เตือนโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยใหม่ระบาด หลังพบสายพันธุ์ BA.4-BA.5 ระบาดในแอฟริกา ส่วนสายพันธุ์ BA.2.12.1 เจอในสหรัฐ ศูนย์จีโนมฯ ชี้คนที่เคยติดมาแล้วถ้าไม่ฉีดวัคซีน แอนติบอดีในร่างกายจะต่อต้านไวรัสลดลงกว่า 7 เท่า สธ.ยันเดินหน้าโควิดเป็นโรคประจำถิ่น 1 ก.ค. ส่วนการถอดแมสก์ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ส่วนยอดติดเชื้อใหม่ลดต่อเนื่องเหลือ 7.7 พัน เสียชีวิต 62 ราย กทม.ไฟเขียวเปิดเรียนออนไซต์เต็มรูปแบบ 17 พ.ค. แต่ต้องเข้มตามมาตรการ
เกาะติดข่าว กดติดตาม ข่าวสด
ติดเชื้อลดอีกเหลือ 7.7 พัน-ดับ 62
เมื่อวันที่ 6 พ.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7,705 ราย ติดเชื้อสะสม 4,308,319 ราย หายป่วยเพิ่ม 11,252 ราย หายป่วยสะสม 4,181,671 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 62 ราย เสียชีวิตสะสม 28,976 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 97,672 ราย อยู่ในร.พ. 29,275 ราย อยู่ร.พ.สนาม HI, CI 68,397 ราย มีอาการหนัก 1,622 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 778 ราย อัตราครองเตียงสีเหลืองสีแดง 20.1%
ทั้งนี้ผู้เสียชีวิต 62 ราย มาจาก 29 จังหวัด กทม.เสียชีวิตสูงสุด 8 ราย, นครราชสีมา ศรีสะเกษ จังหวัดละ 6 ราย, ชลบุรี 5 ราย, อุดรธานี 4 ราย ที่เหลือเสียชีวิตจังหวัดละ 1-3 ราย ภาพรวมภาคตะวันออกเฉียงเหนือเสียชีวิตรวมมากที่สุด 20 ราย ภาคกลางและตะวันออก 16 ราย ภาคเหนือ 13 ราย ปริมณฑล 3 ราย และภาคใต้ 2 ราย โดยผู้เสียชีวิตเป็นชาย 33 ราย หญิง 29 ราย อายุ 6-99 ปี เป็นผู้สูงอายุและโรคประจำตัวรวม 95% การติดเชื้อมาจากเรือนจำพบ 15 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศ 10 ราย มาจากลาวเข้าสู่ระบบกักตัว
กทม.ติดเชื้อมากสุดเกิน 2 พัน
สำหรับ 10 จังหวัดที่มีรายงานติดเชื้อรายใหม่สูงสุดคือ 1.กทม. 2,174 ราย 2.บุรีรัมย์ 294 ราย 3.สมุทรปราการ 268 ราย 4.ศรีสะเกษ 246 ราย 5.ขอนแก่น 224 ราย 6.ชลบุรี 203 ราย 7.นครราชสีมา 199 ราย 8.ร้อยเอ็ด 185 ราย 9.สุรินทร์ 176 ราย และ 10.อุบลราชธานี 155 ราย
ส่วนการลงทะเบียนเข้าประเทศผ่านไทยแลนด์ พาส ตั้งแต่วันที่ 29 เม.ย.-5 พ.ค. มีผู้ลงทะเบียน 238,083 คน อนุมัติแล้ว 227,680 คน ไม่ผ่านการอนุมัติ 4,138 คน
ส่วนการฉีดวัคซีนโควิด-19 เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 65 จำนวน 42,881 โดส สะสม 134,218,666 โดส เป็นเข็มแรก 56,348,741 ราย คิดเป็น 81% เข็มสอง 51,458,076 ราย คิดเป็น 74% และเข็ม 3 ขึ้นไป 26,411,849 ราย คิดเป็น 38% ภาพรวมผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ฉีดเข็ม 3 แล้ว 41.8%
‘บิ๊กตู่’ถกศบศ.ฟื้นฟูจากพิษโควิด
เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) โดยมีพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง
ทั้งนี้ที่ประชุมจะมีการติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจล่าสุด เสนอโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมทั้งติดตามสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยว เสนอโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ติดตามความคืบหน้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน โดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้าสู่ประเทศไทย
