Chonburi Sponsored

สธ.คาดสงกรานต์ติดเชื้อเกิน5หมื่น โควิดไทยน่าห่วง ไร้มาตรการเข้มงวดอาจทะลุ2เท่า

Chonburi Sponsored
Chonburi Sponsored

วันเสาร์ ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2565, 06.00 น.

สธ.คาดสงกรานต์ติดเชื้อเกิน5หมื่น

โควิดไทยน่าห่วง

ไร้มาตรการเข้มงวดอาจทะลุ2เท่า

จับตายอดคนอาการโคม่าสูงสุดพ.ค.

นายกฯสั่งทุกจว.เร่งประชาสัมพันธ์

รักษาแบบผู้ป่วยนอก‘เจอ แจก จบ’

กทม.เปิดแอปรองรับผู้ป่วยในกรุง

ป่วย2.3หมื่น/ATK3.1หมื่น/ดับ54

ติดเชื้อโควิด-19 ยังทรงตัว 23,834 ราย ผลจากการตรวจATK 31,571 ราย ผู้ป่วยปอดอักเสบเพิ่มต่อเนื่อง 1,115 ราย และผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 337 ราย ตายนิวไฮ 54 ศพเกือบทั้งหมดไม่ได้ฉีดวัคซีน กทม.ยังนำโด่ง “ชลบุรี-นครศรีธรรมราช” เกิน 1 พัน สธ.ชี้สถานการณ์ตอนนี้น่าเป็นห่วง โอมิครอนลามเร็ว ทำคนป่วยโคม่าขยับตาม เผย2 สัปดาห์ปอดอักเสบเพิ่ม 1.5 เท่า วัยทำงานติดเชื้อมากที่สุดคนมีอายุติดเชื้อน้อยแต่อัตราตายสูงกว่า เร่งฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุก่อนสงกรานต์ ห่วงระบาดเดือนพฤษภาคมพีค ป่วยโคม่าสูงสุด กทม. เปิดแอปฯหมอ กทม. รองรับผู้ป่วยโควิดในกรุงเทพฯ 4 ล้านคน นำร่องใช้กับรพ.กลาง

เมื่อวันที่ 4 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ประจำวันที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มหลักหมื่นต่อเนื่อง ส่วนผู้เสียชีวิตขยับขึ้นเกินครึ่งร้อยติดเชื้อเพิ่ม23,834-ตายนิวไฮ54คน

โดยยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น 23,834 ราย จำแนกเป็นผู้ป่วยจากในประเทศ 23,688 ราย ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 146 ราย ผู้ป่วยสะสม 758,561 ราย (ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565) หายป่วยกลับบ้าน 19,351 ราย หายป่วยสะสม 562,535 ราย (ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565) ผู้ป่วยกำลังรักษา 227,843 ราย และเสียชีวิต 54 ราย ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รายงานยอดติดเชื้อเข้าข่าย ATK 31,571 ราย, ผู้ป่วยปอดอักเสบ 1,115 ราย และผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 337 ราย

กทม.นำโด่ง-เมืองคอนที่3ทะลุพัน

สำหรับ 10 อันดับจังหวัดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19ในประเทศรายใหม่สูงสุด ได้แก่ 1.กรุงเทพมหานคร (กทม.) 2,580 ราย ยอดสะสมตั้งแต่ 1 มกราคม 110,111 ราย 2.ชลบุรี 1,320 ราย ยอดสะสม(ตั้งแต่ 1 ม.ค.65) 45,047 ราย 3.นครศรีธรรมราช 1,124 ราย ยอดสะสม(ตั้งแต่ 1 ม.ค.65) 22,361 ราย 4.สมุทรปราการ 953 ราย ยอดสะสมตั้งแต่ 1 มกราคม 48,695 ราย 5.นครราชสีมา 814 ราย ยอดสะสมตั้งแต่ 1 มกราคม 18,408 ราย 6.ปทุมธานี 689 ราย ยอดสะสมตั้งแต่ 1 มกราคม 16,978 ราย 7.สมุทรสาคร 686 ราย ยอดสะสมตั้งแต่ 1 มกราคม 16,717 ราย 8.นครปฐม 684 ราย ยอดสะสมตั้งแต่1มกราคม14,597ราย 9.ระยอง 649 ราย ยอดสะสม(ตั้งแต่1มกราคม14,637ราย 10.ภูเก็ต 623ราย ยอดสะสมตั้งแต่1มกราคม 27,426 ราย

