Chonburi Sponsored

ผ่าวิชั่น “กรมทางหลวง” ลุยมอเตอร์เวย์ 7 สาย 3.6 แสนล้านบาท ปักหมุดโมเดล PPP ขับเคลื่อนโปรเจกต์ยักษ์ลดภาระรัฐบาล

Chonburi Sponsored
Chonburi Sponsored


ผ่าน 6 เดือนแรกปี 2565 ไปอย่างรวดเร็ว เข้าสู่ครึ่งหลัง ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ผันผวน ซึ่งเศรษฐกิจประเทศไทยมีแนวโน้มชะลอการฟื้นตัว ประกอบกับผลกระทบสงครามยูเครน เกิดวิกฤตราคาพลังงานแบบฉับพลัน การจัดเก็บรายได้ของภาครัฐต่ำเป้า ทำให้การใช้จ่ายงบประมาณ การลงทุนต้องกระทบไปด้วย “กรมทางหลวง” หรือ ทล. หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินมากที่สุด อีกทั้งยังมีแผนการลงทุนโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ที่เป็นบิ๊กโปรเจกต์ในมือขณะนี้ 7 สายทาง มูลค่าลงทุนรวม 361,607 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่พักริมทาง (Rest Area) บนมอเตอร์เวย์ที่อยู่ขั้นตอนเตรียมเปิดประมูลและเตรียมนำเสนออีก 5 สัญญา มูลค่าถึง 7,608 ล้านบาท

การขับเคลื่อนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ในภาวะเศรษฐกิจ งบประมาณ ไม่เอื้อในขณะนี้ ผู้บริหารกรมทางหลวงจะมีแนวคิดอย่างไร เพื่อไม่ให้โครงการต้องสะดุด หรือล่าช้า…

@ “บางปะอิน / บางใหญ่” เร่งก่อสร้างโยธาและระบบ O&M

“สราวุธ ทรงศิวิไล” อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า โครงการมอเตอร์เวย์ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างขณะนี้มี 2 สาย คือ สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) ซึ่งตามแผนจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ และจัดเก็บค่าผ่านทางช่วงปลายปี 2567 โดยการดำเนินโครงการมอเตอร์เวย์ M6 และ M 81 นั้น รัฐใช้งบประมาณลงทุนก่อสร้างงานโยธาเอง ความคืบหน้า ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 2565 สำหรับสาย M 6 ผลงานคืบหน้า 98% ส่วน สาย M 81 ก่อสร้างคืบหน้า 78%

ส่วนการก่อสร้างงานระบบพร้อมการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) นั้น ให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP Gross Cost ทั้ง 2 เส้นทาง วงเงินรวม 39,138 ล้านบาท ก่อสร้าง 2 ปี 6 เดือน ระยะเวลาบริหาร 30 ปี

โดยได้ลงนามสัญญากับกลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR ไปเมื่อ ก.ย. 2564 และเอกชนได้เริ่มงานอย่างเป็นทางการเมื่อ ม.ค. 2565 โดยในช่วงแรกจะเป็นขั้นตอนของการออกแบบ โดยตามแผนงานได้ทยอยส่งมอบพื้นที่บริเวณด่านทั้ง 2 สายให้เอกชนเข้าสำรวจเพื่อออกแบบหมดแล้ว เพื่อให้ ทล.อนุมัติแบบคู่ขนาน ส่วนที่เป็นพื้นที่เส้นทาง M6 ส่งมอบแล้ว 20 สัญญา จากทั้งหมด 40 สัญญา ส่วน M81 ส่งมอบส่วนที่เป็นเส้นทางแล้ว 7 สัญญา จากทั้งหมด 25 สัญญา โดยเอกชนเข้าไปเตรียมพื้นที่ เริ่มก่อสร้างจริงประมาณปลายปี 2565 ซึ่งงานโยธาทุกสัญญาจะก่อสร้างเสร็จพร้อมส่งมอบให้ดำเนินการ O&M ได้

