อาการของ “พลายโค้ก” พบว่าต้นขาหน้าขวาบวมลดลง เดินยกขาขวาได้ดีขึ้น ลงน้ำหนักได้ ฝ่าตีนขาหน้าซ้ายที่ร่อนหลุดบริเวณขอบมีเนื้อแข็งสร้างขึ้นมาแล้วแต่การลงน้ำหนักยังคงเจ็บอยู่ ตัวฝั่งซ้ายมีแผลกดทับ ต้นขาหน้าซ้ายบวมน้ำ กินอาหารและน้ำปกติ ขับถ่ายปกติ จึงทำการรักษาอาการบาดเจ็บ ด้วยการล้างแผลฝ่าตีนหน้าซ้าย ทาน้ำมัน pine tar ฉีดยาลดปวดลดอักเสบ และยาบำรุงร่างกาย และให้กินยารักษาการติดเชื้อ แบนเนอร์โปรตีนชนิดแคปซูล ยาบำรุงตับ วิตามินซี แคลเซียม โปรตีนอัลบูมิน
ทั้งนี้ทีมสัตวแพทย์และสัตวบาล ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์ป่าสีระมัน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เฝ้าระวังความปลอดภัยและสังเกตพฤติกรรมของพลายโค้กอย่างใกล้ชิดต่อไป
สำหรับ “พลายโค้ก” ช้างป่าเพศผู้เขาชะเมา จังหวัดระยอง ได้บาดเจ็บจากการต่อสู้กับช้างป่าด้วยกัน เมื่อต้นเดือนมกราคม 2565 ที่ผ่านมา ทีมสัตวแพทย์และสัตวบาล จากศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) ร่วมกับหัวหน้าและเจ้าหน้าที่ชุดเคลื่อนที่เร็วเฝ้าระวัง ผลักดันช้างป่าและแก้ไขปัญหาช้างป่า ออกนอกพื้นที่ชุดที่ 6 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน อาสาสมัครพิทักษ์ช้างป่า กลุ่มกรินคีรี กลุ่มอนุรักษ์ช่วยเหลือสัตว์ป่า ติดตามและรักษาอาการของช้างป่าตัวนี้นานกว่า 2 เดือน