ป่วยโอมิครอนพุ่ง-โคมาเพิ่มตาม

ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงรายงานสถานการณ์ระบาดโควิด-19 ในประเทศไทยว่า จากการเฝ้าระวังตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-3 มีนาคม พบว่า ขณะนี้เป็นการแพร่ระบาดของเชื้อโอมิครอนเกือบทั้งหมด และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และแพร่ระบาดในประเทศอื่นด้วย สำหรับจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเฉลี่ย 14 วัน อยู่ที่ 21,966 ราย วันนี้วันเดียวที่เป็นผู้ป่วยยืนยัน RT-PCR 23,834 ราย อย่างไรก็ตาม ด้วยตัวเลขที่กำลังเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีผู้ป่วยอาการรุนแรงเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ สำหรับเชื้อโอมิครอนก่อให้เกิดความรุนแรงของโรคน้อยกว่าเชื้อเดลต้าแน่นอน แต่ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อที่มากขึ้น ทำให้จำนวนผู้ที่ต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล (รพ.) ด้วยอาการรุนแรง เช่น ปอดอักเสบ เพิ่มขึ้นตาม

2สัปดาห์ปอดอักเสบเพิ่ม1.5เท่า

นพ.โสภณกล่าวว่า ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีตัวเลขผู้ป่วยปอดอักเสบค่อนข้างสูงประมาณ 1.5 เท่า แต่ถ้าเป็นผู้ป่วยที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจก็เพิ่มขึ้น 2 เท่า จากเดิมอยู่ในรพ. 184 ราย เมื่อวันที่ 3 มีนาคม เพิ่มขึ้นเป็น 337 ราย เช่นเดียวกับผู้เสียชีวิต ที่ขยับเพิ่มขึ้น แต่อัตราป่วยหนักและเสียชีวิตนั้นยังน้อยกว่าเชื้อเดลต้า ทั้งนี้ ยังมีผู้สูงอายุ-กลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่ได้รับวัคซีนอีกจำนวนหนึ่ง ทำให้สถานการณ์ผู้เสียชีวิตยังเพิ่มอยู่

วัยทำงานติดพุ่ง-สูงวัยติดน้อยตายสูง

“สำหรับการติดเชื้อในกลุ่มที่มีสัดส่วนสูงมากขณะนี้คือ วัยทำงานอายุ 20-29 ปี คิดเป็นอัตราป่วยต่อ 100,000 ประชากร ประมาณ 1,370 ราย รองลงมาคือ ช่วงอายุ 30-39 ปี แต่กลุ่มที่มาแรงคือ ช่วงอายุ 10-19 ปี และ 0-9 ปี ซึ่งเป็นเด็กวัยเรียน แต่การติดเชื้อมากในกลุ่มเหล่านี้ไม่ได้ส่งผลให้ป่วยหนักและเสียชีวิต โดยการดูจากอัตราป่วยตาย พบว่า เมื่อเกิดระบาดทำให้ผู้สูงอายุติดเชื้อเพิ่มขึ้น ขณะนี้ผู้สูงอายุมีอัตราติดเชื้อน้อยกว่าคนหนุ่มสาว แต่มีอัตราการตายสูงกว่า โดยกลุ่มอายุ 70 ปีขึ้นไป หากติดเชื้อมีโอกาสเสียชีวิตร้อยละ 3 ถ้าอายุ 60-69 ปี โอกาสเสียชีวิตร้อยละ 0.62 ส่วนอายุ 50-59 ปี โอกาสเสียชีวิตร้อยละ 0.21 ซึ่งกลุ่มนี้ก็จะเริ่มมีโรคประจำตัวแล้ว”นพ.โสภณกล่าว

