เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์แอบอ้างเป็นบริษัทขนส่งชื่อดังยังคงไม่หมดไป ล่าสุดตำรวจรวบแขนรวบขา จับนายหน้าจัดหาคนมาเปิดบัญชีธนาคาร ส่งไปยังขบวนการที่ประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อใช้อุปกรณ์คอลเซ็นเตอร์หลอกเหยื่อ
รายงาน
“สวัสดีค่ะ โทรจากบริษัท DHL ตอนนี้คุณมีพัสดุที่ยังไม่ได้รับ และได้มีการตีกลับ หากมีข้อสงสัยประการใด กด 0 เพื่อติดต่อเจ้าหน้าที่บริการค่ะ”
นี่เป็นเสียงของ “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” ที่กำลังอาละวาดในขณะนี้ หากใครหลงกลกด 0 จะมีปลายสายบอกว่า มีสินค้าพวกหนังสือเดินทาง บัตรเอทีเอ็ม และเสื้อผ้าที่จะส่งไปยังประเทศจีน ติดค้างอยู่ที่ด่านศุลกากร ไม่สามารถส่งไปยังปลายทางได้
ก่อนจะใช้อุบาย โอนสายไปยังบุคคลที่ อ้างตัวว่าเป็น เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองเชียงใหม่ ซึ่งสายที่โอนจะแอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ยศ ร.ต.อ. เป็นร้อยเวรของ สภ.เมืองเชียงใหม่ โดยแนะนำให้แอดไลน์ของ สภ.เมืองเชียงใหม่
ไลน์ที่อ้างเป็น สภ.เมืองเชียงใหม่ จะพยายามหลอกถามข้อมูลส่วนตัว ก่อนจะแจ้งว่า “มีส่วนพัวพันกับคดีฟอกเงิน” พร้อมข่มขู่ว่า ถ้าไม่อยากมีปัญหาจะให้ ป.ป.ง. ตรวจสอบบัญชี และบังคับให้แจ้งข้อมูลบัญชีทั้งหมด และยอดเงินในบัญชี
สเตปต่อไป จะโอนสายไปยังบุคคลที่อ้างว่าเป็น “สารวัตร” อ้างว่าจะตรวจสอบเส้นทางการเงิน บอกว่าจะส่งบัญชีไปให้ ป.ป.ง. ตรวจสอบการฟอกเงิน ให้โอนเงินทุกบัญชีที่มีไปยังบัญชีธนาคาร อ้างว่าจะตรวจสอบว่าบัญชีตรงกันหรือไม่
เมื่อโอนเงินทั้งหมดไปแล้ว ก็เหมือนอ้อยเข้าปากช้าง กลุ่มมิจฉาชีพก็จะปิดสายหนี จะโทร. กลับก็ไม่สามารถติดต่อได้ มีผู้เสียหายถูกโอนเงินตั้งแต่หลักหมื่น ไปถึงหลักแสนบาท
สำหรับขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แอบอ้างเป็นบริษัทขนส่งชื่อดัง จะทำกันเป็นขบวนการ โดยใช้ประเทศเพื่อนบ้านเป็นฐานในการกระทำความผิด
ขั้นแรก จะมีการรับซื้อบัญชีธนาคาร ที่เรียกว่า “บัญชีม้า” โดยการเปิดเฟซบุ๊ก “รับซื้อ-ขายบัญชีธนาคาร” โดยคนที่ขายบัญชีธนาคาร จะได้ค่าตอบแทนคนละ 2,500–3,500 บาท
จากนั้นจะใช้ “บัญชีม้า” รับโอนเงินจากเหยื่อ แล้วโอนไปยังบัญชีรับโอนเป็นช่วงๆ อย่างรวดเร็วเพื่อหนีการตรวจสอบ จากบัญชีที่หนึ่งไปบัญชีที่สอง ไปบัญชีที่สาม แล้วถ่ายโอนไปยังกลุ่มมิจฉาชีพที่เป็นคนต่างด้าว กับกลุ่มนายหน้ารับจ้างเปิดบัญชี
จากการตรวจสอบเส้นทางการเงิน พบว่าบัญชีที่คนต่างด้าวเป็นเจ้าของนั้น มีเงินหมุนเวียนกว่า 1,000 ล้านบาท ทำหน้าที่เป็นบัญชีกลางในการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ
