วันศุกร์ ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2565, 06.00 น.
ดร.พัณณิดา ขุนนามวงษ์ อาจารย์ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมคณะวิจัย ค้นพบยีสต์สกุลใหม่ของโลก คือสกุล Savitreella และยีสต์ชนิดใหม่ของโลก 2 ชนิด ได้แก่ Savitreella phatthalungensis และ Goffeauzyma siamensis จากผิวใบสับปะรดซึ่งเก็บตัวอย่างที่ อ.ป่าบอน จ.พัทลุง และ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ภายใต้โครงการ “เหมืองข้อมูลและคลังทรัพยากรจุลินทรีย์เพื่อการใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร (FF(KU) 18.64)” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ให้มีความเชี่ยวชาญด้านความหลากหลายทางชีวภาพของจุลินทรีย์ จัดทำฐานข้อมูลจุลินทรีย์ที่มีศักยภาพด้านอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร
ดร.พัณณิดากล่าวว่า ทีมนักวิจัยศึกษาความหลากหลายของยีสต์บนผิวใบสับปะรดและนำยีสต์ที่แยกได้มาค้นหาสายพันธุ์ที่มีศักยภาพสำหรับใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร สาเหตุที่เลือกแยกยีสต์จากผิวใบสับปะรด เนื่องจากคาดว่าใบสับปะรดซึ่งมีความเป็นกรดเล็กน้อย เป็นแหล่งที่มีสารอาหารและมีสภาวะที่เหมาะสมต่อการเจริญของยีสต์ มีศักยภาพในการผลิตสารที่สำคัญนำไปประยุกต์ใช้ในการเกษตรและอาหาร โดยแยกได้ยีสต์จำนวนมาก มีการตั้งชื่อสกุลใหม่ว่า Savitreella เพื่อให้เกียรติแด่ ศาสตราจารย์ ดร.สาวิตรี ลิ่มทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านอนุกรมวิธานยีสต์ในระดับโลก และด้านความหลากหลายและเทคโนโลยีชีวภาพยีสต์ในประเทศไทย
นอกจากนี้ ได้ตั้งชื่อสปีชี่ส์ใหม่ว่า Savitreella phatthalungensis เนื่องจากยีสต์ชนิดใหม่นี้ค้นพบครั้งแรกที่ จ.พัทลุง ส่วนสายพันธุ์ DMKU-PAL18 และ DMKU-PAL39 เป็นยีสต์ชนิดเดียวกัน และเป็นยีสต์ชนิดใหม่ของโลก จึงตั้งชื่อสปีชี่ส์ใหม่นี้ว่า Goffeauzyma siamensis โดยคำว่า “Siam” เป็นชื่อเดิมของประเทศไทย เพื่อต้องการบ่งบอกว่าชนิดใหม่นี้ค้นพบครั้งแรกที่ประเทศไทย โดยการค้นพบยีสต์สกุลใหม่ 1 สกุลและชนิดใหม่ 2 ชนิดนี้ ได้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Journal of Fungi เมื่อเดือนมกราคม 2022
ดร.พัณณิดากล่าวอีกว่า โครงการนี้นอกจากจะศึกษาความหลากหลายของยีสต์แล้วยังมุ่งเน้นการค้นหายีสต์สายพันธุ์ที่มีศักยภาพในการผลิตแคโรทีนอยด์ เพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร และการผลิตสารอินทรีย์ระเหยง่ายที่มีฤทธิ์ยับยั้งราก่อโรค เพื่อใช้ควบคุมโรคพืชแทนการใช้สารเคมีทางการเกษตร จากการค้นพบยีสต์ชนิดใหม่นี้สนับสนุนว่าประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ยังเป็นทรัพยากรจุลินทรีย์ที่มีศักยภาพสำหรับการนำไปใช้ประโยชน์ทางด้านการเกษตรและอาหารด้วย ช่วยเพิ่มโอกาสให้นักวิจัยนำไปศึกษาศักยภาพในด้านต่างๆ เพื่อการใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ ต่อไป