Chonburi Sponsored

กระตุ้นเด็กวัยใส อาหารไทยฟีเว่อร์

Chonburi Sponsored
Chonburi Sponsored

ทั้งนี้ ก็เพื่อคืนความสุขให้กับพี่น้องประชาชนได้ “อยู่ดีมีแฮง” ตามสำเนียงอีสาน สภาวะเศรษฐกิจที่หัวคะมำเป็นตุ๊กตาล้มลุกอยู่สองปีครึ่งจะได้ยืนตรงแบบ “ไอ้ไข่” ที่ให้แต่โชคลาภเสียที…

คลับ บาร์ อาบ อบ นวด ปิดจนคนอาชีพที่ว่านี้ตกงานผันอาชีพนักดนตรีเป็นไรเดอร์เกลื่อนถนน ขณะนวลนางในอ่างน้ำก็หันไปขายส้มตำยำปลาแดก

ศบค.ย้ำล่าสุด…โควิดสายพันธุ์โอมิครอนไม่ใช่ไวรัสรุนแรง ติดแล้วขี้ปะติ๋วแค่โรคไข้หวัดคัดจมูกน้ำมูกไหลธรรมด๊าธรรมดา… แต่เข้าโรงพยาบาลหรือโรงหมอต้องควักเป๋าตังค์จ่ายเอง?

ขณะที่คนไทยทุกคนกำลังถูกค่าไฟฟ้ารัฐมัดมือชกอ้างวัตถุดิบผลิตกระแสไฟแพง แต่ผลประกอบการและโบนัสประจำปี รวมถึงเบี้ยประชุมผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ…ลดไม่ได้เด็ดขาด

เอาเป็นว่าสถานการณ์เช่นนี้จะหวังพึ่งรัฐ ท่าจะยากทีเดียว… ส่วนยาฟาวิพิราเวียร์ที่สายการเมืองสาธารณสุขบอกมีรักษาเบื้องต้นทุกโรงพยาบาล แต่หมอที่ยืนหลบมุมแอบกระซิบ…ขอให้มันจริงเถอะ?

สรุปคือ…เมื่อเห็นว่าบ้านเมืองเข้าสู่ภาวะปกติเศรษฐกิจก็น่าจะคืนชีพไม่เร็วก็ช้า และข่าวว่าถ้าผู้นำไม่ติดเบรกคนไทยคงได้ถอดแมสก์เหมือนปลอดโควิดแล้วก็ตาม ก็ให้ต้องพึงระวัง “ค่าครองชีพ” โคตรมหาโหด…จะเป็นวายร้ายคอยฆาตกรรมไม่ห่างครัวเรือนมาแทนที่

หากยังพอจะจำกันได้…ตอนผักปลาพากันขึ้นราคาเป็นข่าวเฮดไลน์ประจำวัน ใครไม่รู้บอกจะให้ทหารยกร่องปลูกผักชีแทนเกษตรกรแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยหารู้ไม่ว่า…ผักสดเมืองไทยถึงคราวหมดบทบาทสำคัญลงไปโข เมื่อผักตะวันตกเบียดตัวเข้ามาแทนที่ เช่น โรสแมรี เบซิล พาสลีย์ ออริกาโน

ผักต่างชาติเหล่านี้ล้วนเป็นเครื่องปรุงอาหารแทนในจานสเต๊ก พิซซ่า พาสตา สปาเกตตี ที่คนไทยยุคใหม่นี้กำลังนิยมชมชอบว่า เป็นอาหารจานโปรดประเภทโซเชียลฟู้ดกู้ดเทสต์

สปอตไลต์ส่องไฟฉายไปที่ “ไทย คูซีน” หรือครัวไทยวันนี้ จะพบว่า…สถานการณ์ทั่วไปค่อนข้างอับเฉาน่าเป็นห่วง จากกระแสนิยมเกินต้านอาหารต่างชาติ และต๊าชเกินอาหารประจำถิ่น แบบที่ว่า… ได้หน้าลืมหลัง

ที่เหลือพอมีบ้าง…ได้แก่ กลุ่มเบบี้บูมเมอร์เกิดทันสงครามโลกครั้งที่ 2 กับทารกหลังสงครามโลกต่อเนื่อง 25 พุทธศตวรรษ พ.ศ.2500 ที่เห็นบริโภคกัน…แต่เหลือน้อยเต็มทน