หนึ่งในแกนนำขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ คือ MR.PHEK CHHUON ซึ่งตำรวจได้ออกหมายจับ เลขที่ จ.295/2564 ลงวันที่ 22 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ในระหว่างหลบหนีการจับกุม
ส่วนขบวนการรับซื้อบัญชีธนาคาร ที่ผ่านมาตำรวจจับกุม นางสมศรี บุญเลี้ยง อายุ 61 ปี ชาว ต.โพธิ์งาม อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี ซึ่งรับจ้างเปิดบัญชี, นายคงเดช งามขำ อายุ 22 ปี ชาว ต.หมอนนาง อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี
นางพรพิมล สุขสมจิตต์ อายุ 41 ปี ชาวแขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพฯ ซึ่งรับซื้อบัญชีจากนายคงเดชส่งขายคนต่างด้าว และ น.ส.เสาวลักษณ์ หล่อทอง อายุ 26 ปี ชาว อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว จัดส่งบัญชีม้าให้ชาวกัมพูชา
ข้อมูลจากเว็บไซต์ Blacklistseller.com ระบุว่า นายคงเดช งามขำ เป็นคนรับจ้างหาคนเปิดบัญชีเป็นอาชีพ เคยถูกจับกุมมาแล้วถึงสองครั้ง ได้แก่ สภ.เมืองนครราชสีมา วันที่ 23 ต.ค. 2564 และ สภ.ฝาง จ.เชียงใหม่ วันที่ 27 พ.ย. 2564
ล่าสุด เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2565 ตำรวจกองกำกับการวิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ กองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตํารวจนครบาล จับกุมนายคงเดช งามขำ อีกครั้ง ตามหมายจับศาลอาญาธนบุรี ที่ 8/2565 ลงวันที่ 6 ม.ค. 2565
โดยจับกุมได้ที่ลานจอดรถหน้าร้านซีเจซูเปอร์มาร์เก็ต สาขาเกาะโพธิ์ ตำบลท่าบุญมี อำเภอเกาะจันทร์ จังหวัดชลบุรี หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้รับการประกันตัวในความผิดที่จับกุมมา นับเป็นคดีที่ 3 ที่เกิดขึ้นกับนายคงเดช
จากการสอบสวนทราบว่า นายคงเดช มีพฤติกรรมรับจ้างเปิดบัญชีธนาคาร เพื่อให้คนร้ายที่เป็นนายหน้าหาคนเปิดบัญชีธนาคาร ซึ่งรู้จักกันผ่านกลุ่มเฟซบุ๊กรับซื้อ-ขายบัญชีธนาคาร เมื่อช่วงเดือน ก.ย. 2564
ที่ผ่านมา นายคงเดชเปิดบัญชีให้คนร้ายมาแล้ว 3 บัญชีได้แก่ บัญชีธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารกรุงเทพ สาขาดอนหัวฬ่อ ชลบุรี และธนาคารเกียรตินาคินภัทร ได้รับค่าจ้างครั้งละ 1,500 บาทต่อ 1 บัญชี
ก่อนจะผันตัวเป็นนายหน้าจัดหาคนมาเปิดบัญชีธนาคารได้ค่าจ้างครั้งละ 2,500 – 3,500 บาท
เว็บไซต์ Blacklistseller.com ระบุว่า แก๊งคอลเซ็นเตอร์มีพฤติกรรมใช้หลายบัญชีในการรับเงิน อาทิ สมศรี บุญเลี้ยง, คงเดช งามขำ (ที่ถูกจับกุมไปก่อนหน้านี้), บัลลังก์ ใจxxx, กิตติ คำxxx, พรพิมล สุขxxx, ภานุวัฒน์ อิทธิxxx เป็นต้น