รูปแบบ PPP Gross Cost ในงาน O&M ของ M6 และ M81 นั้นถือเป็นการเริ่มต้นที่ให้เอกชนลงทุนก่อสร้างติดตั้งระบบ บริหาร บำรุงรักษา จัดเก็บรายได้ให้รัฐ โดยเอกชนจะได้รับคืนส่วนที่ลงทุนไป และค่าจ้างในการดำเนินงาน ซึ่งจะมีการกำหนดตัวชี้วัด และมาตรฐานเป็นเกณฑ์ประเมิน


@ จ่อเปิดลงทุนระบบ O&M มอเตอร์เวย์ “บางขุนเทียน-เอกชัย-บ้านแพ้ว”

สำหรับการพัฒนาโครงข่ายมอเตอร์เวย์ สายบางขุนเทียน-เอกชัย-บ้านแพ้ว (M82) ระยะทางรวมประมาณ 25 กม.นั้น การก่อสร้างงานโยธาจะใช้เงินทุนค่าธรรมเนียมผ่านทาง (กองทุนมอเตอร์เวย์) แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ 1. ช่วงบางขุนเทียน-เอกชัย ระยะทาง 10.564 กม. วงเงิน 10,500 ล้านบาท ปัจจุบันมีความคืบหน้าก่อสร้างแล้ว 67.44% เป้าหมายแล้วเสร็จในปี 2566

2. ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ระยะทาง 16.4 กม. วงเงิน 19,700 ล้านบาท แบ่งประมูล 10 สัญญา ซึ่งได้ผู้รับจ้างครบทั้ง 10 สัญญาแล้วอยู่ระหว่างก่อสร้าง ปัจจุบันผลงานคืบหน้า 0.71% ตามแผนงานจะแล้วเสร็จปี 2567

ส่วนระบบ O&M ตลอดสาย 25 กม. จะเป็นการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ รูปแบบ PPP Gross Cost โดยผ่านความเห็นชอบจากกระทรวงคมนาคมแล้ว ปัจจุบันเสนอไปที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) คาดว่าจะเสนอคณะกรรมการ PPP และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติภายในปี 2565 จากนั้นเข้าสู่ขั้นตอนจัดทำเงื่อนไขร่างข้อเสนอ (Request for Proposal : RFP) คาดเปิดคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในไตรมาส 3 ปี 2566 ลงนามสัญญาช่วงปลายปี 2566 ใช้เวลาก่อสร้าง 2567-2568 เปิดให้บริการเต็มรูปแบบ

รูปแบบการลงทุนระบบ O&M ของสาย M82 นี้จะเป็นโมเดลเดียวกับสาย M6 และ M81 คือ PPP Gross Cost ที่ให้เอกชนลงทุนก่อสร้างติดตั้งระบบ บริหาร บำรุงรักษา จัดเก็บรายได้ให้รัฐ ส่วนเอกชนได้รับเป็นค่าจ้างดำเนินงาน ซึ่งจะมีการกำหนดตัวชี้วัด และมาตรฐานในการกำกับสัญญา ถือเป็นครั้งแรกในการใช้ PPP Gross Cost กับงานระบบ O&M เพราะที่ผ่านมาเส้นทางมอเตอร์เวย์สาย 7 (กรุงเทพฯ-ชลบุรี-พัทยา-มาบตาพุด) และสาย 9 (วงแหวนตะวันออก) นั้น กรมทางหลวงใช้เงินจากกองทุนมอเตอร์เวย์ในการซ่อมบำรุง และบริหารการจัดเก็บค่าผ่านทางรายได้เข้ากองทุน โดยได้นำต้นทุนกรณีที่ทำเอง ศึกษาประเมินเปรียบเทียบกับรูปแบบ PPP จ้างเอกชนบริหารระบบ O&M พบว่าทำให้ภาระค่าใช้จ่ายลดลง จึงเป็นแนวทางที่เหมาะสม