ขณะเดียวกันยังติดตามความคืบหน้ามาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย และจะพิจารณาแผนพัฒนาและฟื้นฟูการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในกลุ่มจังหวัดอันดามัน ประกอบด้วย ภูเก็ต กระบี่ และพังงา รวมถึงพิจารณาการสนับสนุนและการ เพิ่มโอกาสให้จ.ภูเก็ตเป็นเจ้าภาพการจัดงาน Specialised Expo 2028
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวก่อนการประชุมว่า วันนี้ประเทศไทยถือว่าประสบความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เห็นได้ว่าสถานการณ์มีแนวโน้มคลี่คลายลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรัฐบาลเร่งกระจายวัคซีนให้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่ต้องได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง ผู้ป่วยอาการรุนแรงและผู้เสียชีวิตก็อยู่ภายใต้การดูแลตามศักยภาพของระบบสาธารณสุขที่ได้เตรียมการไว้ ความสำเร็จดังกล่าวถือเป็นผลมาจากการทำงานในการบริหารจัดการควบคุมการระบาดของฝ่ายสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ภาครัฐ เอกชน รวมทั้งประชาชนที่ร่วมมือกันปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคอย่างดี ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ยกย่องให้ประเทศไทยเป็นประเทศต้นแบบที่มีการบริหารจัดการและการรับมือของการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า อย่างไรก็ตามยังคงต้องระมัดระวังและติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโอมิครอนและสายพันธุ์ใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอย่างใกล้ชิดต่อไป ต้องเตรียมแผนรับมือ ปรับมาตรการให้เหมาะสมและทันท่วงที ซึ่งจากข้อมูลฝ่ายสาธารณสุขรายงานว่าการเปิดรับผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักร เพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ หรือเดินทางเข้ามาในโครงการนำร่องด้านการท่องเที่ยวและบริการ แม้จะตรวจพบผู้ติดเชื้ออยู่บ้างแต่ก็จำนวนน้อย และสามารถควบคุมได้ จึงอาจไม่ใช่ปัจจัยที่มีผลทำให้การติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ สอดคล้องกับสถานการณ์ทั่วโลกในปัจจุบัน หลายประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการป้องกันและควบคุมโรค มีการเปิดประเทศ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี ตรงกับนโยบายของรัฐบาล “Living with covid-19” ดังนั้นศบค.จึงมีการพิจารณาผ่อนคลายมาตรการอย่างต่อเนื่อง ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ดังกล่าว ทั้งการกำหนดพื้นที่นำร่อง เงื่อนไขการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร รวมทั้งการเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดภาคเรียนที่ 1 ในปี 2565 ด้วย
เพิ่มเที่ยวด้วยกันเฟส 4 อีกล้านสิทธิ์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบการเพิ่มสิทธิ์โครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 4 เพิ่มอีก 1 ล้านสิทธิ์ ถึงเดือนก.ย.2565 โดยจะใช้เงื่อนไขการรับสิทธิ์และวงเงินเดิม 4,000 ล้านบาท รวมถึงเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการ “ทัวร์เที่ยวไทย” และขยายเวลาดำเนินโครงการจากเดิมสิ้นสุดเดือนพ.ค.65 เป็นสิ้นสุดเดือนก.ย.65 และเหลือสิทธิ์ 1.3 แสนสิทธิ์