นอกจากนี้ นายคงเดช งามขำ หลอกลวงลงทุนออนไลน์ Rarlon club โดยหลอกเหยื่อลงทุนขั้นต่ำ 100 บาทเพื่อเก็งกำไร แต่เมื่อลง 500 บาทเพื่อเก็งกำไร ต้องทำ 3 สเต็ป ได้กำไรมาแต่ถอนออกไม่ได้
ระบบแจ้งว่าต้องซ่อมการลงทุนโดยการโอนเงินเข้าไปเพิ่ม เมื่อโอนเข้าไปเพิ่มก็มีเงื่อนไขอื่นเพิ่มขึ้นมาให้โอนเงินเพิ่ม เพื่อจะได้ถอนเงินได้ สุดท้ายมีให้เสียภาษีในการถอน แต่ก็ยังไม่สามารถถอนได้ เพราะถอนก็โดนปฏิเสธ ไม่สามารถดำเนินการต่อได้
อ่านเพิ่มเติม https://www.blacklistseller.com/report/report_preview/119892
สำหรับการดำเนินคดีกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2564 ตำรวจ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ร่วมกับกระทรวงดีอีเอสและฝ่ายความมั่นคงกัมพูชา ทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์มาแล้ว 2 แห่ง
แห่งแรก ตรวจค้นและจับกุมได้ที่ชั้น 10 อาคารกาสิโนหลังหนึ่งกลางเมืองสีหนุวิลล์ จังหวัดกำปงโสม รวบชาวไทยที่ก่อเหตุ 32 คนและชาวต่างชาติ ใช้อุปกรณ์คอลเซ็นเตอร์ติดต่อสื่อสารไปยังเหยื่อในประเทศไทย
แห่งที่สอง จับกุมได้ที่อาคาร 8 ชั้น ใกล้สนามบินนานาชาติพนมเปญ กรุงพนมเปญ รวบชาวจีน 5 คน และคนไทย 7 คน หนึ่งในนั้นคือนายพยัคฆพล ชิงหลู่ อายุ 30 ปี ชาวจังหวัดเชียงราย ผู้ต้องหาตามหมายจับข้อหาร่วมกันฉ้อโกงและร่วมกันฟอกเงิน
คนไทยเหล่านี้ลักลอบเดินทางไปยังกัมพูชาผ่านช่องทางธรรมชาติ ไปทำงานแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ผ่านนายหน้าที่เชื่อว่ามีนายทุนใหญ่ชาวจีนที่พำนักในกัมพูชา และมีนายพยัคฆพล เป็นตัวการใหญ่ทำหน้าที่โอนเงินไปยังขบวนการเหล่านี้
ส่วน พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผบช.สอท. หรือตำรวจไซเบอร์ ระดมปราบปรามบัญชีม้าตัดวงจรหลอกลวงภัยออนไลน์ ระหว่างวันที่ 16-22 ธ.ค. 2564 จับกุมผู้ต้องหา 26 ราย ตรวจยึดของกลางบัญชีธนาคาร มูลค่าความเสียหายกว่า 36 ล้านบาท
โดยตำรวจไซเบอร์ได้นำกำลังเข้าค้นบ้านพักในจังหวัดชลบุรี หลังสืบทราบว่าเป็นบ้านของขบวนการรับซื้อขายบัญชีม้า จากการตรวจค้นพบบัญชีธนาคารหลายธนาคารรวม 107 บัญชี ซึ่งเป็นของบุคคลต่างๆ รวมกว่า 60 คน
สอบสวนเจ้าของบ้านยอมรับว่า ได้รับซื้อบัญชีจากชาวบ้านในละแวก บัญชีละ 800-1200 บาท ซึ่งแต่ละบัญชีจะต้องมีบัตร ATM หรือผูกกับแอปพลิเคชั่นธนาคารออนไลน์ไว้แล้ว
นอกจากนี้ มี 10 บัญชีจาก 107 บัญชี เคยถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับการซื้อขายบัญชีม้ามาแล้ว อีกทั้งถิ่นที่อยู่เจ้าของบัญชียังพบว่ามีลักษณะเกาะกลุ่มในพื้นที่เดียวกัน เช่น ตำบลเดียวกัน หมู่บ้านเดียวกัน โดยมักจะเป็นชุมชนของกลุ่มผู้มีรายได้น้อย
