วันอาทิตย์ ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2565, 06.00 น.
คณะแพทย์มหิดลกังวลหนัก
โอมิครอนกลายพันธ์
ยกเคสBA.2.2ฮ่องกงเตือนภัย
หวั่นทำสูงวัยไม่ฉีดวัคซีนดับพุ่ง
เร่งพัฒนาชุดตรวจพร้อมรับมือ
ป่วยใหม่รวมATK44,977ตาย68
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล เตือนจับตา “โอมิครอน” กลายพันธุ์ใหม่ “BA.2.2” ในฮ่องกง ทำยอดตายพุ่งขึ้นจนเป็นสถิติสูงที่สุดในโลก นายกฯ ให้คำมั่นผู้ป่วยโควิด เข้าถึงระบบ สธ. เริ่มใช้UCEP Plus 16 มีนาคมทุกสิทธิ์ทุกระดับอาการรักษาได้หมด ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อรายวันยังอยู่ในระดับสูง 24,592 ราย ยอด ATK อีก 20,385 ราย รวมเป็น 44,977 ราย เสียชีวิต 68 ศพ
เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2565 ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก“Center for Medical Genomics” เกี่ยวกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน “BA.2.2” (B.1.1.529.2.2) จาก ฮ่องกง ที่อาจเป็นภัยร้ายในอนาคต ว่า การระบาดใหญ่ระลอกล่าสุดของโอมิครอนบนเกาะฮ่องกง อาจเป็นสาเหตุให้เกิดสายพันธุ์ใหม่ “BA.2.2” หรือ B.1.1.529.2.2 ที่มีการกลายพันธุ์เด่นตรงหนามแหลมซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงกรดอะมิโนตำแหน่งที่ 1221 จาก I (Isoleucine) เป็น T (Threonine) หรือ “S:I1221T” และการกลายพันธุ์ตรงยีน “ORf1a: T4087I” โดยมีการซับมิทรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของ BA.2.2 ที่สุ่มตรวจได้ที่ฮ่องกงขึ้นบนฐานข้อมูลโควิดโลก “GISAID” ประมาณ 363 ตัวอย่าง และสุ่มพบการแพร่ระบาดในอังกฤษประมาณ 200 ตัวอย่างเช่นกัน
น่ากังวลยอดผู้ติดเชื้อพุ่งพรวด
การระบาดระลอกใหม่นี้ทำให้มีอัตราผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในฮ่องกงพุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดในโลก โดยมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยในรอบ 7 วันอยู่ที่ 30 คนต่อประชากร 1 ล้านคน ในขณะที่ประเทศไทยอยู่ที่ 0.85 คนต่อประชากร 1 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ดังนั้นท่านที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนควรรีบไปฉีด
ที่น่ากังวลคือจากการที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่จากโอมิครอนในฮ่องกงเพิ่มขึ้นอย่างมากเฉลี่ยในรอบ 7 วันอยู่ที่ 5,425 คนต่อประชากร 1 ล้านคน เมื่อเที่ยบกับอันดับสองประเทศลัตเวียจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ใกล้เคยงกันคือ 5,278 ต่อประชากร 1 ล้านคน ประเทศไทยอยู่ที่ 315 คนต่อประชากร 1 ล้านคน แต่ปรากฏว่าอัตราผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 บนเกาะฮ่องกงสูงมากคือโดยมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยในรอบ 7 วันอยู่ที่ 30 คนต่อประชากร 1 ล้านคน
ในขณะที่ทั้งลัตเวียและไทย อยู่ที่ 10.7 และ 0.7 ตามลำดับ กล่าวคือที่ฮ่องกงมีอัตราผู้เสียชีวิตสูงกว่าลัตเวียถึง 2 เท่า โดยทั้งลัตเวียและไทยมีการะบาดของสายพันธุ์ BA.1 และ BA.2 ไม่พบ BA.2.2 ทำให้มีแนวโนมว่าโควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์ย่อย BA.2.2 อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อัตราผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในฮ่องกงพุ่งขึ้นจนทำสถิติสูงที่สุดในโลก
