ลูกค้าจีนคัมแบ๊ก “อนันดา” โกยยอดคึก เจาะคอนโด 5 ฟลอร์ ทำเพนท์เฮาส์หรูขายพันล้าน
นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด(มหาชน) และประธานกิตติมศักดิ์สมาคมอาคารชุดไทย เปิดเผยว่า กลุ่มลูกค้าต่างชาติเป็นดีมานด์ถาวรของตลาดอสังหาริมทรัพย์มา 4-5 ปีแล้ว โดยเฉพาะลูกค้าจีนที่ยังมีการซื้อขายและโอนกรรมสิทธิ์แม้จะยังปิดประเทศ และวันนี้อสังหาริมทรัพย์เริ่มฟื้นตัวและตลาดต่างชาติก็เริ่มกลับมาแล้ว จากการที่หลายประเทศเปิดประเทศหลังโควิดคลี่คลาย มีการโอนของคอนโดมิเนียมต่างชาติและบ้าน 10-14% และใน 4 เดือนนี้ก็ยังเห็นมีการโอนอยู่
“ในส่วนของอนันดาประมาณ 70-80% เป็นลูกค้าจีน มีเมียนมาบ้าง ส่วนยุโรปยังน้อย เราปิดยอดไตรมาส2 ยอดขายต่างชาติโต 800% มียอดรายได้รวม 3,909 ล้านบาท เป็นตัวเลขจากต่างชาติกว่า 1,000 ล้านบาท หรือ 33% แต่กลุ่มลูกค้าต่างชาติที่เข้ามาเปลี่ยนจากเดิมที่เป็นกลุ่มแมส เป็นลักชัววรี่และต้องการเพนเฮ้าส์ 240 ตารางเมตร แต่เราไม่มี ทางออกเราก็คอมบายห้องใน 5 ชั้น จาก 100 ห้อง เป็น 11 ห้องขายได้ 1,000 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่าอสังหาไทยถือเป็นสวรรค์ของภูมิภาคนี้”
นายประเสริฐ กล่าวว่า เหตุผลที่ทำให้ต่างชาติมาซื้ออสังหาริมทรัพย์ไทย เนื่องจากมีเสถียรภาพค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับภูมิภาคนี้ ,โรงพยาบาลเอกชนเป็นที่ยอมรับของโลก,โรงเรียนนานาชาติไทยดีมาก ทำให้ต่างชาติซื้อบ้านหลังที่2 ย้ายถิ่นเข้ามาส่งลูกมีที่เรียนที่ดี ,คนไทยเป็นมิตร และความต้องการของต่างชาติในไทยมีถึง 10-15% ของมูลค่าตลาดรวม ในช่วงก่อนโควิดดีมานด์ต่างชาติเป็นตลาดแมส ซื้อของถูก 3-5 ล้าน ซื้อเป็นล็อตๆ เพราะต่างชาติดาวน์ถึง30% ขณะที่ลูกค้าไทยดาวน์10% เท่ากับต่างชาติช่วยอสังหาฯไทยไว้ช่วงก่อนโควิด
ทั้งนี้ในช่วงโควิดจะเป็นดีมานด์ในประเทศ มีการลงทุนคึกคักมากในตลาดบ้านเดี่ยว ซึ่งในนี้มีดีมานด์ต่างชาติซ้อนอยู่ด้วยในตลาดลักชัวรี่ ถึงแม้ต่างชาติจะซื้อบ้านพร้อมที่ดินไม่ได้แต่สามารถซื้อได้ภายใต้นิติบุคคลที่จัดตั้งในประเทศไทย ซึ้งโครงการบ้านแถวบางนา-ตราดขายดี มีลูกค้าจีนซื้อเป็นจำนวนมากในระดับ 100 ล้าน เพราะใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ และโรงเรียนนานาชาติ ถ้าเป็นคอนโดมิเนียมจะอยู่โซนถนนรัชดา และพระราม9 เพราะพักใกล้สถานทูตจีน
“เมื่อวันนี้ดีมานด์ของต่างชาติดีขึ้น และเป็นดีมานด์ที่ถาวรของอสังหาไทย แต่การถือครองคอนโดมิเนียมได้แค่ 49% ส่วนบ้านพร้อมที่ดินต้องเป็นในนามนิติบุคคลไทย อยากขอให้รัฐพิจารณาจัดระเบียบเรื่องพวกนี้ให้ชัดเจน เพราะเราจะเหมือนลอนดอน ฮ่องกง สิงคโปร์ เป็นโจทย์ที่รัฐต้องไปคิดจะจัดระเบียบอย่างไรเพื่อให้ต่างชาติเข้ามา ทั้งสิทธิประโยชน์ ระบบภาษี เช่น ขยายการถือครองคอนโดมิเนียมได้มากกว่า 49% จะให้ซื้อที่อยู่อาศัยได้ 1 ไร่ ซื้อได้ทุกที่เลยหรือไม่ ภาษีทึ่ดินต้องเสียเท่าไหร่ สิทธิการเช่าระยะยาวในที่อยู่อาศัย เชิงธุรกิจ อุตสาหกรรมและเกษตรกรรม เป็นต้น ต่อไปรัฐจะได้รายได้จากตรงนี้ และเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ”