โดยก่อนหน้านี้นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศ ไทย เปิดเผยว่า การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เสนอขยายโครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 4 ออกไปอีก และอยากขอให้รัฐบาลยกเลิกไทยแลนด์พาส และการประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นโดยเร็วที่สุดภายในไตรมาสที่ 2/2565 จะได้มีนักธุรกิจและนักท่องเที่ยวเข้ามา ปัจจุบันหลังเปิดประเทศเดือนพ.ค.มีนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนมาก ทำให้คึกคักมากขึ้นทั้งภาคการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของประเทศ
พอใจติดเชื้อ-ตายโควิดลด
ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกฯ ชื่นชมและขอบคุณประชาชนทุกภาคส่วนที่ร่วมกันปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารสุขจนส่งผลให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด – 19 ของประเทศไทยลดลงมาอยู่ในหลักพันติดต่อกัน 5 วันแล้ว ขณะนี้สถานการณ์เริ่มทรงตัว และมีการดูแลรักษาที่บ้านมากขึ้น ทำให้หลายสถานพยาบาลปรับลดการดูแลผู้ป่วยโควิด – 19 ในสถานพยาบาลลง และกลับมารักษาผู้ป่วยโรคอื่นๆ รวมถึงทำการรักษาผ่าตัดเพิ่มมากขึ้น โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ไม่มีการระบาดของโรคโควิด – 19 ที่รุนแรง อย่างไรก็ตามยังขอให้ประชาชนทุกคนร่วมมือกันปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขในการป้องกันการติดโรคโควิด-19 แบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) อย่างเคร่งครัดต่อไปเพื่อทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงอีก ทั้งนี้มอบหมายกระทรวงสาธารณสุขเฝ้าติดตามสถานการณ์โควิด-19 อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเริ่มมีการตรวจพบเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์สายพันธุ์ย่อยในบางประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือให้ทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
เตือนโอมิครอนพันธุ์ย่อยใหม่
วันเดียวกัน ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหา วิทยาลัยมหิดล โพสต์ภาพและข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กเพจ Center for Medical Genomics ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระบุว่า ผู้ติดเชื้อโอมิครอนรายใหม่และผู้ที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทยขณะนี้มีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง จนอาจเข้าสู่ภาวะโรคประจำถิ่นที่ระบบสาธารณสุขสามารถควบคุมการระบาดได้ แต่เหตุใดจึงยังสมควรต้องเร่งฉีดวัคซีนเข็มแรกหากยังไม่เคยฉีด และฉีดเข็มกระตุ้นทันทีเมื่อครบกำหนด
คำตอบคือองค์การอนามัยโลกออกมาเตือนถึงการระบาดของโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย “BA.4” และ “BA.5” ในประเทศแอฟริกา และ “BA.2.12.1” ในสหรัฐอเมริการะลอกใหม่ โดยนักวิจัยทั่วโลกคาดว่าอาจมีการระบาดเข้ามาแทนที่ BA.2 และมีแนวโน้มสูงที่จะแพร่ไปทั่วโลกเหมือนกับเหตุการณ์การระบาดใหญ่ของโอมิครอนจากประเทศแอฟริกาใต้เมื่อปีที่แล้ว (พ.ย. 2564)
