เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
ศูนย์ข่าวศรีราชา – เมืองพัทยาประชุมร่วม อปท.ในพื้นที่คลัสเตอร์ 2 จ.ชลบุรี ก่อนเสนอกำจัดขยะมูลฝอยต่อกระทรวงมหาดไทย ขณะที่เมืองพัทยา เร่งสำรวจพื้นที่ก่อสร้างสถานีขนถ่ายยะพร้อมสถานีไฟฟ้า 3 โรง ตั้งเป้ากำจัดให้ได้วันละ 1,500 ตัน
วันนี้ ( 5 ก.ค.) นายมาโนช หนองใหญ่ รองนายกเมืองพัทยา เป็นประธานการประชุมร่วมนายกเทศบาล และ อบต. รวมทั้งเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ที่ซึ่งถูกกำหนดให้อยู่ในเป็นกลุ่มพื้นที่บริหารจัดการมูลฝอย (Cluster) หรือคลัสเตอร์ที่ 2 จ. ชลบุรี ณ ศาลาว่าการเมืองพัทยา เพื่อชี้แจงแนวทางและรับฟังข้อเสนอในวิธีการกำจัดขยะ ,การเก็บขน การพักคอย และการนำส่ง รวมถึงงบประมาณที่จะใช้ในการทำลาย
โดยแต่เดิมคลัสเตอร์นี้ประกอบด้วยพื้นที่เมืองพัทยา และเทศบาลเชื่อมโยง 7 แห่ง รวมทั้ง 8 อปท.ใน อ.สัตหีบรวมทั้งสิ้น 16 แห่งแต่ปัจจุบันได้มี อปท.ในพื้นที่คลัสเตอร์ที่ 1 ซึ่งอยู่ใน อ.ศรีราชา จำนวน 5 แห่งขอเข้าร่วม จึงทำให้มี อปท. รวมทั้งเป็น 21 แห่ง
รองนายกเมืองพัทยา เผยถึงการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการจัดการขยะมูลฝอยแบบรวมกลุ่ม จ.ชลบุรี ตามประกาศของจังหวัด ว่ามีวัตถุประ สงค์เพื่อให้การบริหารจัดการขยะมูลฝอยในพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เกิดความคุ้มค่าในการลงทุนตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย ซึ่งในกลุ่มคลัสเตอร์ที่ 2 นี้ เมืองพัทยา จะเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการจัดทำศูนย์รวมและกำจัดขยะมูลฝอยรวมด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย
ขณะที่ปริมาณขยะมูลฝอยในเมืองพัทยา เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 300-500 ตัน ซึ่งจะใช้วิธีการขนถ่ายไปกำจัดในลักษณะการเผาทำลายที่ จ.ระยอง แต่เมื่อมีคำสั่งจากกระทรวงมหาดไทย กำหนดให้พื้นที่ในลักษณะคลัสเตอร์ซึ่งเป็นการรวมกลุ่ม อปท. ต้องจัดแบ่งพื้นที่และเสนอวิธีขนถ่ายรวมทั้งกำจัดขยะที่ถูกสุขลักษณะ
และ จ. ชลบุรี ถือเป็นพื้นที่หลัก 1 ใน 3 ของแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ EEC จึงได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยบูรพา ทำการการศึกษา สำรวจ และเสนอแนะวิธีการกำจัดขยะตามนโยบายของภาครัฐ
โดย เมืองพัทยา เดิมมีแผนการก่อสร้างสถานีกำจัดขยะเพื่อผลิตไฟฟ้าในพื้นที่บ่อขยะ 140 ไร่ เขต ต. เขาไม้แก้ว แต่ต้องยกเลิกไปเพราะถูกคัดค้านจากประชาชนจึงทำการศึกษาแนวทางใหม่ พร้อมจัดทำร่างบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการจัดการขยะมูลฝอย ในกลุ่มพื้นที่ 2 ที่และจะได้มอบหมายให้แต่ละเทศบาลนำ เสนอต่อสภาท้องถิ่นเพื่อขอความเห็นชอบ ก่อนจะรวบรวมนำเสนอต่อคณะกรรมการบริหารจัดการขยะจังหวัดชลบุรีต่อไป
“ ในส่วนของเมืองพัทยา จะของบประมาณจาก EEC ในสำรวจ ศึกษาพื้นที่การจัดสร้างจุดพักขยะในแต่ละกลุ่มเทศบาลในปี 2566 รวมทั้ง จัดซื้อรถขนถ่ายจากสถานีย่อยเพื่อส่งไปกำจัดและก่อสร้างสถานีกำจัดขยะในลักษณะโรงงานผลิตไฟฟ้าที่นิคมอุตสาหกรรมเหมราช จำนวน 3 โรง แต่ละโรงจะสามารถรองรับขยะได้วันละ 500 ตัน ซึ่งแต่ละ อปท.จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการกำจัดตันละ 500 บาทในระยะเวลา 7 ปีก่อนจะมีการเพิ่มอัตราการขนถ่ายเนื่องจากการ EEC จะยกเลิกการสนับสนุน” รองนายกเมืองพัทยา กล่าว