เมื่อวันที่ 29 เม.ย. ศบค.รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในไทยว่าพบผู้ติดเชื้อใหม่ 14,053 ราย ผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่ม 129 ราย เป็นชาย 73 ราย หญิง 56 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 95 ราย มีโรคเรื้อรัง 25 ราย ยอดผู้ติดเชื้อสะสม รวม 4,238,061 ราย ยอดหายป่วยสะสมรวม 4,053,751 ราย เสียชีวิตสะสม รวม 28,420 ราย สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ กทม. 3,225 ราย ขอนแก่น 480 ราย ศรีสะเกษ 475 ราย ชลบุรี 467 ราย บุรีรัมย์ 462 ราย สมุทรปราการ 407 ราย อุบลราชธานี 356 ราย นครราชสีมา 343 ราย นครปฐม 327 ราย ฉะเชิงเทรา 325 ราย

วันเดียวกัน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ไทยกำลังเตรียมตัวเข้าสู่ระยะการเป็นโรคประจำถิ่นของโรคโควิด-19 อาจพบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากช่วงนี้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงร้อนสลับฝนตกและจะเข้าสู่ช่วงฤดูฝนที่เป็นฤดูกาลระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ โรคนี้เป็นโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจเช่นเดียวกับโควิด- 19 มีวัคซีนฉีดป้องกันปีละ 1 ครั้ง การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ช่วงการระบาดของโควิด-19 จะช่วยลดความรุนแรงของการป่วย การเสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อนของโรคไข้หวัดใหญ่ ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นจากการติดเชื้อของทั้ง 2 โรค ลดอัตราการนอนโรงพยาบาลของผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่
อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวด้วยว่า กรมร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เริ่มฉีดวัคซีนวันที่ 1 พ.ค. ถึง 31 ส.ค. ในประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ 1.หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป จะให้บริการตลอดทั้งปี 2.เด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ขวบ 3.ผู้มีโรคเรื้อรัง ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็ง ที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด เบาหวาน 4.ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป 5.ผู้ที่เป็นโรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ 6.โรคอ้วน 7.ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้
นพ.โอภาสกล่าวต่อไปว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ยังคงมีความจำเป็นแม้ว่าจะฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้ว เนื่องจากเป็นเชื้อไวรัสคนละชนิดกัน ประชาชนควรได้รับวัคซีนทั้ง 2 ตัว โดยฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่พร้อมกับวัคซีนโควิด-19 ได้ แนะนำให้ฉีดแขนคนละข้าง โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยง เข้ารับวัคซีนไข้หวัดใหญ่โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐใกล้บ้านและสถานพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ด้าน นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวง นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเวชกรรมป้องกัน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 อยู่ในระดับสูงกว่าวันละ 120 คนต่อเนื่องมาเป็นเวลา 20 วันแล้ว ว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตเป็นผลสืบเนื่องจากผู้ป่วยอาการหนักที่สะสมต่อเนื่อง เป็นภาพสะท้อนของการติดเชื้อระดับสูงในระยะเวลา 1-2 เดือนที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าเรามียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่สูงเกินวันละ 2 หมื่นคนตั้งแต่เดือน ก.พ. ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่าการเจ็บป่วยในโรงพยาบาล มีโรคต่างๆมากมาย แต่ละวันมีผู้ป่วยที่มีอาการหนักจากโรคอื่นๆ เช่น มะเร็ง ไต เบาหวาน และเสียชีวิตอยู่แล้วทุกวัน ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตทั้งจากโควิด-19 โดยตรงกับเสียชีวิตจากโรคอื่นและเป็นโควิดด้วย จึงเป็นตัวเลขที่สูง กระทรวงสาธารณสุขต้องแยกการเสียชีวิตทั้ง 2 กลุ่มนี้ออกมาให้ชัดเจน ส่วนอุปกรณ์ เตียง ยา เรามีเพียงพอแน่นอน
