เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
เปิดตำนานศึกษาเรื่องราว “โนราห์โรงครู” วิถี และ จิตวิญญาณ เกี่ยวพันศิลปะ วัฒนธรรม และบรรพชน ของคนแดนใต้ ปฐมบทจุดกำเนิดโนราห์
“การจัดโนราห์โรงครู ในสถานที่แห่งนี้ เป็นการไม่เหมาะสม เพราะมีสถานที่ที่วัดท่าแคอยู่แล้ว “ ประโยคบอกเล่าที่เคล้าคลอกับตำนาน ที่ผ่านมากับพระสุรเสียงของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร ที่มีการบอกเล่ากันว่า ในขณะนั้น มีดวงจิตวิญญาณของครูโนราห์ท่านหนึ่ง ได้ลงประทับทรงผ่านพระองค์ และได้บอกกล่าวออกมา ในครั้งที่พระองค์ โปรดให้จัดการทำพิธี โนราห์โรงครู ที่พระตำหนักเขาน้อย เมืองสงขลา
ศิลปะการรำ โนราห์ นั้น เป็นศาสตร์ที่ผ่านกาลเวลามาเนิ่นนาน แต่ครั้งสมัยเรื่องราวตำนานการเกิดกำเนิด 12 ท่าร่ายรำอันงามงดของ โนราห์ ที่น่าเสียดายแต่เพียงว่า บันทึกจารจดที่เป็นลายลักษณ์อักษรนั้น ได้สูญหายสลายไปพร้อมกับการเกิดเพลิงไหม้หอจดหมายเหตุโบราณ ของนครศรีธรรมราช
ตำนานขานเล่าเกี่ยวกับ โนราห์ นั้น แต่ครั้งเก่าก่อนมีถ่ายทอดกันไว้ว่า แต่โบราณนั้น ยังมีนครโบราณ นามว่า เวียงกลางบางแก้ว มี เจ้าพญาสายฟ้าฟาด เป็นกษัตริย์ปกครอง และมีพระราชธิดานามว่า พระนางนวลทองสำลี ครั้งหนึ่ง พระนางได้สุบินถึงท่ารำ 12 ท่า ซึ่งเชื่อว่า เป็นเทพนิมิต ตื่นบรรทมก็ยังจดจำท่าร่ายรำเหล่านั้นได้อย่างแม่นยำ และได้ฝึกหัดท่ารำเหล่านั้น จนเกิดกรร่ายรำในเวียงในวัง จนทำให้มีการมองกันว่า ดูเป็นการมั่วสุม รวยมทั้งยังมีเรื่องที่ว่า พระนางนวลทองสำลี มีความประสงค์ จะเสวยเกสรดอกบัว พอเสวยเข้าไปแล้ว เกิดตั้งพระครรภ์ขึ้นมาเอง
ทำให้ เจ้าพญาสายฟ้าฟาด ไม่พอพระทัย สั่งเนรเทศพระราชธิดา ออกจากเมือง ลอยแพออกไปจาก เวียงกลางบางแก้ว ไปติดที่เกาะสีชัง หรือก็คือ ดอนเกาะใหญ่ ทางฝั่งสงขลา ในปัจจุบัน และได้ให้กำเนิดบุตร เป็นเพศชาย มีชื่อว่า ชายน้อย เมื่อบุตรชายได้เจริญวัย พระนางนวลทองสำลี ก็ได้สั่งสอนท่ารำ 12 ท่าตามพระสุบิน พอ ชายน้อย อยู่ในวัยที่รู้ความ ก็ได้สอบถามพระมารดาของตนว่า พ่อนั้นเป็นใคร พระนางก็ไม่สามารถตอบได้ แต่หากเป็นพระอัยกา หรือ ตา นั้น คือ เจ้าพญาสายฟ้าฟาด
ชายน้อย ก็ได้ล่องแพกลับมายังเวียงกลางบางแก้ว อีกครั้ง และได้ทำการแสดงรำที่พระมารดาสั่งสอน จนเป็นที่โจทย์จันท์ไปทั่วเมือง เรื่องไปถึงพระเนตรพระกรรณ เจ้าพญาสายฟ้าฟาด ก็สนพระทัยอยากทอดพระเนตร
เมื่อได้ทอดพระเนตรการรำดังกล่าว ก็รำลึกถึงพระราชธิดาของตน จึงทรงซักถาม และได้ทราบความจริงว่า ชายน้อย เป็นพระราชนัดดาของตน ครั้งนั้น ชายน้อย ได้ร่ายรำแบบไม่มีเครื่องทรง เครื่องแต่งกาย เจ้าพญาสายฟ้าฟาด จึงทรงพระราชทานเครื่องทรงของพระองค์ ให้เป็นเครื่องแต่งกายในการรำของพระราชนัดดา และตั้งให้เป็น ขุนศรีศรัทธา
เมื่อได้เป็น ขุนศรีศรัทธา แล้ว ก็ไม่ได้อยู่ที่เวียงกลางบางแก้ว แต่มาตั้งรกราก สถานที่สอนรำ อยู่ที่โคกขุนทาตั้งแต่สมัยโบราณแต่ก่อนที่จะกลายมาเป็นวัดท่าแค ในปัจจุบัน เมื่อ ขุนศรีศรัทธา ถึงแก่กรรมลง ก็ได้มีการนำร่างฝังไว้ และปลูกต้นโพธิ์ไว้เป็นสัญลักษณ์ รวมทั้งได้มีการทำ หลักขุนทา ไว้เพื่อบ่งบอก ให้รับรู้ว่า มีการฝังร่างขุนศรีศรัทธา ไว้ที่บริเวณนี้
เรื่องราวทั้งหมด ที่เล่าขาน นับเวลาเป็นพันปี
จนกระทั่ง พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร ซึ่งพระองค์โปรดการรำนโนราห์ และจัดให้มีนโนราห์โรงครูขึ้น ณ วังที่ประทับ และ ขุนศรีศรัทธา ได้ประทับทรงพระองค์ จึงทำให้ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร ทำการปั้นหุ่นพ่อ ขุนศรีศรัทธา และนำมาประดิษฐาน ที่วัดท่าแค พัทลุง ตามบัญชาของบรมครูโนราห์ ที่ว่า ร่างของท่านถูกฝังไว้ ณ สถานที่แห่งนี้
จึงทำให้สถานที่แห่งนี้ เป็นประหนึ่งสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของมโนราห์