ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า บรรยากาศการท่องเที่ยวในประเทศช่วงสงกรานต์ปี 2565 นี้ น่าจะดีขึ้น เนื่องจากคนในประเทศส่วนใหญ่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็ม 1 เข็ม 2 และเข็มกระตุ้น ทำให้คนส่วนหนึ่งมีความเชื่อมั่นที่จะเดินทางท่องเที่ยว อีกทั้งปีนี้ ศบค. ได้ผ่อนคลายให้สามารถจัดกิจกรรมสงกรานต์ ขบวนแห่ สาดน้ำ และจัดกิจกรรมสันทนาการได้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด รวมถึงผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวกลับมาทำโปรโมชั่นกระตุ้นการท่องเที่ยว และยังมีปัจจัยหนุนจากโครงการเราเที่ยวด้วยกัน
อย่างไรก็ดี จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใหม่รายวันที่ยังอยู่ในระดับสูง และภาวะค่าครองชีพที่สูงจากราคาสินค้าและพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น คงจะสร้างความกังวลต่อการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวของประชาชนบางกลุ่ม โดยจากสถานการณ์ข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยในช่วงสัปดาห์เทศกาลสงกรานต์ 9 วัน (9-17 เม.ย. 65) น่าจะมีจำนวน 4.6 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้น 2.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการฟื้นตัวยังไม่ทั่วถึง แหล่งท่องเที่ยวระยะใกล้และเมืองท่องเที่ยวหลักทางทะเลได้รับการตอบรับที่ดี
ยอดใช้เงินเที่ยวสงกรานต์สะพัด 22,300 ล้านบาท
สำหรับภาพรวมการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวช่วงสงกรานต์ปี 2565 ลดลงเล็กน้อยจาก 4,900 บาท/คน/ทริปในปี 2564 เป็น 4,850 บาท/คน/ทริป ซึ่งเป็นผลหลักจากการทำตลาดของผู้ประกอบการและการปรับพฤติกรรมของผู้บริโภค ทำให้ค่าใช้จ่ายที่พักและอาหาร ไม่เร่งตัวขึ้นมากนักแม้ราคาอาหารจะแพงขึ้น ขณะที่ค่าใช้จ่ายการเดินทางก็ไม่เพิ่มขึ้นมากแม้ราคาน้ำมันจะสูงขึ้น
เนื่องจากนักท่องเที่ยวเน้นแหล่งท่องเที่ยวระยะใกล้ และใกล้ที่พัก สำหรับค่าใช้จ่ายซื้อสินค้า/ของฝาก/ของที่ระลึกและทำกิจกรรมก็ชะลอลง ตามการปรับลดกิจกรรมสันทนาการเพื่อหลีกเลี่ยงความแออัด โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาด การใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวช่วงสงกรานต์ปี 2565 จะมีมูลค่า 22,300 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเพียง 1.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
ขณะที่ตลาดท่องเที่ยวในช่วงที่เหลือปี 2565 นี้ แม้จะได้รับปัจจัยด้านบวกจากการที่ทางการผ่อนคลายกฎระเบียบการตรวจวัดเชื้อโควิด-19 ก่อนเดินทางเข้าประเทศของชาวต่างชาติ แต่สถานการณ์ในระยะข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอนสูง ดังนั้น ผู้ประกอบต้องติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง มีความยืดหยุ่นในการทำตลาดและปรับกลยุทธ์ตามความต้องการนักท่องเที่ยว
รัฐบาล ชี้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวส่งสัญญาณฟื้น
ขณะที่ฝั่งรัฐบาล โดยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายธนกร วังบุญคงชนะ ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม รับทราบการประเมินของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่คาดการณ์ว่าการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ระหว่างวันที่ 9-17 เม.ย.2565 จะมีมูลค่า 2.23 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทย จำนวน 4.6 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้น 2.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ภายหลังจากที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้ผ่อนคลายมาตรการให้จัดงานเทศกาลสงกรานต์ในปี 2565 ตามประเพณีไทย ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีต่อภาคการท่องเที่ยวที่พบว่ามียอดการจองใช้บริการเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ทั้งภาคธุรกิจโรงแรม ภาคบริการ สถานที่ท่องเที่ยว และร้านอาหารต่าง ๆ ส่งผลดีต่อชุมชนและเศรษฐกิจในพื้นที่
นอกจากนี้นายกรัฐมนตรี แสดงความยินดีกับผู้ประกอบการภาคธุรกิจโรงแรม-ภาคบริการ การท่องเที่ยว ที่ได้รับผลดีจากช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทยในช่วงเวลานี้ รวมถึงการขับเคลื่อนในโอกาสต่อไป
สำหรับนายกรัฐมนตรีย้ำให้ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมให้มากที่สุด ภายใต้สถานการณ์ของจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันที่ยังทรงตัวสูง ขณะที่รายจ่ายในชีวิตประจำวันของประชาชนยังปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อการตัดสินใจในการเดินทางท่องเที่ยว และทำให้การฟื้นตัวภาคการท่องเที่ยวเป็นไปอย่างจำกัด จึงขอให้ผู้ประกอบการปรับตัว และดำเนินการให้ทันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างสอดคล้องกับพฤติกรรมความต้องการของผู้บริโภค หรือนักท่องเที่ยว
คนไทยหันมาท่องเที่ยวธรรมชาติ
ปัจจุบัน คนไทยส่วนใหญ่หันมาให้ความสนใจต่อการเดินทางท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และสถานที่ท่องเที่ยวระยะใกล้ หรือเป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวหลักที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล อาทิ พัทยาและสัตหีบ จ.ชลบุรี เกาะกูดและเกาะช้าง จ.ตราด หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.ภูเก็ต เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี รวมถึงจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ภูเขา น้ำตก เช่น อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.กาญจนบุรี และจ.เชียงใหม่ เป็นต้น
โดยควรปรับหรือใช้กลยุทธ์ด้านราคาเพื่อกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวมาใช้บริการเพิ่มขึ้น ตลอดจนปรับให้สอดคล้องกับการเดินทางท่องเที่ยวที่มีวัตถุประสงค์หลากหลายขึ้น เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวแต่ละกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางท่องเที่ยวพักผ่อน (Leisure Travel) การเปลี่ยนบรรยากาศการทำงานในสถานที่ท่องเที่ยว (Workcations) เป็นต้น
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีพร้อมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของทุกฝ่าย ทั้งสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตลอดจนภาคส่วนอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดการลงทุนใหม่ขึ้นในปัจจุบัน รวมถึงการเปิดโรงงานใหม่ที่ส่งผลดีต่อการจ้างงานทั้งภาคการผลิต ภาคบริการ การท่องเที่ยว ฯลฯ ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพฝีมือแรงงานอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับแรงงานต่าง ๆ ด้วย