- ธันยพร บัวทอง
- ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

ที่มาของภาพ, กลุ่มรัก “พลตรีหญิง เจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยเจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี ไปทรงตรวจเยี่ยมโครงการพระราชทาน โคก หนอง นาแห่งน้ำใจและความหวัง ณ ทัณฑสถานหญิงกลาง เขตจตุจักร เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 และเรือนจำกลางคลองเปรม เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2563
ชายหญิงหลายสิบคนอายุตั้งแต่ 25 ปี ไปจนถึงวัยใกล้เกษียณในผ้าพันคอหลากสี วางมือจากงานในแปลงดินตรงหน้า แล้วมารวมตัวกันบนลานกว้าง เบื้องหน้าของพวกเขามีธงไตรรงค์ที่เตรียมเชิญขึ้นสู่ยอดเสาในเวลา 8 โมงตรง
ที่นี่ไม่ใช่โรงเรียนหรือสถานที่ราชการ แต่คือศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ศูนย์ฝึกอบรมที่ผู้สนใจเข้าหาวิถีชีวิตการทำเกษตร สมัครและเสียค่าใช้จ่ายเข้ามาอบรมในหลักสูตรการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง พื้นฐานโคกหนองนา
ผู้เข้าอบรมจากหลากจังหวัด หลายอาชีพ พักค้างกินนอนกันที่นี่เป็นวันที่ 4 แล้ว ซึ่งเป็นวันของการฝึกภาคปฏิบัติที่บีบีซีไทยได้ร่วมสังเกตการณ์เมื่อต้นเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา
ก่อนเคารพธงชาติ วิทยากรนำผู้เข้าร่วมอบรมกล่าวคำปฏิญาณตน ข้อความว่า
“ชาติของเราเป็นไทยอยู่ได้จนถึงตัวเราทุกวันนี้ เพราะบรรพบุรุษของเราเอาเลือด เอาเนื้อ เอาชีวิต และความลำบากยากเข็ญเข้าแลกไว้ เราต้องรักษาชาติ เราต้องบำรุงชาติ เราต้องรักษาแผ่นดินด้วยการทำเกษตรอินทรีย์ เราต้องสร้างเศรษฐกิจพอเพียง ให้สามารถพึ่งตนเอง และสร้างความมั่งคั่งใหม่ให้แก่แผ่นดินไทยจงได้”
สิ้นเสียงปฏิญาณ พวกเขาร่วมกันร้องเพลงชาติแล้วแยกย้ายไปกินอาหารเช้า ก่อนจะลงแปลงโคกหนองนา
นี่คือหลักสูตรโคกหนองนาขั้นพื้นฐาน ที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้องเคยจัดอบรมให้ข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชน และจิตอาสา 904 เพื่อไปเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ให้ประชาชนที่สมัครเข้าร่วมโครงการโคกหนองนา ของกรมการพัฒนาชุมชน โดยใช้งบประมาณจาก พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 หรือ พ.ร.ก. กู้เงินโควิด-19
ที่มาของภาพ, Thanyaporn Buathong/BBC THAI
โคกหนองนาโมเดลกับงบฯ เงินกู้โควิดเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก
การเผยแพร่พระราชกรณียกิจเกี่ยวกับโครงการโคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวังในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ถึงปี 2564 ที่เน้นดำเนินโครงการในเรือนจำ เกิดขึ้นควบคู่กับการบรรจุโครงการ “โคกหนองนาโมเดล”ไว้ในแผนการใช้งบประมาณจากเงินกู้เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจสังคมจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของรัฐบาล
กรมการพัฒนาชุมชน (พช.) กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานที่เสนอโครงการนี้ไปยังสภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ในฐานะคณะกรรมการคัดกรองเงินกู้โควิด และได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือน ก.ค. 2563 วงเงินกว่า 4,787 ล้านบาท จำนวน 25,179 แปลงใน 73 จังหวัด ระยะเวลาดำเนินการ ตั้งแต่เดือน ก.ค. 2563 – ก.ย. 2564
วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง และผู้ก่อตั้งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในโครงการโคกหนองนา บอกกับบีบีซีไทยว่า นี่เป็นครั้งแรกที่โครงการพระราชดำริถูกบรรจุในแผนงานของรัฐให้ดำเนินการเต็มรูปแบบทั่วประเทศ
ที่มาของภาพ, Thanyaporn buathong/bbc thai
ภาพวาดฝีพระหัตถ์โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง ของ รัชกาลที่ 10 จำนวน 3 ภาพ ที่ตั้งอยู่ภายในสำนักงานของอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ศูนย์ราชการอาคารบี ถนนแจ้งวัฒนะ
วิวัฒน์ หรือที่บรรดาลูกศิษย์เรียกว่า “อาจารย์ยักษ์” อธิบายเพิ่มเติมว่า แม้ในอดีตจะมีโครงการพระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่มีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นเจ้าภาพ แต่ก็ไม่มีงบประมาณในการขุดสระและแนวทางเรื่องการจัดการน้ำที่ชัดเจนเหมือนกับโครงการโคกหนองนาของ พช.
