จากข่าวฮือฮา เรื่องการขุดค้นพบ “ประติมากรรมหินสลัก” หรือ“ตุ๊กตาหินโบราณ” นับร้อยตัว และนำมาจัดวางแสดงไว้ในบริเวณวัดพระแก้ว จำนวนหลายสิบตัว
เป็นที่ถกเถียงว่า มาจากไหน เมื่อไหร่ อย่างไร และลงไปอยู่ใต้ดินได้อย่างไร?
ล่าสุด มีข้อมูลและความเห็นเพิ่มเติมที่น่าสนใจ ดังนี้
1. คุณ David Boonthawee ชี้ว่า ไม่ใช่ “ตุ๊กตาอับเฉา” ถ่วงท้องเรือแน่นอน และน่าจะสร้างในเมืองไทย
“…หินอับเฉา (จีนกลางเรียก หย่าชังสือ) หมายถึงหินถ่วงท้องเรือ โดยเฉพาะเรือสำเภาที่ไม่ได้บรรทุกสินค้าหรือมีน้ำหนักเบา เพื่อถ่วงให้ท้องเรือจมหรือกินน้ำลงลึก เรือจะได้ไม่โคลงเคลง
“ตุ๊กตาหินจีน” ที่เห็นแถววัดโพธิ์ วัดอรุณ วัดพระแก้ว และอีกหลายๆ วัดนั้น เกือบทั้งหมด (หรือเผลอๆ อาจจะทั้งหมด) เป็นตุ๊กตาที่สั่งซื้อมาประดับสถานที่โดยตรง ไม่ได้ถูกสร้างขึ้น (อย่างสวยงามวิจิตรบรรจง) เพื่อเอาไปถ่วงท้องเรือ
บางตัวที่มีรอยแตกกะเทาะ เรายังเห็น “โครงเหล็ก” ดามอยู่ภายใน อันนี้ไม่แน่ใจว่าเป็นมาตั้งแต่แรกสร้าง หรือซ่อมเสริมขึ้นภายหลัง (หากเป็นมาตั้งแต่แรกสร้าง ก็ต้องพิจารณาใหม่ว่าเป็นตุ๊กตาที่สลักขึ้นทั้งก้อน หรือมีส่วนของการหล่อปูนอยู่ด้วย)
ส่วนตุ๊กตาหินที่ขุดพบล่าสุดนั้น หากยึดเอาตามหลักฐานชั้นต้น (primary source) ไม่ใช่หลักฐานชั้นรอง (secondary source) หรือแม้แต่การคาดเดา ก็มีแนวโน้มว่าจะเป็นตุ๊กตาที่ “Made in Siam” ล้วนๆ
ดังพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีไปถึงสมเด็จพระปิตุลา (อา) ของพระองค์ ดังนี้
…ทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระบำราบปรปักษ์
ด้วยการแต่งวัดพระศรีรัตนศาสดารามครั้งนี้ หม่อมฉันได้มอบให้พระยารัตนโกษา และพระอนุรักษโยธา เป็นผู้ทำรูปสัตว์รูปศิลารูปคนเป็นเครื่องประดับตั้งรายตามวัด ตามแต่จะทำได้ แต่ศิลาที่จะทำนั้น ศิลาเขาชะโงกที่กรมช้างทำไว้แต่เดิมจะมีอยู่บ้าง ฤๅท่านจะทรงคิดหาเพิ่มเติมขึ้นบ้าง ถ้าพระยารัตนโกษาจะโปรดประทานศิลาทำรูปสัตว์เหล่านี้ ขอให้ท่านรับสั่งให้ช่วยให้ทำการตามสมควรที่จะกระทำได้
จดหมายมา ณ วันศุกร์ ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 3 ปีเถาะ เอกศก 1421เป็นปีที่ 12 ในรัชกาลปัจจุบัน สยามินทร์ (วันศุกร์ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๓ ปีเถาะเอกศก ๑๒๔๑ ตรงกับวันที่ 23 มกราคม 2423 หรือ ค.ศ. 1880ตามปฏิทินปัจจุบัน)…
