Chonburi Sponsored

เมืองพัทยาเดินหน้าแผนกำจัดขยะกว่า 1,500 ตัน ในรูปแบบเผาทำลาย ก่อนเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า

Chonburi Sponsored
Chonburi Sponsored

เผยแพร่:   ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวศรีราชา –
 เมืองพัทยาเดินหน้าประชาพิจารณ์แผนจัดการขยะมูลฝอย Cluster ที่ 2 ดันโครงการส่งเผาทำลายในนิคมอุตสาหกรรมเขตบ่อวิน อ.ศรีราชา ลดปัญหาฝังกลบกว่า 1,500 ตัน ก่อนเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า คาดเป็นรูปธรรมปี 2570

วันนี้ (9 มี.ค.) เมืองพัทยาได้จัดให้มีการประชาพิจารณ์แผนการบริหารจัดการขยะมูลฝอย Cluster ที่ 2 จังหวัดชลบุรี รวม 3 อำเภอประกอบด้วย อ.บางละมุง ศรีราชา และสัตหีบ เพื่อทบทวนผลการศึกษาการบริหารจัดการขยะมูลฝอย (Cluster 2) ลดปัญหาการฝังกลบขยะกว่า 1,500 ตัน

โดยมี นายวุฒิศักดิ์ สิงหเดโช นายอำเภอบางละมุง และคณะที่ปรึกษาในการวางแผนแม่บทจากมหาวิทยาลัยบูรพา รวมทั้งประชาชนในพื้นที่เมืองพัทยากว่า 300 คนเข้าร่วมที่วิทยาลัยเทคนิคพัทยา จ.ชลบุรี


ขณะที่ นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา ซึ่งเป็นประธานในการปาฐกถาพิเศษเรื่องปัญหาขยะมูลฝอย ระบบวิธีการบริหารจัดการและแนวโน้มการจัดการแก้ไขปัญหาขยะแบบบูรณาการ หรือ Cluster ที่ 2 กล่าวว่า จากการขยายตัวของจำนวนประชากรและนักท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนทำให้มีของเสียและของเหลือทิ้งจากบ้านเรือนและชุมชนเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน

นอกจากนั้น ยังมีแนวโน้มว่าสิ่งของเหลือทิ้งจะเกินขีดความสามารถในการรองรับของหลุมฝังกลบที่มี ประกอบกับการมีเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC ) ยิ่งจะทำให้ปริมาณขยะเพิ่มสูงอีกมากจากขยายตัวของเมืองและภาคอุตสาหกรรม

โดยการดำเนินการจัดเก็บและกำจัดขยะมูลฝอยเป็นบริการสาธารณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีหน้าที่ตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ พ.ศ.2542 ซึ่งที่ผ่านมา เมืองพัทยา ได้ปรับเปลี่ยนและบริหารจัดการจนเข้าสู่ระบบจากที่เคยมีปัญหาสถานีขนถ่ายบริเวณซอยสุขุมวิท 3 ต.หนองปลาไหล ที่ขาดสุขลักษณะ สร้างปัญหาด้านกลิ่น และน้ำเสีย จากปริมาณขยะที่สูงกว่า 500 ตันต่อวันในปี 2560


จนนำสู่การแก้ไข ปรับเปลี่ยนรูปแบบ และผู้รับเหมารายใหม่ที่มีศักยภาพเข้ามาดำเนินการ โดยในเบื้องต้นได้มีการพักและขนถ่ายไปยัง อ.แก่งคอย สระบุรี

แต่เนื่องจากการดำเนินการดังกล่าวมีค่าใช้จ่ายที่สูง กระทรวงมหาดไทย จึงกำหนดให้มีการบูรณาการร่วมกันในการจัดการบริหารขยะมูลฝอย โดยแบ่งพื้นที่จังหวัดชลบุรีออกเป็น 5 Cluster ซึ่ง อ.บางละมุง ถูกจัดอยู่ในพื้นที่ของ Cluster ที่ 2 ร่วมกับอำเภอศรีราชา และสัตหีบ

และตามแผนเดิมจะมีการขนถ่ายขยะจาก 3 อำเภอ ปริมาณ 1,590 ตันวัน ไปกำจัดที่บ่อขยะ ต.เขาไม้แก้ว อ.บางละมุง จนเกิดปัญหาการคัดค้านจากชาวบ้าน จึงได้ทำการศึกษาและวางแผนในการบริหารจัดการใหม่ โดยจะมีการพักและขนถ่ายขยะไปทิ้งในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมบ่อวิน อ.ศรีราชา เพื่อทำการเผาทำลายกว่า 97% และผลิตไฟฟ้าที่จะได้ปริมาณถึง 29.7 เมกะวัตต์แทน 

โดยหลังจากนี้ เมืองพัทยาจะจัดตั้งศูนย์พักเพื่อรอการขนถ่ายขยะไปทิ้งยังนิคมอุตสาหกรรม โดยไม่มีการขนมากองขยะเพื่อสร้างปัญหามลพิษเช่นในอดีต


นายสนธยา ยังเผยอีกว่า การศึกษาแนวทางใหม่นี้ เมืองพัทยาจะเป็นเจ้าภาพในการศึกษาความเหมาะสมเพื่อให้ได้ข้อมูลที่จำเป็นต่อการวางแผนดำเนินโครงการ และต้องมีความคุ้มค่าการลงทุน และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงได้จัดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนใน 3 พื้นที่หลักเพื่อใช้ประกอบข้อมูล  

“จากนี้จะมีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นใน อ.สัตหีบ อีกครั้ง ก่อนจะนำผลสรุปและรวบรวมเสนอต่อเมืองพัทยา และส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งรัดดำเนินการ โดยคาดว่าจะมีผลเป็นรูปธรรมในช่วงปี 2570 นี้” นายสนธยา กล่าว

Chonburi Sponsored
อำเภอ บางละมุง

อำเภอบางละมุงแต่เดิมมีฐานะเป็นเมืองบางละมุง ตั้งอยู่ที่บ้านบางละมุง ตำบลบางละมุง จนถึง พ.ศ. 2444 ได้ยุบเมืองบางละมุงเป็นอำเภอขึ้นต่อจังหวัดชลบุรี โดยมีที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่บริเวณริมคลองนกยาง ซึ่งขณะนั้นบริเวณดังกล่าวเป็นท่าน้ำที่สำคัญทั้งทางด้านการคมนาคมและเป็นที่ชุมนุมของเรือสินค้าต่าง ๆ ต่อมาคลองนกยางตื้นเขินไม่สะดวกต่อเรือสินค้าต่าง ๆ จะล่องเข้าออก ทั้งสภาพพื้นที่ไม่เหมาะสมที่จะขยายชุมชนให้กว้างขวาง นายอำเภอสมัยนั้น คือ นายเจิม (ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาสัตยานุกูล) จึงย้ายที่ว่าการอำเภอไปตั้งที่ใหม่บริเวณริมทะเลในตำบลนาเกลือ เมื่อ พ.ศ. 2452