เบื้องต้นได้ออกหมายจับเจ้าของบัญชีม้าทั้งหมด 518 หมายจับ แบ่งเป็นหมายจับของตำรวจไซเบอร์กว่า 100 หมายจับ และของตำรวจท้องที่อีกกว่า 400 หมายจับ
โดยพบว่าบัญชีม้าส่วนใหญ่ที่พบเป็นเยาวชน บางคนอายุต่ำกว่า 15 ปี ที่มีเงินหมุนเวียนเข้าออกเป็นจำนวนมาก
ด้าน สถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงใหม่ เตือนภัยอย่าหลง อย่าเชื่อ อย่าโอน บุคคลแอบอ้างเป็นตำรวจเชียงใหม่ อ้างเป็นบริษัทขนส่ง อ้างเป็นเจ้าห้นาที่หน่วยงานรัฐ
และยังมีการจัดทำ “หมายจับปลอม” จากศาลจังหวัดเชียงใหม่ในข้อหาร่วมกันฟอกเงิน เป็นเพียงกลวิธีที่มิจฉาชีพนำมาใช้เพื่อที่จะหลอกลวงพี่น้องประชาชนให้หลงเชื่อ
อ่านโพสต์ต้นฉบับ คลิกที่นี่
ขณะที่ ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า เมื่อคนไทยรู้มากขึ้น แก๊งคอลเซ็นเตอร์เปลี่ยนวิธีใหม่ในการหลอกเอาเงิน ครั้งนี้แอบอ้างเป็นอัยการศาลอาญา โทร. แจ้งให้ตำรวจจริงไปบ้านเหยื่อด้วยเหตุต่างๆ ตามแต่จะอ้าง จากนั้นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ จะโทร.ไปหาเหยื่อ ข่มขู่ตามแนวเดิมเพื่อรีดเหยื่อให้โอนเงินให้
“เหตุการณ์นี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เห็นว่า แก๊งคอลเซ็นเตอร์มีการปรับเปลี่ยนวิธีการตลอดเวลา จึงอยากขอให้ติดตามข่าวสารในเพจตำรวจอย่างใกล้ชิด รวมถึงข่าวในสื่อต่างๆ เพื่อป้องกันเงินในบัญชีธนาคารของท่าน”
อ่านโพสต์ต้นฉบับ คลิกที่นี่
ส่วน บริษัทดีเอชแอล (DHL) ประเทศไทย ประกาศเตือนภัยกลโกงมิจฉาชีพแอบอ้างเป็น DHL Express เพื่อหวังข้อมูลส่วนบุคคลหรือทรัพย์สิน บริษัทฯ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำดังกล่าว
พร้อมสงวนสิทธิในการดำเนินคดีตามกฎหมายต่อผู้นำชื่อ เครื่องหมายการค้าไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากบริษัทฯ ก่อน ในกรณีที่พบการกระทำความผิด บริษัทฯ สงวนสิทธิในการดำเนินคดีตามกฎหมายต่อผู้กระทำผิดอย่างถึงที่สุด
อ่านโพสต์ต้นฉบับ คลิกที่นี่
รูปแบบที่มิจฉาชีพมักใช้เพื่อหลอกลวง ได้แก่
– โทรมาแจ้งว่ามีพัสดุจัดส่ง โดยให้กดหมายเลขเพื่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
– โทรมาแจ้งว่าพัสดุจากต่างประเทศติดศุลกากร และไม่สามารถจัดส่งได้ ต้องแอดไลน์ หรือโอนเงินเข้าบัญชีส่วนตัวเพื่อเคลียร์ของ
– โทรมาแจ้งว่าคุณได้รับรางวัลและของอยู่ในระหว่างจัดส่ง แต่ต้องแจ้งข้อมูลส่วนบุคคล หรือชำระค่าภาษีนำเข้า โดยที่คุณเองไม่ได้มีประวัติการร่วมกิจกรรมในลักษณะดังกล่าวแต่อย่างใด