นายภัทรชัย ทวีวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ตั้งแต่ปลายปี 2564 เริ่มเห็นดีมานด์ของต่างชาติมีแนวโน้มเติบโตขึ้นสอดคล้องกับที่รัฐบาลประกาศผ่อนคลายโควิด ส่งผลให้ไตรมาส1/2565 มูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์รวม กว่า 5.6 หมื่นล้านบาท จากจำนวน 19,900 กว่ายูนิต โดยเป็นการโอนกรรมสิทธิ์โดยต่างชาติ 2,100 ยูนิต มูลค่าประมาณ 1 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 19.6% ของมูลค่ารวมการโอนกรรมสิทธิ์
“ไตรมาสแรกของปีนี้ มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ถ้ารักษาแบบนี้ไว้ คาดว่าทั้งปีจะมีมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ของต่างชาติอยู่ที่ 4 หมื่นกว่าล้านบาท คิดเป็น 45% โยยังเป็นกำลังซื้อจากจีน มูลค่า 4,500 ล้านบาท ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ รองลงมาเป็นโซนอีอีซี เช่น ชลบุรี พัทยา”
นายภัทรชัยกล่าวว่า หลังรัฐบาลยกเลิกมาตรการโควิด ขณะที่กำลังซื้อต่างชาติดีขึ้นทุกโลเคชั่นของประเทศ ไม่ว่าภูเก็ต เชียงใหม่ พัทยา หัวหิน กรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เป็นกำลังซื้อจากยุโรป อเมริกา อังกฤษ รัสเซีย เยอรมัน แต่กำลังซื้อจีนด้วยนโยบายของรัฐบาลที่ยังคงมาตรการซีโร่โควิดอยู่ เลยทำให้กำลังซื้อยังกลับมาไม่คึกคักเหมือนช่วงก่อนหน้านี้ แต่กำลังซื้อคนจีนที่ยังอยู่ในประเทศก็ยังมีความต้องการอยู่คอนโดมิเนียมและบ้านระดับลักชัวร์ลี่ วิลล่าในหลายโลเกชั่นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโซนพระราม9 บางนา มีการขายเป็นแพคเก็จ เช่น ซื้อบ้านโซนนี้จะอยู่ใกล้กับโรงเรียนนานาชาตินี้ หรือโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำ จึงทำให้กำลังซื้อชาวจีนในโซนบางนา พระราม9 ใกล้สนามบินเติบโตขึ้นอย่างมาก ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา
ส่วนพื้นที่พัทยาจากข้อมูลไตรมาสแรก กำลังซื้อยังค่อนข้างน้อยส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในส่วนของบ้านจัดสรรหรือวิลล่า ขณะที่กลุ่มตลาดคอนโดมิเนียมพบว่าผู้ประกอบการยังเลือกที่จะยังไม่เปิดตัวในช่วงนี้ แต่ไตรมาส2 ที่ผ่านมา โซนพัทยาเริ่มกลับมาคึกคัก มีโครงการใหม่เปิดตัวในพื้นที่ แต่กระจุกตัวอยู่ในศรีราชา และเป็นกลุ่มยุโรป อเมริกา จะซื้อเป็นบ้านและวิลล่าในระดับราคา 7-15 ล้าน
“กำลังซื้อของคนจีน เรื่องโลเกชั่นสำคัญมาก จะมองใกล้สถานทูตก่อน ส่งผลให้ก่อนหน้านี้ 49% จะกระจุกตัวอยู่ตรงโซนรัชดา ในช่วงหลังหลังก็จะมองในเรื่องของโรงเรียนนานาชาติ รวมถึงโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำในส่วนของกรุงเทพฯและพื้นที่รอบรอบ แต่ถ้าเป็นในส่วนของเมืองท่องเที่ยว เช่น เชียงใหม่ จะซื้อบ้านที่อยู่นอกเขตใจกลางเมือง แต่ถ้าเป็นคอนโดราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทและอยู่ในใจกลางเมือง”
นายภัทรชัยกล่าวว่า การดึงกำลังซื้อต่างชาติเข้ามาจะเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์และเศรษฐกิจโดยรวม เพราะเกิดเม็ดเงิน เกิดการจ้างาน แทบจะไม่มีปัจจัยลบกระทบต่อพื้นที่ที่ทำให้ราคาอสังหาปรับตัวสูงขึ้น