เรื่องวัสดุหรือหินที่ใช้แกะสลักเป็นตุ๊กตานั้น นอกจากแหล่งหินจากเขาชะโงกแล้ว ก็น่าจะมีหินจากเกาะสีชัง ที่เป็นลายขาวดำอยู่ด้วย เพราะปรากฏให้เห็นชัดอยู่หลายตัว แต่เราไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นการสั่งทำในคราวเดียวกันหรือไม่ (หินลายขาวดำที่ว่าเป็นหินจากเกาะสีชัง ยังเหมือนกับหินจากเมืองต้าหลี่ด้วย จึงยังชี้ชัดไม่ได้ 100%)
ตุ๊กตาบางตัวมีอักษรภาษาจีนสลักอยู่ด้านหลัง อย่างเช่น
สองตัวแรกคือ เยว่ตง หมายถึงมณฑลกวางตุ้งด้านตะวันออก (ถิ่นที่มาของชาวจีนส่วนใหญ่ในบ้านเรา มีเมืองอย่าง ซัวเถา เหม่ยโจว ซานเหว่ย เฉาโจว และเจียหยาง ส่วนใหญ่พูดภาษาแต้จิ๋ว)
สามตัวหลังเป็นชื่อนายช่างซุ่นหลี แปลรวมกันว่า นายช่างซุ่นหลี จากมณฑลกวางตุ้งตะวันออก ก็หมายความว่าช่างเหล่านี้มาจากเมืองจีน แต่มาทำงานที่เมืองไทย
ตุ๊กตาเหล่านี้ถูกเคลื่อนย้ายออกไปตั้งแต่เมื่อใดนั้น ก็ต้องไปดูประกาศราชกิจจานุเบกษา พ.ศ. 2473 (สมัยรัชกาลที่ 7) ที่ระบุว่า “ค่ารื้อย้ายตุ๊กตา กระถางต้นไม้ และแท่นหินเป็นต้น 431 บาท”
ฉบับเต็มของราชกิจจานุเบกษาฉบับนี้ ระบุถึงค่าใช้จ่ายในการเตรียมพื้นที่วัดพระแก้วและพระบรมมหาราชวังสำหรับ “งานใหญ่” ที่กำลังจะเกิดขึ้น
ก็เป็นอันชัดเจนพอสมควรจากหลักฐานอย่างน้อยสองแหล่งนี้ว่า ตุ๊กตาที่ขุดพบนี้มีจุดกำเนิดที่เมืองไทยในราวต้นปี พ.ศ. 2423 และมาถึงจุดสิ้นสุดในราวปี พ.ศ. 2473 หรือมีอายุใช้งานประมาณ 50 ปี (ส่วนเรื่องทำไมต้องนำไปฝังนั้น ณ ขณะนี้คำตอบยังอยู่ในระดับของการ “คาดเดา”)
จากนั้นก็มากำเนิดใหม่ให้คนฮือฮาอีกครั้งในปี พ.ศ. 2565”
2. คุณ Kornkit Disthan ให้ความเห็นในบริบทแวดล้อมที่น่าสนใจด้วยว่า
“… ตุ๊กตานานาชาติที่ว่ากันว่าเพิ่งขุดพบแล้วมาตั้งตามจุดต่างๆ ของวัดพระแก้วสำหรับคนที่ “เล่นภาพเก่า” น่าจะคุ้นกันดี เพราะในภาพถ่ายเก่าๆ มักมีพวกมันโผล่มาติดกล้องตัวสองตัว
ตุ๊กตาพวกนี้แรกนำมาติดตั้งไว้คราวสมโภชพระนคร 100 ปี (พ.ศ. 2425) คือในรัชกาลที่ 5 จากนั้นพวกมันก็หายไป (น่าจะหายไปคราวฉลองพระนครครบ 150 หรือเปล่าก็ไม่รู้?) จนมาถูกพบอีกครั้ง แล้วกลับมายืนสลอนในวัดพระแก้วกันอีกครา
กะด้วยสายตา ตุ๊กตาพวกนี้ใช้หินคนละประเภทกับตุ๊กตาจีนที่เรามักเรียกว่า “ตุ๊กตาอับเฉา” ตามวัดหลวงต่างๆ ซึ่งมีมากและงามมากที่วัดโพธิ์กับวัดแจ้ง
