Chonburi Sponsored

ศมข.ชลบุรี เร่งผลิตและขยายเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพ ภายใต้มาตรฐานกรมการข้าว

Chonburi Sponsored
Chonburi Sponsored

ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวชลบุรี มีบทบาทภารกิจ ในการผลิตและขยายเมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อสนับสนุน ส่งเสริม และกระจายพันธุ์ข้าว ตามนโยบายคณะกรรมการข้าวแห่งชาติ ส่งเสริมเผยแพร่และกระจายเมล็ดพันธุ์ดี ไปสู่เกษตรกร พัฒนาการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวของท้องถิ่น และสนับสนุนการดำเนินธุรกิจเมล็ดพันธุ์ข้าวของเอกชน พร้อมทั้งศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและการตลาดเมล็ดพันธุ์ ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ดี

อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางบริหารจัดการแบบบูรณาการด้านข้าวในพื้นที่รับผิดชอบ ดำเนินการเกี่ยวกับการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานเมล็ดพันธุ์ข้าว เป็นศูนย์บริการชาวนาพร้อมหน่วยบริการเคลื่อนที่ และสร้างเครือข่ายศูนย์บริการชาวนาในพื้นที่รับผิดชอบอีกด้วย

นางสาวฑิฆัมพร สุทธิฤทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวชลบุรี กล่าวว่า ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวชลบุรี เดิมชื่อศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 19 จังหวัดชลบุรี สังกัดกองขยายพันธุ์พืช กรมส่งเสริมการเกษตร จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2529 ภายใต้เงินกู้ของประเทศญี่ปุ่น หรือว่าโครงการ OECF ในยุคนั้นมีการจัดตั้งขึ้นพร้อมกันทั้งหมด 12 ศูนย์ ซึ่งศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวชลบุรีเป็นศูนย์เดียวของภาคตะวันออก ที่เหลืออีก 11 ศูนย์ จะเป็นศูนย์ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวราชบุรี ต่อมาในปี 2546 มีการเปลี่ยนชื่อมาใช้ชื่อศูนย์ขยายเมล็ดพันธุ์พืชที่ 19 จังหวัดชลบุรี ดำเนินการผลิตและขยายเมล็ดพันธุ์พืช ในขณะนั้นไม่ได้ผลิตแค่เมล็ดพันธุ์ข้าว แต่จะมีการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง ถั่วเขียว และถั่วลิสง ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อที่รองรับปัญหาการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์พืชของเกษตรกร พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรได้มีการใช้เมล็ดพันธุ์ดี

ต่อมาในปี 2549 มีพระราชบัญญัติปรับปรุงกฎกระทรวง ทบวง กรม มีพระราชกฤษฎีกา ประกาศจัดตั้งกรมการข้าวขึ้น ศูนย์ขยายเมล็ดพันธุ์พืชที่ 19 จังหวัดชลบุรี จึงได้โอนย้ายมาสังกัดกองเมล็ดพันธุ์ข้าว สำนักเมล็ดพันธุ์ข้าว กรมการข้าว จนถึงปัจจุบัน โดยมีเป้าหมายการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ปีละประมาณ 4,000 ตัน

ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวชลบุรี มีภารกิจในการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ดีสู่เกษตรกร ส่งเสริมให้เกษตรกรมีการใช้เมล็ดพันธุ์ดี มีการศึกษาวิจัยพัฒนา นำผลการวิจัยและพัฒนาส่งเสริมให้เกษตรกรมีการปรับปรุงการผลิตเมล็ดพันธุ์ ส่งเสริมการใช้เมล็ดพันธุ์ดี นอกจากภารกิจหลักในการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ดี ก็มีภารกิจเสริมในการดำเนินงาน ตามนโยบายทั้งของกรมการข้าว และนโยบายรัฐบาล นโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อีกด้วย โดยมีโครงการที่ดูแลอยู่ ได้แก่ 1.โครงการยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร 2.โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ 3.โครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน 4.โครงการเสริมสร้างศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวของศูนย์ข้าวชุมชน 5.โครงการส่งเสริมการดำเนินงานอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ 6.โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) 7.โครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาดเกษตรกรในความดูแล 1,283 ราย เกษตรกรผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้กับศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวชลบุรี รวมทั้งสิ้น 1,365 ราย พื้นที่ในความดูแล 22,293 ไร่ แปลงขยายเมล็ดพันธุ์ข้าวศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวชลบุรี รวมทั้งสิ้น 24,611 ไร่ ดูแลเกษตรกรในเขตจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี กรุงเทพมหานคร นครนายก ส่งเสริมเกษตรกรในความดูแลปลูกข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 ส่วนเขตจังหวัดสระแก้ว ตราด ส่งเสริมเกษตรกรในความดูแลปลูกข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105