เอกสารข้อเสนอโครงการจากกระทรวงมหาดไทย ปรากฏในบัญชีท้าย พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ระบุหลักการและเหตุผลว่า “ทางออกของประเทศไทยในการรอดพ้นวิกฤตและเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้ถูกกำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561-2580 และนโยบายรัฐบาลที่จะสืบสาน รักษา ต่อยอด และพัฒนาประเทศตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร กระทรวงมหาดไทยได้มอบหมายให้กรมการพัฒนาชุมชน น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักในการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชน…”
นายสมคิด จันทมฤก อธิบดี พช. ให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยเมื่อเดือน ก.พ. 2565 ว่า ณ วันที่ 9 ก.พ. โครงการโคกหนองนาโมเดลใช้งบประมาณไปแล้ว กว่า 4,067 ล้านบาท คิดเป็นกว่า 84%
ส่วนผลที่ได้มีเช่น สร้างกลุ่มเป้าหมายเป็นแกนนำขับเคลื่อนการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงฯ 34,367 คน เกิดพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตขนาดไม่เกิน 3 ไร่ 24,842 ครัวเรือน คิดเป็นพื้นที่รวม 54,676 ไร่
โคกหนองนา เผยแพร่อุดมการณ์เศรษฐกิจพอเพียง ชาติ และสถาบันกษัตริย์
ประชาชนที่สนใจสมัครและขอรับงบประมาณทำโครงการโคกหนองนาจะต้องผ่านการฝึกอบรมทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง รูปแบบ โคกหนองนา โมเดล ของ พช. ที่มีต้นแบบหลักสูตรจากศูนย์กสิกรรมฯ มาบเอื้อง
ผู้เข้าโครงการโคกหนองนา 2 คน ใน จ.มหาสารคาม บอกบีบีซีไทยว่า ได้เข้าร่วมอบรมที่โครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริฯ บ้านกำพี้ อ.บรบือ จ. มหาสารคาม เป็นเวลา 5 วัน เนื้อหาการอบรมและการฝึกภาคปฏิบัติมีลักษณะเดียวที่ศูนย์กสิกรรมฯ มาบเอื้อง และมีการเคารพธงชาติทั้งเช้าและเย็น
ที่มาของภาพ, สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
ภาพการอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ ระบบเศรษฐกิจพอเพียง รูปแบบ “โคก หนอง นา โมเดล” รุ่นที่ 6 ของ จ.มหาสารคาม เมื่อ 27 ม.ค. 2564
หลักสูตรโคกหนองนา 5 วัน ของ พช. ได้บรรจุเนื้อหาที่เกี่ยวกับอุดมการณ์ความเป็นชาติไทย ศาสนาและสถาบันกษัตริย์ สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอแห่งหนึ่งใน จ.มหาสารคาม ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการอบรมไว้ว่า ในวันที่ 4 เป็นหลักสูตรสร้างความตระหนักเกี่ยวกับสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ตลอดจนการใช้ชีวิตบนพื้นฐานของความเป็นไทย เรียนรู้การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในรูปแบบการแลกเปลี่ยนแรงงาน การ “เอามื้อสามัคคี” (เอามื้อ หมายถึง ร่วมแรง ช่วยกันทำ) และการดำรงตนในภาวะวิกฤต
