เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
ภาพความสวยงามของชายหาดนาจอมเทียนโฉมใหม่ที่ถูกปลุกชีพขึ้นมาอีกครั้งจากการทุ่มงบประมาณเกือบ 600 ล้านบาท ของกรมเจ้าท่า เพื่อถมทรายบริเวณชายหาด ลดปัญหาการกัดเซาะของน้ำทะเล รักษาไว้ซึ่งธรรมชาติอันสวยงาม และยังหวังว่าจะฟื้นฟูการท่องเที่ยวในพื้นที่หลังสถานการณ์ระบาดโควิด-19 คลี่คลาย จนทำให้ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวจำนวนมากแห่พากันเข้าพักผ่อนและทำกิจกรรมสันทนาการ
และแม้โครงการดังกล่าวจะยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ แต่อานิสงส์จากการพัฒนาพื้นที่ชายหาดจอมเทียน เมืองพัทยา ได้ส่งผลถึงชายหาดนาจอมเทียน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ซึ่งมีพื้นที่ติดกัน โดยพบว่าผืนทรายตลอดระยะทางไม่กี่ร้อยเมตรได้กลับมามีสีขาวสะอาดตาจนดึงดูดนักท่องเที่ยวให้กลับมาเยือนได้อีกครั้ง กลายเป็นที่มาของกลุ่มคนเห็นแก่ได้และผู้มีอิทธิพลซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนต่างพื้นที่ที่กระโดดเข้าใส่หาผลประโยชน์ในทันที
จนเกิดภาพการบุกรุก และจับจองพื้นที่บริเวณชายหาดและฟุตปาธเพื่อขายของ ถือเป็นการทำลายบรรยากาศการท่องเที่ยว ทั้งๆ ที่เทศบาลตำบลนาจอมเทียน ได้นำป้ายประกาศห้ามบุกรุกติดตั้งกลางชายหาดเมื่อช่วงต้นเดือน มิ.ย.2565 แต่ผู้ประกอบการหาได้สนใจ บางรายฮึกเหิมถึงขั้นตั้งโต๊ะบริการอาหารและเครื่องดื่มหน้าป้ายกันเลยทีเดียว ถือเป็นการเย้ยกฎหมาย.และตบหน้าหน่วยงานท้องถิ่นอย่างเทศบาลตำบลนาจอมเทียน และกรมเจ้าท่าอย่างจัง
จนเพจดังอย่าง “ฟุตบาทไทยสไตล์” ต้องเผยภาพหาดนาจอมเทียนที่ถูกบุกรุกด้วยเตียงผ้าใบ และร้านเครื่องดื่มนานาชนิด เพื่อประกาศให้ชาวบ้านร่วมกันเรียกร้องให้หน่วยงานพื้นที่ออกมาเอาผิดอย่างจริงจังต่อกลุ่มบุคคลเหล่านี้
กระทั่งเมื่อวันที่ 21 มิ.ย.2565 ที่ผ่านมา เทศบาลตำบลนาจอมเทียน ต้องออกประกาศห้ามมิให้มีการจำหน่ายสินค้า อาหารหรือเครื่องดื่มบนพื้นที่ชายหาดจอมเทียน ทางเท้า และถนนเลียบชายหาดนาจอมเทียน และห้ามมิให้นำสิ่งของและอุปกรณ์ต่างๆ มาติดตั้งบนพื้นที่ชายหาด ทางเท้า และผิวจราจร และหากพบมีการฝ่าฝืนจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด
แต่หลังประกาศดังกล่าวออกไปได้เพียงวันเดียว กลุ่มพ่อค้าแม่ค้า สตรีทฟูดบริเวณชายหาดกว่า 200 ราย พากันรวมตัวร้องเรียนและขอรับทราบรายละเอียด รวมทั้งการขออนุญาตให้ใช้พื้นที่บริการชายหาดเพื่อขายอาหารและสินค้าจาก น.ส.ระพีพรรณ รัตนเหลี่ยม นายกเทศมนตรีตำบลนาจอมเทียน จนต้องเชิญ นายกัณฑ์พงษ์ สุวรรณปทุมเลิศ ปลัดอาวุโส และ พ.ต.ท.พงษ์ศักดิ์ เจริญคลัง สารวัตรปราบปราม สภ.นาจอมเทียน ร่วมชี้แจง
โดยในครั้งนั้น นายกัณฑ์พงษ์ สุวรรณปทุมเลิศ ปลัดอาวุโส ได้แจ้งต่อผู้ประกอบการว่าหลังกรมเจ้าท่า อนุมัติงบประมาณเพื่อดำเนินการเสริมทรายชายหาดนาจอมเทียน แม้จะยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ แต่ภาพความสวยงามที่ปรากฏทำให้ชายหาดแห่งนี้ได้รับคำชมจากคนทั่วประเทศว่าเป็นชายหาดที่สวยงามไม่ต่างจากชายหาดไมอามี ประเทศสหรัฐอเมริกา จนทำให้เกิดการเดินทางเข้ามาพักผ่อนในพื้นที่่เป็นจำนวนมาก
