Chonburi Sponsored

ธนชาตประกันภัย ลุย 2 ชุมชนพนัสนิคม เร่งแก้ปัญหาอุบัติเหตุถนนสายรอง

Chonburi Sponsored
Chonburi Sponsored

  ธนชาตประกันภัย เดินหน้าโครงการพลังชุมชนสร้างถนนปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดลงพื้นที่ อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี แก้ปัญหาจุดเสี่ยงอุบัติเหตุบนถนนใน 2 ตำบล พื้นที่ อบต.บ้านเซิดและ อบต.บ้านช้าง ลุยติดตั้งป้ายและสัญญาณเตือนภัย แก้ปัญหาทางแยกเสี่ยงอันตรายหลายจุด เพื่อให้คนในพื้นที่มีเส้นทางสัญจรที่ปลอดภัย และพร้อมรองรับปริมาณการจราจรจากถนนสายหลักซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าอุตสาหกรรมภาคตะวันออก ขณะที่ชาวชุมชนบ้านเซิดและบ้านช้าง ร่วมใส่ใจความปลอดภัยของชุมชนและถนนสายรอง พร้อมใจเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้อย่างคึกคัก

  นายพีระพัฒน์ เมฆสิงห์วี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ธนชาตประกันภัย ลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ “โครงการพลังชุมชนสร้างถนนปลอดภัย” พื้นที่ อบต.บ้านช้างและ อบต.บ้านเซิด กับนายประสิทธิ์ อินทโชติ นายอำเภอพนัสนิคม และผู้นำของทั้ง 2 ชุมชน ได้แก่ นายเสน่ห์ พุ่มฤทธิ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านช้าง และนายภูรินท์ วราพงษ์ลิขิต ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 5 ตำบลบ้านช้าง,นายกิตติโชติ ยาวิชัย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเซิดและนายศักดิ์สิทธิ์ โพธิ์ไพร ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเซิด อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี เพื่อร่วมกันวางแผนและจัดการปัญหาจุดเสี่ยงบนถนน โดยภาคีเครือข่ายและชาวชุมชนต่างร่วมแรงร่วมใจกันทำกิจกรรมทาสีตีเส้นจราจร ติดตั้งป้ายและสัญญาณเตือนภัยตามจุดเสี่ยงต่างๆ ของ 2 ชุมชน ซึ่งตลอดการจัดกิจกรรมดำเนินภายใต้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด

  นายพีระพัฒน์ เมฆสิงห์วี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ธนชาตประกันภัย เปิดเผยว่า พื้นที่อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี มีถนนเส้นทางหลักที่นอกจากการสัญจรของคนในพื้นที่แล้ว ยังต้องรองรับปริมาณรถขนส่งสินค้าจากนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออก และนักท่องเที่ยว ซึ่งทางโครงการพลังชุมชนสร้างถนนปลอดภัยได้รับการสะท้อนปัญหาจุดเสี่ยงอุบัติเหตุจาก 2 ชุมชนในพื้นที่ โดยในส่วนของชุมชนบ้านช้าง พบลักษณะพื้นที่เสี่ยงของถนนระหว่างหมู่บ้านหนองพลับ – หมู่บ้านป่าไร่ ซึ่งเป็นเส้นทางหลักที่ชาวชุมชนใช้สัญจร ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร แต่มีซอยแยกจากถนนหลักค่อนข้างมาก รวมถึงมีโรงเรียนเทศบาล 1 ศรีกิตติวรรณนุสรณ์อยู่ติดถนนและใกล้หมู่บ้าน ซึ่งถนนดังกล่าวไม่มีป้ายเตือนหรือสัญญาณไฟเตือน และไม่มีเส้นชะลอความเร็ว ขณะที่ปัญหาจุดเสี่ยงของชุมชนบ้านเซิด บริเวณถนนบ้านเซิด – บ่อขิง ระยะทางประมาณ 2 – 3 กิโลเมตร พบว่ามีทางแยกหลายจุดตลอดเส้นทาง โดยพบจุดเสี่ยงอุบัติเหตุบริเวณทางเชื่อมถนนทางหลวงหมายเลข 315 ทางแยกเข้าวัดเชิดสำราญ, บริเวณสี่แยกทางเข้าที่ทำการ อบต.บ้านเซิดและบริเวณทางเยื้องทางเข้าโรงอิฐโสภณ โดยทั้งตลอดเส้นทางไม่เส้นแบ่งเลน และป้ายเตือน