มาตรฐานที่เกษตรกรจะได้รับ ได้แก่ 1.การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับเมล็ดพันธุ์ข้าว (GOOD AGRICULTURAL PRACTICES FOR RICE SEED) หรือเรียกว่า GAP Seed (มกษ.4406–2560) 2.การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับข้าวหอมมะลิไทย หรือเรียกว่า GAP (มกษ.4400) และการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับข้าว(มกษ.4401) 3.มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (Organic Thailand)

นอกจากนี้ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวชลบุรี เป็นแหล่งผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีตามมาตรฐานการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ที่กรมการข้าวกำหนดในเขตภาคตะวันออก หากเกษตรกรหรือผู้ที่สนใจเรื่องข้าว สามารถติดต่อสอบถามโดยตรงได้ที่ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวชลบุรี ตั้งอยู่เลขที่ 30 หมู่ 10 ตำบลนาเริก อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี 20140 โทรศัพท์ 0-3820-9201 Facebook Fanpage ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวชลบุรี

Chonburi Sponsored
อำเภอ พนัสนิคม

สมัยเมืองพนัสนิคม ในปี พ.ศ. 2371 กำเนิดเมืองขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชานุญาตให้กลุ่มลาวอาสาปากน้ำมาสร้างภูมิลำเนาขึ้นในพื้นที่รกร้างระหว่างเมืองชลบุรีกับเมืองฉะเชิงเทรา พระราชทานนามเมืองว่าพนัสนิคม (บางเอกสารเขียน“พนัศนิคม”) มีฐานะเป็นเมืองจัตวา ขึ้นกับกรมท่า กรุงเทพมหานคร ให้ท้าวอินทิสาร (บางเอกสารเขียน”อินทพิศาล”) หรือ ท้าวทุม ปลัดลาว เมืองสมุทรปราการ บุตรชายคนโตของท้าวไชย (บางเอกสารเขียน”ศรีวิไชย”) อุปราชเมืองนครพนม ให้เป็นเจ้าเมืองพนัสนิคมคนแรกและพระราชทานราชทินนามและบรรดาศักดิ์ที่พระอินทอาษา (บางเอกสารเขียน“อินทรอาษา, อินทอาสา, อินทราษา“) มีข้อความในพระราชพงศาวดารว่า “พวกลาวอาสาปากน้ำ ตั้งขึ้นเมื่อครั้งในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าสุลาลัย ภายหลังเมื่อปีชวดสัมฤทธิศก พวกลาวไม่สบาย ขอไปตั้งอยู่ที่เมืองพระรถ จึงโปรดให้ตัดเอาแขวงเมืองชลบุรี เมืองฉะเชิงเทรา มาตั้งเป็นเมืองขึ้นชื่อเมืองพนัศนิคม เจ้าเมืองชื่อพระอินทอาษา” (พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 เล่ม 2 ของ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ฉบับคุรุสภา พิมพ์ครั้งที่หนึ่ง พ.ศ. 2504 หน้า 180) โดยลาวบุกเบิกเมืองพนัสนิคม เป็นลาวเมืองนครพนม อ้างถึงการอพยพมาสยามครั้งแรกนำโดยท้าวไชย อุปราชเมืองนครพนม เป็นโอรสในพระบรมราชา (ท้าวกู่แก้ว) เจ้าเมืองนครพนม (เมืองนครพนมในอดีต เป็นหัวเมืองในราชอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ ประเทศราชของสยาม) ไม่สมัครใจอยู่ในปกครองของพระบรมราชา (มัง) เจ้าเมืองนครพนมคนใหม่ จึงอพยพพาสมัครพรรคพวก บุตรหลาน ท้าวเพี้ย ขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2352 และโปรดเกล้าฯให้ตั้งบ้านเรือนอยู่คลองมหาวงษ์ เมืองสมุทรปราการ ยุคนั้นจึงเรียกคนกลุ่มนี้ว่าพวกลาวอาสาปากน้ำ แต่ทนสภาพแวดล้อมไม่ไหว เพราะเป็นชาวดอนน้ำจืด ถูกให้ไปอยู่เมืองลุ่มน้ำกร่อยและเค็ม เลยขอเปลี่ยนไปอยู่ที่อื่น ซึ่งสภาพใกล้เคียงที่ดอน ลาวนครพนมกลุ่มนี้ได้บุกเบิกสร้างเมืองพนัสนิคม