“ส่วนตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ ขณะนี้มียอดลดลงเรื่อยๆ จากการติดตามสถานการณ์ขอยืนยันว่า สถานการณ์โควิดบ้านเราดีขึ้นเรื่อยๆ จริงๆอยากขอให้ติดตามดูอีก 15-30 วัน จะเห็นภาพตัวเลขผู้เสียชีวิตจะค่อยๆ ลดลงตามยอดผู้ติดเชื้อที่ลดลงในวันนี้ ยืนยันด้วยว่ากระทรวงสาธารณสุข ไม่มีนโยบายปกปิดข้อมูล ประชาชนอย่าตระหนกแต่ขอให้ตระหนักในมาตรการป้องกันตนเองขั้นสูงสุดต่อไป สิ่งสำคัญคือขอให้กลุ่ม 608 ออกมารับวัคซีนเพื่อป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิต” นพ.รุ่งเรืองกล่าว

ขณะที่นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ติดตามสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศอย่างใกล้ชิด มั่นใจสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ จากการประเมินสถานการณ์ช่วงเฝ้าระวังหลังเทศกาลสงกรานต์แล้วประมาณสองสัปดาห์ เริ่มเห็นสัญญาณจากสถิติต่างๆ ที่ชี้ว่าโควิด-19 ของไทยหลายพื้นที่จะเข้าสู่ช่วงขาลง ยอดผู้ติดเชื้อลดลง ยอดผู้เสียชีวิตค่อนข้างคงที่เป็นสัญญาณที่ดี นายกรัฐมนตรีมอบหมายหน่วยงานต่างๆเตรียมความพร้อมประเมินและรับมือสถานการณ์ทุกด้าน ทั้งยา เวชภัณฑ์ บุคลากร สถานพยาบาล ในการดูแลทั้งผู้ป่วยในประเทศและเดินทางมาจากต่างประเทศ ประชาชนยังต้องปฏิบัติตนตามมาตรการควบคุมโรคที่ดี ยึดหลัก Universal Prevention และ Universal Vaccination รวมทั้งมาตรการป้องกันควบคุมโรคตามราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เปิดประเทศขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอยู่ร่วมกับโควิดได้อย่างปลอดภัย
อีกด้าน น.ส.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการยกเลิกมาตรการเข้าประเทศแบบ Test&Go ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.ว่า รายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมดกว่าร้อยละ 75 มาจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ดังนั้นการยกเลิกมาตรการ Test&Go เป็นสัญญาณที่ดีต่อการท่องเที่ยวไทยแน่ แต่ไม่ได้ทำให้ดีขึ้นได้ทั้งหมด หรือเท่ากับสถานการณ์ปกติ เพราะมายกเลิกมาตรการตอนสิ้นสุดฤดูกาลท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติพอดี ต้องรอ 6 เดือน คือช่วงเดือนพฤศจิกายน นักท่องเที่ยวต่างชาติถึงจะกลับมามากขึ้น ดังนั้นช่วงเวลานี้ต้องไม่มองภาพดีเกินไปจนกลายเป็นการสร้างภาพลวงตา ต้องไม่ลืมว่าสถานการณ์ท่องเที่ยวของไทยย่ำแย่ต่อเนื่องมากว่าสองปีแล้ว สถานประกอบการในธุรกิจนี้ล้มหายตายจากไปมากกว่าครึ่ง โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรม เพราะการช่วยเหลือของภาครัฐไม่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนเกิดเรื่องเศร้าโรงแรมหลายแห่งต้องขายให้ต่างชาติ ดังนั้นนอกจากรัฐบาลจะกระตุ้นให้คนต่างชาติเข้ามาเที่ยวมากขึ้นจากการผ่อนคลายมาตรการต่างๆแล้ว ยังต้องช่วยประคองธุรกิจด้านการท่องเที่ยวให้เขาเข้าถึงแหล่งเงิน เพื่อต่อลมหายใจตัวเองด้วย เพราะการจะเปิดให้บริการใหม่ แม้แต่คนที่ไม่มีต้นทุนเรื่องค่าเช่า ต้องลงทุนปรับปรุงสถานที่ใหม่ เพราะปิดไปเป็นเวลานาน สิ่งเหล่านี้รัฐต้องทำควบคู่ไป