อุดมการณ์ความเป็นชาติ ยังปรากฏในที่ดินของเกษตรกรใน อ.เชียงยืน จ.มหาสารคาม ที่เข้าร่วมโครงการโคกหนองนา ซึ่งมีการตั้งเสาธงชาติ และป้ายคำปฏิญาณตนข้อความเดียวกับที่บีบีซีไทยได้ยินในการอบรมโคกหนองนาที่ศูนย์กสิกรรมฯ มาบเอื้อง จ.ชลบุรี
ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai
แผ่นป้ายปฏิญาณตนที่แปลงโคกหนองนาของ น.ส. หยกพิมพ์มณี อุตมะ ที่บ้านดอนหันพัฒนา ต.นาทอง อ.เชียงยืน จ.มหาสารคาม
เครือข่ายรัฐราชการ โคกหนองนา โรงเรียนจิตอาสา และสภาพัฒน์
เส้นทางของโครงการโคกหนองนาโมเดล เริ่มต้นจากเป็นโครงการพระราชทานฯ ภายในเรือนจำทั่วประเทศโดยใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ มาเป็นโครงการของรัฐในชื่อ “โคกหนองนาโมเดล” ที่กระจายไปทั่วประเทศ ผ่านกลไกของหน่วยราชการ บุคลากรที่ทำงานด้านเกษตรวิถีศาสตร์พระราชา ใช้เงินงบประมาณจาก พ.ร.ก.กู้เงินโควิด-19 เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากในภาวะโรคระบาด
ต่อไปนี้คือหน่วยงานและกลุ่มบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนโคกหนองนาโมเดล
กรมราชทัณฑ์ – กรมการพัฒนาชุมชน
โครงการโคกหนองนาโมเดล ของ พช. เกิดขึ้นในช่วงที่นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ เป็นอธิบดี
พช. เป็นหน่วยงานหลักที่รับการสานต่อโคกหนองนาจากกรมราชทัณฑ์ โดยมีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง พช. กรมราชทัณฑ์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการต่างประเทศ ในการส่งเสริมสนับสนุนผู้ต้องขังที่ผ่านการอบรมโคกหนองนาในเรือนจำที่พ้นโทษออกมา โดยมี พล.อ.ต.สุพิชัย สุนทรบุระ รองเลขาธิการพระราชวัง เป็นประธานในพิธีลงนาม
ที่มาของภาพ, กรมการพัฒนาชุมชน
11 ก.ย. 2563 กรมการพัฒนาชุมชน และ พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ลงนามเอ็มโอยู สืบสานพระราชปณิธาน ร.10 โครงการ โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง โดยมี พล.อ.ต.สุพิชัย สุนทรบุระ รองเลขาธิการพระราชวัง เป็นประธานในพิธีลงนาม
เช่นเดียวกับข้าราชการระดับสูงทั่วไป อธิบดีสุทธิพงษ์ได้ผ่านการอบรมหลักสูตรจิตอาสาพระราชทาน โดยเขาอยู่ในรุ่น “จิตอาสา 904 หลักสูตรพื้นฐาน รุ่นที่ 1/62” การอบรมนี้เองที่ทำให้เขาได้เรียนรู้เกี่ยวกับโคกหนองนา เมื่อได้ขึ้นเป็นอธิบดี พช. จึงตั้งงบประมาณประจำของ พช. มาทำโครงการวงเงิน 1.62 ล้านบาท ต่อมาเมื่อรัฐบาลได้งบประมาณจากเงินกู้โควิดเพื่อนำมาแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เขาจึงได้ผลักดันโครงการโคกหนองนาโมเดลเข้าสู่แผนการใช้เงินกู้ก้อนนี้
ที่มาของภาพ, facebook/ท้องถิ่นไทย
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัด มท. ร่วมเปิดโครงการรณรงค์ จิตอาสาพัฒนาสิ่งแวดล้อม ป้องกันโรคไข้เลือดออก กับเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นส่วนหนึ่งของการร่วมเป็นจิตอาสา 904 วปร. หลักสูตรพื้นฐาน รุ่นที่1/62 ในภาพยังมี นพ. สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อดีตอธิบดีกรมควบคุมโรค ซึ่งปัจจุบันเป็นอธิบดีกรมอนามัย เมื่อ มิ.ย. 2562
