Chonburi Sponsored

ถอดใจ โรคระบาดและราคาวัตถุดิบอาหารแพง ทำเกษตรกรเลิกเลี้ยงหมู

Chonburi Sponsored
Chonburi Sponsored

เช้านี้ที่หมอชิต – ในช่วงที่ราคาเนื้อหมูแพง สาเหตุหนึ่งเกิดจากโรคระบาดที่ยังไม่มีวัคซีนหรือยาแก้ จนหมูตายยกเล้า ประกอบกับค่าวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่แพงขึ้น จนเกษตรกรหลายรายต้องหยุดเลี้ยง ปล่อยให้เล้าว่างเปล่าเพื่อรอดูสถานการณ์ 

นายผจญ แผ่คุณ เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร ในตำบลหนองอิรุณ อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี พาทีมข่าวเช้านี้ที่หมอชิตไปดูเล้าหมูของตนเองที่ถูกทิ้งร้าง เนื่องจากตนเองไม่สามารถแบกรับต้นทุนการเลี้ยงได้ พร้อมเล่าว่า ตนเองเลี้ยงหมูมานานหลายปี จนมาพบกับปัญหาการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู ทำให้หมูที่เลี้ยงตายภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว และยังไม่มีวัคซีนหรือยาป้องกันใด ๆ มารักษาให้หาย ประกอบกับตนเองเลี้ยงหมูแบบฟาร์มเปิด การควบคุมโรคจึงทำได้ยาก จึงตัดสินใจเลิกเลี้ยงหมูมานานเกือบ 2 ปีแล้ว

นอกจากนี้ ปัญหาที่เกษตรกรต้องพบเจอ คือ ค่าใช้จ่ายเรื่องของอาหารที่มีราคาสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรรายย่อยหลายรายต้องหยุดเลี้ยง เพื่อรอดูสถานการณ์ ทำให้หมูขาดแคลน อีกทั้งลูกหมูที่จะนำมาเลี้ยง ฟาร์มที่ผลิตลูกหมูไม่สามารถผลิตได้เพียงพอ จนทำให้ไม่มีหมูมาชำแหละส่งจำหน่ายตามเขียงต่าง ๆ

เช่นเดียวกับ นางสาวสุภาวดี จุมพลเดชาพันธ์ เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร ในอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ที่ประสบกับปัญหาเช่นเดียวกัน เธอจำใจต้องปล่อยให้เล้าหมูร้าง เนื่องจากหมูที่เลี้ยงอยู่ตายยกฟาร์ม เพราะโรคระบาด และไม่มียารักษา ทำให้ขาดทุนกว่าแสนบาท ครอบครัวของเธอมีอาชีพเลี้ยงหมูมานานกว่า 30 ปี เป็นฟาร์มหมูขนาดเล็กมีหมูประมาณ 100 ตัว แบ่งเป็นแม่พันธุ์ 15 ตัว ที่ผ่านมาสามารถสร้างรายได้หมุนเวียน สำหรับเลี้ยงดูครอบครัวเดือนละประมาณ 20,000-30,000 บาท กระทั่งแม่หมูในฟาร์มเริ่มมีอาการป่วย ซึม ไม่กินอาหาร ช่วงแรกคิดว่าเกิดจากสภาพอากาศ จึงซื้อยามาฉีดรักษาตามอาการ ต่อมาบริเวณผิวหนังมีจุดแดงทั่วทั้งตัว ก่อนที่แม่หมูจะแท้งลูก และตายในที่สุด ซึ่งอาการทั้งหมดใช้เวลาเพียง 2 วันเท่านั้น และหมูตัวอื่น ๆ ก็เริ่มมีอาการตามมา หมดค่ารักษาหลักหมื่นบาท

ทั้งนี้ นางสาวสุภาวดี คาดว่าหมูที่ฟาร์มน่าจะป่วยเป็นโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู ซึ่งอาจจะติดต่อมาจากคนงานจับหมู หรือนกที่บินไปกินอาหารในฟาร์มหมูข้างเคียงที่มีโรคระบาด แล้วนำมาแพร่เชื้อในฟาร์มของเธอ จนเป็นสาเหตุให้หมูตายยกฟาร์ม ขาดทุนกว่า 1 แสนบาท เธอต้องออกไปทำงานรับจ้างบรรจุขนม ได้ค่าจ้างเดือนละประมาณ 6,000 บาท ซึ่งก็ไม่เพียงพอที่จะเลี้ยงดูครอบครัว เธอต้องนำเงินเก็บส่วนที่เหลือมาลงทุนเลี้ยงไก่ไข่ เป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่งแทน ในส่วนของฟาร์มหมู คงต้องหยุดพักไปก่อน เนื่องจากไม่มีทุนเหลืออีกแล้ว

ส่วนที่จังหวัดบึงกาฬ บรรยากาศการค้าขายในตลาดสดเทศบาลเมืองบึงกาฬ หลังที่ราคาหมูพุ่งสูงขึ้นกิโลละ 200-220 บาท ส่งผลให้พ่อค้าแม่ค้าเนื้อหมูมียอดจำหน่ายลดลง บรรยากาศค่อนข้างเงียบเหงา ไม่มีลูกค้ามาซื้อเนื้อหมูเหมือนเช่นเคย อีกทั้งพ่อค้าแม่ค้าต้องปรับตัวนำเนื้อหมูมาแบ่งจำหน่ายจานละ 100 บาท เพื่อเชิญชวนลูกค้า ขณะที่บางร้านต้องลดยอดการชำแหละเนื้อหมูลง จากเดิมวันละ 2-3 ตัว เหลือเพียงวันละ 1-2 ตัว ให้พอกับลูกค้าขาประจำเท่านั้น

ด้าน ผู้ประกอบการร้านอาหาร ชื่อร้าน กะเพาซาว(20)บาท ที่อยู่ข้างตลาดสดบึงกาฬ โดยมีนางสมปอง บุญศรี เป็นเจ้าของร้าน บอกว่า ตอนนี้จะยังขายกะเพาในราคา 20 บาท เพื่อลดภาระให้กับลูกค้า แต่ก็ต้องปรับตัวให้กับข้าวน้อยลง และหากเนื้อหมูมีการปรับราคาสูงขึ้นมากกว่านี้ ก็คงต้องปรับราคาขึ้นตาม แต่ต้องรอดูสถานการณ์อีกครั้ง

Chonburi Sponsored
อำเภอ บ้านบึง

“บ้านบึง” มีการตั้งถิ่นฐาน ลักษณะพื้นที่อำเภอบ้านบึง โดยทั่วไปเป็นป่าทึบนานาพรรณ มีต้นไม้ต่างๆ และสัตว์ป่านานาชนิดได้อาศัย มีชุมชนที่เป็นหมู่บ้านตั้งเรียงรายกันเป็นระยะๆ ห่างไกลกันพอสมควร และมีอาชีพทางการเกษตรกรรม เช่น ปลูกพืชไร่ จับสัตว์ป่ายังชีพ พื้นที่ในเขตเทศบาลเมืองบ้านบึงในปัจจุบัน เป็นที่ลุ่มน้ำท่วมขัง โดยทั่วไปมีชาวบ้านเรียกกันว่า “มาบ” เป็นแหล่งน้ำตามธรรมชาติที่ชุมชนดังเดิมได้ใช้สอยมาตลอด และสายน้ำไหลมาจากภูเขานั้นก็ไหลไปยังอำเภอพานทองอีกสายหนึ่ง