@ ลุ้นประมูลก่อสร้างสาย M7 เชื่อม “อู่ตะเภา” ปลายปีนี้

ตามมาด้วยมอเตอร์เวย์ส่วนต่อขยายเชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภา (M7) ระยะทาง 1.92 กม. วงเงิน 4,508 ล้านบาท เป็นเส้นทางล่าสุดที่ ครม.เพิ่งอนุมัติเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2565 ซึ่งเส้นทางนี้มีลักษณะเป็นส่วนเชื่อมต่อเข้าสนามบินอู่ตะเภา รองรับเมืองการบิน ระยะทางสั้น จึงไม่มีการจัดเก็บค่าผ่านทางแต่อย่างใด โดยรัฐลงทุนก่อสร้างงานโยธาเอง อยู่ระหว่างกระทรวงการคลังจัดหาเงินกู้ต่างประเทศมาดำเนินการ และให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณสำหรับค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินวงเงิน 108 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดประมูลก่อสร้างได้ปลายปี 2565-ต้นปี 2566

@ ชงบอร์ด PPP เคาะ “บางขุนเทียน-บางปะอิน” เอกชนลงทุน 100% สายแรก

ตามไทม์ไลน์ยังมีมอเตอร์เวย์อีก 2 สายที่ศึกษาการลงทุนโครงการเสร็จแล้ว โดยเตรียมเสนอขออนุมัติตามขั้นตอน คือ โครงการต่อขยายมอเตอร์เวย์สาย 9 วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครฝั่งตะวันตก ช่วงบางขุนเทียน-บางปะอิน ระยะทาง 78 กม. วงเงินลงทุน 78,000 ล้านบาท โดยเรื่องอยู่ที่ สคร.เพื่อเตรียมเสนอบอร์ด PPP เห็นชอบ และเสนอ ครม.ตามขั้นตอน คาดว่าจะเริ่มกระบวนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนได้ในปี 2566

มอเตอร์เวย์ บางขุนเทียน-บางปะอิน จะใช้รูปแบบการลงทุน PPP Net Cost เป็นเส้นทางแรก ซึ่งเป็นไปตามการศึกษาที่พบว่า มีความคุ้มค่าที่เอกชนจะลงทุน 100% ทั้งก่อสร้างงานโยธาและระบบ O&M ซึ่งจะเป็นการลดภาระการลงทุนภาครัฐได้อย่างมากแล้ว ยังลดความเสี่ยงของรัฐได้อีกด้วย และหากโครงการมีรายได้ดี รัฐจะได้รับส่วนแบ่งรายได้เพิ่มไปด้วย

“จุดเด่นมอเตอร์เวย์ M9 คือโครงข่ายจะเชื่อมต่อมอเตอร์เวย์อีก 2 สายทาง คือ สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว และสายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่การศึกษาพบว่ามีความคุ้มค่า”

อีกโครงการ คือ ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์) (M5) ช่วงรังสิต-บางปะอิน ระยะทาง 22 กม. มูลค่าโครงการ 28,360 ล้านบาท อยู่ในขั้นตอนเตรียมเสนอกระทรวงคมนาคม เป้าหมายเปิดประมูลภายในปี 2566 โดยโครงการนี้ใช้รูปแบบการลงทุน PPP Gross Cost คือให้เอกชนลงทุนก่อสร้างงานโยธา บวกติดตั้งระบบ O&M และรับจ้างบริหารโครงการ โดยรัฐจ่ายคืนค่าลงทุนส่วนของงานโยธาและค่าลงทุนระบบ O&M และค่าจ้างงาน O&M ซึ่งในส่วนของค่าก่อสร้างงานโยธาจะใช้เงินจากกองทุนมอเตอร์เวย์จ่ายคืนเอกชน โดยจะเริ่มจ่ายค่างานโยธาเมื่องานก่อสร้างเสร็จแล้ว