สภาพัฒน์
ในกระบวนการพิจารณาอนุมัติกลั่นกรองโครงการเพื่อของบจาก พ.ร.ก. กู้เงินโควิด-19 ส่วนราชการต่าง ๆ ต้องยื่นแผนงานโครงการต่อคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ ซึ่งมีเลขาสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือสภาพัฒน์ เป็นประธาน หากได้รับความเห็นชอบก็จะเสนอเรื่องให้ ครม. พิจารณาอนุมัติ
วิวัฒน์ ซึ่งเป็นอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และมีความคุ้นเคยกับผู้บริหารสภาพัฒน์เล่าว่า คณะกรรมการกลั่นกรองได้มาปรึกษาเขาในการพิจารณาโครงการโคกหนองนาโมเดลที่ พช. เสนอ
“ผมก็เอาคลิปต่าง ๆ ที่พระเจ้าอยู่หัวทรงทำในราบ 11 (กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์) และที่เรือนจำ ไปให้เขาดู เขาก็บอกดี ก็เป็นการช่วยคนยากคนจน สร้างเศรษฐกิจฐานรากได้จริง” วิวัฒน์บอกกับบีบีซีไทย และให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าเหตุที่เขามีความคุ้นเคยกับผู้บริหารสภาพัฒน์นั้นเพราะเขาเคยรับราชการที่หน่วยงานแห่งนี้ ก่อนจะได้รับการสนับสนุนจาก ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ซึ่งเป็นเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ในขณะนั้น ให้เข้ามาทำงานที่ กปร. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่ดำเนินงานสนองพระราชดำริเมื่อปี 2524
เครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ-ภาควิชาการ-จิตอาสาพระราชทาน
นอกจากหน่วยงานราชการแล้ว โครงการโคกหนองนาโมเดลยังได้รับการสนับสนุนทางวิชาการจากสถาบันการศึกษาหลายแห่ง หลัก ๆ ได้แก่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และสมาคมศิษย์เก่าวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่มาช่วยด้านการปรับและรับรองแบบขุดแปลงโคกหนองนาในพื้นที่จังหวดภาคอีสาน และคอยให้คำปรึกษาประชาชนที่เข้าร่วมทำโคกหนองนา เช่น จะต้องปรับเปลี่ยนพื้นที่อย่างไรเพื่อให้เหมาะสมกับภูมิสังคม
นักวิชาการกลุ่มนี้ล้วนมีสายสัมพันธ์กับ “อาจารย์ยักษ์” ในฐานะศิษย์และครู
“ผมเกิดจากอาจารย์ยักษ์ ผมเป็นลูกศิษย์และช่วยอาจารย์ทำงานในภาคอีสาน” รักษ์เผ่า พลรัตน์ วิศวกรจิตอาสา จากสมาคมศิษย์เก่าวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวกับบีบีซีไทยถึงที่มาของการเข้ามาเป็นวิศวกรอาสาโครงการนี้
“พอโครงการนี้เกิดขึ้น อาจารย์ก็เล็งเห็นว่า เรามีความรู้ในเรื่องของงานวิศวกรรม ซึ่งน่าจะมาประยุกต์ใช้กับงานพวกนี้ได้ (เพราะ) ถ้าไม่มีข้อมูลวิชาการ ไม่มีงานวิจัยรองรับ นักวิชาการส่วนใหญ่ก็จะมองว่าโครงการนี้ไม่เกิดประโยชน์ เราก็มาเติมเต็มในส่วนนี้”
เครือข่ายเกษตรกรของมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ เป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญของโครงการโคกหนองนาโมเดล ซึ่งมีชื่อเรียกขานกันว่า “ครูพาทำโคกหนองนา”