อายุเกิน 60 ตายรายวันเกิน80%

สำหรับรายงานผู้เสียชีวิตรายวันวันนี้ พบเป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 43 ราย คิดเป็นร้อยละ 80 และอายุน้อยกว่า 60 ปี แต่มีโรคเรื้อรังอีก 8 ราย คิดเป็นร้อยละ 15 รวมเป็นร้อยละ 95 ที่เหลือเป็นคนอายุน้อยกว่า 60 ปี และไม่มีโรคเรื้อรัง ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิตกว่าครึ่งไม่ได้รับวัคซีนหรือได้รับไม่ครบ และได้รับครบ 2 เข็ม แต่มีระยะเวลาเกิน 3 เดือน เมื่อวิเคราะห์ถึงข้อมูลละเอียดขึ้น พบว่าผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ช่วงวันที่ 1 มกราคม – 28 กุมภาพันธ์ เสียชีวิตแล้วประมาณ 928 ราย ไม่มีประวัติรับวัคซีน 557 ราย คิดเป็นร้อยละ 60 รับวัคซีน 1 เข็ม 77 ราย คิดเป็นร้อยละ 8 รับวัคซีน 2 เข็ม 271 ราย คิดเป็นร้อยละ 29 และรับวัคซีน 3 เข็มขึ้นไป 23 ราย คิดเป็นร้อยละ 2

เร่งฉีดวัคซีนสูงอายุก่อนสงกรานต์

สำหรับสัดส่วนการรับวัคซีนในผู้สูงอายุครอบคลุมร้อยละ 83 ยังเหลืออีกร้อยละ 17 ในจำนวนนี้ที่ฉีดวัคซีนไปแล้ว 10,544,307 ราย มีอยู่จำนวนหนึ่งที่ได้รับเข็มที่ 2 ครบแล้ว 9,988,895 ราย และได้รับเข็มกระตุ้นไปแล้ว 3,909,295 ราย ซึ่งยังมีคนที่รอฉีดเข็มกระตุ้นอีกประมาณ 6 ล้านราย รวมกับผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเลยแม้แต่เข็มเดียว 2.2 ล้านคน ทำให้ขณะนี้มีเป้าหมายต้องเร่งรัดฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุกว่า 8 ล้านคนโดยวัคซีนกระจายถึง รพ.สต.เข้าใกล้ชุมชนมากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน

“หากจะช่วยกันดูแลผู้ใหญ่ในบ้าน การให้ความรู้ สร้างความเข้าใจและพาผู้สูงอายุมารับวัคซีนก่อนช่วงสงกรานต์เป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่งปกติผู้สูงอายุที่อยู่ต่างจังหวัด จะมีลูกหลานไปเยี่ยมช่วงสงกรานต์ เมื่อปีที่แล้ว มีหลายครอบครัวที่ต้องสูญเสียผู้สูงอายุจากการที่ลูกหลานไปเยี่ยม พร้อมกับนำเชื้อโควิดไปด้วย เหตุการณ์แบบนี้ เราไม่อยากให้เกิดขึ้นในปีนี้ ผู้สูงอายุต้องได้รับวัคซีนก่อนสงกรานต์ ลูกหลานไปเยี่ยมได้อย่างสบายใจ และลูกหลานเองก็ต้องรับวัคซีนด้วย และตรวจดูว่าไม่มีอาการหรือพบเชื้อ”นพ.โสภณกล่าว

ย้ำสถานการณ์น่าเป็นห่วง-พค.พีคโคมาพุ่ง

นพ.โสภณยังแถลงประเมินสถานการณ์ระบาดก่อนสงกรานต์ว่า จากฉากทัศน์ที่มีการนำเสนอที่ผ่านมา สถานการณ์ขณะนี้น่าเป็นห่วงจริงๆ เส้นกราฟผู้ป่วยปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจ กำลังขยับเพิ่มขึ้น จากฉากทัศน์ทั้ง 3 ฉากทัศน์ มีโอกาสขึ้นเป็นฉากทัศน์สูงสุดได้ จึงต้องเข้มมาตรการทั้งหมด รวมทั้งการฉีดวัคซีนจะลดความรุนแรงของโรคได้ และทำให้อัตราการเพิ่มของผู้ป่วยปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจไม่มากเกินศักยภาพของระบบรักษาพยาบาล