ประมวลผลตอบปัญหาสำคัญ6ประการ
ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์ฮ่องกงและทั่วโลกกำลังประมวลผลรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของ BA.2.2 กับข้อมูลทางคลินิกเพื่อตอบปัญหาสำคัญ 6 ประการ คือ 1.BA.2.2 มีกลายพันธุ์ไปมากกว่า BA.2 หรือไม่ และตำแหน่งใดบ้างโดยเฉพาะในส่วนยีนที่ควบคุมโครงสร้างของหนาม (spike) ที่เปลือกของอนุภาคไวรัส
ในเบื้องต้นทราบแล้วว่า BA.2.2 มีการกลายพันธุ์ไป 2 ตำแหน่งที่ไม่พบในสายพันธุ์หลักและสายพันธุ์ย่อยอื่นๆ คือ “S:I1221T” และ “ORf1a: T4087I”
2.BA.2.2 แพร่ระบาด (transmissibility) รวดเร็วกว่า BA.2 หรือไม่
3.BA.2.2 ก่อให้เกิดอาการของโรคโควิดได้รุนแรง (severity) กว่า BA.2 หรือสายพันธุ์ที่น่ากังวลใจ (variants of concern) อื่นๆ เช่น อัลฟาเบตา แกมมา เดลตา หรือไม่
4.BA.2.2 สามารถด้อยประสิทธิภาพของวัคซีนลงมากกว่า BA.2 หรือไม่
5.ยารักษาโมโนโคลนอลแอนติบอดีตัวล่าสุด “โซโทรวิแมบ” (Sotrovimab) ที่ใช้ต่อต้านโอมิครอน ยังสามารถจับกับ BA.2.2 ได้อยู่หรือไม่ เพื่อป้องกันไม่ให้ไวรัสเข้าสู่เซลล์ของระบบทางเดินหายใจ
6.ใช่หรือไม่ ที่ BA.2.2 เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีอัตราผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในฮ่องกงสูงที่สุดในโลก
ไทยไม่ประมาท เริ่มพัฒนาชุดตรวจแล้ว
ผู้เชี่ยวชาญที่ติดตามผู้ป่วย BA 2.2 ในฮ่องกงพบว่าส่วนหนึ่งเป็นการติดเชื้อในกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างเหมาะสม เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ส่วนการเพิ่มจำนวนขึ้นของ BA 2.2 ในสหราชอาณาจักรอาจเป็นเพราะภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการติดเชื้อ BA.1 ตามธรรมชาติไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อ BA.2.2 ได้
ปัจจุบันยังไม่พบ BA.2.2 ในประเทศไทย แต่จากการสุ่มถอดรหัสพันธุกรรม ทั้งจีโนมในประเทศสิงคโปร์พบ 11 ราย แต่เพื่อไม่ประมาททางศูนย์จีโนมทางการแพทย์ฯได้เริ่มพัฒนาชุดตรวจ BA.2.2 แล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จนำออกใช้ตรวจกรอง BA.2.2 ได้ภายในอีก 2 สัปดาห์ด้วยเทคโนโลยี “MassArray Genotyping” ซึ่งใช้เวลาในการตรวจรู้ผลบรรดาสายพันธุ์ที่น่ากังวล (variants of concern: VOC) รวมทั้ง BA.2.2 ในการตรวจเพียงครั้งเดียว (single reaction) โดยใช้เวลาประมาณ 24-48 ชั่วโมงในการออกผล
นายกฯ ยืนยันผู้ป่วยต้องเข้าถึงการรักษา
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เน้นบริหารจัดการโควิด-19 โดยให้ผู้ติดเชื้อเข้าถึงการดูแลรักษา ในทุกระดับอาการ หลังครม.เห็นชอบหลักเกณฑ์เบิกจ่าย ผู้ป่วยสีเหลืองสีแดงตามเกณฑ์ที่ สพฉ.กำหนด สามารถเข้ารักษาได้ทุกที่โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ส่วนผู้ป่วยสีเขียวรักษาฟรีที่สถานพยาบาลในเครือข่ายสิทธิบัตรทองหรือประกันสังคม หรือสิทธิข้าราชการตามสิทธิของตนเอง และหากอาการเปลี่ยนเป็นระดับสีเหลืองหรือสีแดง ให้ส่งต่อไปยังโรงพยาบาลอื่นโดยใช้สิทธิ UCEP Plus กรณีผู้ป่วยโควิด 19 หรือ UCEP Plus ซึ่งจะเริ่มใช้ในวันที่ 16 มีนาคม นี้
ทั้งนี้ ผู้ประกันตนที่ติดเชื้อโควิดกลุ่มสีเขียว สามารถเข้าโรงพยาบาลคู่สัญญาของประกันสังคมได้ทุกแห่ง ไม่จำเป็นต้องเป็นโรงพยาบาลที่ลงทะเบียนไว้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจนสิ้นสุดการรักษา ส่วนกรณีกลุ่มสีเหลืองหรือสีแดง สามารถเข้าโรงพยาบาลได้ทั้งรัฐและเอกชน โดยประกันสังคมจะเข้าไปร่วมจ่ายทั้งหมด หากมีข้อสงสัยสามารถโทรสายด่วน 1506
