เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
ศูนย์ข่าวศรีราชา –ปปช.ภาค 2 ลุยสอบความคืบหน้าโครงการก่อสร้างสนามกีฬาภาคตะวันออกงบดำเนินการหลายร้อยล้านบาทใช้เวลา 15 ปียังไม่เสร็จ ชี้จากนี้ทำงานคู่ขนานเมืองพัทยา ตรวจสอบการจัดทำ TOR การเสนอราคาผู้รับจ้างและการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อให้โครงการแล้วเสร็จ
วันนี้ (26 เม.ย. ) นายสุพจน์ ศรีงามเมือง ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงาน ปปช.ภาค 2 พร้อมคณะได้ลงพื้นที่ตรวจสอบความคืบหน้าการก่อสร้างสนามกีฬาแห่งชาติภาคตะวันออก หลังได้รับร้องเรียนว่าสนามกีฬาแห่งนี้กลายเป็นโครงการมหากาพย์ที่ใช้เวลาในการก่อสร้างนานถึง 15 ปีแต่สุดท้ายก็ยังไม่แล้วเสร็จอีกทั้งอุปกรณ์ เครื่องใช้ต่างๆก็ชำรุดเสียหายเนื่องจากขาดการดูแล
โดยมี นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา ให้การต้อนรับและร่วมหารือเกี่ยวกับการทำงานเชิงรุกในการดูแลตรวจสอบโครงการ รวมทั้งการจัดทำ TOR และการเสนอราคาของผู้รับจ้าง การทำสัญญาและการเบิกจ่ายงบประมาณ เพื่อให้โครงการดำเนินการได้แล้วเสร็จตามเป้าหมายที่กำหนด
สำหรับโครงการก่อสร้างสนามกีฬาภาคตะวันออก เมืองพัทยา จ.ชลบุรี เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2551 ภายใต้แนวคิดของคณะผู้บริหารเมืองพัทยาเมื่อครั้ง นายอิทธิพล คุณปลื้ม เป็นนายกฯ ซึ่งต้องการพัฒนาพื้นที่ 371 ไร่ ในเขต ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง ให้กลายเป็นศูนย์รวมการแข่งขันกีฬาทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศที่มีมาตรฐานสากล
จึงได้ขออนุมัติจัดสรรงบประมาณจากภาครัฐ จำนวน 774 ล้านบาท ตามแผนก่อสร้างตั้งแต่ปี 2551-2560
โดยนายสุพจน์ ศรีงามเมือง ผู้ช่วยเลขาธการสำนักงาน ปปช.ภาค 2 การเดินทางลงพื้นที่ในวันนี้เป็นการเข้าดูสภาพข้อเท็จจริงของสนามฯ หลังมีการร้องเรียนอยู่บ่อยครั้งและยังได้ใช้งบประมาณไปแล้วจำนวนหลายร้อยล้านบาท
“ จากการตรวจสอบก็พบว่าโครงการฯ ถูกปล่อยทิ้งร้างไว้จนเสื่อมโทรม ซึ่งปัญหาหลักมาจากผู้รับเหมาทิ้งงาน ดังนั้นจากนี้ไปจะได้ร่วมกับเมืองพัทยาในการบูรณาการเพื่อติดตาม ตรวจสอบ และดูแลโครงการอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ทุกประการ” ผู้ช่วยเลขาธการสำนักงาน ปปช.ภาค 2 กล่าว
ขณะที่ นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา เผยว่าสาเหตุที่ทำให้โครงการก่อสร้างสนามกีฬาภาคตะวันออก ใช้เวลายาวนานถึง 15 ปี ก็ยังไม่แล้วเสร็จว่า เป็นเพราะปัญหาเรื่องพื้นสนามที่มีลักษณะเป็นหินขนาดใหญ่ที่ยากต่อการขุดเจาะ จนต้องมีการลงนามว่าจ้างทหารช่างเข้าจัดทำโครงการในระยะที่ 2 ภายใต้งบประมาณกว่า 536 ล้านบาท จนแล้วเสร็จได้ตามกำหนด
ส่วนการก่อสร้างในระยะที่ 3 ที่ใช้งบประมาณ 398 ล้านบาท เป็นช่วงที่เกิดปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระบาดที่กินเวลายาวนานถึง 3 ปีขณะที่แรงงานต่างถิ่นและต่างชาติไม่สามารถเดินทางเข้าพื้นที่ได้จนทำให้ผู้รับเหมาละทิ้งงานหลังเบิกงบประมาณไปแล้วจำนวน 12 งวด รวมเป็นเงิน 143.2 ล้านบาท
จนทำให้เมืองพัทยา ต้องยึดเงินประกันจำนวน 50 ล้านบาทแต่ก็พบว่า ผู้รับเหมามียอดติดค้างอยู่อีก 80 กว่าล้านบาท จึงมอบหมายให้สำนักงานกฎหมายแจ้งความดำเนินคดีแล้ว
“ โครงการนี้จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จตามเป้าหมาย ซึ่งที่ผ่านมา เมืองพัทยา ได้มีการขออนุมัติงบผูกพัน 3 ปีจากสภาเมืองพัทยา เพื่อว่าจ้างผู้รับเหมาให้เข้ามาดำเนินการก่อสร้างต่อให้แล้วเสร็จ ซึ่งในงวดแรกได้เสนอขอจัดสรรงบประมาณจำนวน 328 ล้านบาทและได้รับการอนุมัติเห็นชอบเป็นที่เรียบร้อย ปัจจุบันจึงอยู่ในขั้นตอนของพัสดุ ก่อนที่จะเสนอประกวดราคา และจัดซื้อจัดจ้างผู้รับเหมาต่อไป”
นายปรเมศวร์ ยังเผยถึงการที่ ปปช.ภาค 2 ได้เข้าตรวจสอบความคืบหน้าการโครงการฯ ว่าถือเป็นเรื่องดีที่จะมีการทำงานแบบคู่ขนาน เพื่อให้โครงการแล้วเสร็จ เพราะจากนี้ไปจะไม่ปล่อยทิ้งร้างทั้งตัวอาคารและอุปกรณ์ต่างๆ ให้ผุพังไปตามกาลเวลาอีกต่อไปจนกลายเป็น ที่อยู่อาศัยของคนเร่ร่อน