นอกจากนี้ก็ยังดี…ที่มีกลุ่มต่างชาติพำนักในไทยสไตล์ “ฝรั่งใส่ม่อฮ่อม” ม่วนซื่นอาหารไทยอยู่บ้าง ด้วยรู้ว่า “ไทย จัสมิน ไรซ์” หอมคล้ายกลิ่นใบเตยต้นกำเนิดข้าวหอมมะลิพันธุ์ไทยกินกับแกง “มัสมั่น”

อร่อยจนเว็บซีเอ็นเอ็น ทราเวลจัดอันดับเป็นที่ 1 จากจำนวนราชาอาหารประเภทแกงกะหรี่ 50 ชั้นนำของโลก 2020

ด้วยเหตุผลมีความเผ็ดมันจากกะทิบวกความหวานถึงจัดจ้านสมเป็นราชาระดับโลก

ร้านอาหารไทยจึงเป็นแหล่งรวมเฉพาะคออาหารรุ่นเก่าๆ กับฝรั่งไลฟ์สไตล์ใส่ม่อฮ่อม ขณะคนไทยวัยเจน เอ็กซ์-วาย-แซด ชวนกันพาเหรดร้านอาหารต่างชาติยืนหนึ่งไปเลย…

ไม่ว่าร้านไก่ทอดชื่อดัง เบอร์เกอร์เนื้อสัตว์กับเฟรนช์ฟรายส์มันย่อง พิชซ่า…สปาเกตตีคาโบนาร่าตระกูลอิตาเลียน ซาชิมิจิ้ม ซอสโชยุกับวาซาบิ และทงคัตสึผสมไข่สไตล์ญี่ปุ่น กิมจิ บุลโกกิ เนื้อโค หรือเนื้อหมูไอดอลเกาหลี…เหล่านี้คือเมนูสุดโด่งดังที่เด็กไทยรุ่นใหม่ปั๊วะปัง

น่าเสียดาย…เด็กพวกนี้ทำเมินหรือลืม จึงไม่รู้ว่า…คุณค่าอาหารไทยมีสรรพคุณแทนยารักษาโรคสารพัดชนิดที่ พระมหาขวัญชัย อคฺคชโย แห่งวัดคีรีวงก์ (วัดน้ำตก) จ.ชุมพร บรรจุไว้ในคัมภีร์เป็นตำรา

อาทิ ผัดกะเพราช่วยลดไขมันเกาะตับและขับลมในลำไส้ ผัดขิงช่วยลดไข้ ผัดผักบุ้งบำรุงสายตา ส้มตำช่วยขับถ่าย แกงป่าช่วยเลือดลมหมุนเวียน น้ำพริกช่วยลดกรดไหลย้อน

กัมพล ตันสัจจา ประธานสวนนงนุชพัทยา อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ห่วงว่า…อาจสายเกินไปกับการสอนคนกลุ่มนี้

เพราะเขาโตจากครัวเรือนที่ถูกพ่อแม่ทำลายวงจรอาหารไทยตั้งแต่เล็ก กินอาหารผิดๆ ชนิดสำเร็จรูป เช่น ฝรั่ง ญี่ปุ่น เกาหลี ในชีวิตประจำวันแข่งเวลาไปทำงานไปโรงเรียน

กัมพล ตันสัจจา, พระมหาขวัญชัย อคฺคชโย

“แล้วปลูกฝังลูกกินอาหารเช้าด้วยแฮม ชีส ไส้กรอก ของพวกนี้เมืองนอกเขาใช้เนื้อสัตว์ล้วนๆ บ้านเราผสมแป้ง ให้สังเกตเวลาทอดเป็นไส้กรอกหัวแตก…ทำไมไม่สอนให้เขากินข้าวต้มใส่เนื้อสัตว์มีโปรตีน หรือข้าวผัดใส่กะเพราสมุนไพรไทย ต้มยำ แกงเลียง แกงจืด ให้เขากินถูกวิธีจะได้คุ้นเคยจดจำจนวันตาย”

…เป็นการสร้างทัศนคติและตระหนักรู้รสชาติ “อาหารไทย”

“อาหารไทย” จะอยู่เป็นเอกลักษณ์คู่ควรสังคมไทย หรือจากไปตามกระแสนิยมผิดๆขึ้นอยู่กับสถาบันครอบครัวจะใช้ซอฟต์เพาเวอร์ปลูกฝังอนุรักษ์วัฒนธรรมการกินอาหารกับเด็กไทยวัยใสเอาไว้