ทีมวิจัยของประเทศแอฟริกาใต้ที่พบโอมิ ครอนสายพันธุ์ดั้งเดิมเป็นผู้พบโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยที่อุบัติใหม่ BA.4 และ BA.5
จากการศึกษาในห้องปฏิบัติการ พบว่าแอนติบอดีที่ร่างกายเราสร้างขึ้นจากการติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม BA.1 ตามธรรมชาติไม่สามารถปกป้องการติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ที่อุบัติใหม่ อย่าง BA.4, BA.5 และ BA.2.12.1 ได้ดี
แอนติบอดีต้านไวรัสลด 7 เท่า
คนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน แต่เพิ่งหายขาดจากการติดเชื้อ BA.1 พบว่าความสามารถของแอนติบอดีในร่างกายที่จะต่อต้านไวรัส BA.4 และ BA.5 ลดลงมากกว่า 7 เท่า เมื่อเทียบกับความสามารถในการต่อต้าน BA.1 ขณะที่ผู้ที่เคยฉีดวัคซีน (วัคซีนผลิตจากส่วนหนามของไวรัสดั้งเดิมอู่ฮั่น) และเพิ่งหายจากการติดเชื้อ BA.1 ตามธรรมชาติ ความสามารถของแอนติบอดีในร่างกายที่จะต่อต้านไวรัส BA.4 และ BA.5 ลดลงไปเพียง 3 เท่า
อันหมายถึงลำพังแอนติบอดีจากการติดเชื้อ BA.1 ตามธรรมชาติไม่สามารถปกป้องการติดเชื้อ BA.4 และ BA.5 ได้ดีนัก แต่หากมีการฉีดวัคซีนก่อนและมีการติดเชื้อ BA.1 ร่วมด้วย แอนติบอดีที่ร่างการสร้างขึ้นจะสามารถยับยั้งไวรัส BA.4 และ BA.5 ได้ในระดับหนึ่ง ทำให้ไม่ป่วย ไม่ตาย เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน แต่มีการติดเชื้อ BA.1 ตามธรรมชาติแต่ เพียงอย่างเดียว
หมายเหตุ: ความสามารถของแอนติบอดีในร่างกายที่จะต่อต้านไวรัส (ในกรณีของไวรัสไข้หวัดใหญ่) ลดลง 8 เท่า เป็นเกณฑ์บ่งชี้ว่าได้มีการสูญเสียความสามารถในการป้องกันต้องมีการปรับปรุงวัคซีน (ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล) อย่างเร่งด่วน
แนะเร่งฉีดเข็มกระตุ้น
ไวรัส BA.4 และ BA.5 และ BA.2.12.1 มีการกลายพันธุ์ร่วมที่ตำแหน่ง “452” ของจีโนมของพวกมัน ทำให้ส่วนหนามมีความเสถียรมากขึ้นเข้าไปยึดเกาะกับปุ่มที่เรียกว่า “ACE-2 receptor” ที่ผิวเซลล์ของผู้ติดเชื้อได้แน่นขึ้น ทำให้สามารถแทรกตัวเข้าไปภายในเซลล์ได้ดีขึ้น และยังทำให้เซลล์หลายเซลล์มาเชื่อมต่อกัน กลายเป็นเซลล์ใหญ่เซลล์เดียว ช่วยให้ไวรัสติดต่อระหว่างเซลล์ต่อเซลล์โดยไม่ต้องออกมานอกเซลล์ให้ถูกแอนติบอดีจับกุมทำลาย ทำให้ไวรัสเพิ่มจำนวนในระหว่างกลุ่มเซลล์ได้อย่างรวดเร็ว
ไวรัส BA.4 และ BA.5 มีการเปลี่ยนแปลงที่ตำแหน่ง “486” ด้วยเช่นกัน คาดว่าช่วยให้ไวรัสซ่อนตัวจากระบบภูมิคุ้มกันของเราได้ในระดับหนึ่ง
ส่วน BA.2.12.1 มีการเปลี่ยนแปลงที่ตำแหน่ง “704” หน้าที่ยังไม่ชัดเจน คาดว่าจะส่งผลให้เซลล์มาเชื่อมต่อหรือผนังเซลล์มาหลอมรวมกัน (cell fusion) ดังนั้นในช่วง “พักยก” (จำนวนผู้ติดเชื้อโอมิครอนรายใหม่และผู้เสียชีวิตลดลง) จึงควรรีบไปฉีดวัคซีนและเข็มกระตุ้นเพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำหากมีการระบาดของโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4, BA.5 และ BA.2.12.1 เข้ามาในประเทศไทย เพราะภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติจากโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิมอาจไม่ช่วยปกป้องเรามากนักจากโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยอุบัติใหม่
สธ.เดินหน้าโรคประจำถิ่น1ก.ค.
