Chonburi Sponsored

กองทัพเรือพร้อมเปิดใช้โรงพยาบาลสนาม รับมือระบาดโอมิครอน

Chonburi Sponsored
Chonburi Sponsored

เผยแพร่:   ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ศูนย์ข่าว​ศรี​ราชา ​- กองทัพเรือพร้อมเปิดใช้โรงพยาบาลสนาม 3 แห่งใน จ.ชลบุรี และจันทบุรี รับมือสายพันธุ์โอมิครอน พร้อมให้โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า และโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ เป็นโรงพยาบาลหลักจากความพร้อมห้องปฏิบัติการ

วันนี้ (10 ม.ค.)​ พล.ร.ท.ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ เผยว่า ขณะนี้ พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้สั่งการให้หน่วยต่างๆ ของกองทัพเรือเตรียมความพร้อมของโรงพยาบาล สถานพยาบาลและโรงพยาบาลสนาม เพื่อรองรับผู้ป่วยจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน 

โดยให้โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า และ โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ เป็นโรงพยาบาลหลักเนื่องจากสามารถให้บริการตรวจทางห้องปฏิบัติการ มีหอผู้ป่วยวิกฤต ห้องแรงดันลบ หอผู้ป่วยรวม และห้องแยก มีขีดความสามารถในการตรวจวินิจฉัย และให้การรักษา ตั้งแต่อาการเล็กน้อย จนถึงขั้นวิกฤต

และให้จัดตั้งโรงพยาบาลสนามของกองทัพเรือ 3 แห่ง เพื่อให้สามารถรองรับผู้ป่วยได้รวม 1,109 เตียง ประกอบด้วย โรงพยาบาลสนามศูนย์การฝึกหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (เกล็ดแก้ว) อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี จำนวน 544 เตียง


โรงพยาบาลสนาม ค่ายพระมหาเจษฎาราชเจ้า หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน อ.สัตหีบ จำนวน 180 เตียง และโรงพยาบาลสนาม สนามฝึกกองทัพเรือ หมายเลข 16 บ้านจันทเขลม จ.จันทบุรี จำนวน 385 เตียง

ทั้งนี้ โรงพยาบาลสนามของกองทัพเรือทั้ง 3 พื้นที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการและกำกับดูแลของหน่วยงานสาธารณสุขจังหวัดในแต่ละพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมาได้ปิดการใช้งานชั่วคราว เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ลดลงในช่วงปลายปี 2564

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบโรงพยาบาลสนามทั้ง 3 แห่งทราบว่า พร้อมให้การสนับสนุนสาธารณสุขจังหวัด ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 10 ม.ค.2565 เวลา 08.00 น.เป็นต้นไป


นอกจากนั้น ในส่วนของศูนย์พักคอย (Community Isolation : CI) ทางศูนย์ตอบโต้ภาวะฉุกเฉินโควิด-19 กองทัพเรือ ได้สั่งการให้หน่วยต่างๆ จัดตั้งศูนย์ CI ประจำหน่วย เพื่อรองรับกำลังพลในสังกัดที่ติดเชื้อกลุ่มสีเขียว (อาการไม่รุนแรง) โดยมีหน่วยขึ้นตรงกองทัพเรือ และหน่วยเฉพาะกิจกองทัพเรือ ที่สามารถจัดตั้งศูนย์ CI ประจำหน่วยได้จำนวน 15 หน่วย 

และหากตรวจพบกำลังพลติดเชื้อที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการไม่รุนแรง กรมแพทย์ทหารเรือ จะพิจารณาให้ผู้ป่วยดูแลรักษาตัวที่บ้าน หรือศูนย์พักคอย (CI) เป็นหลัก โดยปัจจุบัน หน่วยขึ้นตรงกองทัพเรือ และหน่วยเฉพาะกิจกองทัพเรือ มีการจัดตั้งศูนย์พักคอย (CI) พร้อมใช้งาน 32 แห่ง อยู่ระหว่างปรับปรุง 2 แห่ง มีจำนวนเตียงรวม 2,335 เตียง

ขณะเดียวกัน ผู้บัญชาการทหารเรือยังเน้นย้ำให้ข้าราชการกองทัพเรือ เพิ่มความระมัดระวังทั้งแก่ตนเอง และสมาชิกในครอบครัวช่วงสถานการณ์โควิด-19 โดยการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคระบาดตามที่รัฐบาลกำหนด และมาตรการตามที่กองทัพเรือได้สั่งการเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่

Chonburi Sponsored
อำเภอ สัตหีบ

ช่วงประมาณรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 สัตหีบเป็นเพียงหมู่บ้านชายทะเล ชาวบ้านประกอบอาชีพทำไร่ ทำนา หาของป่า และประมง การคมนาคมจะใช้ทางน้ำโดยเรือเมล์หรือเรือใบ ส่วนทางบกมีแต่ทางเกวียน ถนนไปชลบุรียังไม่มี ภูมิประเทศส่วนใหญ่ยังเป็นป่ารกทึบ การเดินทางระหว่างเมืองจึงใช้เรือเป็นหลัก ในหมู่บ้านสัตหีบ มีผู้ที่ชาวบ้านนับหน้าถือตามากอยู่คนหนึ่ง ชาวบ้านเรียกว่า "ยายแจง" แกมีฐานะดีมี ที่ดิน เรือ สวน ไร่นามากมาย ตลาดสัตหีบ หนองตะเคียนและโรงเรียนสิงห์สมุทรรวมถึงบริเวณเขาแหลมเทียนอันเป็นที่ตั้งของฐานทัพเรือสัตหีบในปัจจุบันก็เคยเป็นของแก ต่อมา เมื่อกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ทรงฝึกภาคทะเลกับกองเรือและทรงพักที่อ่าวสัตหีบ ทรงเห็นว่าอ่าวสัตหีบเหมาะเป็นที่ตั้งหน่วยเรือ เพราะมีเกาะใหญ่น้อยช่วยกำบังคลื่นลม พระองค์จึงได้บอกถึงพระประสงค์ที่จะใช้บริเวณเขาแหลมเทียนเป็นที่ตั้งหน่วยทหารเรือ ยายแจงก็ยินดีที่จะถวายให้