Chonburi Sponsored

ขนุนหนองเหียงผลผลิตท้องถิ่นสู่ตลาดอินเตอร์ | เดลินิวส์

Chonburi Sponsored
Chonburi Sponsored

นายสมจิตร พรหมมะเสน ประธานแปลงใหญ่ขนุนตำบลหนองเหียง อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี เล่าว่าเดิมเกษตรกรในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังและอ้อย เมื่อประสบปัญหาราคาตกต่ำจึงได้เปลี่ยนมาปลูกขนุน โดยมีสมาชิกเริ่มต้นเพียง 8 คน เมื่อคนในชุมชนเห็นว่าการปลูกขนุนได้รับผลตอบแทนที่ดีกลุ่มจึงเริ่มขยายใหญ่ขึ้น และได้จดทะเบียนเป็นแปลงใหญ่ขนุนตำบลหนองเหียง ในปี 2560 ปัจจุบันมีสมาชิก 67 ราย พื้นที่ 622 ไร่ ขนุนที่ปลูกคือ พันธุ์ทองประเสริฐ เพราะเป็นที่นิยมของตลาด ด้วยพื้นที่ตำบลหนองเหียงมีสภาพดินที่ดินมีธาตุอาหารเหมาะสมกับขนุนพันธุ์นี้ ทำให้ได้ขนุนผลใหญ่ ผลผลิตสูงถึง 3,850 กิโลกรัม/ไร่ เปลือกบางสีเขียว เนื้อสีเหลืองทอง มีกลิ่นหอมอ่อนๆ เนื้อหนา กรอบ ไม่หวานจัด และเนื้อไม่เป็นสนิมแตกต่างจากขนุนพันธุ์ทองประเสริฐที่ปลูกในพื้นที่ใกล้เคียง เป็นเอกลักษณ์เฉพาะขนุนตำบลหนองเหียง ซึ่งอยู่ระหว่างการยื่นจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ขนุนหนองเหียง

การรวมกลุ่มร่วมผลิตแบบแปลงใหญ่ ทำให้สมาชิกมีการพัฒนา 5 ด้าน ตามแนวทางส่งเสริมเกษตรแบบ แปลงใหญ่ ได้แก่ 1. การลดต้นทุนการผลิต โดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพเพื่อลดอัตราการใช้ปุ๋ยเคมี การใช้สารชีวภัณฑ์ร่วมกับการป้องกันกำจัดศัตรูพืชด้วยวิธีผสมสาน ทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนได้เกือบ 2,000 บาทต่อไร่ 2. การเพิ่มผลผลิต โดยวิธีการปรับปรุงบำรุงดิน การให้น้ำ และการจัดการศัตรูพืช สามารถเพิ่มผลผลิตได้ถึง 400 กิโลกรัมต่อไร่ 3. การพัฒนาคุณภาพผลผลิต สมาชิกได้รับการรับรอง GAP แล้ว 40 ราย อยู่ระหว่างขอการรับรอง 27 ราย 

4. ด้านการตลาด ขนุนหนองเหียง มีช่วงเวลาการเก็บเกี่ยว 2 ช่วง คือ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน และ เดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ โดยกลุ่มฯ รับซื้อผลผลิตจากสมาชิกเพื่อการส่งออกไปประเทศจีน ส่วนขนุนอ่อน จากการตัดแต่งผลส่งขายตลาดทางภาคเหนือ ขนุนตกเกรดที่ไม่สามารถส่งออกต่างประเทศได้ จะส่งขายเป็นขนุนแกะผลสด หรือนำมาแปรรูปเป็นขนุนเชื่อม ขนุนอบแห้ง ขนุนลอยแก้ว และแยมขนุน 5. การบริหารจัดการกลุ่ม วางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับตลาด พัฒนาสมาชิกให้เป็น Smart Farmer และ Smart Farmer ต้นแบบ ส่งเสริมการปลูกพืชอื่น หรือกิจกรรมด้านอื่นเพื่อสร้างรายได้เสริม มีการประชุมติดตามร่วมแก้ไขปัญหาของสมาชิก โดยยึดหลัก “ร่วมคิดร่วมวิเคราะห์ วางแผนร่วมกัน”

