- ชัยยศ ยงค์เจริญชัย
- ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

คนบ้านใหญ่, อดีตข้าราชการหัวเก่า, นายกหุ่นเชิด, ตัวแทน คสช. คือภาพจำของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกเมืองพัทยาประจำปี 2565 ที่ชาวพัทยานึกถึง เป็นการเลือกตั้งนายกเมืองพัทยาครั้งแรกในรอบ 10 ปี หลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจเข้ามาบริหารประเทศ ระงับการเลือกตั้งทุกระดับทั่วประเทศ แล้วแต่งตั้งบุคลเข้าบริหารองค์กรส่วนท้องถิ่นแทน รวมถึงพัทยา
ชาวบ้านหลายคนชินกับการบริหารเมืองจาก “คนบ้านใหญ่” หรือคนในเครือข่ายของตระกูลคุณปลื้ม ที่พวกเขาคุ้นเคย ในขณะที่คนชนชั้นกลางและคนรุ่นใหม่อยากจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของการเมืองท้องถิ่นที่ไม่ต้องพึ่งระบบอุปถัมภ์เหมือนที่เคยเป็นมากว่า 40 ปี
การเลือกตั้งนายกเมืองพัทยาในครั้งนี้มีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งที่เป็นตัวแทนของคนแต่ละช่วงอายุและกลุ่มคนที่มีความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน ซึ่งการแย่งชิงเก้าอี้พ่อเมืองพัทยาในครั้งนี้ถึงจะมีขาประจำที่เป็นตัวแทนของบ้านใหญ่ แต่ก็ยังมีนักการเมืองเลือดใหม่ที่เป็นตัวแทนของชนชั้นกลางและคนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมแข่งขันเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เมืองพัทยา
ที่มาของภาพ, Napat Wesshasartar
ความเป็นมาของพัทยากับการรวมศูนย์อำนาจ
เมืองพัทยาได้รับการยกฐานะมาจากสุขาภิบาลนาเกลือ และกลายมาเป็นเขตปกครองพิเศษในปี 2521 ซึ่งในช่วงแรกได้ใช้ระบบให้มี “ผู้จัดการเมือง” โดยทีมบริหารมาจากการเลือกตั้งกึ่งหนึ่งและการแต่งตั้งอีกส่วนหนึ่ง
ความตั้งใจแรกของการจัดตั้งระบบนี้มาคือต้องการให้ผู้บริหารเมืองพัทยาปลอดการเมือง แต่สถานการณ์ไม่เป็นเช่นนั้น จึงเปลี่ยนระบบให้มาเป็นการเลือกตั้งทั้งหมด โดยเมืองพัทยาได้มีการเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2542 เรื่อยมาจนมาถึงการเสียงเลือกตั้งนายกเมืองครั้งสุดท้ายในปี 2555 และหลังจากนั้นนายกเมืองมาจากการแต่งตั้งของ คสช. จนถึงคนล่าสุด
พัทยาเป็นองค์กรการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษเหมือนกรุงเทพมหานคร แต่มีพื้นที่อยู่เพียง 54 ตารางกิโลเมตร และมีงบบริหารเมืองปีละ 2,000 ล้านบาท แต่ปัญหาของเมืองพัทยามีมากมายกว่า กทม. หลายเท่า นักวิเคราะห์มองว่า การที่ถูกบริหารอยู่ภายใต้รัฐราชการ และระบบราชการที่เข้มเกินไป ที่ทำให้อำนาจของนายกเมืองมีอย่างไม่เต็ม