ติดเชื้อในประเทศ24,592ราย
ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย ประจำวันที่ 12 มีนาคม 2565 มีรายละเอียดดังนี้ ติดเชื้อในประเทศ 24,592 ราย ติดเชื้อในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 151 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 52 ราย รักษาหายเพิ่มขึ้น 21,371 ราย หายป่วยสะสม 2,911,447 ราย (ตั้งแต่ปี 2563) อยู่ระหว่างรักษาตัว 226,151 ราย แบ่งเป็น ในโรงพยาบาล 66,089 ราย โรงพยาบาลสนามและอื่นๆ 160,062 ราย ในจำนวนนี้มีอาการหนัก 1,312 ราย ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 435 ราย
ยอดเสียชีวิตยังพุ่งสูง68ศพ
มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 68 ศพ ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 23,643 ศพ (ตั้งแต่ปี 2563) ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 3,161,241 ราย ประเทศไทยเป็นอันดับที่ 19 ของโลก สำหรับผู้ติดเชื้อ 24,592 รายใหม่ แบ่งเป็นดังนี้ ผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 23,712 ราย ค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 677 รายเรือนจำ/ที่ต้องขัง 151 ราย ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 52 ราย
ตรวจATKเข้าข่ายติดเชื้อ20,385ราย
ส่วนยอดการตรวจ ATK วันที่ 12 มีนาคม 2565 ตามการรายงานของกระทรวงสาธารณสุข มียอดผู้ติดเชื้อเข้าข่ายจำนวน 20,385 ราย โดยจำนวนนี้ไม่รวมในการรายงานยอดผู้ติดเชื้อใหม่ ซึ่งยืนยันผลด้วย RT-PCR เมื่อรวมกับยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่วันนี้ 24,592 ราย จะเท่ากับมีผู้ติดเชื้อ 44,977 ราย
‘กทม.-ชลบุรี-เมืองคอน’ยอดป่วยยังสูง
สำหรับ 10 อันดับจังหวัดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศรายใหม่สูงสุด ดังนี้ 1.กรุงเทพมหานคร 2,985 ราย ยอดสะสม 133,309 ราย 2.ชลบุรี 1,203 ราย ยอดสะสม 53,386 ราย 3.นครศรีธรรมราช 1,148 ราย ยอดสะสม 30,871 ราย 4.สมุทรปราการ 986 ราย ยอดสะสม 55,805 ราย 5.นนทบุรี 969 ราย ยอดสะสม 37,641 ราย 6.สมุทรสาคร 767 ราย ยอดสะสม 22,393 ราย 7.ปทุมธานี 707 ราย ยอดสะสม 21,334 ราย 8.พระนครศรีอยุธยา 675 ราย ยอดสะสม 15,784 ราย 9.สงขลา 619 ราย ยอดสะสม 10,632 ราย 10.นครปฐม 614 ราย ยอดสะสม 18,614 ราย
งดฉีดวัคซีน7-17เมษายน
วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ่อแม่ผู้ปกครองพาบุตรหลานมารับบริการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ (ฝาสีส้ม) สำหรับเด็กอายุ 5 – 11 ปี เพื่อป้องกันอาการรุนแรงจากการระบาดของไวรัสโควิด – 19 ณ ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ทั้งนี้ ทางศูนย์ฯ ได้เปิด Walk in ฉีดวัคซีนโควิด-19 ทุกเข็มก่อนเทศกาล “สงกรานต์ 2565” ให้ผู้สูงอายุ ลูกหลานพี่น้องประชาชนชาวไทย ต่างชาติและต่างด้าวทุกคน ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนหรือยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น สามารถมารับวัคซีนได้ทุกเข็มและเลือกชนิดวัคซีนได้โดยไม่ต้องจองคิวล่วงหน้า โดยจะเปิดบริการ ถึงวันที่ 6 เมษายน 2565 และปิดบริการช่วง “สงกรานต์ 2565” ระหว่างวันที่ 7 – 17 เมษายน และเปิดอีกครั้งวันที่ 18 เมษายน 2565 เป็นต้นไป