สุรินทร์- ทึ่ง! “สอ กระดูกผี” หนุ่มใหญ่ ป.ตรี เมืองช้างวัย 56 ปี เจ้าของ “สวนเก้าตะวัน” น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาประยุกต์ทำไร่นาสวนผสมครบวงจรบนพื้นที่นา 5 ไร่ ประสบผลสำเร็จ พร้อมร่วมกับวิทยาลัยเกษตรฯ เปิดสอนนักเรียนคนรุ่นใหม่ได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้สร้างอาชีพฟรี
วันนี้ ( 24 พ.ค. ) ผู้สื่อข่าวได้พบกับ นายอนุรักษ์ นึกดี อายุ 56 ปี นึกดี หรือ ฉายา “สอ กระดูกผี” เจ้าของ “สวนเก้าตะวัน” ชาวบ้านยาง ตำบลยาง อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งหลังเรียนจบการศึกษาระดับ ปริญญาตรี สาขา เทคโนโลยีการเกษตร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ก็ได้มาประกอบอาชีพทำไร่ทำนา เลี้ยงเป็ดไก่ เลี้ยงปลา รวมทั้งปลาไหล และ ปลูกมะพร้าวน้ำหอม โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นำมาประยุกต์ใช้ในชีวิต ตอบสนองกับความต้องการอยู่อย่างพอเพียง หาเลี้ยงตนเองได้ ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี
นายอนุรักษ์ นึกดี หรือ “สอ กระดูกผี” เล่าว่า ชีวิตตนศึกษาเรียนรู้การทำเกษตรมาโดยตลอด ครั้งแรกทำนาอย่างเดียวก็ไม่ค่อยจะได้ผลเท่าไหร่ จึงหันมาปลูกมะพร้าวน้ำหอม ปลูกต้นไผ่ ปลูกดอกกระเจียว จนต้นไม้เติบโตเขียวขจีเต็มพื้นที่ บนที่นาขนาด 5 ไร่
หลังจากนั้นก็ขุดสระน้ำ เลี้ยงปลานิล ปลาตะเพียน ปลาสลิดตลอดจนปลาไหล โดยนำแหนแดงมาผสมหัวอาหารให้ปลากินตลอด พร้อมนำมาให้เป็ดให้ไก่กินเป็นอาหารด้วย ทำให้เติบโตเป็นอย่างดี ส่วนขี้เป็ดขี้ไก่ก็นำไปลงบ่อน้ำ ให้ปลากิน เป็นอาหารหมุนเวียนกันไปอย่างนี้ทุกวัน ขณะปลาไหลก็เลี้ยงให้อยู่อย่างธรรมชาติ ซึ่งทำเช่นนี้มาประมาณ 5 ปี จนกลายเป็นไร่นาสวนผสม ศูนย์เกษตรศึกษา “สวนเก้าตะวัน” ในปัจจุบัน มีบรรดานักศึกษาและกลุ่มเรียนรู้ต่างๆ เข้ามาศึกดูงาน เรียนรู้ดูกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง
ในช่วงนี้ทางศูนย์เกษตรศึกษา “สวนเก้าตะวัน” ยังเปิดรับสมัครนักเรียนที่จบ ม.3 เข้ามาศึกษาต่อในระดับ ปวช.เกษตรศาสตร์ แบบเรียนฟรี โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ จัดส่งนักเรียนเข้ามาเรียน ในโครงการอาชีวะศึกษาเพื่อพัฒนาชนบท (อศกช.) ซึ่งจะทำการเปิดภาคเรียนภายในต้นเดือนนี้ และมีนักเรียนประสงค์สมัครเข้ามาเรียนแล้ว จำนวน 50 คน
“ นี่คือความสำเร็จที่ได้มาจากการเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคู่กับประสบการณ์บนพื้นที่นาจำนวน 5 ไร่ ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยผลหมากรากไม้ เป็ดไก่ หอย ปู ปลา เต็มพื้นที่เป็นไร่นาสวนผสมครบวงจร และยังเป็นพื้นที่การศึกษา เปิดทำการเรียนการสอนให้กับคนรุ่นใหม่ที่หวังจะได้อาชีพในการเลี้ยงดูครอบครัวตนเองและสังคมอย่างยั่งยืนต่อไป” นายอนุรักษ์ นึกดี กล่าวในตอนท้าย