รศ. ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว แห่งคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และผู้เชี่ยวชาญด้านการปกครองท้องถิ่นบอกกับบีบีซีไทยว่า การเลือกตั้งนายกเมืองพัทยาครั้งนี้มีผลกับการเลือกตั้งทั่วไปของทั้ง จ.ชลบุรี เพราะว่า ในรอบกว่า 40 ปี การเมืองของ จ.ชลบุรี มีลักษณะเป็น “การรวมศูนย์อำนาจ” ที่อยู่ภายใต้อิทธิพลทางการเมืองของตระกูล “คุณปลื้ม” ที่สร้างเครือข่ายอำนาจเอาไว้ในทุกระดับของพื้นที่ทางการเมือง ตั้งแต่ระดับรากหญ้า ได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด และเมืองพัทยา และใช้ฐานตรงนี้ในการทำงานการเมืองระดับชาติ
รศ. ดร.โอฬารอธิบายว่า หลังจากที่กำนันเป๊าะเสียชีวิตเมื่อปี 2562 การจัดสรรอำนาจไม่ลงตัว แบ่งออกเป็น 3 ขั้วอำนาจ ได้แก่ กลุ่มของลูกชายกำนัน กลุ่มของนายสุชาติ ชมกลิ่น ที่เติบโตขึ้นหลังการรัฐประหาร 2557 และกลุ่มที่เป็นคู่ปรับตลอดกาลกับตระกูลคุณปลื้ม เช่น ตระกูลสิงโตทอง ของ นายณรงค์ สิงโตทอง ที่เคยเป็น สส. ชลบุรี เป็นคนที่มีบทบาททางการเมืองสูงโดยเฉพาะในแถบอำภอบ้านบึง บ่อทอง และพนัสนิคม
ที่มาของภาพ, Napat Wesshasartar
มุมมองคนรุ่นใหม่
กลุ่มตัวแปรทางการเมืองอื่น ได้แก่ คนรุ่นใหม่และชนชั้นกลางที่เติบโตขึ้น คนเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในโครงข่ายอุปถัมภ์ของตระกูลคุณปลื้มและนักการเมืองคนไหน เพราะกลุ่มชนชั้นกลางมีอาชีพ มีเงินเดือนที่มั่นคงที่ทำให้พวกเขามีเครือข่ายเฉพาะในการดูแลจัดการกัน ในเรื่องการเมือง พวกเขาจะพูดถึงความคาดหวังต่อนโยบาย ความคาดหวังต่อชุมชนที่ดี ชุมชนที่มีคุณภาพ ชุมชนที่น่าอยู่ ไม่มีการอ้างอิงกับตัวบุคคลเหมือนคนรุ่นเก่า
“กระแสการเมืองของคนรุ่นใหม่หลังปี 2557 เติบโตขึ้นมาก คนรุ่นใหม่รู้สึกว่าภาพจำทางการเมืองของชลบุรีเป็นภาพจำที่มีลักษณะของการเมืองที่มีความผูกขาดกับตระกูลเดียว ซึ่งพวกเขาไม่โอเคกับภาพจำนี้” ดร.โอฬารกล่าว
ดร.โอฬารอธิบายเพิ่มเติมว่าปรากฏการณ์นี้สะท้อนให้เห็นจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ปี 2562 โดยการเลือกตั้งครั้งนั้น มีเหตุการณ์สำคัญคือการยุบพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งส่งผลทำให้คะแนนของคนกลุ่มนี้ ซึ่งแต่เดิมอาจจะเลือกพรรคไทยรักษาชาติ หันกลับมาเลือกพรรคอนาคตใหม่
“นี่เป็นสัญญาณให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่มีปัญหากับภาพจำทางการเมืองแบบเดิม ทำให้สถานการณ์การเมืองเปลี่ยนทั้งโครงสร้างและเปลี่ยนตัวผู้เลือก แต่แน่นอนตัวผู้เลือกยังมีกลุ่มคนที่เป็นคนดั้งเดิมในพัทยา ตั้งรกรากที่นั่นเป็นคนที่นั่น หรือคนที่ไปอยู่ที่นั่นในชั้นรุ่นพ่อแม่ และรุ่นลูกกลายเป็นคนพัทยา”