  “โครงการพลังชุมชนสร้างถนนปลอดภัยได้ให้การสนับสนุนงบประมาณกับทั้ง 2 ชุมชน เพื่อจัดซื้อและติดตั้งอุปกรณ์ลดความเสี่ยงเพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนน โดยประเมินสภาพพื้นที่ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากกรมทางหลวงชนบท ซึ่งเป็นภาคีเครือข่ายของโครงการฯ และในวันนี้ได้ร่วมกับชาวชุมชนเข้าดำเนินการขีดสีตีเส้นแบ่งเลน เส้นเตือนภัยต่างๆ เช่น ชะลอความเร็ว ห้ามหยุดรถ และติดตั้งป้ายเตือน ป้ายควบคุมความเร็ว รวมถึงทางม้าลายให้กับถนนระหว่างหมู่บ้านหนองพลับ – หมู่บ้านป่าไร่ พื้นที่ อบต.บ้านช้าง พร้อมกับมอบทุนการศึกษา จำนวน 10,000 บาท ให้กับโรงเรียนเทศบาล 1 ศรีกิตติวรรณนุสรณ์ และดำเนินการขีดสีตีเส้นแบ่งเลน เส้นเตือนภัยรวมถึงป้ายเตือน ป้ายควบคุมความเร็ว บริเวณทั้ง 3 จุดเสี่ยงของถนนบ้านเซิด – บ่อขิง พื้นที่ อบต.บ้านเซิด นอกจากนี้ ยังได้ลงนามในบันทึกความร่วมมือกับทั้ง 2 ชุมชน ร่วมกันปรับปรุงให้อุปกรณ์ต่างๆ ทุกจุดมีความพร้อมใช้งานอย่างต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์ต่อการลดความเสี่ยงบนถนนในชุมชน” นายพีระพัฒน์ กล่าว

  และขอเชิญชวนชุมชนทั่วประเทศ สมัครเข้าร่วมกิจกรรมในโครงการพลังชุมชนสร้างถนนปลอดภัย ปี 3 ซึ่งจะเริ่มเปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน – 15 สิงหาคมนี้ สามารถติดตามรายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติมทางเว็บไซต์ www.พลังชุมชนสร้างถนนปลอดภัย.com และเฟซบุ๊กแฟนเพจ พลังชุมชนสร้างถนนปลอดภัย เพื่อช่วยกันทำให้ถนนของชุมชนปลอดภัยสำหรับทุกคน

Chonburi Sponsored
อำเภอ พนัสนิคม

สมัยเมืองพนัสนิคม ในปี พ.ศ. 2371 กำเนิดเมืองขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชานุญาตให้กลุ่มลาวอาสาปากน้ำมาสร้างภูมิลำเนาขึ้นในพื้นที่รกร้างระหว่างเมืองชลบุรีกับเมืองฉะเชิงเทรา พระราชทานนามเมืองว่าพนัสนิคม (บางเอกสารเขียน“พนัศนิคม”) มีฐานะเป็นเมืองจัตวา ขึ้นกับกรมท่า กรุงเทพมหานคร ให้ท้าวอินทิสาร (บางเอกสารเขียน”อินทพิศาล”) หรือ ท้าวทุม ปลัดลาว เมืองสมุทรปราการ บุตรชายคนโตของท้าวไชย (บางเอกสารเขียน”ศรีวิไชย”) อุปราชเมืองนครพนม ให้เป็นเจ้าเมืองพนัสนิคมคนแรกและพระราชทานราชทินนามและบรรดาศักดิ์ที่พระอินทอาษา (บางเอกสารเขียน“อินทรอาษา, อินทอาสา, อินทราษา“) มีข้อความในพระราชพงศาวดารว่า “พวกลาวอาสาปากน้ำ ตั้งขึ้นเมื่อครั้งในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าสุลาลัย ภายหลังเมื่อปีชวดสัมฤทธิศก พวกลาวไม่สบาย ขอไปตั้งอยู่ที่เมืองพระรถ จึงโปรดให้ตัดเอาแขวงเมืองชลบุรี เมืองฉะเชิงเทรา มาตั้งเป็นเมืองขึ้นชื่อเมืองพนัศนิคม เจ้าเมืองชื่อพระอินทอาษา” (พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 เล่ม 2 ของ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ฉบับคุรุสภา พิมพ์ครั้งที่หนึ่ง พ.ศ. 2504 หน้า 180) โดยลาวบุกเบิกเมืองพนัสนิคม เป็นลาวเมืองนครพนม อ้างถึงการอพยพมาสยามครั้งแรกนำโดยท้าวไชย อุปราชเมืองนครพนม เป็นโอรสในพระบรมราชา (ท้าวกู่แก้ว) เจ้าเมืองนครพนม (เมืองนครพนมในอดีต เป็นหัวเมืองในราชอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ ประเทศราชของสยาม) ไม่สมัครใจอยู่ในปกครองของพระบรมราชา (มัง) เจ้าเมืองนครพนมคนใหม่ จึงอพยพพาสมัครพรรคพวก บุตรหลาน ท้าวเพี้ย ขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2352 และโปรดเกล้าฯให้ตั้งบ้านเรือนอยู่คลองมหาวงษ์ เมืองสมุทรปราการ ยุคนั้นจึงเรียกคนกลุ่มนี้ว่าพวกลาวอาสาปากน้ำ แต่ทนสภาพแวดล้อมไม่ไหว เพราะเป็นชาวดอนน้ำจืด ถูกให้ไปอยู่เมืองลุ่มน้ำกร่อยและเค็ม เลยขอเปลี่ยนไปอยู่ที่อื่น ซึ่งสภาพใกล้เคียงที่ดอน ลาวนครพนมกลุ่มนี้ได้บุกเบิกสร้างเมืองพนัสนิคม