แต่เมื่อเวลาผ่านไปชายหาดกลับมีสิ่งต่างๆ ทั้งโต๊ะ เก้าอี้วางเต็มชายหาดตลอดแนวพื้นที่ จนทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ และนักท่องเที่ยวต้องร้องเรียนมายังเทศบาล อำเภอสัตหีบ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นมีผลต่อการจัดการขยะบริเวณชายหาด ปัญหาการจราจรแออัด และปัญหาอาชญากรรมจากการแย่งพื้นที่ขายสินค้า
ส่วนผู้ประกอบการโรงแรมในพื้นที่ก็ร้องเรียนว่านักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางเข้าพักอาศัยในโรงแรมเพราะติดปัญหาเรื่องการจราจร จนเป็นที่มาของการออกประกาศในรอบที่ 2 เพื่อเอาผิดผู้ฝ่าฝืนกฏอย่างจริงจัง
แต่คำอธิบายดังกล่าวไม่เป็นผล เพราะพ่อค้าแม่ค้ายังคงยืนกรานว่าที่จะขายสินค้าบริเวณดังกล่าว สุดท้ายเทศบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องประกาศยืนยันที่จะขอคืนพื้นที่สาธารณประโยชน์ชายหาดนาจอมเทียนให้ประชาชนทุกคนใช้ประโยชน์ร่วมกัน
และขอให้พ่อค้าแม่ค้าปฏิบัติตามข้อสั่งการที่เทศบาลออกไว้ ส่วนการบรรเทาทุกข์ของพ่อค้าแม่ค้าจะเร่งหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการควบคู่กันไป
ท้ายที่สุดจึงต้องจับตาดูกันว่ากฎหมู่ หรือกฎหมายสิ่งใดใช้ได้จริงในเขตเทศบาลตำบลนาจอมเทียน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ที่สำคัญในวันที่ 27 มิ.ย.นี้ เทศบาลจะสามารถใช้กฎหมายต่อผู้กระทำผิดได้มากน้อยเพียงใด
อนึ่ง โครงการเสริมทรายชายหาดจอมเทียน และนาจอมเทียน ที่มีระยะทางยาวรวมกันกว่า 3.5 กิโลเมตร ภายใต้งบประมาณ 586 ล้านบาท เป็นโครงการที่ กรมเจ้าท่า ได้ดำเนินการต่อยอดจากโครงการเสริมทรายชายหาดพัทยา เพื่อแก้ปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะระยะยาวก่อนที่สภาพชายหาดจะหายไป และยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในอนาคต
และเมื่อวันที่ 29 ธ.ค.2564 ที่ผ่านมา นายสมพงษ์ จิริศิริเลิศ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ยังได้เป็นประธานส่งมอบพื้นที่ชายหาดจอมเทียนระยะความยาว 800 เมตร กว้าง 51 เมตร ให้เทศบาลตำบลนาจอมเทียน เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้ชาวสัตหีบ ก่อนจะเดินหน้าโครงการในเฟสที่เหลือให้แล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2565
โดยมีเป้าหมายว่า เมื่อการพัฒนาชายหาดแล้วเสร็จสมบูรณ์จะสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบธุรกิจริมชายหาดจอมเทียนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาการกัดเซาะชายหาดที่รุนแรงได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้น ยังเป็นการปรับทัศนียภาพชายฝั่งให้น่าท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น