ที่มาของภาพ, Napat Wesshasartar
การเมืองของคน 3 กลุ่ม
ลักษณะการตัดสินในลงคะแนนเสียงให้ใครของคนรุ่นเก่าจะอิงกับตัวบุคคล เพราะคนเหล่านี้ได้ประโยชน์จากเครือข่ายระบบอุปถัมภ์ เครือข่ายที่ต้องอิงกับนักการเมือง หรืออิงกับราชการเพื่อให้ตัวเองทำธุรกิจได้
แต่สำหรับกลุ่มที่เป็นชนชั้นกลางที่เพิ่งย้ายเข้าไปอยู่ในเมืองพัทยา ไม่ได้มีความผูกพันกับนักการเมืองมากนัก คนเหล่านี้ทำธุรกิจ ประกอบกิจการ หวังผลต่อการพัฒนาเมืองที่เอื้อกับธุรกิจของตนเอง แต่ตอนนี้พัทยาถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่มีแผนในการพัฒนาเมืองที่ดี ไม่มีการสื่อสารที่ดี
กลุ่มถัดมาเป็นกลุ่มทางการเมือง เช่นกลุ่มคนเสื้อแดงเดิม และเป็นกลุ่มคนต่างจังหวัดที่เข้าไปอยู่ในพัทยา และเป็นฐานสำคัญสำหรับการเมืองของพรรคเพื่อไทย ซึ่งกลุ่มนี้อาจจะไม่พอใจกับกลุ่ม “บ้านใหญ่” เลยทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้มีความสะเปะสะปะ
“ซึ่งตอนนี้มีคนกลุ่มเดิมที่เลือกฐานแบบเดิม กลุ่มคนชั้นกลางที่ต้องการเมืองแบบใหม่ที่ต้องการคุณภาพ ไม่อิงกับตัวบุคคล และกลุ่มมวลชนทางการเมือง ซึ่งอาจถูกใช้เป็นกระบวนการในการเลือกใครคนใดคนหนึ่ง” ดร.โอฬารอธิบาย
“นอกจากนี้ยังมีคนรุ่นใหม่ นั่นเลยทำให้ผู้สมัครที่เป็นตัวแทนของกลุ่มการเมืองใหม่ ๆ เช่นกลุ่มก้าวหน้า มีบทบาทขึ้นมาเพราะว่าก่อนหน้านั้น เพราะพวกเขาบอกว่าเคยชนะการเลือกตั้งที่พัทยา ซึ่งจริง ๆ ถือว่าเป็นการกล่าวอ้างเกินไปเพราะการชนะเลือกตั้งของพรรคอนาคตใหม่ในตอนนั้นไม่ใช่เฉพาะในพัทยา แต่รวมพื้นที่อื่น ๆ ด้วย แต่ผู้สมัครจากคณะก้าวหน้าถือว่าไม่มีความสัมพันธ์ใด ๆ กับขั้วอำนาจทางการเมืองเลย ซึ่งเป็นสัญญาณต่อความคาดหวังของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในบริบทที่ผู้สมัคร”
วิเคราะห์จุดอ่อน-จุดแข็งผู้สมัคร
ดร.โอฬารอธิบายว่า ภาพรวมการแข่งขันรับเลือกตั้งเป็นนายกเมืองพัทยาในครั้งนี้มีความน่าสนใจมากทางด้านการเมืองท้องถิ่นของพัทยา ด้วยความหลากหลายในด้านขั้วอำนาจทางการเมือง ทำให้การเลือกตั้งนายกเมืองพัทยาครั้งนี้เป็นที่น่าจับตามอง โดยตัวผู้สมัครเองสะท้อนให้เห็นโครงสร้างอำนาจอันแตกขั้ว
ที่มาของภาพ, ปรเมศวร์-เบียร์ งามพิเชษฐ์ Facebook
นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ กลุ่มเรารักพัทยา เป็นตัวแทนจาก”บ้านใหญ่”
เบอร์ 1 นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ กลุ่มเรารักพัทยา เป็นตัวแทนบ้านใหญ่ เป็นคนที่มีต้นทุนที่ดี มีการศึกษาดี หน้าตาดี และเป็นคนที่มีความสุภาพนอบน้อมและเป็นที่รักของชาวบ้านมาก นอกจากนี้ยังทำงานในพื้นที่มาต่อเนื่องตั้งแต่รุ่นพ่อ และมีเครือข่ายข้าราชการ เครือข่ายนักการเมือง นอกจากนี้เขายังมีเครือข่ายนักธุรกิจ ซึ่งเป็นต้นทุนที่ดีของเขา แต่ข้อเสียคือพูดไม่เก่ง