บีบีซีไทยได้พบกับธนพล บุญนาค ครูพาทำโคกหนองนา ที่ศูนย์กสิกรรมฯ มาบเอื้อง จ.ชลบุรี เสื้อม่อฮ่อมที่เขาสวมใส่มีเข็มกลัดจิตอาสาพระราชทานและเข็มกลัดพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวง ร.9 ติดไว้ที่อกด้านขวา ด้านซ้ายของเสื้อติดปีกจิตอาสา 904 มีพระปรมาภิไธย ย่อ ว.ป.ร. ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ์
ที่มาของภาพ, Thanyaporn Buathong/BBC thai
ธนพลเล่าว่า ก่อนหน้านี้เขามีอาชีพขายรถมือสอง แต่สนใจการทำเกษตรจึงสมัครมาเข้ารับการอบรมที่ศูนย์กสิกรรมฯ มาบเอื้อง เขาเกิดความชอบจึงได้ช่วยเหลืองานและเรียนรู้ฝึกฝนจนก้าวขึ้นมาเป็นครูพี่เลี้ยง ควบคู่ไปกับการขายรถ
“เรารักในหลวง มาทำสิ่งพวกนี้ พ่อก็บอกอยู่แล้วว่างานยังไม่เสร็จ… ผมปฏิญาณแล้วว่า ถ้าผมยังมีลมหายใจ จะช่วยพ่อไปจนหมดลมหายใจ” ธนพลกล่าว และให้ความเห็นว่าจุดเริ่มต้นของคนส่วนใหญ่ที่หันมาทำเกษตรพึ่งตนเองคือความศรัทธาที่มีต่อในหลวงรัชกาลที่ 9
“แล้วบางคนต้องเข้าใจว่าคุณรักพ่อ ต้องรักลูกท่านด้วย คือ รัชกาลที่ 10…” ธนพลกล่าว พร้อมบอกว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กำลังทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานและพระราชกรณียกิจของในหลวง รัชกาลที่ 9
ไทมไลน์ “โคกหนองนา” ในรัชกาลที่ 10 และโครงการรัฐบาล
พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับ “โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง” ที่ถูกเผยแพร่ตามช่องทางต่าง ๆ ในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 และ ครึ่งปีแรกของปี 2564 การดำเนินโครงการโคกหนองนาโมเดลของหน่วยราชการ อันได้แก่ กรมราชทัณฑ์ และกรมการพัฒนาชุมชน ก็มีการขับเคลื่อนเดินหน้าเช่นกัน
- 8 ก.ค. 2563 ครม. อนุมัติงบประมาณเงินกู้โควิด-19 โครงการโคกหนองนาของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย 4,787.916 ล้านบาท
- 21 ส.ค. 2563 เพจเฟซบุ๊ก กรมการพัฒนาชุมชน เผยแพร่ภาพวาดฝีพระหัตถ์โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง ของ รัชกาลที่ 10 ในภาพวาดฝีพระหัตถ์ ลงวันที่ 17 และ 19 ส.ค. 2563
- 1 ก.ย. 2563 กรมราชทัณฑ์ เริ่มดำเนินโครงการพระราชทาน “โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง กรมราชทัณฑ์”
- 11 ก.ย. 2563 กรมการพัฒนาชุมชน และ พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ลงนามเอ็มโอยู สืบสานพระราชปณิธาน ร.10 โครงการ โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง โดยมี พล.อ.ต.สุพิชัย สุนทรบุระ รองเลขาธิการพระราชวัง เป็นประธานในพิธีลงนาม
- ต.ค. 2563 ข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชนหลายจังหวัด เริ่มเข้ารับการฝึกอบรมระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง รูปแบบโคก หนอง นา โมเดล โดยมีการเผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ผ่านเว็บไซต์พัฒนาชุมชนอำเภอ มาจนถึงเดือน ม.ค. 2564