ที่กำหนดรูปแบบการจ่ายคืนค่าก่อสร้างแบบนี้เพื่อให้สอดคล้องกับสถานะการเงินกองทุนมอเตอร์เวย์ ที่ปัจจุบันมีภาระในการจ่ายค่าก่อสร้างงานโยธา สายบางขุนเทียน-เอกชัย-บ้านแพ้ว (M82) อยู่ ประเมินว่าสายนี้จะสร้างเสร็จปี 2567 ซึ่งจะสามารถบริหารสถานะกองทุนได้คล่องตัว


@”นครปฐม-ชะอำ” ทบทวนปรับแบบ แบ่งเฟส เร่งสร้างช่วงนครปฐม-ปากท่อก่อน

ส่วนมอเตอร์เวย์สายนครปฐม-ชะอำ (M8) ระยะทาง 109 กม. วงเงินลงทุน 79,006 ล้านบาท เดิมบอร์ด PPP อนุมัติแล้ว ลงทุนรูปแบบ PPP Net Cost แต่เนื่องจากประชาชนในพื้นที่ จ.เพชรบุรีคัดค้านการก่อสร้าง จึงต้องทบทวนผลการศึกษาโครงการใหม่ โดยแบ่งการก่อสร้างเป็น 2 เฟส โดยเฟสแรกจะดำเนินการช่วงนครปฐม-ปากท่อก่อน โดยมีการปรับปรุงแบบ ทบทวนค่าก่อสร้างและรูปแบบการลงทุน คาดว่าจะทบทวนเสร็จในปี 2565 เบื้องต้นประเมินว่าค่าลงทุนโครงการจะปรับเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากราคาวัสดุก่อสร้างปรับเพิ่มขึ้น เช่น เหล็ก ปูน เป็นต้น

ประเมินแล้วรูปแบบการลงทุนใหม่คาดว่าจะเป็นโมเดลเดียวกับ M6 และ M81 โดยรัฐลงทุนงานโยธา และ PPP ให้เอกชนลงทุนในส่วนของงานระบบ O&M ซึ่งเส้นทางนี้มีความสำคัญเพราะเป็นการเพิ่มโครงข่ายลงสู่ภาคใต้ โดยสามารถเชื่อมกับมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี และสายเอกชัย-บ้านแพ้วได้ โดยในการลงทุนจะผลักดันในเฟสแรก ช่วงนครปฐม-ปากท่อ ที่เป็นส่วนสำคัญในการเชื่อมโครงการมอเตอร์เวย์ทั้ง 2 สาย


@ได้เวลาบูม “ที่พักริมทาง” ไฮไลต์มอเตอร์เวย์ 5 โครงการจัดแถวเปิดประมูล

สำหรับการดำเนินโครงการที่พักริมทาง (Rest Area) บนมอเตอร์เวย์นั้น ในการเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนที่ในแผนขณะนี้มี 5 โครงการ โดยในปี 2565 จะเริ่มคิกออฟที่ M7 สายกรุงเทพมหานคร-บ้านฉาง จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการศูนย์บริการทางหลวงศรีราชา (ช่วงชลบุรี-พัทยา) กม.93+750 มูลค่า 2,929 ล้านบาท และโครงการสถานที่บริการทางหลวงบางละมุง (ช่วงพัทยา-มาบตาพุด) กม.137+800 มูลค่า 1,317 ล้านบาท ซึ่งบอร์ด PPP เห็นชอบแล้ว อยู่ระหว่างจัดทำเงื่อนไขร่างข้อเสนอ ( RFP) คาดเปิดคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในปลายปี 2565 ลงนามสัญญาไตรมาส 3/2566 ก่อสร้างโครงการ 2566-2567 เปิดบริการเต็มรูปแบบปี 2567

สำหรับ Rest Area มอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา จำนวน 2 โครงการ และบางใหญ่-กาญจนบุรี จำนวน 1 โครงการ นั้น กระทรวงคมนาคมเห็นชอบรูปแบบโครงการและเสนอไปยัง สคร.แล้ว คาดว่าจะเสนอบอร์ด PPP อนุมัติในเดือน ก.ค. 2565 นี้ หลังจากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโดยตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ พ.ศ. 2562 จัดทำ RFP และเปิดคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในต้นปี 2566 ลงนามสัญญาช่วงปลายปี 2566 และเริ่มก่อสร้าง คาดว่าจะเริ่มให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน เช่น ที่จอดรถ ห้องน้ำ ภายในปี 2567 รองรับการเปิดให้บริการมอเตอร์เวย์ M6 และ M81 เต็มรูปแบบ