– โทรเข้ามากล่าวหาว่าส่งของผิดกฎหมาย และหลอกให้โอนเงินเพื่อเคลียร์คดี หรือโอนสายให้เคลียร์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจทางโทรศัพท์
– อ้างว่าคุณเป็นผู้ต้องหาคดีฟอกเงิน มีประวัติส่งพาสปอร์ต บัตร ATM ไปประเทศจีน ฯลฯ
– ส่งข้อความ SMS อ้างว่าเป็น DHL ชวนให้คลิกลิงค์ดาวน์โหลดและติดตั้งแอพบนมือถือ
ข้อสังเกตสำคัญ เพื่อรู้ทันมิจฉาชีพ
– มิจฉาชีพจะไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการจัดส่งพัสดุ (ชื่อผู้รับ ผู้ส่ง ต้นทาง ปลายทาง หมายเลขติดตามพัสดุ สถานะการจัดส่ง ฯลฯ) หากเป็นการติดต่อจาก DHL Express ตัวจริง เจ้าหน้าที่ของเราจะมีข้อมูลการจัดส่งเบื้องต้น รวมถึงหมายเลข waybill ที่ลูกค้าจะนำไปติดตามสถานะของพัสดุระหว่างประเทศได้
– มิจฉาชีพมักจะแจ้ง “หมายเลข waybill” ที่ไม่มีอยู่จริง ลูกค้าสามารถตรวจสอบสถานะการจัดส่งเอกสารหรือพัสดุระหว่างประเทศที่ขนส่งโดย DHL Express ได้เบื้องต้นที่ลิงค์นี้ https://mydhl.express.dhl/th/th/home.html
– มิจฉาชีพจะบังคับให้โอนเงินเข้า “บัญชีธนาคารในชื่อบุคคล” ซึ่ง DHL Express ไม่มีนโยบายเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ค่าภาษี หรือค่าบริการผ่านบัญชีธนาคารชื่อบุคคลเป็นอันขาด
– มิจฉาชีพจะกล่าวหาผู้รับสายว่าทำผิดกฎหมาย อ้างชื่อสถานีตำรวจและอาสาประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทางโทรศัพท์หรือไลน์ หรือเรียกร้องให้โอนเงินเป็นหลักประกันและจะคืนให้ในภายในไม่กี่ชั่วโมง ซึ่งกระบวนการของตำรวจเช่นนี้ไม่มีอยู่จริง
ข้อควรปฏิบัติ
– อย่าให้ข้อมูลส่วนบุคคล หรือหลงเชื่อโอนเงินเป็นอันขาด
– อย่าคลิกลิงค์หรือเปิดไฟล์ที่ส่งจาก SMS หรืออีเมลต้องสงสัย หากไม่แน่ใจ สามารถแจ้งร้องเรียนได้ด้วยการลากและวางอีเมลต้องสงสัยในข้อความใหม่ หรือแคปเจอร์ SMS ส่งมาที่ phishing-dpdhl@dhl.com
– หากท่านได้รับความเสียหายจากมิจฉาชีพ ให้รวบรวมหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับผู้กระทำผิดทั้งหมด และนำไปแจ้งความยังสถานีตำรวจในพื้นที่
อ่านโพสต์ต้นฉบับ คลิกที่นี่
แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ยังคงอาละวาดแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง นับเป็นอาชญากรรมข้ามชาติที่มีความรุนแรง สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนในวงกว้าง ว่ากันว่าจะเปลี่ยนรูปแบบการกระทำความผิดเพื่อหลอกลวงเหยื่อไปเรื่อยๆ
ประชาชนจึงควรรู้เท่าทันโจร ป้องกันไม่ให้คนไทยตกเป็นเหยื่อ สูญเสียเงิน เดือดร้อนเพิ่มเติมจากปัญหาเศรษฐกิจในยุคโควิด อย่างน้อยการแชร์ข้อมูลข่าวสารจะช่วยลดความสูญเสียเงินของของประชาชน