“ถึงแม้คุณปรเมศวร์จะไม่ใช่ลูกหลานตระกูลคุณปลื้ม แต่ก็ยังถือว่าเป็นสายตรงของบ้านใหญ่ เพราะพ่อของคุณปรเมศวร์เป็นทีมงานของกำนันเป๊าะ และพื้นที่พัทยาเป็นพื้นที่ของเขา แม้จะเป็นตัวแทนของบ้านใหญ่ แต่ภาพลักษณ์ของเขา ไม่ถูกครอบงำจากบ้านใหญ่ เพราะความเป็นตัวของเขาเองและประสบการณ์การทำงานของเขา ถึงแม้ว่าเขาจะเป็นตัวแทนของบ้านใหญ่ แต่เวลาที่ทำงานในพื้นที่ เขามีความเป็นปรเมศวร์” ดร.โอฬารอธิบาย
ถึงแม้จะเป็นคนของบ้านใหญ่ที่มีภาพลักษณ์เป็นลบและมีความเป็นนักเลง แต่พอมาถึงรุ่นลูกภาพเหล่านั้นหายไป รุ่นลูกของกำนันเป๊าะเต็มไปด้วยภาพของการสร้างงาน สร้างเครือข่ายและ การบริหารจัดการ
“ถ้าเราเชื่อว่าการสื่อสารทางการเมืองมีมากมายมากกว่าการพูด ลองเข้ามาที่ชลบุรีและดูภาพลักษณ์ทางการเมืองของคนบ้านใหญ่มักจะใช้สีสดใส ซึ่งเป็นสีที่มีนัยะทางการเมืองในการสร้างภาพลักษณ์ นอกจากนี้ทุกคนยังมีการศึกษา จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีการวางแผนเพื่อที่จะสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้ครอบครัว เพราะเขารู้ว่าภาพนักเลงขายต่อในอนาคตไม่ได้” ดร.โอฬารกล่าวเสริม
ในปัจจุบันนักการเมืองจากบ้านใหญ่มีการบริหารจัดการภาพลักษณ์ใหม่ให้ดูมีความเป็นนักบริหาร แต่ในขณะเดียวกันคนในเครือข่ายก็ยังมีบางคนที่มีภาพลักษณ์ของผู้มีอิธิพลอยู่ เพราะยังมีชาวบ้านบางส่วนชอบบุคลิกนี้ แต่คนที่มาจากตระกูลคุณปลื้มจะไม่ฉายภาพลักษณ์นั้นอีก
“ต้องยอมรับว่า 40 ปีของทุนทางสังคมที่กำนันเป๊าะสร้างเอาไว้ มีคุณูปการต่อชลบุรีมาก ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญที่ทำให้เป็นเกราะที่เข้มแข็งให้กับรุ่นลูก” ดร.โอฬารกล่าว
ที่มาของภาพ, Napat Wesshasartar
นายศักดิ์ชัย แตงฮ่อ ผู้สมัครอิสระ เป็นอดีตนายอำเภอที่ชาวบ้านคิดว่ามีวิธีการทำงานแบบราชการ
เบอร์ 2 นายศักดิ์ชัย แตงฮ่อ ผู้สมัครอิสระ อดีตนายอำเภอ ซึ่งลงคนเดียวและไม่มีทีม นักวิชาการคาดการณ์ไม่ได้ว่าเขาอยากจะชนะการเลือกตั้งนายกเมืองพัทยาจริง ๆ หรือว่าอาจแค่ต้องการลงไปวัดคะแนนนิยมเพื่อหวังผลต่อการเมืองครั้งหน้า
ตัวผู้สมัครเชื่อว่าการที่เคยเป็นอดีตนายอำเภอบางละมุง ทำให้เขามีความรู้ความสามารถ มีคนรักเยอะ นอกจากนี้เขาก็มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ แต่สิ่งที่สำคัญก็คือคือข้าราชการเมื่อลาออกจากราชการแล้วอาจจะไม่ได้รับความนับหน้าถือตาเหมือนในอดีตก็เป็นได้ ซึ่งหลาย ๆ คนวิเคราะห์ว่าเขาอาจจะวางแผนเอาไว้เพื่อการเลือกตั้ง สส.ในครั้งหน้า