โครงการ Rest Area มอเตอร์เวย์จะลงทุนในรูปแบบ PPP Net Cost โดยกำหนดให้เอกชนร่วมลงทุนก่อสร้างและบริหารโครงการทั้งหมด โดยภาครัฐเป็นผู้ดำเนินการจัดหาและปรับระดับที่ดินของโครงการ และเอกชนเป็นผู้รับผิดชอบในการลงทุนออกแบบ ก่อสร้าง และบริหารจัดการโครงการ ระยะเวลาของโครงการ 32 ปี ( ออกแบบก่อสร้าง 2 ปี บริหารจัดการ 30 ปี ) โดย ทล.จะได้รับผลตอบแทนจากเอกชนตลอดอายุสัญญา

“การพัฒนา Rest Area แม้สเกลการลงทุนจะไม่สูง แต่เพื่อเพิ่มความคุ้มค่าและสร้างแรงจูงใจเอกชน จึงได้กำหนดให้มีโมเดลลักษณะพิเศษ ที่ให้ก่อสร้างอาคารคร่อมทั้งสองฝั่งถนนเป็นการเพิ่มพื้นที่เชิงพาณิชย์ด้านบนอาคาร ขณะที่ด้านล่างจะมีพื้นที่จอดรถมากขึ้น เพิ่มความสะดวก และเป็นไฮไลต์ที่เพิ่มแรงจูงใจเอกชน จากการมีพื้นที่เพิ่มขึ้นสร้างความคุ้มค่ามากขึ้น ซึ่ง M7 จะมีทั้งที่ศรีราชา และบางละมุง เพราะตำแหน่ง Rest Area สองฝั่งอยู่ตรงข้ามกัน โดย Rest Area โมเดลนี้จะมีอยู่ในทุกเส้นทาง”

เชื่อว่า Rest Area ลอยฟ้าจะเป็นแลนด์มาร์กใหม่ จุดเช็กอินใหม่แน่นอน เพราะนอกจากเป็นจุดพักรถที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างครบครัน เช่น สถานีบริการน้ำมัน สถานีชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ (EV charger) มีร้านค้า ร้านอาหาร และต้องจัดพื้นที่สินค้าโอทอปให้ชุมชน รวมไปถึงบางจุดอาจจะมีโรงแรมขนาดเล็กอีกด้วย


@ผ่าวิชั่น “กรมทางหลวง” ยกระดับมาตรฐานทางหลวงสายหลัก-ลงทุน “มอเตอร์เวย์” เน้นโมเดล PPP ลดภาระรัฐ

“สราวุธ ทรงศิวิไล” ระบุว่า ภารกิจของกรมทางหลวงคือการก่อสร้างบูรณะถนนสายหลัก ซึ่งภายใต้ข้อจำกัดงบประมาณปี 2566 มีแนวคิดในการบริหารเพื่อใช้งบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยจะเน้นไปที่การยกระดับความปลอดภัยและความสะดวกของเส้นทางสายหลัก ที่เป็นทางหลวงแผ่นดินเชื่อมระหว่างภูมิภาคให้มีมาตรฐาน Class A มีความปลอดภัยสูง ยกระดับทางเชื่อมจุดตัด หรือเรียกว่าเป็น “มินิมอเตอร์เวย์” แต่ให้ประชาชนวิ่งฟรี