ด้าน นางดวงภรณ์ โตอนันต์ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า สำนักงานเกษตรจังหวัดชลบุรี ร่วมกับสำนักงานเกษตรอำเภอพนัสนิคม ได้เข้ามาส่งเสริมให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มกัน และจัดตั้งเป็นแปลงใหญ่ขนุนหนองเหียง ให้ความรู้ในการเพิ่มผลผลิต การผลิตสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพและได้มาตรฐาน ตรงกับความต้องการของตลาด เน้นการลดต้นทุน โดยการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยสั่งตัด การใช้ปุ๋ยตามค่าตรวจวิเคราะห์ดิน เพื่อให้เกษตรกรสามารถใช้ปุ๋ยได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ลดปริมาณการใช้ปุ๋ย นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้เกษตรกรลดการใช้สารเคมีมาใช้สารชีวภาพทดแทน แนวทางการผลิตขนุนที่มีคุณภาพ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมด้านการตลาด และความรู้ด้านการบริหารจัดการกลุ่มฯปัจจุบันแปลงใหญ่ขนุนได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ขนุนตำบลหนองเหียง อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี เป็นนิติบุคคลพร้อมจะพัฒนาต่อยอดสู่ความยั่งยืนต่อไป

Chonburi Sponsored
อำเภอ พนัสนิคม

สมัยเมืองพนัสนิคม ในปี พ.ศ. 2371 กำเนิดเมืองขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชานุญาตให้กลุ่มลาวอาสาปากน้ำมาสร้างภูมิลำเนาขึ้นในพื้นที่รกร้างระหว่างเมืองชลบุรีกับเมืองฉะเชิงเทรา พระราชทานนามเมืองว่าพนัสนิคม (บางเอกสารเขียน“พนัศนิคม”) มีฐานะเป็นเมืองจัตวา ขึ้นกับกรมท่า กรุงเทพมหานคร ให้ท้าวอินทิสาร (บางเอกสารเขียน”อินทพิศาล”) หรือ ท้าวทุม ปลัดลาว เมืองสมุทรปราการ บุตรชายคนโตของท้าวไชย (บางเอกสารเขียน”ศรีวิไชย”) อุปราชเมืองนครพนม ให้เป็นเจ้าเมืองพนัสนิคมคนแรกและพระราชทานราชทินนามและบรรดาศักดิ์ที่พระอินทอาษา (บางเอกสารเขียน“อินทรอาษา, อินทอาสา, อินทราษา“) มีข้อความในพระราชพงศาวดารว่า “พวกลาวอาสาปากน้ำ ตั้งขึ้นเมื่อครั้งในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าสุลาลัย ภายหลังเมื่อปีชวดสัมฤทธิศก พวกลาวไม่สบาย ขอไปตั้งอยู่ที่เมืองพระรถ จึงโปรดให้ตัดเอาแขวงเมืองชลบุรี เมืองฉะเชิงเทรา มาตั้งเป็นเมืองขึ้นชื่อเมืองพนัศนิคม เจ้าเมืองชื่อพระอินทอาษา” (พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 เล่ม 2 ของ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ฉบับคุรุสภา พิมพ์ครั้งที่หนึ่ง พ.ศ. 2504 หน้า 180) โดยลาวบุกเบิกเมืองพนัสนิคม เป็นลาวเมืองนครพนม อ้างถึงการอพยพมาสยามครั้งแรกนำโดยท้าวไชย อุปราชเมืองนครพนม เป็นโอรสในพระบรมราชา (ท้าวกู่แก้ว) เจ้าเมืองนครพนม (เมืองนครพนมในอดีต เป็นหัวเมืองในราชอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ ประเทศราชของสยาม) ไม่สมัครใจอยู่ในปกครองของพระบรมราชา (มัง) เจ้าเมืองนครพนมคนใหม่ จึงอพยพพาสมัครพรรคพวก บุตรหลาน ท้าวเพี้ย ขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2352 และโปรดเกล้าฯให้ตั้งบ้านเรือนอยู่คลองมหาวงษ์ เมืองสมุทรปราการ ยุคนั้นจึงเรียกคนกลุ่มนี้ว่าพวกลาวอาสาปากน้ำ แต่ทนสภาพแวดล้อมไม่ไหว เพราะเป็นชาวดอนน้ำจืด ถูกให้ไปอยู่เมืองลุ่มน้ำกร่อยและเค็ม เลยขอเปลี่ยนไปอยู่ที่อื่น ซึ่งสภาพใกล้เคียงที่ดอน ลาวนครพนมกลุ่มนี้ได้บุกเบิกสร้างเมืองพนัสนิคม