นพ.โสภณยังแถลงถึงสถานการณ์ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจว่า ยังน่าเป็นห่วง เนื่องจากเส้นสถานการณ์จริงกำลังขยับสูงขึ้น ในฉากทัศน์มีโอกาสขึ้นไปเป็นฉากทัศน์ที่สูงสุดได้ ขอให้ช่วยปฏิบัติตามมาตรการ รวมทั้งฉีดวัคซีนป้องกันอาการรุนแรง คาดว่าจุดสูงสุดของการระบาดที่ทำให้เกิดผู้ป่วยอาการรุนแรงจะอยู่ช่วงต้นเดือนพฤษภาคม

การ์ดตกติดเชื้อ5หมื่น/วันหรือเพิ่ม2เท่า

“ดูจากตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ขณะนี้ เป็นเส้นสีน้ำเงิน เทียบกับฉากทัศน์ทั้ง 3 เราอยู่ในระดับความเสี่ยงที่จะมีผู้ติดเชื้อต่อเนื่อง ซึ่งฉากทัศน์เส้นล่างสุดที่เป็นเส้นสีเขียวจะไม่เป็นจริงแล้ว ถ้าดูจากอัตราติดเชื้อเพิ่มของไทย มีโอกาสเป็นเส้นสีเหลือง และสีแดง หากสีเหลืองจะมีผู้ติดเชื้อสูงสุดประมาณ 5 หมื่นกว่ารายต่อวันช่วงประมาณวันที่ 19 เมษายน แต่หากเราไม่สามารถคงมาตรการเข้มงวด ทั้งสวมหน้ากากอนามัย การป้องกันตัวเองแบบเข้มงวด และหากไม่ลดพฤติกรรมเสี่ยง อาจมีโอกาสพบติดเชื้อรายใหม่มากกว่า 5 หมื่นรายต่อวัน หรือเพิ่มอีก 2 เท่า“นพ.โสภณกล่าว อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจากประสบการณ์ของประชาชน เราร่วมมือร่วมใจกันได้ ด้วยการยกระดับมาตรการ ป้องกันแพร่เชื้อ จะทำให้เส้นสีน้ำเงินอยู่แถวๆ เส้นสีเหลือง ไม่เกินเส้นสีแดง” นพ.โสภณ กล่าว

ระดมจนท.รับโทรสายด่วน1330

ขณะที่นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการปรับปรุงระบบรับเรื่องจากประชาชนผ่านสายด่วน 1330ว่า ปริมาณสายที่โทรเข้ามาที่สายด่วน สปสช. 1330 ยังมีปริมาณมาก ทั้งในระบบสายด่วน และระบบ Non Voice (ไลน์และเฟสบุ๊ก สปสช.) แต่ละวันยังคงอยู่ที่ระดับ 60,000-70,000 สาย ที่ผ่านมา สปสช.ได้ขอความร่วมมือหน่วยงานต่างๆ และจิตอาสา รวมถึงระดมกำลังบุคลากร สปสช.จากส่วนงานอื่นมาช่วยรับสาย ล่าสุดนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุขมอบหมายให้สายด่วนของแต่ละกรมในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เข้ามาสนับสนุนการทำงานของ สายด่วน 1330 รับเรื่องผู้ติดเชื้อ เพื่อประสานเข้าสู่ระบบการรักษา ทั้งแบบผู้ป่วยนอก เจอ แจก จบ หรือระบบการรักษาที่บ้าน (Home Isolation) ก็ช่วยทำให้ลดจำนวนสายที่ไม่ได้รับการตอบกลับลงได้

ย้ำทางเลือกวอค์อินรพ.14จว.รอบกทม.