เช่น ของทอด ยำ แกงเขียว แกงแดง ผัดผัก น้ำพริกแนมด้วยผักเครื่องเคียง ซึ่งล้วนเป็นอาหารมีคุณค่ากับคนไทยและชาวโลกที่นิยมกินกันทั้งนั้น

บทสรุปจึงปักหมุดที่ว่า…สวนนงนุชพัทยาที่ได้ชื่อว่าเป็น 1 ใน 10 สวนสวยที่สุดในโลก และเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านสวนพฤกษศาสตร์ สังคมสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติวิทยาทั้งคนและพืชได้อยู่ร่วมโลกเดียวกัน ล่าสุด…กำลังเป็นแหล่งเรียนรู้จุดแข็งของอาหารไทย

โครงการนี้ได้ร่วมกับวัดคีรีวงก์ (วัดน้ำตก) ต.บางมะพร้าว อ.หลังสวน จ.ชุมพร นิมนต์พระมหาขวัญชัย อคฺคชโย ปราชญ์สมุนไพรคู่อาหารไทย จัดอบรมเรื่อง “กินอาหารไทยอย่างไร ปลอดภัย ปลอดโรค” แก่คนในสถาบันครอบครัวกับผู้สนใจนำศาสตร์นี้ไปใช้อย่างถูกวิธี

“เรามีสวนสมุนไพรปาดัวแห่งแรกของโลกที่อิตาลี สร้างเมื่อ ค.ศ.1544 เป็นไอดอลปลูกพืชสมุนไพรโดยนักวิจัยไทย เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และโภชนาการ กับมีพืชสวนครัวออร์แกนิกเป็น วัตถุดิบอบรม มีห้องโภชนาการพร้อมวัสดุอุปกรณ์เป็นห้องเรียนเชิงปฏิบัติการจริง”

น่าสนใจว่าการจัดอบรมที่กล่าวมานี้จัดมาแล้ว 8 รุ่น รุ่นละ 60 คนรวมทั้งหมด 480 คนแล้ว และจะเพิ่มเป็นแนวร่วมอีก เพื่อสร้างซอฟต์เพาเวอร์กับเด็กไทยเจเนอเรชันใหม่…เติบโตโดยรู้คุณค่าอาหารไทยไม่รู้ลืม

เงินทองของมายา ข้าวปลาสิของจริง… “อาหารไทย” สะท้อนวัฒนธรรมการกินของคนไทย เป็นภูมิปัญญาไทยที่มีคุณค่าที่ได้รับการ สืบสานส่งต่อมาจากรุ่นสู่รุ่นนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเป็นมิติสำคัญในการประกาศ “ประเทศไทย” เป็น “ครัวโลก”.

Chonburi Sponsored
อำเภอ สัตหีบ

ช่วงประมาณรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 สัตหีบเป็นเพียงหมู่บ้านชายทะเล ชาวบ้านประกอบอาชีพทำไร่ ทำนา หาของป่า และประมง การคมนาคมจะใช้ทางน้ำโดยเรือเมล์หรือเรือใบ ส่วนทางบกมีแต่ทางเกวียน ถนนไปชลบุรียังไม่มี ภูมิประเทศส่วนใหญ่ยังเป็นป่ารกทึบ การเดินทางระหว่างเมืองจึงใช้เรือเป็นหลัก ในหมู่บ้านสัตหีบ มีผู้ที่ชาวบ้านนับหน้าถือตามากอยู่คนหนึ่ง ชาวบ้านเรียกว่า "ยายแจง" แกมีฐานะดีมี ที่ดิน เรือ สวน ไร่นามากมาย ตลาดสัตหีบ หนองตะเคียนและโรงเรียนสิงห์สมุทรรวมถึงบริเวณเขาแหลมเทียนอันเป็นที่ตั้งของฐานทัพเรือสัตหีบในปัจจุบันก็เคยเป็นของแก ต่อมา เมื่อกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ทรงฝึกภาคทะเลกับกองเรือและทรงพักที่อ่าวสัตหีบ ทรงเห็นว่าอ่าวสัตหีบเหมาะเป็นที่ตั้งหน่วยเรือ เพราะมีเกาะใหญ่น้อยช่วยกำบังคลื่นลม พระองค์จึงได้บอกถึงพระประสงค์ที่จะใช้บริเวณเขาแหลมเทียนเป็นที่ตั้งหน่วยทหารเรือ ยายแจงก็ยินดีที่จะถวายให้