กก.เห็นชอบโควิดเป็นโรคประจำถิ่น ตั้งเกณฑ์ 4 ระยะ ศบค.เผยแนวโน้มเสียชีวิตสูงขึ้นชัดเจน เร่งฉีดวัคซีนลดอัตราป่วย-ตาย
เมื่อวันที่ 10 มีนาคม ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ทำเนียบรัฐบาล พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2565 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบรองรับการเปลี่ยนผ่านโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมพูดคุย การแบ่งโรคประจำถิ่นเป็น 4 ระยะ คือ 1.ขาขึ้น ที่จะเป็นช่วงที่พบผู้ติดเชื้อสูงขึ้น ซึ่งเป็นระยะที่ต้องควบคุมการแพร่ระบาดให้ได้มากที่สุด เพื่อลดความรุนแรง 2.คงที่ เป็นระยะที่พบผู้ติดเชื้อจำนวนคงที่ 3.ระยะลดลงของผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง และ 4.ระยะที่ออกจากโรคระบาดและเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งการเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นจะต้องมีปัจจัยหลายด้าน เช่น การรับวัคซีน อัตราการครองเตียง เสียชีวิต การจัดทำแผนในด้านต่างๆ ที่ต้องมีความพร้อม
พญ.สุมนีกล่าวว่า ในการดำเนินการจะมีการไปจัดทำแผนเพื่อเฝ้าระวัง ป้องกันโรค สอบสวนโรค และแผนการดูแลรักษา รวมถึงมาตรการต่างๆ ด้านกฎหมาย ซึ่งจะต้องปรับได้ตามสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ถึงแม้ว่าจะมีการดำเนินการเข้าสู่โรคประจำถิ่น แต่คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติก็จะดำเนินการให้ครอบคลุมในทุกๆ ด้าน
พญ.สุมนีกล่าวต่อไปว่า สำหรับสถานการณ์ทั่วโลกวันนี้ มีผู้ติดเชิ้อเพิ่มขึ้น 1,696,842 ราย โดยในจำนวนนี้มีผู้ป่วยอาการหนักคิดเป็นร้อยละ 0.02 และอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ร้อยละ 1.34 ซึ่งยังคงมีทิศทางลดลง ส่วนการติดเชื้อสะสมรายวัน 7 วัน อันดับ 1 และ 2 ยังคงเป็นเกาหลีใต้ 1,719,432 ราย และเยอรมันนี 1,163,166 ราย และอันดับที่ 3 เป็นเวียดนาม

“มีประเด็นที่น่าสนใจในต่างประเทศ อย่างองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ทั่วโลกรวมอยู่ที่ 6,004,421 ราย โดยที่ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 400 ล้านกว่าราย โดยรายงานระบุว่าสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสะสมและเสียชีวิตสูงที่สุดในโลก มีผู้ติดเชื้อสูงกว่า 78 ล้านราย และเสียชีวิต 900,000 กว่าราย ส่วนอันดับที่ 2 คืออินเดีย และอันดับที่ 3 คือบราซิล ในส่วนของทางฮ่องกงเองก็ได้มีการเลื่อนแผนการตรวจโควิด และเร่งฉีดวัคซีนให้แก่ผู้สูงอายุเพื่อลดความเสี่ยงในการเสียชีวิต และปรับแผนการตรวจนั้น เปลี่ยนไปตามนักระบาดวิทยาที่ได้ให้คำปรึกษากับรัฐบาลฮ่องกง” พญ.สุมนีกล่าว
พญ.สุมนีกล่าวว่า สถานการณ์ในบ้านเราวันนี้ มีรายงานผู้ติดเชื้อใหม่ 22,984 ราย จากเอทีเค 49,494 ราย รวมกันเป็น 72,478 ราย ซึ่งเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ โดยในรายงานติดเชื้อจากต่างประเทศเพียง 47 รายเท่านั้น ซึ่งการรายงานระยะหลังจะพบว่าการติดเชื้อจากต่างประเทศมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ในขณะที่มีผู้ที่กำลังรักษาอยู่ในขณะนี้ 220,334 ราย ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่อยู่ในศูนย์แยกกักชุมชน รพ.สนาม และ HI และอีกจำนวนหนึ่งอยู่ใน รพ. 50,254 ราย ซึ่งเป็นผู้มีอาการหนัก 1,238 ราย และผู้ที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจอีก 420 ราย หากดูในจำนวนผู้ที่อยู่ใน รพ.ลบด้วยผู้ป่วยอาการหนัก จะพบว่ากลุ่มนี้มีผู้ป่วยอาการไม่หนักอยู่ร้อยละ 97.8 หากเป็นไปได้ ให้ผู้ที่อาการไม่หนักไปรักษาอยู่ที่บ้าน หรือศูนย์กักชุมชนจะดีกว่า
“เมื่อดูทิศทางแนวโน้มผู้ป่วยปอดอักเสบ ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ ผู้เสียชีวิต และผู้ติดเชื้อรายวัน จะเห็นว่าผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจตัวเลขจะอยู่ที่ประมาณ 1 ใน 3 ของตัวเลขผู้ป่วยปอดอักเสบ ส่วนจำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบ ยังมีการเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ จากหลักร้อยเป็นหลักพัน ส่วนผู้เสียชีวิตมีทิศทางแนวโน้มสูงขึ้นอย่างชัดเจน วันนี้ก็เป็นวันที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด 74 ราย อย่างไรก็ตาม อัตราการเสียชีวิตยังอยู่ที่ร้อยละ 0.02 และผู้ติดเชื้อรายวันมีทิศทางรวมกันเพิ่มขึ้นแบบทรงๆ ไม่ได้สูงมาก” พญ.สุมนีกล่าว