นพ.จเด็จกล่าวต่อว่า เนื่องจากสธ.ปรับแนวทางดูแลผู้ติดเชื้อรูปแบบใหม่คือ ให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอกได้ ในส่วนผู้ติดเชื้อที่ลงทะเบียนเข้าระบบการรักษาที่บ้านกับสายด่วน 1330 รวมถึงช่องทางไลน์และเว็บไซต์ สปสช. หากยังไม่ได้รับการติดต่อกลับจากหน่วยบริการภายใน 6 ชั่วโมง ขอให้ดูแลตัวเองเบื้องต้นไปตามอาการ หากมีไข้หรือไอ กินยาลดไข้ ยาแก้ไอ และผู้ติดเชื้อโควิดสามารถไปโรงพยาบาลตามสิทธิรักษาหรือใกล้บ้านซึ่งสธ.สั่งการให้โรงพยาบาลในสังกัด 14 จังหวัดรอบ กทม.ได้แก่ นนทบุรี, ปทุมธานี, พระนครศรีอยุธยา, สระบุรี,นครนายก, สิงห์บุรี, อ่างทอง, นครปฐม, สมุทรสงคราม,สมุทรสาคร,สุพรรณบุรี, สมุทรปราการ,ชลบุรี, ฉะเชิงเทรา, โรงพยาบาลสังกัดกรมสุขภาพจิตและสังกัดกรมควบคุมโรค เพิ่มศักยภาพดูแลแบบผู้ป่วยนอก“เจอ แจก จบ”ให้เพิ่มขึ้น เริ่มวันที่ 4 มีนาคม รองรับบริการได้18,650รายต่อวัน

กลุ่ม608โทรสายด่วน1330กด14

ทั้งนี้ แนะนำให้ โทร.นัดหมายก่อน เพื่อเข้าระบบรักษาแบบผู้ป่วยนอก เจอ แจก จบ ได้ และกลับมากักตัวที่บ้านอีก 7-10 วัน ตามที่แพทย์แนะนำ โดยแต่ละกองทุนสุขภาพ จะตามจ่ายให้ผู้ป่วยตามสิทธิการรักษาที่มี สิทธิบัตรทอง 30 บาท (สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ไปได้ที่หน่วยปฐมภูมิทุกที่ ไม่ใช้ใบส่งตัว หน่วยบริการปฐมภูมิ เช่น สถานีอนามัย, รพ.สต., หน่วยบริการปฐมภูมิของโรงพยาบาล, ศูนย์สุขภาพชุมชน ศูนย์บริการสาธารณสุข รวมถึง คลินิกชุมชนอบอุ่น เป็นต้น สิทธิประกันสังคม เข้ารับบริการ รพ.ตามสิทธิที่ลงทะเบียนหรือสถานพยาบาลใกล้บ้านได้ เช่น ศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม., รพ.สต. ฯลฯ สิทธิข้าราชการ ไป รพ.หรือสถานพยาบาลภาครัฐ

นพ.จเด็จกล่าวต่อว่า ในส่วนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ หรือประชาชนที่ตรวจ ATK 2 ครั้งแล้วขึ้น 2 ขีด นั้น หากเป็นกลุ่มเสี่ยง 608 ได้แก่ 1. กลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป 2. กลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว 7 โรคคือ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน และ3. กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป กลุ่มนี้ให้โทร.มาที่สายด่วน 1330 กด 14 เพื่อประเมินอาการเบื้องต้นและเข้ารักษาตามระบบเพราะเป็นกลุ่มเสี่ยง แต่หากไม่ใช่กลุ่ม 608 และไม่มีอาการ-อาการเล็กน้อย รักษาตามอาการและกักตัวอยู่ที่บ้านได้ ไม่จำเป็นต้องแจ้งภาครัฐหรือโทร.1330 ทุกราย เนื่องจากรักษาตามอาการได้ตามแนวทางใหม่ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เช่นกัน แต่หากต้องการรักษาตามแนวทางเจอ แจก จบ ของกระทรวงสาธารณสุขสามารถไปสถานพยาบาลตามสิทธิ-ใกล้บ้านได้เช่นกัน แนะนำโทร.นัดหมายก่อน หรือยืนยันต้องการลงทะเบียนรักษาที่บ้าน (Home Isolation) ลงทะเบียนที่ https://crmsup.nhso.go.th/#TicketHI หรือไลน์ สปสช. โดยเพิ่มเพื่อน พิมพ์ @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 ได้เช่นกัน