โดยถึงแม้นายศักดิ์ชัย จะไม่ได้รับกระแสความนิยมมากเท่าผู้สมัครคนอื่น ๆ แต่จากการจัดดีเบตของผู้สมัคร 3 คนเมื่อ 7 พ.ค. ที่ผ่านมา ลีลาการตอบคำถามและการแสดงวิสัยทัศน์ของเขาทำให้ใครหลาย ๆ คนเปลี่ยนใจมาชื่นชอบ โดยเขาชูนโยบายความมีเครือข่ายและความใกล้ชิดกับทางฝั่งราชการ ซึ่งจะทำให้การประสานงานเป็นไปได้ง่ายขึ้น
เบอร์ 3 นายกิตติศักดิ์ นิลวัฒนโฒชัย คณะก้าวหน้าพัทยา มีวิธีคิดทางการเมืองของคนชั้นกลางอย่างชัดเจน ที่เชื่อว่าตัวบุคคลไม่มีความสำคัญเท่านโยบาย นายกิตติศักดิ์เปิดตัวทางการเมืองไม่เกิน 2 เดือนก่อนประกาศรับสมัครเท่านั้น โดยมีแนวคิดหลักว่าถ้านโยบายดี ตัวบุคคลไม่สำคัญมากเท่า
“ภาพจำของคุณกิตติศักดิ์ ที่เป็นตัวแทนของคณะก้าวหน้า ถูกทับโดยคุณธนาธรอีกที ซึ่งนี่คือจุดอ่อนของคณะก้าวหน้าและการทำงานการเมืองท้องถิ่น มันทำให้เกิดภาพความเป็นวันแมนโชว์ของคุณธนาธร และเขากลายเป็นศูนย์กลางของภาพลักษณ์ทางการเมืองซึ่งจากจุดแข็ง เมื่อมองอีกด้านหนึ่งก็เป็นจุดอ่อน” ดร. โอฬารอธิบาย
ที่มาของภาพ, Napat Wesshasartar
นายกิตติศักดิ์ นิลวัฒนโฒชัย คณะก้าวหน้าพัทยา ถูกมองว่าภาพลักษณ์ของเขาถูกกลบไปด้วยภาพของนายธนาธร
จากการลงพื้นที่สัมภาษณ์ชาวบ้านที่มีวัฒนธรรมทางการเมือง และระบบคิดมีวิธีทางการเมืองที่อยู่ภายใต้ระบบการช่วยเหลือเกื้อกูลดูแลกัน ให้ความเห็นว่าการกระทำแบบของคณะก้าวหน้าดูเหมือนไม่ให้เกียรติคนพัทยา
ดร.โอฬาร อธิบายเอาไว้ว่า ถ้าเป็นนักการเมืองในท้องถิ่นจริง ๆ เมื่อพวกเขาจะทำงานการเมือง เขาจะเปิดตัวให้ชาวบ้านรู้จักเป็นปีก่อนจะเปิดรับสมัครเลือกตั้งเสียด้วยซ้ำ
“เหมือนกับมันใช้ความจริงใจเป็นตัวตั้งว่าต้องการทำอะไรให้ ต้องบอกชาวบ้านก่อนว่าจะมาทำอะไรให้บ้าง และสร้างความไว้ใจเบื้องต้นก่อนที่นำไปสู่การกากบาท โดยชาวบ้านเขามีฐานคิดว่าคนที่เขามีความไว้เนื้อเชื่อใจ จะเป็นคนที่พวกเขาพึ่งพาได้ ซึ่งเป็นวิธีคิดที่มันต่างกัน”
“นักการเมืองท้องถิ่นส่วนใหญ่ต้องการที่จะให้ถูกตรวจสอบ พวกเขาต้องการที่จะให้คนวิพากษ์วิจารณ์เพื่อหาจุดแข็งจุดอ่อนจุดแข็งจุดอ่อนและหาตัวตน เรียนรู้ชาวบ้าน รู้จักชาวบ้านรู้จักหัวจิตหัวใจของพวกเขา แต่ตรงนี้ต้องยอมรับว่าคณะก้าวหน้า ไม่มีมีความเข้าใจตรงจุดนี้เลย มันไม่รู้สึกว่ามันไม่เข้าใจหัวใจของชาวบ้าน”
นายกิตติศักดิ์มีภาพลักษณ์ของการเป็นคนรุ่นใหม่ เป็นลูกชาวบ้านธรรมดาที่อยากสร้างความเปลี่ยนแปลง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพลักษณ์ของเขาถูกกลบไปด้วยภาพของนายธนาธร