และยังคงต้องเดินหน้าพัฒนามอเตอร์เวย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างทางเลือกในการเดินทางให้แก่ประชาชน โดยมีแผนแม่บทมอเตอร์เวย์ปี 2560 ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2560-2579) จำนวน 21 เส้นทาง ระยะทาง 6,612 กม. ต่อมาปี 2563 “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีนโยบายในการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบรางในพื้นที่เดียวกัน (MR-MAP) ซึ่งเป็นโครงข่ายมอเตอร์เวย์คู่ระบบราง จำนวน 10 เส้นทาง ซึ่งเส้นทางมอเตอร์เวย์หลักยังเป็นไปตามแผนแม่บทปี 2560

“นโยบาย MR-MAP คือปรับการลงทุนให้ใช้ประโยชน์คุ้มค่ามากที่สุด ลดผลกระทบเวนคืนต่อประชาชน เปิดพื้นที่ใหม่ ตัดเส้นทางให้ตรงที่สุด เลี่ยงเขตเมือง แก้ปัญหาจราจรติดขัด และวางเส้นทางผ่านจุดที่เป็นที่ตั้งของศูนย์ขนส่งสินค้าที่กระจายอยู่ทั่วประเทศเพื่อรองรับและเพิ่มศักยภาพการขนส่งของประเทศ”

แต่เป็นที่ทราบกันว่า การพัฒนามอเตอร์เวย์จะใช้เงินลงทุนสูงมาก ในขณะที่มีความจำเป็นต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น กรมฯ ต้องหารูปแบบการลงทุนที่มีความหลากหลาย ซึ่งขึ้นอยู่กับผลการศึกษาในแต่ละเส้นทางว่าจะเหมาะสมกับการลงทุนรูปแบบใด ซึ่งกรมทางหลวงมีทั้งกองทุนมอเตอร์เวย์ใช้ก่อสร้างงานโยธา หรือใช้ PPP ร่วมทุนกับเอกชน ซึ่งก็มีทั้งที่รัฐร่วมลงทุนเฉพาะงานโยธา หรือจะให้เอกชนลงทุนทั้งหมด 100%

“ผมมองว่าการดำเนินการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมีความจำเป็นในการพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในประเทศ และสนับสนุนด้านคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และยังเป็นส่วนสำคัญ เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนและกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกทาง ภายใต้นโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม ซึ่งอาจจะมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ และภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว แนวทางการลงทุนจะมุ่งไปที่การร่วมลงทุนเอกชน PPP ซึ่งอาจจะเป็นรูปแบบ PPP Net หรือ PPP Gross ซึ่งในแต่ละโครงการจะใช้รูปแบบใดขึ้นกับการศึกษา ประเมิน วิเคราะห์ผลตอบแทน ความคุ้มค่า และหากในอนาคต ทั้งรัฐบาลและเอกชนไทยไม่สามารถลงทุนได้ เชื่อว่ายังมีรูปแบบการลงทุนอื่นๆ อีก เช่น โรดโชว์ให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนทั้งหมด โดยรัฐไม่มีภาระ ในขณะที่ได้รับส่วนแบ่งรายได้ และประชาชนได้ใช้ประโยชน์ในการใช้เส้นทาง โดยสามารถจ่ายค่าผ่านทางได้ในอัตราที่เหมาะสม”

Chonburi Sponsored
อำเภอ ศรีราชา

อำเภอศรีราชาเดิมเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอบางละมุง ตัวเมืองบางละมุงเดิมตั้งอยู่ที่บ้านบางละมุงในเขตอำเภอบางละมุงในปัจจุบัน เมื่อประมาณ 100 ปีเศษมานี้ เมืองบางละมุงได้ย้ายมาตั้งอยู่ที่บ้านบางพระ แต่ยังคงใช้ชื่อเดิมว่า "เมืองบางละมุง" ในขณะที่ตั้งเมืองบางละมุงในขณะนั้น ระบบบริหารราชการแผ่นดินยังไม่มีอำเภอ ต่อมาทางราชการได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองเป็นมณฑล จึงได้ย้ายเมืองบางพระไปตั้งอยู่ที่บางปลาสร้อย อำเภอเมืองชลบุรีในปัจจุบัน และรวมเมืองพนัสนิคมเข้าด้วยกัน เรียกว่า "เมืองชลบุรี"