นายกฯสั่งทุกจว.พีอาร์รักษาโควิดเจอแจกจบ

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ติดตามสถานการณ์ระบาดโควิด-19 และสายพันธุ์โอมิครอนในประเทศไทยและต่างประเทศแม้ยังมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่พบอาการรุนแรงน้อยกว่าการระบาดก่อนหน้า ขณะนี้อัตราผู้เสียชีวิตในรอบ 7 วัน ไทยยังมีอัตราต่ำกว่าหลายประเทศ ขณะที่การใช้เตียงในโรงพยาบาลร้อยละ 57 ดังนั้น รัฐบาลจึงปรับการดูแลรักษาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ นายกฯขอให้ประชาชนมั่นใจการรักษาตามโครงการการขยายบริการ “เจอ แจก จบ” เพื่อรองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวหรือที่อาการไม่รุนแรงมากให้ทั่วถึง เพราะเมื่อเข้าระบบผู้ป่วยนอก จะได้รับการดูแลรักษาพยาบาลอย่างเหมาะสมมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับอาการ พร้อมย้ำทุกจังหวัดเร่งประชาสัมพันธ์การรับรู้ให้ชัดเจนเกี่ยวกับการเข้าถึงระบบการรักษาและการเตรียมความพร้อม รองรับผู้ป่วยแต่ละกลุ่มอาการ (เขียว เหลือง แดง)ทั้งในส่วนระบบ HI และ CI หรือโรงพยาบาล เพื่อประชาชนจะได้ปฏิบัติตัวได้ถูกต้อง

เปิดตัวแอพฯหมอกทม.นำร่องใช้กับรพ.กลาง

วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าฯ กทม. พร้อมน.ส.ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทยเปิดตัวแอพพลิเคชั่น‘หมอ กทม.’ ที่โรงพยาบาล (รพ.) กลาง ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวอยู่ภายใต้โครงการ Smart OPD สะดวกทุกการใช้ เข้าถึงบริการง่ายในแอพฯ ใช้ได้กับรพ.ทั้ง 11 แห่งในสังกัดสำนักการแพทย์ กทม. เพื่อเพิ่มศักยภาพบริการการแพทย์วิถีใหม่ด้วยเทคโนโลยี ที่ทำให้ผู้ใช้บริการให้เข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างรวดเร็ว แบ่งเบาภาระบุคลากรทางการแพทย์การให้บริการคนไข้นอกกว่า 4 ล้านคนต่อปี โดยนำร่องการใช้งานแอพฯ หมอ กทม.เพื่อนัดหมายพบแพทย์ของรพ.กลาง เป็นแห่งแรก

พล.ต.อ.อัศวินกล่าวว่า การเปิดตัวแอพฯ หมอกทม. เป็นการพัฒนาระบบให้บริการทางการแพทย์ ผ่านแอพฯของกทม. ซึ่งจะเป็นช่องทางเชื่อมโยงข้อมูลด้านสุขภาพ และช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการแพทย์และการรักษาได้สะดวกยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยลดความแออัด และลดระยะเวลา อีกทั้ง ยังสามารถแจ้งเหตุ พิกัดที่เกิดเหตุได้เร็ว ในอนาคตจะจ่ายเงินผ่านแอพฯ ได้อีกด้วย ประชาชนสามารถดาวน์โหลดแอพฯ หมอ กทม.ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป และใช้บริการนัดหมายออนไลน์ได้ที่ รพ.กลาง และจะขยายให้ครบทั้ง 11 รพ.ในสังกัด กทม.ภายในปลายเดือนมีนาคม หรือต้นเดือนเมษายน สำหรับแอพฯ หมอกทม.ต่างจากแอพฯ อื่นคือ กรณีประชาชนเจ็บป่วยจะขอเข้ารับรักษา สามารถใส่ข้อมูลเข้าไปในแอพฯ หรือแจ้งไปยังสายด่วน 1669 ก็ได้ ซึ่งจะประสานศูนย์เอราวัณเพื่อให้นำเข้าระบบรักษาต่อไป ส่วนใครที่ไม่สะดวกสามารถเลื่อนวันพบแพทย์ได้ ยังมีรถไปรับด้วย

