เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
ศูนย์ข่าวศรีราชา – “โรงน้ำแข็งวรัญชญ์” เมืองศรีราชา ยังตรึงราคาขายช่วยผู้บริโภค แม้นับตั้งแต่เดือน พ.ค.ที่ผ่านมาต้นทุนค่าไฟฟ้าจะเพิ่มแล้วกว่า 20% หรือประมาณ 40,000 บาทต่อเดือน เผยหากยังเป็นเช่นนี้กระทบแผนนำเข้าเครื่องจักรใหม่ช่วงปลายปีแน่
จากกรณีที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เตรียมที่จะพิจารณาทบทวนและปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่าเอฟที (Ft) งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.2565 โดยมีแนวโน้มปรับราคาเพิ่มสูงถึง 90-100 สตางค์ต่อหน่วย และจากแนวโน้มดังกล่าวอาจทำให้ค่าไฟฟ้าต้องปรับเพิ่มสูงขึ้นถึงเกือบ 5 บาทต่อหน่วย ในช่วง 4 เดือนที่เหลือของปี 2565 จากปัจจุบันค่าไฟอยู่ที่ประมาณ 4 บาทต่อหน่วย
โดยอ้างว่าเป็นผลจากต้นทุนค่าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเหลว หรือแอลเอ็นจี (LNG) ที่นำเข้าเพื่อทดแทนก๊าซธรรมชาติต้นทุนต่ำในอ่าวไทยซึ่งยังมีแนวโน้มราคาสูงต่อเนื่องตั้งแต่เดือน พ.ค.65 ที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบการจำนวนมากเริ่มออกมาเคลื่อนไหวหลังไม่สามารถแบกรับต้นทุนค่าไฟได้นั้น
วันนี้ (6 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก นางภัควลัญชญ์ ชำนิ กรรมการบริหาร บริษัท เอ็ม มารีน 2018 จำกัด เจ้าของโรงน้ำแข็งวรัญชญ์ ซึ่งผลิตน้ำแข็งหลอดทุกขนาดป้อนให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ จ.ชลบุรี เมืองพัทยา และ จ.ระยอง ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการโรงแรม ร้านอาหาร และร้านกาแฟ ว่า นับตั้งแต่เดือน พ.ค.ที่ผ่านมาต้นทุนค่าไฟฟ้าซึ่งถือเป็นต้นทุนการผลิตที่สำคัญได้ขยับขึ้นแล้วถึง 20% หรือประมาณ 40,000 บาท จากเดิมที่ต้องเสียค่าไฟเฉลี่ยประมาณ 20,000 ต่อเดือน
ขณะที่กำลังการผลิตต่อวันที่เริ่มเดินเครื่องผลิตตั้งแต่เวลา 24.00 น.ไปจนถึง 08.00 น.ของอีกวันยังคงไม่เพิ่มขึ้นจากจำนวน 3,000 ถุงต่อวัน (ถุงละ 10 กิโลกรัม) แม้ต้นทุนค่าไฟของโรงงานจะพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่โรงน้ำแข็งวรัญชญ์ จะยังคงกัดฟันกำหนดราคาขายหน้าโรงงานที่ถุงละ 15 บาทเช่นเดิม เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในพื้นที่ที่ต้องแบกรับต้นทุนหลายด้านเช่นกัน
“ตอนนี้เรายังพออยู่ได้แม้ต้นทุนค่าไฟจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ราคาค่าน้ำประปาที่ใช้ในการผลิตซึ่งเรารับจากการประปาส่วนภูมิภาคยังไม่ปรับราคา ที่สำคัญเรายังพอมีกำไรจากการขายเนื่องจากการสร้างโรงงานน้ำแข็งและการนำเข้าเครื่องจักรต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้ใช้เงินกู้จากธนาคาร แต่หากในอนาคตค่าไฟยังปรับสูงไม่หยุดอาจแบกรับภาระนี้ได้อีกเพียงระยะหนึ่ง แม้ขณะนี้หลายโรงงานผลิตจะเริ่มปรับราคาขึ้นแล้วก็ตาม”
นางภัควลัญชญ์ ยังเผยอีกว่า กลุ่มลูกค้าหลักของโรงงานยังคงเป็นกลุ่มโรงแรมและร้านอาหารในพื้นที่ อ.ศรีราชา และใกล้เคียง ซึ่งเมื่อรัฐบาลเปิดประเทศทำให้ยอดขายในส่วนลูกค้าขาจรเพิ่มขึ้นจึงยังสามารถประคองธุรกิจต่อไปได้ โดยขณะนี้โรงงานมีรายได้จากการขายน้ำแข็งเป็นเงินสดประมาณ 30,000 บาทต่อวัน ไม่นับรวมการขายแบบเครดิตที่ให้ร้านค้าต่างๆ จึงยังพอมีเงินจ่ายค่าแรงให้พนักงาน
ส่วนสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ขณะนี้มองว่ายังพอไปได้แม้จะเป็นการเติบโตแบบช้าๆ แต่หากค่าไฟยังพุ่งไม่หยุดอาจกระทบถึงแผนการนำเข้าเครื่องจักรใหม่ที่จะนำมาเพิ่มกำลังผลิตในช่วงปลายปีนี้ที่อาจต้องชะลอการนำเข้าออกไปก่อน เช่นเดียวกับการปรับราคาขายที่ต้องขอรอดูสถานการณ์อีกสักระยะ
อนึ่ง “โรงน้ำแข็งวรัญ” แม้จะไม่ใช่โรงน้ำแข็งขนาดใหญ่แต่ได้ให้ความสำคัญกับการลงทุนเรื่องเครื่องจักรที่สมัยใหม่เพื่อให้น้ำแข็งที่ผลิตได้มีความสะอาดมากที่สุดจนได้รับเครื่องหมาย GMP จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยได้นำเข้าเครื่องจักรสำหรับผลิตน้ำแข็งหลอดเล็กที่สามารถผลิตได้วันละ 30 ตัน และน้ำแข็งหลอดใหญ่ที่มีกำลังการผลิต 50 ตัน
ขณะที่ในช่วงปลายปีนี้มีแผนที่จะนำเข้าเครื่องผลิตน้ำแข็งขนาด 100 ตันต่อวันเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการหลังในช่วงระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา ทางโรงงานได้ตัดสินใจนำเข้าเครื่อง RO ด้วยงบลงทุนเกือบ 20 ล้านบาท เพื่อช่วยสนับสนุนเรื่องการกรองน้ำที่ใช้จากการประปาส่วนภูมิภาคทั้งหมด ให้มีความสะอาดและปราศจากสิ่งเจือปนมากยิ่งขึ้น