ในฐานะผู้ไม่เชี่ยวชาญเรื่องหิน แต่ชอบสู่รู้แบบเดาๆ ผมคิดว่าตุ๊กตาหินวัดพระแก้วนี้น่าจะใช้หินเกาะสีชัง อย่างที่เรียกว่าศิลาลาย (ขาวดำ) เป็นแหล่งหินที่นิยมใช้กันแต่โบราณ นอกจากหินจากลพบุรี ราชบุรี เพชรบุรี
ว่ากันด้วยสุนทรียะแล้ว ตุ๊กตาพวกนี้ไม่งาม แม้จะดูแปลกตา ยิ่งแปลกตาในยุคสมโภชพระนคร 100 ปี ด้วยความที่มันประหลาด (exotic) เป็นคอนเทนต์ประเภท “สิบสองภาษา” ซึ่งคนสมัยก่อนชอบ เพราะทำให้ตื่นตาตื่นใจกับโลกภายนอก
“สิบสองภาษา” นี้แปลเป็นภาษาไทยรัชกาลที่ 10 ก็คือ “นานาชาติ” นั่นเอง ที่มันเป็น exotic เพราะดูไม่เข้ากับวัดพระแก้ว แต่น่าจะเข้ากับงาน “นาเชอนัลเอกซฮิบิเชน” (National exhibition) ที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 โปรดให้จัดขึ้นพร้อมกับการเฉลิมพระนคร มีการจัดแสดงข้าวของต่างๆ ในประเทศให้คนไทยได้เปิดหูเปิดตา
ตุ๊กตาพวกนี้น่าจะเป็นของจำพวก “เอกซฮิบิเชน” คือจัดแสดงให้คนไทยชมหน้าตาต่างด้าวด้วย และรักษาธรรมเนียมต่างชาติต่างภาษามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารด้วย สะท้อนถึงความเป็นศูนย์กลางจักรวาลแบบไทยๆ ดังที่วัดโพธิ์ก็มีภาพสิบสองภาษา แต่เหลืออยู่ไม่เท่าไรแล้ว ด้วยวาดเป็นจิตรกรรมจึงลบเลือนง่าย
กลับมาที่หิน ด้วยความที่ผมเดาว่ามันเป็นหินเกาะสีชัง ดังนั้นมันจึงไม่ใช่ของนำเข้า แต่มีอักษรจีนสลักไว้ที่บางตัวเขียนว่า (เยว่ตง)
เยว่ตงนี้ หมายถึง ตะวันออก (ตง) ของแคว้นเยว่ (มณฑลกวางตุ้ง) หมายถึงเมืองคนแต้จิ๋วทั้งปวง คือ ซัวเถา ซัวบ้วย แต้จิ๋ว และเก๊กเอี๊ย
ช่างที่สลักอาจจะมาจากเมืองเหล่านี้ โดยเฉพาะเมืองเก๊กเอี๊ย นั้นขึ้นชื่อลือชาในเรื่องแกะสลักหินเป็นยิ่งนัก ถ้าไม่นำช่างเข้ามาก็ ส่งหินไทยไปให้สลัก แต่น่าจะอย่างแรกมากกว่า
…ผมคิดว่าตุ๊กตาพวกนี้ไม่ใช่อับเฉาไว้ถ่วงเรือหรอก แต่สั่งเข้ามาจริงจังอย่างทะนุถนอม หรือหากไม่สั่งก็ทำขึ้นเองในประเทศสยามนี้โดยใช้ช่างจีน โดยหินที่ใช้เป็นหินเขียวภูเขาไฟ/หินอัคนี ดังที่สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส สมด็จพระสังฆราชจอมกวีแห่งวัดโพธิ์ทรงเรียกว่า “เสลานิล”
แต่บางตำราก็บอกว่ามีการส่งแบบไปให้จีน “หล่อศิลาเทียม” ซึ่งแปลว่าตุ๊กตาพวกนี้บางตัวใช้หินปลอมกระมัง และใช้วิธีหล่อขึ้นรูปไม่ใช่สลักเอา ซึ่งผมยังค้นไม่เจอว่าคืออะไรและทำกันอย่างไร….”
ทั้งหลายทั้งปวง เพิ่มความน่าสนใจในการค้นหาที่มา-ที่ไปของตุ๊กตาหินเหล่านี้มากขึ้น
ขณะนี้ ยังไม่ทราบว่าทำไมจึงลงไปอยู่ใต้ดิน?
สารส้ม