ฉุดไม่อยู่!ชลบุรีติดเชื้อใหม่1,320ราย

สถานการณ์ระบาดโควิด -19 หลายจังหวัดยังน่าเป็นห่วง โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี สสจ.ชลบุรี รายงานผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 1,320 ราย แบ่งเป็นคนที่พักอาศัยในจ.ระยอง เข้ามารักษาในจ.ชลบุรี 49 ราย สะสม 2,755 ราย และจังหวัดอื่นรวมสะสม 749 ราย 2. CLUSTER บริษัท อิโนแอ็ค ออโตโมทีฟ (ประเทศไทย) จำกัด อ.เมืองชลบุรี 7 ราย สะสม 16 ราย 3. CLUSTER บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค คอนซูมเมอร์ โปรดักส์ (ประเทศไทย) จำกัด อ.เมืองชลบุรี 4 ราย สะสม 30 ราย 4. CLUSTER บริษัท ฟูจิตสึ เจเนอรัล (ประเทศไทย) จํากัด อ.ศรีราชา 6 ราย สะสม 138 ราย 5. อาชีพเสี่ยงพบปะผู้คนจำนวนมาก 36 ราย6. บุคลากรทางการแพทย์ 14 ราย 7.ให้ประวัติเดินทางมาจากต่างจังหวัด 5 ราย ดังนี้ กทม. 1 ราย จันทบุรี 1 ราย ชัยนาท 1 ราย ศรีสะเกษ 1 ราย หนองคาย 1 ราย 8. สัมผัสผู้ป่วยยืนยัน ในครอบครัว 245 ราย จากสถานที่ทำงาน 148 ราย บุคคลใกล้ชิด 154 ราย ร่วมวงสังสรรค์ 5 ราย 9.สัมผัสผู้ป่วยยืนยัน (อยู่ระหว่างสอบสวนโรค) 61 ราย อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค 586 ราย

บุรีรัมย์วันเดียว520รายสะสม1.3หมื่น

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์รายงานข้อมูลโควิดในเด็กนักเรียน ระลอกใหม่ ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคมถึง 3 มีนาคมของจ.บุรีรัมย์ พบว่าตัวเลขวันที่ 3 มีนาคม พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิดใหม่ 18 ราย แยกเป็นผู้ป่วยชั้นประถมศึกษา อายุ 5-11 ปี 8 ราย ผู้ป่วย ช่วงชั้นมัธยมศึกษา อายุ 12-17 ปี 8 ราย และผู้ป่วยช่วงชั้นมหาวิทยาลัยอายุ 18 ปีขึ้นไป 2 ราย โดยแหล่งติดเชื้อที่พบ แยกเป็นที่บ้าน 11 ราย ที่ชุมชน 7 ราย รวมยอดผู้ป่วยสะสม 1,202 ราย ในโรงเรียน 49 แห่ง นอกจากนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ ได้รายงานข้อมูลระบาดในพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมถึง 3 มีนาคมว่า ตัวเลขผู้ป่วยสะสมติดเชื้อโควิด-19 รวม 13,608 ราย มีผู้เสียชีวิตสะสม 16 ราย หายป่วยสะสม 8,430 ราย และยังรักษาอยู่ 5,162 ราย โดยสถานการณ์ผู้ป่วยติดเชื้อล่าสุดถึงวันที่ 3 มีนาคม พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่ 520 ราย พบติดเชื้อในจังหวัด 445 ราย และติดเชื้อจากนอกพื้นที่ 75 ราย กระจายอยู่ในพื้นที่ 20 อำเภอ จากทั้งจังหวัด 23 อำเภอ

Chonburi Sponsored
อำเภอ ศรีราชา

อำเภอศรีราชาเดิมเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอบางละมุง ตัวเมืองบางละมุงเดิมตั้งอยู่ที่บ้านบางละมุงในเขตอำเภอบางละมุงในปัจจุบัน เมื่อประมาณ 100 ปีเศษมานี้ เมืองบางละมุงได้ย้ายมาตั้งอยู่ที่บ้านบางพระ แต่ยังคงใช้ชื่อเดิมว่า "เมืองบางละมุง" ในขณะที่ตั้งเมืองบางละมุงในขณะนั้น ระบบบริหารราชการแผ่นดินยังไม่มีอำเภอ ต่อมาทางราชการได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองเป็นมณฑล จึงได้ย้ายเมืองบางพระไปตั้งอยู่ที่บางปลาสร้อย อำเภอเมืองชลบุรีในปัจจุบัน และรวมเมืองพนัสนิคมเข้าด้วยกัน เรียกว่า "เมืองชลบุรี"