นอกจากนี้ยังมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าคณะก้าวหน้าได้แรงหนุนมาจากขั้วการเมืองในจังหวัดด้วยบางส่วน ซึ่งได้ประกาศจุดยืนชัดเจนว่าจะสนับสนุนคณะก้าวหน้า ซึ่งจะกลายเป็นสงครามตัวแทนได้ง่ายระหว่างผู้สมัครที่เป็นตัวแทนจากบ้านใหญ่ และผู้สมัครที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับบ้านใหญ่
เบอร์ 4 นายสินธ์ไชย วัฒนศาสตร์สาธร กลุ่มพัทยาร่วมใจ ซึ่งก่อนหน้านี้ทางกลุ่มได้วางตัวไว้ให้เป็นนายนิรันดร์ วัฒนศาสตร์สาธร อดีตนายกเมืองพัทยา ที่เป็นตัวแทนของคนบ้านใหญ่ แต่เลือกที่จะไม่ลงรับสมัครรับเลือกตั้งเพราะเกรงว่าจะถูกโยงกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพราะตัวเขาเองเคยเป็นสมาชิกสภาเมืองพัทยาจากการแต่งตั้งของ คสช. ซึ่งอาจจะมีภาพลักษณ์ที่ถูกวิจารณ์ได้ง่าย
ที่มาของภาพ, Napat Wesshasartar
นายสินธ์ไชย วัฒนศาสตร์สาธร กลุ่มพัทยาร่วมใจ เคยเป็นสมาชิกสภาเมืองพัทยาที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช.
นายสินธ์ไชย ได้รับช่วงต่อมาจากนายนิรันดร์ ซึ่งเป็นพี่ชายหลังจากได้มีการเปิดตัวมานานว่าจะลงสมัครนายกเมืองพัทยา โดยช่วงแรกได้ใช้นโยบายหาเสียงว่า “คนบ้านเราพัฒนาบ้านเรา” หลังจากนั้นได้เปลี่ยนมาใช้ “คนพัทยาเพื่อเมืองพัทยา” เพื่อสร้างความแตกต่างจากนโยบายเดิม ที่นายนิรันดร์ใช้หาสียงมาก่อนหน้า
นายสินธ์ไชยเป็นคนเมืองพัทยาตั้งแต่เกิด และมองตัวเองว่าเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ โดยเขาเคยได้รับหน้าที่เป็นเป็นผู้นำองค์กรภาคเอกชนในพัทยามาตลอด อาทิ นายกสมาคมนักธุรกิจและการท่องเที่ยวเมืองพัทยา อดีตกรรมการสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ทำงานองค์กรการกุศลเป็นรองประธานมูลนิธิสว่างบริบูรณ์ธรรมสถาน พัทยา และอีกหลายหน้าที่
นายสินธ์ไชยรู้จักและทำงานให้ชาวพัทยามาหลายภาคส่วนทั้งภาคเศรษฐกิจและธุรกิจต่าง ๆ และการเป็นสมาชิกสภาเมืองพัทยาทำให้เขาได้เรียนรู้ระบบราชการเมืองพัทยา ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งเขาวางแผนจะเข้ามาแก้ปัญหาเรื้อรังต่าง ๆ ของเมืองจากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา
ด้วยปัญหาอันหลากหลายจากคนหลายกลุ่ม และอำนาจที่มีอย่างจำกัดของนายกเมือง ทำให้ใครก็ตามที่จะเข้ามาบริหารเมืองคนต่อไปต้องตีโจทย์ยากที่จะทำให้การบริหารเมืองเปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยเป็นมา
แต่ไม่ว่าปัญหาจะเป็นเรื่องอะไร และความต้องการการแก้ไขปัญหาเฉพาะกลุ่มจะแตกต่างกันมากขนาดไหน แต่สิ่งที่ทุกคนเห็นตรงกันคือนายกเมืองในฝันของพวกเขาต้องเป็นคนที่เข้าถึงง่ายกว่าเดิม และบริหารเมืองแบบเข้าใจเมืองพัทยาที่มีสถานะเป็นพื้นที่ปกครองพิเศษจริง ๆ ไม่ใช่การบริหารงานแบบระบบราชการที่เคยเป็นมาในอดีต