วันเดียวกัน ที่อาคารเฉลิมพระบารมี 50 ปี ซอยศูนย์วิจัย กทม. นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุขเปิดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2565 สมาคมโรงพยาบาลเอกชน และบรรยายพิเศษ “ทิศทางและนโยบายภาครัฐ หลังการประกาศโควิด 19 เป็นโรคประจำถิ่น” มีใจความตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยเผชิญหน้ากับโรคโควิด 19 มาเกือบ 3 ปี มีการต่อสู้และเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการรักษาพยาบาล ซึ่งได้รับความร่วมมือจาก ร.พ.เอกชน ในเรื่องของ UCEP COVID ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เราเดินหน้ามาจนถึงวันนี้ได้ คือมีอัตราการติดเชื้อลดลง ผู้ป่วยในสถานพยาบาลและผู้เสียชีวิตก็ลดลง ขณะนี้ส่วนใหญ่ประเทศไทยอยู่ในระยะที่ 2 คือ ระยะทรงตัว มีแนวโน้มลดลง
ก่อนหน้านี้มีการประเมินว่าหลังเม.ย.ตัวเลขติดเชื้อจะสูงขึ้น แต่เทรนด์ขณะนี้ลดลง ตัวเลขในระบบอาจจะยังไม่ตรงกับสถานการณ์จริง ซึ่งไม่ใช่ว่าปิดบังตัวเลข แต่อาจมีผู้ที่ไม่ได้รายงานเข้ามา เช่น ตรวจ ATK ผลบวกแต่ ไม่ได้รายงานเข้าระบบ บางส่วนแยกไปรักษาเองโดยไม่ได้บอก สำหรับการเดินหน้าสู่โรคประจำถิ่น เราประกาศหลักเกณฑ์ต่างๆ ไว้ หากทำได้ตามหลักเกณฑ์ก็น่าจะพร้อมเข้าสู่โรคประจำถิ่นตามเป้าหมายคือวันที่ 1 ก.ค.เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลกยังไม่ได้ประกาศชัดเจนเรื่องโรคประจำถิ่น และยังกังวลถึงโอกาสการกลายพันธุ์ แต่การติดตามการกลายพันธุ์ขณะนี้ยังไม่พบที่น่ากังวล
“ส่วนการผ่อนคลายมาตรการ เช่นถอดหน้ากากอนามัยนั้น การผ่อนคลายมาตรการขึ้นอยู่กับพื้นที่และสถานการณ์ แต่ในบางประเทศที่ผ่อนคลายมาตรการ ก็มีทั้งที่ถอดหน้ากากและยังใส่หน้ากากอยู่ หัวใจสำคัญคือต้องก้าวข้าม อยู่กับโควิดอย่างเข้าใจ รู้เท่าทัน และเดินหน้าเศรษฐกิจให้ได้” นายสาธิตกล่าว
อย.แนะยื่นอัพเกรด‘วัคซีนโควิด’
นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ศึกษาวิจัยวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA “ChulaCov19” ทยอยส่งเอกสารขออนุญาตการขึ้นทะเบียนผลิตวัคซีนโดยโรงงานในประเทศไทย คือบริษัท ไบโอเน็ตเอเชีย จำกัด เพื่อนำไปทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 จากเดิมที่ขอขึ้นทะเบียนผลิตจากโรงงานในต่างประเทศ ซึ่งเมื่อเปลี่ยนโรงงานผลิตจึงต้องมาขออนุญาตขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตแห่งใหม่เพิ่มเติม เบื้องต้นส่งเอกสารประกอบเข้ามาเรื่อยๆ อย.ยังไม่ต้องขอข้อมูลอะไรเพิ่มเติม การพิจารณาอยู่ที่ว่าคณะผู้วิจัยจะขึ้นทะเบียนใช้อย่างไร จะใช้เป็นเข็ม 1 เข็ม 2 หรือเข็มกระตุ้น อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ต้องมาเริ่มที่เฟส 1 ก็ต้องเริ่มในคนที่มีสุขภาพดี