พญ.สุมนีกล่าวว่า ในส่วนของรายละเอียดผู้เสียชีวิตทั้ง 74 ราย เป็นคนไทย 72 ราย เมียนมา 1 ราย และสวีเดน 1 ราย มีรายงานเสียชีวิตที่ภาคใต้สูงที่สุด 20 ราย ภาคอีสาน ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร 12 ราย ปริมณฑล 10 ราย และภาคเหนือ 8 ราย ปัจจัยเสี่ยงกว่าร้อยละ 95 เป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปร้อยละ 73 และมีโรคเรื้อรังร้อยละ 22 และไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง 4 ราย คิดเป็นร้อยละ 5 โดยปัจจัยที่ทำให้ติดเชื้อสูงสุดคือคนรู้จัก และครอบครัว รวมถึงอาศัยในพื้นที่เสี่ยง
“สิ่งที่จะทำให้อัตราการเสียชีวิตลดลงคือวัคซีน จากการพิจารณาประวัติผู้เสียชีวิต พบว่า มีประวัติการไม่ได้รับวัคซีนเลยแม้แต่เข็มเดียว ร้อยละ 48 ได้รับไม่ครบ (1 เข็ม) ร้อยละ 6 รับวัคซีนครบ 2 เข็ม เกิน 3 เดือนร้อยละ 35 รับวัคซีนครบ 2 เข็ม ไม่เกิน 3 เดือน ร้อยละ 9 และได้รับวัคซีนครบ 3 เข็ม ร้อยละ 1 โดยคาดการณ์การเสียชีวิตในภาพรวมประเทศขณะนี้ พบว่าผู้เสียชีวิตสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งทิศทางแนวโน้มยังสูง การจัดการคือพาผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตไปรับวัคซีน นอกจากผู้สูงอายุแล้ว ยังมีผู้ที่มีโรคประจำตัว” พญ.สุมนีกล่าว
พญ.สุมนีกล่าวว่า ผลการฉีดวัคซีนภาพรวมประเทศ ตั้งแต่ประเทศไทยเริ่มมีการฉีดวัคซีนตั้งแต่เดือน ก.พ.ปีที่แล้ว จะเห็นว่าในช่วงการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 กับเข็มที่ 2 ช่วงแรกที่ฉีดจะมีทิศทางแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงต้องขอขอบคุณพี่น้องประชาชนทุกคนที่ให้ความร่วมมือ และผลออกมาเป็นไปตามเป้า สำหรับเข็มที่ 1 มีความครอบคลุมประชากรไปแล้วร้อยละ 77.8 เข็มที่ 2 ร้อยละ 71.8 แต่ถ้าดูในขณะนี้ คนที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว มีความจำเป็นที่จะต้องไปรับเข็มที่ 3 หากเกิน 3 เดือนแล้ว เพราะว่าเข็มกระตุ้นลดอาการป่วยหนักและเสียชีวิต
พญ.สุมนีกล่าวต่อว่า 10 จังหวัดที่ติดเชื้อสูงสุดอันดับที่ 1 ยังคงเป็นกรุงเทพมหานคร ซึ่งติดเชื้อสูงสุดเป็นวันที่ 2 แล้ว และพบคลัสเตอร์ใหม่ๆ เช่น โรงเรียนในเขตบางบอน โดยมี 5 เขตที่ติดเชื้อสูงสุดในกรุงเทพฯ ได้แก่ สะพานสูง 170 ราย บางแค 152 ราย ป้อมปราบศัตรูพ่าย 128 ราย บางกอกน้อย 122 ราย และหนองแขม 121 ราย และในส่วนของจังหวัดที่ติดเชื้อสูงสุดอันดับต่อมาได้แก่ นครศรีธรรมราช ชลบุรี สมุทรปราการ นนทบุรี สมุทรสาคร พระนครศรีอยุธยา ภูเก็ต ฉะเชิงเทรา และปทุมธานี
พญ.สุมนีกล่าวว่า ในจังหวัดที่พบผู้ป่วยปอดอักเสบสูง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 176 ราย สมุทรปราการ 71 ราย นนทบุรี 57 ราย นครศรีธรรมราช 53 ราย บุรีรัมย์ 44 ราย สุราษฎร์ธานี 42 ราย นครราชสีมา 40 ราย ชลบุรี 38 ราย ภูเก็ต 38 ราย และเชียงใหม่ 36 ราย ถ้าเปรียบเทียบกับวันจันทร์ที่ผ่านมา มีบุรีรัมย์ที่ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 5 จากเดิมพบผู้ป่วยปอดอักเสบอยู่ที่ 29 ราย และภูเก็ตมีจำนวนลดลง ส่วนภาพรวมการครองเตียงทั้งประเทศอยู่ที่ร้อยละ 23.90 ซึ่งถือว่าทรงๆ ไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก
“มีการตั้งเป้าฉีดวัคซีนผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคเรื้อรัง ควรได้รับวัคซีนครอบคลุมร้อยละ 70 โดนกำหนดให้มีสัปดาห์รณรงค์ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเป็นช่วง 21 มี.ค.-31 มี.ค. เพื่อรณรงค์ให้ผู้สูงอายุ และผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนให้มาฉีดวัคซีนโดยเร็ว รวมถึงผู้ที่มารับวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้ว ก็ยังคงต้องเข้มมาตรการ Universal Prevention ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ด้วยเช่นกัน” พญ.สุมนีกล่าว