เมื่อวันที่ 25 มีนาคม ที่ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. พร้อมด้วย พล.ต.ต.พุฒิเดช บุญกระพือ ผบก.ปอศ. พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผบก.ป., พล.ต.ต.ศารุติ แขวงโสภา ผบก.ปอท., นายวินิจ วิเศษสุวรรณภูมิรองอธิบดีกรมสรรพากร, น.ส.สลักจิต พงษ์ศิริจันทร์ รองอธิบดีกรมสรรพากร และ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมแถลงผลยุทธการ “สอบสวนกลาง ร่วมมือกรมสรรพากร ปราบแก๊งโกงภาษี” ทำการจับกุมผู้ต้องหา 6 ราย ประกอบด้วย น.ส.กัติกา หงส์ยนต์ อายุ 24 ปี, น.ส.รุ่งฤดี ประจิตร อายุ 25 ปี, น.ส.วรรณวิสา โสภาพ อายุ 24 ปี, น.ส.ลีลาวดี สมรัตน์ อายุ 21 ปี, นายอริน พิรักษา อายุ 21 ปี และ น.ส.อัมรินทร์ อินทร์สุข อายุ 25 ปี พร้อมของกลาง สมุดบัญชีธนาคาร, โทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์อีกหลายรายการ
พล.ต.ท.จิรภพ เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ได้รับการประสานจาก กรมสรรพากร ให้สืบสวนจับกุมกลุ่มคนร้ายที่ก่อเหตุยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตปีภาษี 2564 โดยใช้ระบบ Data Analytics ของกรมสรรรพากร โดยการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จแอบอ้างว่ามีรายได้จากการทำงานและได้มีการหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ ซึ่งการก่อเหตุลักษณะดังกล่าว มีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ จึงเร่งสั่งการให้เจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน เครือข่ายผู้ร่วมกระทำความผิดในคดีนี้ นำไปสู่การขออนุมัติออกหมายจับ จากนั้นได้นำกำลังกว่า 30 นายเข้าปิดล้อมตรวจค้นพื้นที่เป้าหมายใน กรุงเทพฯ, กำแพงเพชร, ตาก, ชลบุรี และปทุมธานี กระทั่งจับกุมผู้ต้องหาได้ดังกล่าว ส่วนมูลค่าความเสียหายอยู่ระหว่างการประเมินของกรมสรรรพากร
พล.ต.ท.จิรภพ เผยอีกว่า จากการสอบสวน ผู้ต้องหาทั้งหมดให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา เบื้องต้นแจ้งข้อหา “นำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์,ฉ้อโกง,ขอคืนภาษีอากรอันเป็นเท็จ” และนำตัวส่งพนักงานสอบสวน กก.2 บก.ปอศ. เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ส่วนผู้ต้องหาที่ยังหลบหนี เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเร่งดำเนินการสืบสวนติดตามตัวต่อไป
มีรายงานว่า พฤติกรรมในการกระทำความผิดนั้น ผู้ต้องหาจะทำหน้าที่เป็นแม่ข่าย หาลูกค้าผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยอ้างว่าสามารถทำเรื่องขอคืนภาษีบุคคลธรรมดาได้ แม้ว่าจะไม่มีสิทธินั้นก็ตาม เมื่อมีผู้สนใจติดต่อมา ก็จะชักชวนให้ร่วมกระทำความผิด ด้วยการกรอกข้อมูลส่วนบุคคล และข้อมูลที่จะขอคืนภาษีเท็จ เช่น ข้อมูลการผ่อนชำระบ้านพักอาศัย หรือประกันชีวิต โดยการยื่นผ่านระบบออนไลน์ พร้อมกับตกลงแบ่งผลประโยชน์กันตามสัดส่วนที่ได้รับเงินคืน อย่างไรก็ตาม เมื่อระบบคัดกรองของกรมสรรพากรตรวจสอบเบื้องต้นแล้ว ระบบจะโอนเงินคืนภาษีดังกล่าวผ่านทางบัญชีพร้อมเพย์ให้กับผู้ขอคืนภาษี ก่อนจะนำเงินมาแบ่งกับทางแม่ข่ายต่อไป
ทั้งนี้ กรมสรรพากรยังไม่สามารถตรวจสอบได้ว่ามีกลุ่มผู้ที่ยื่นขอคืนภาษีเป็นเท็จจริงรวมกี่คน และมูลค่าความเสียหายรวมเท่าไร ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบรายละเอียด เบื้องต้นพบเพียงว่าแต่ละรายที่ร่วมกันกระทำความผิดนั้นจะได้รับเงินภาษีคืนรายละประมาณ 4,000-5,000 บาท ส่วนผู้ที่เป็นลูกข่ายจะถือว่าเป็นผู้กระทำความผิดด้วยหรือไม่นั้น ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการสอบสวน หากพบว่ามีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ก็จะถูกเรียกตัวมาดำเนินคดีต่อไป
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก
Line @Matichon ได้ที่นี่