น.ส.พิมพ์รพีกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องทำคือ การวางยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวและการจัดการด้านสาธารณสุขอย่างจริงจัง แต่เท่าที่ผ่านมายังไม่เห็นอะไรเป็นรูปธรรมอย่างที่ควรจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงสาธารณสุข อยากให้ทั้ง 2 กระทรวงประสานกันให้มากกว่านี้ เพราะเป็นเรื่องสำคัญต่อการจัดการการท่องเที่ยว โดยเอาการยกเลิก Test&Go เป็นจุดเริ่มนับหนึ่งการวางยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวอย่างเป็นจริงเป็นจังได้ กระบี่ เกาะพีพี ภูเก็ต ช่วงนี้สวยที่สุดเท่าที่ เคยเห็นมา สะอาด สงบ สวยงาม เป็นโอกาสที่จะพัฒนาต่อยอดการท่องเที่ยวได้ แต่ยังไม่เห็นการวางแผนที่จริงจัง จึงอยากให้ดูแลอย่างใกล้ชิด พัฒนาการท่องเที่ยวให้รายได้ถึงคนทุกกลุ่ม ผลักดันการท่องเที่ยวแบบใหม่ เช่น การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยวแนวนวัตวิถี กระจายรายได้ให้ชุมชน การศึกษาเรียนรู้วัฒนธรรมพร้อมการท่องเที่ยว เรื่องต่างๆ เหล่านี้อยากให้มีการผลักดันวาระแห่งชาติ เพราะการท่องเที่ยวคือรายได้หลักของประเทศไทย
ที่ จ.นครราชสีมา พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 อีก 2,145 ราย ผู้ป่วยเสียชีวิต 5 ศพ อำเภอที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด คือ อ.เมืองนครราชสีมา 296 ราย อำเภอที่ไม่พบผู้ติดเชื้อมี อ.โนนแดงและ อ.เมืองยาง ผู้เสียชีวิตมี 1.ชายอายุ 80 ปี ชาว อ.เมืองนครราชสีมา มีโรคประจำตัว ฉีดวัคซีน 2 เข็ม 2.ชายอายุ 72 ปี ชาว อ.ปักธงชัย มีโรคประจำตัว ไม่มีประวัติรับวัคซีน 3.ชายอายุ 44 ปี ชาว อ.หนองบุญมาก มีโรคประจำตัว มีประวัติฉีดวัคซีน 2 เข็ม 4.หญิงอายุ 93 ปี ชาว อ.โนน ไทย ไม่มีโรคประจำตัว ฉีดวัคซีน 2 เข็ม และ 5.หญิงอายุ 51 ปี ชาว อ.แก้งสนามนาง มีโรคประจำตัว ฉีดวัคซีน 1 เข็ม
ที่ จ.แม่ฮ่องสอน นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รอง ผวจ. นำทีมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ รพ.สต.ปางหมู ต.ปางหมู อ.เมืองแม่ฮ่องสอน รณรงค์การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพื่อให้การฉีดวัคซีนดังกล่าวครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายอย่างน้อยร้อยละ 60 โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ควรได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม สำหรับ จ.แม่ฮ่องสอน มีผู้ติดเชื้อเฉลี่ยรายวันลดลงตามลำดับ มีผู้ป่วยเสียชีวิตในอัตราต่ำกว่าร้อยละ 0.10 แต่ความครอบคลุมในการฉีดวัคซีนกลุ่มเป้าหมายยังต่ำกว่าเป้าที่กำหนด จังหวัดแม่ฮ่องสอนจึงมีนโยบายให้กระจายวัคซีนไฟเซอร์ไปยัง รพ.สต.ทุกพื้นที่

ส่วนที่ต่างประเทศ รัฐบาลเกาหลีใต้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมไวรัสโควิด-19 เพิ่มเติม ประกาศยกเลิกการบังคับสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ แต่ยังให้สวมหน้ากากในสถานที่ที่มีคนมากกว่า 50 คน โดยก่อนหน้านี้ได้ยกเลิกมาตรการเคอร์ฟิวหลังเที่ยงคืนและการจำกัดจำนวนผู้เข้าใช้บริการร้านอาหาร สถานบริการอื่นๆไปแล้ว ท่ามกลางเสียงวิจารณ์จากคณะรัฐบาลชุดใหม่ ของประธานาธิบดียูน ซุก-โยล ที่จะเข้ามาบริหารประเทศในวันที่ 10 พ.ค. ว่า คำสั่งถอดหน้ากากมาเร็วเกินไป ยอดติดเชื้อยังอยู่ที่ระดับ 50,500 คนต่อวัน เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 120 คน

นอกจากนี้ ที่กรุงปักกิ่งของจีน ทางการเริ่มสั่งปิดห้างสรรพสินค้า โรงยิม โรงภาพยนตร์ รวมถึงส่งข้อความให้คนกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อกักตัวอยู่แต่ในที่พัก จนกว่ากระบวนการตรวจเชื้อประชากรทั้งหมดในเมืองหลวงจะเสร็จสิ้น ผู้ให้บริการส่งของเจดีดอทคอม เผยว่า นับตั้งแต่การตรวจพบเชื้อโควิด-19 กลุ่มแรกในกรุงปักกิ่ง เมื่อ 22 เม.ย. ยอดสั่งของออนไลน์เพิ่มกว่า 65% และสินค้ากว่า 80% คืออาหารหรือสินค้าที่เกี่ยวกับอาหาร