สหวิริยา – รฟท.เปิดทดลองขนส่งเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนทางรางจากบางสะพาน
เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
ประจวบคีรีขนธ์ – สหวิริยา ร่วมกับ รฟท.เปิดทดลองเดินขบวนรถพิเศษขนส่ง “เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน” 46 ตัน จากสถานีนาผักขวง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ไปยังที่หยุดรถศรีสำราญ จ.สุพรรณบุรี เชื่อมั่นว่าการขนส่งสินค้าทางราง ช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรทางถนน ลดมลภาวะทางอากาศอันเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของภาคประชาชน และสิ่งแวดล้อมได้
วันนี้( 15 พ.ค.) บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) โดยนายนาวา จันทนสุรคน กรรมการผู้จัดการใหญ่ พร้อมด้วยนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และนายเสถียร เจริญเหรียญ ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ร่วมเป็นประธานพิธีเปิดเดินขบวนรถพิเศษสินค้าทดลองขนส่งผลิตภัณฑ์เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน ของบริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) โดยพ่วงรถโบกี้บรรทุกตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ (บทต.) พิกัดบรรทุก 46 ตัน จำนวน 3 คัน จากสถานีนาผักขวง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ไปยังที่หยุดรถศรีสำราญ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี โดยมีนายอำเภอบางสะพาน ผู้นำองค์การบริหารส่วนปกครองท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน ผู้บริหารกรมการขนส่งทางราง สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง และคณะผู้บริหารกลุ่มเหล็กสหวิริยาเข้าร่วม
นายนาวา จันทนสุรคน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ เอสเอสไอ กล่าวว่าตามที่ประเทศไทยมีแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี มุ่งยกระดับพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทางรางของประเทศไทยให้มีความทันสมัยและใหญ่สุดในอาเซียน โดยการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ เอสเอสไอซึ่งดำเนินธุรกิจผลิตเหล็กได้ตระหนักถึงโอกาสและประโยชน์ของการขนส่งสินค้าทางราง จึงได้ร่วมมือกับการรถไฟแห่งประเทศไทย ริเริ่มโครงการขนส่งสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนทางรางขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์สรุป 3 ประการ คือ
1.สนองตอบนโยบายของภาครัฐ ช่วยขับเคลื่อนเพิ่มปริมาณ และสัดส่วนของการขนส่งสินค้าเหล็กทางรางให้มากขึ้น 2. บริษัทฯ เชื่อมั่นว่าการขนส่งสินค้าทางราง จะสามารถบรรเทาปัญหาการจราจรทางถนน ลดมลภาวะทางอากาศอันเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของภาคประชาชน และสิ่งแวดล้อมได้ 3. การขนส่งสินค้าทางรางจะเป็นอีกทางเลือกนอกเหนือจากทางบรรทุก ทางเรือ ซึ่งการทดลองเดินขบวนขนส่งวันนี้ จะช่วยให้ทราบผลและช่องว่าง เพื่อร่วมกับ รฟท.พัฒนาให้การขนส่งทางรางต้นแบบสำหรับสินค้าอื่นๆ ให้มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ การรถไฟแห่งประเทศไทยกำลังเร่งพัฒนาระบบคมนาคมทางรางอย่างพลิกโฉม และให้โอกาสบริษัทฯ ได้ริเริ่มดำเนินการขนส่งสินค้าเหล็กทางราง พร้อมสนับสนุนให้อำเภอบางสะพานได้เป็นต้นทางครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ในการเริ่มต้นการขนส่งสินค้าเหล็กทางราง
ด้านนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ร.ฟ.ท. ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาระบบรางมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับระบบโลจิสติกส์ของประเทศให้สามารถแข่งขันทัดเทียมกับนานาชาติ ทั้งด้านโดยสารและการขนส่ง โดยเฉพาะการเพิ่มทางเลือกในการขนส่งสินค้าทางการเกษตรให้แก่พี่น้องเกษตรกร การขนส่งสินค้าภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เนื่องจากการขนส่งสินค้าทางรางถือเป็นระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ ต้นทุนต่ำ ประหยัดพลังงาน และมีความคุ้มค่ามากที่สุด
โดยสามารถขนส่งได้ครั้งละจำนวนมากกว่าทางถนนหลายเท่าตัว ซึ่งที่ผ่านมาการรถไฟฯ ได้สนับสนุนกลุ่มบริษัทพันธมิตรทางการค้า ทดลองเปิดเดินขบวนรถขนส่งสินค้าทางรถไฟ ไปยังศูนย์กระจายสินค้าผ่านเส้นทางรถไฟในหลายเส้นทาง ซึ่งถือว่าเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนถ่ายการขนส่งสินค้าจากถนนมาสู่ระบบราง โดยมีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาระบบรางให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อขนส่งสินค้าในแนวเส้นทางยุทธศาสตร์ให้สามารถเชื่อมโยงกับฐานการผลิตอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมของประเทศ เพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจในการตอบสนองความต้องการของลูกค้า ซึ่งการทดลองขนส่งในพื้นที่นาผักขวงนี้ ถือเป็นมิติหมายที่ดีต่อคนในชุมชน เพราะนอกจากจะช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังสามารถช่วยเปิดโอกาสทางการค้าให้กับชาวบ้านในชุมชนให้สามารถนำสินค้าไปขายไม่เพียงแค่ในประเทศ แต่ยังรวมถึงการขยายตลาดไปสู่ต่างประเทศด้วยเช่นกัน
ด้านนายเสถียร เจริญเหรียญ ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า “จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีศักยภาพด้านอุตสาหกรรม การเกษตร การประมง และแหล่งท่องเที่ยวชุมชนสำคัญมากมาย ศักยภาพด้านการเกษตร และประมงพื้นบ้าน ถือเป็นอาชีพหลักของประชาชนที่สร้างรายได้ในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน ด้านอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มีผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนรายใหญ่ที่สุดในประเทศ คือกลุ่มบริษัทสหวิริยา อีกทั้งยังมีท่าเรือน้ำลึกผู้ให้บริการท่าเรือพาณิชย์เอกชน และรองรับการขนถ่ายวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์เหล็กได้ในปริมาณมากอีกด้วย สำหรับอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าทางระบบราง นับเป็นการเพิ่มทางเลือกใหม่มีความปลอดภัยสูง ต้นทุนน้อย และช่วยลดปัญหาการจราจรทางถนนได้ อีกทั้งในอนาคต หากมีการเชื่อมต่อระบบรางถึงท่าเรือประจวบ จะเป็นการเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าทางรถ ราง และเรือ ได้อย่างไร้รอยต่อ ซึ่งเป็นการยกระดับศักยภาพการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์