‘โฆษกรัฐบาล’ เผย ‘บิ๊กตู่’ เน้นทุกส่วนราชการพัฒนาปรับปรุงการประชาสัมพันธ์ให้รวดเร็ว-จัดทีมตรวจสอบข่าว ป้องกันการสร้างความสับสนแก่สาธารณชนด้วย
เมื่อวันที่ 13 มีนาคม นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) สรุปผลการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นจากประชาชน ปีงบประมาณ 2564 รวม 101,691 ได้ขอยุติ 95,024 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 93.44 และรอผลการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 6,667 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 6.56 ทั้งนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังกำชับให้ส่วนราชการ ประสานความร่วมมือเป็นเครือข่ายระหว่างส่วนราชการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชนและบริหารจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ ในระยะนี้รัฐบาลกำลังเร่งมาตรการอยู่ร่วมกับโควิด-19 เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาดำรงชีวิตได้แบบปกติใหม่ รวมทั้งขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้เดินหน้าต่อไป ภายใต้ปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกทั้งราคาน้ำมันแพงและสงครามรัสเซีย-ยูเครน
นายธนกรกล่าวว่า 5 หน่วยงานที่ได้รับการประสานงานเรื่องร้องทุกข์ได้รับข้อคิดเห็นมากที่สุด ได้แก่ กระทรวงการคลัง 8,017 เรื่อง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 4,901 เรื่อง กระทรวงสาธารณสุข 4,812 เรื่อง กระทรวงแรงงาน 4,655 เรื่อง และกระทรวงคมนาคม 1,258 เรื่อง ส่วนวิสาหกิจ ได้แก่ ธนาคารออมสิน 566 เรื่อง ด้านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและจังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 7,301 เรื่อง จังหวัดนนทบุรี 1,403 เรื่อง จังหวัดสมุทรปราการ 1,216 เรื่อง จังหวัดปทุมธานี 1,044 เรื่อง และจังหวัดชลบุรี 939 เรื่อง สำหรับประเด็นเรื่องร้องทุกข์ที่ประชาชนยื่นเรื่องมากที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่ 1) การรักษาพยาบาล เช่นมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 การจัดสรรวัคซีนป้องกันโรค โควิด-19 ให้กับประชาชน และการจัดสถานที่เพื่อรองรับผู้ป่วยติดเชื้ออย่างพอเพียง 2) การเสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายและโครงการของรัฐบาล เช่น หลักเกณฑ์ คุณสมบัติและการลงทะเบียนและวิธีการจ่ายเงินในโครงการช่วยเหลือเยียวยาต่างๆ ของรัฐและการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 3) ค่าครองชีพ เช่น หลักเกณฑ์การรับเงินเยียวยา “โครงการเราชนะ” และ “ม33เรารักกัน” 4) เรื่องเสียงรบกวน/สั่นสะเทือน เช่น ปัญหามลพิษทางเสียงจากสถานบันเทิง สถานประกอบการ วัยรุ่นมั่วสุมดื่มสุรา รวมกลุ่มแข่งขันรถจักรยานยนต์ส่งเสียงดังรบกวน 5) โทรศัพท์ เช่น การปรับปรุงระบบการให้บริการทางโทรศัพท์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดโควิด-19 6) ไฟฟ้า เช่น การแก้ไขปัญหากระแสไฟฟ้าขัดข้อง 7) การเมือง เช่น การชุมนุมทางการเมือง การแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ 8) น้ำประปา เช่น การแก้ไขปัญหาน้ำประปาไม่ไหลแล้วไม่มีคุณภาพ 9) บ่อนการพนัน และ 10) ถนน เช่น การก่อสร้างถนนและปรับปรุงถนนลูกรังเป็นทางลาดยาง เป็นต้น
“นายกรัฐมนตรียังเน้นให้ทุกส่วนราชการพัฒนาปรับปรุงการให้บริการด้านข้อมูลข่าวสาร การประชาสัมพันธ์ ต้องเผยแพร่ให้รวดเร็ว ขณะเดียวกันก็ต้องให้มีทีมตรวจสอบข่าวและให้ข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อลดการเผยแพร่ข่าวปลอมและป้องกันการสร้างความสับสนแก่สาธารณชนด้วย” นายธนกรกล่าว
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก
Line @Matichon ได้ที่นี่