- ธ.ค. 2563- มี.ค. 2564 มีการฝึกอบรมชาวบ้านที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการโคกหนองนาในหลายจังหวัด ขณะที่เรือนจำหลายแห่งดำเนินการฝึกอบรมให้กับผู้ต้องขังที่กำลังจะพ้นโทษ
- 9 ม.ค. 2564 เฟซบุ๊กกลุ่มรัก “พลตรีหญิง เจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี” โพสต์ข้อความและพระบรมฉายาลักษณ์ขณะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยเจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี ไปทรงตรวจเยี่ยมโครงการพระราชทาน โคก หนอง นาแห่งน้ำใจและความหวัง ณ ทัณฑสถานหญิงกลาง เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2563
หลักสูตรอบรมโคกหนองนาที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง จ.ชลบุรี
ในการอบรมหลักสูตรโคกหนองนาที่ศูนย์กสิกรรมฯ มาบเอื้อง บีบีซีไทยได้พบกับบุคคลจากหลายอาชีพและหลายจังหวัด เช่น เจ้าของกิจการทำเฟอร์นิเจอร์จากภาคใต้ หญิงวัยใกล้เกษียณอายุเจ้าของที่ดินในภาคเหนือ หญิงสาวจากโคราชที่ครอบครัวทำนาหลายสิบไร่ พนักงานบริษัทที่นายจ้างส่งมาเรียนเพื่อกลับไปทำโคกหนองนาที่สถานประกอบการ นอกจากนี้ยังมี แพทย์และพนักงานบริษัทอีกหลายคน
ที่มาของภาพ, Thanyaporn buathong/bbc thai
พวกเขาบอกกับบีบีซีไทยว่ามาอบรมที่นี่เพื่อนำความรู้ไปทำการเกษตรในที่ดินของตัวเองที่เตรียมไว้ยามเกษียณ บางคนที่ทำเกษตรอยู่แล้วอยากลองปรับเปลี่ยนที่ดินบางส่วนมาทำโคกหนองนา
“(อาชีพ) ขายของ เป็นแม่ค้าธรรมดา…พอดีได้ที่ดินที่ จ.ตาก ก็เลยคิดสนใจจะทำ” หญิงวัย 59 ปี ชาว จ.สมุทรปราการ บอกกับบีบีซีไทย ถึงแผนการที่จะทำโคกหนองนาในที่ดินที่เธอและสามีซื้อไว้ 12 ไร่
“ครอบครัวทำนา…มันแล้งมันขาดทุน แล้วลงทุนเยอะมากเลย ไหนจะค่าเกี่ยวข้าว…เรามีที่ดินอยู่ 60 ไร่ อาจจะลองทำ (โคกหนองนา) สัก 2 ไร่ก่อน ผสม ๆ กันแบบนี้ แล้ววน ๆ เอามากินเองก่อน พอเราทำเป็นแล้ว เราคุมน้ำได้ แล้วค่อยขยาย” วา หญิงวัย 25 ปี จาก อ.สีดา จ.นครราชสีมา เล่าแผนการให้บีบีซีไทยฟัง
ที่มาของภาพ, Thanyaporn buathong/bbc thai
ในการอบรมโคกหนองนาผู้อบรมต้องตื่นก่อนตีห้าและร่วมกิจกรรมจนถึงดึก
วันแรก ๆ จะเป็นกิจกรรมที่เน้นการทำความรู้จักกัน หลังจากนั้นก็เข้าสู่เนื้อหาการอบรม เริ่มตั้งแต่เรียนรู้หลักกสิกรรมธรรมชาติ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติละสิ่งแวดล้อมตามแนวพระราชดำริ ร.9 เรียนรู้การจัดการน้ำ ดิน ป่า ดูงานชุมชนต้นแบบ เรียนรู้เรื่องป่าพื้นบ้านอาหารชุมชน การผลิตเกษตรอินทรีย์ และลงแปลงฝึกปฏิบัติจริง ขุดลอกคลองไส้ไก่ สร้างโคกหนองนา ระบบน้ำในแปลงเกษตร
หมายเหตุ: รายงานนี้เป็นตอนที่ 2 ของรายงานพิเศษชุด “โคกหนองนา สู่ยุคใหม่ของโครงการพระราชดำริสถาบันกษัตริย์” ซึ่งมีทั้งหมด 3 ตอน