเขียน“พนัศนิคม”) มีฐานะเป็นเมืองจัตวา ขึ้นกับกรมท่า กรุงเทพมหานคร ให้ท้าวอินทิสาร (บางเอกสารเขียน”อินทพิศาล”) หรือ ท้าวทุม ปลัดลาว เมืองสมุทรปราการ บุตรชายคนโตของท้าวไชย (บางเอกสารเขียน”ศรีวิไชย”) อุปราชเมืองนครพนม ให้เป็นเจ้าเมืองพนัสนิคมคนแรกและพระราชทานราชทินนามและบรรดาศักดิ์ที่พระอินทอาษา (บางเอกสารเขียน“อินทรอาษา, อินทอาสา, อินทราษา“) มีข้อความในพระราชพงศาวดารว่า “พวกลาวอาสาปากน้ำ ตั้งขึ้นเมื่อครั้งในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าสุลาลัย ภายหลังเมื่อปีชวดสัมฤทธิศก พวกลาวไม่สบาย ขอไปตั้งอยู่ที่เมืองพระรถ จึงโปรดให้ตัดเอาแขวงเมืองชลบุรี เมืองฉะเชิงเทรา มาตั้งเป็นเมืองขึ้นชื่อเมืองพนัศนิคม เจ้าเมืองชื่อพระอินทอาษา” (พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 เล่ม 2 ของ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ฉบับคุรุสภา พิมพ์ครั้งที่หนึ่ง พ.ศ. 2504 หน้า 180) โดยลาวบุกเบิกเมืองพนัสนิคม เป็นลาวเมืองนครพนม อ้างถึงการอพยพมาสยามครั้งแรกนำโดยท้าวไชย อุปราชเมืองนครพนม เป็นโอรสในพระบรมราชา (ท้าวกู่แก้ว) เจ้าเมืองนครพนม (เมืองนครพนมในอดีต เป็นหัวเมืองในราชอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ ประเทศราชของสยาม) ไม่สมัครใจอยู่ในปกครองของพระบรมราชา (มัง) เจ้าเมืองนครพนมคนใหม่ จึงอพยพพาสมัครพรรคพวก บุตรหลาน ท้าวเพี้ย ขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2352 และโปรดเกล้าฯให้ตั้งบ้านเรือนอยู่คลองมหาวงษ์ เมืองสมุทรปราการ ยุคนั้นจึงเรียกคนกลุ่มนี้ว่าพวกลาวอาสาปากน้ำ แต่ทนสภาพแวดล้อมไม่ไหว เพราะเป็นชาวดอนน้ำจืด ถูกให้ไปอยู่เมืองลุ่มน้ำกร่อยและเค็ม เลยขอเปลี่ยนไปอยู่ที่อื่น ซึ่งสภาพใกล้เคียงที่ดอน ลาวนครพนมกลุ่มนี้ได้บุกเบิกสร้างเมืองพนัสนิคม