เมื่อถามว่าขณะนี้มีวัคซีนโควิด-19 ตัวอื่นๆ มายื่นขึ้นทะเบียนเพิ่มเติมหรือไม่ นพ.ไพศาลกล่าวว่า ที่เพิ่งมีการขึ้นทะเบียนไปเมื่อเร็วๆ นี้ คือวัคซีนโคโวแวกซ์ ส่วนวัคซีนตัวอื่นๆ ที่ขึ้นทะเบียนในประเทศไทยไปก่อนหน้านี้ ใบอนุญาตจะมีอายุ 1 ปี ทุกตัวมาต่ออายุใบอนุญาตเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการประชาสัมพันธ์ให้ผู้รับผิดชอบมาดำเนินการยื่นเรื่องปรับการขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 ชนิดต่างๆ จากที่ขึ้นทะเบียนเพื่อใช้ในภาวะฉุกเฉิน เป็นวัคซีนที่ใช้ในสถานการณ์ทั่วไป เหมือนที่สหรัฐอเมริกาที่มีการปรับการขึ้นทะเบียนวัคซีนไฟเซอร์เป็นการใช้ในสถานการณ์ปกติ เพราะขณะนี้มีข้อมูลน่าจะมีครบแล้ว
เมื่อถามว่าหากปรับการขึ้นทะเบียนเป็นวัคซีนที่ใช้ในสถานการณ์ทั่วไป ภาคเอกชนสามารถนำเข้าได้เองใช่หรือไม่ นพ.ไพศาลกล่าวว่า ได้ แต่ขึ้นอยู่กับทางบริษัทผู้ผลิตจำหน่ายวัคซีนว่าจะมีการเจรจาขายกันหรือไม่อย่างไร แต่ตอนนี้ส่วนใหญ่เป็นการขาย ให้รัฐ
รับเปิดเทอม – จนท.ฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อโรคทั่วห้องเรียนและอุปกรณ์การเรียนการสอน โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย จ.นครราช สีมา เมื่อวันที่ 6 พ.ค. เตรียมพร้อมเปิดเทอมใหม่ซึ่งเรียนออนไซต์เต็มระบบในวันที่ 17 พ.ค.นี้
17พ.ค.โรงเรียนกทม.เปิดออนไซต์
นพ.ชวินทร์ ศิรินาค รองปลัดกรุงเทพ มหานคร (กทม.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมผู้บริหารสำนักการศึกษา และหัวหน้าฝ่ายการศึกษา สำนักงานเขต และ ผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัดกทม. ผ่านระบบการประชุมทางไกล ว่า ที่ประชุมได้แจ้งแนวทางการเตรียมความพร้อมการเปิดภาคเรียนที่ 1/2565 ของโรงเรียนสังกัดกทม. ในวันที่ 17 พ.ค.2565 ซึ่งเป็นการเปิดเรียนแบบออนไซต์เต็มรูปแบบ 100% ทุกระดับชั้น โดยจะดำเนินการมาตรการความปลอดภัยของโรงเรียนในสังกัดกทม.อย่างเต็มที่เข้มงวดและมีประสิทธิภาพ
“โดยทุกโรงเรียนจะต้องประเมินตามมาตรการ 3T1V คือ T : Thai Stop Covid Plus (TSC+) สถานศึกษาต้องประเมินตนเองเตรียมพร้อมก่อนเปิดเรียน T : Thai Save Thai (TST) นักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษามีการประเมินความเสี่ยงตนเองเป็นประจำ T : Test ตรวจคัดกรอง เฝ้าระวังอย่างเหมาะสม เช่น ตรวจ ATK เมื่อมีความเสี่ยงหรือมีอาการ และ V : Vaccine ครู บุคลากร ผู้ปกครอง และเด็ก อายุ 5-18 ปี ได้รับวัคซีนโควิด-19 ตามเกณฑ์” นพ.ชวินทร์กล่าว และว่า สำนักงานเขตและโรงเรียนจะประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเข้าใจ และขอความร่วมมือให้นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา กทม.ตลอดจนผู้ปฏิบัติงานในโรงเรียนให้ปฏิบัติตามข้อกำหนด 6 มาตรการหลัก 6 มาตรการเสริม และแนวทาง 7 มาตรการเข้ม ทั้งนี้หากผู้ปกครองไม่ประสงค์ให้นักเรียนเรียนในรูปแบบออนไซต์ อนุญาตให้เรียนในรูปแบบ 4 ON ได้
นพ.ชวินทร์กล่าวต่อว่า กรณีเมื่อเปิดเรียนแล้ว พบผู้ติดเชื้อยืนยัน 1 ห้องเรียน ตั้งแต่ 1 รายขึ้นไป หรือพบผู้ติดเชื้อมากกว่า 1 ห้องเรียน ให้ปิดห้องเรียนเฉพาะห้องเรียนที่พบผู้ติดเชื้อเป็นเวลา 3 วัน เพื่อทำความสะอาด และให้จัดการเรียนการสอนในรูปแบบ 4 On (Online, On-Air, On Hand และ On School Line) สำหรับห้องเรียนอื่นเปิดเรียนออนไซต์ตามปกติ และให้กำกับดูแลให้โรงเรียนในสังกัดดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง