วันเสาร์ ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565, 06.00 น.
ติดเชื้อรวมATKเฉียด5หมื่น
ทุบสถิติรายวัน
ตายเพิ่ม41อายุน้อยสุด3เดือน
‘บิ๊กตู่’ชี้สถานการณ์ไทยไม่เลวร้าย
ปรามอย่าวิจารณ์ให้ปท.เสียหาย
สธ.เดินหน้าโควิดโรคประจำถิ่น
จัดเข้าระบบรักษาแบบผู้ป่วยนอก
แจกยาตามอาการ3สูตรเริ่ม1มี.ค.
ไทยยอดติดเชื้อใหม่นิวไฮ 24,932 ราย ตรวจ ATK เจอ22,509 ราย รวม 4.7 หมื่น ตายเพิ่ม 41 ศพ มีอายุน้อยสุด3 เดือน/สูงสุด 104 ปี “กรุงเทพฯ” ยังรั้งแชมป์ป่วย3,285 ราย ทุบสถิติ “ชลบุรี-ปากน้ำ” เกินหลักพันปลัด สธ. เดินหน้าแผนเปลี่ยนผ่านโควิดเป็นโรคประจำถิ่น เตรียมจัดระบบบริการ “เจอ แจก จบ”ดูแลคนติดเชื้อรูปแบบผู้ป่วยนอก ไม่ต้องนอนรพ.เมื่อตรวจเจอผลบวก หมอพิจารณาแจกยาตามอาการมี 3 สูตร เริ่ม 1 มีนาคม เผย “เชียงใหม่-ภูเก็ต” ดำเนินการอยู่ได้ผลดี ด้าน สปสช.เล็งจ้างพนักงานรับสายด่วน 1330แก้ปัญหาจนท.ไม่พอ ทำให้ปชช.โทรไม่ติด รอนาน นายกฯ ย้ำสถานการณ์โควิดไทยไม่ได้เลวร้าย ปรามอย่าพูดให้เสียหาย ย้ำรบ.พยายามหาเงินชดเชย แต่กลับบอกว่าไม่ทำอะไร
เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.)รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศ ที่จำนวนผู้ติดเชื้อใกล้แตะ 50,000 คน เช่นเดียวกับ ยอดเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเช่นกัน
ติดพุ่ง24,932-ATK22,509รวม4.7หมื่น
โดยผู้ติดเชื้อรายใหม่ 24,932 คน ประกอบด้วย ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 24,447 ราย จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 117 ราย และจากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 201 ราย ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 167 ราย ส่วนผู้ติดเชื้อเข้าข่ายด้วยการตรวจ ATK มีจำนวน 22,509 ราย
ตาย41อายุน้อยสุด3เดือน/สูงสุด104ปี
สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศตั้งแต่ต้นปี 2563 ถึงล่าสุดอยู่ที่ 2,819,282 ราย มีผู้ป่วยรักษาหายแล้วเพิ่มขึ้น 15,744 ราย ส่วนผู้ป่วยอาการหนัก 931 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 254 ราย เสียชีวิต 41 ราย เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 อยู่ที่ 22,809 ราย ผู้เสียชีวิตวันนี้อายุน้อยที่สุดเพียง 3 เดือน และอายุมากที่สุด 104 ปี
กทม.ทำนิวไฮ-ชล/ปากน้ำทะลุพัน
โดย 10 อันดับจังหวัดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศรายใหม่สูงสุดอันดับ 1 ยังคงเป็นกรุงเทพมหานคร (กทม.) 3,285 ราย 2.ชลบุรี 1,419 ราย 3.สมุทรปราการ 1,128 ราย 4.นครศรีธรรมราช 911 ราย 5.นนทบุรี 775 ราย 6.ราชบุรี 738 ราย 7.สมุทรสาคร 716 ราย 8.ภูเก็ต 684 ราย 9.นครปฐม 649 ราย 10.นครราชสีมา 644 ราย ในกลุ่ม10 อันดับจังหวัดพบว่า กรุงเทพฯ 3,285 ราย เป็นจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่มากที่สุด นับตั้งแต่รอบวันที่ 19 -25 กุมภาพันธ์
BA.2แพร่เร็วกว่าBA.1ถึง1.4เท่า
ด้านศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก หัวข้อโควิด-19 การระบาดสายพันธุ์โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว”ว่า โควิดสายพันธุ์โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.2 เพิ่มขึ้นเร็ว จึงมาแทนที่สายพันธุ์เดลต้า เพราะติดต่อได้ง่ายกว่า จึงมีผู้ป่วยจำนวนมาก แต่ภาพรวมความรุนแรงน้อยกว่าการระบาดระยะแรกของสายพันธุ์โอมิครอน ที่แพร่กระจายได้เร็วแล้ว เป็นสายพันธุ์ BA.1 ต่อมามีสายพันธุ์ใหม่ BA.2 แพร่กระจายได้เร็วกว่า 1.4 เท่าของสายพันธุ์ BA.1 ทำให้โอมิครอน แพร่กระจายได้เร็วขึ้นอีก และเป็นสายพันธุ์ BA.2 ในการศึกษาจะเห็นว่าขณะนี้ สายพันธุ์ BA.2 กำลังจะมาแทนที่สายพันธุ์ BA.1
ได้ทั้งหมดในไม่ช้า จากการศึกษาในแอฟริกาใต้ ผู้ที่ติดเชื้อโอมิครอน BA.1 และ BA.2 ความรุนแรงของโรคไม่ต่างกัน นอกจากพบว่าสายพันธุ์ BA.2 ติดต่อได้ง่ายกว่า ภาพรวมจึงไม่แปลกที่ไทยมีระบาดเพิ่มขึ้น เพราะไวรัสนี้แพร่กระจายและติดต่อได้ง่ายขึ้น
ปรับป่วยโควิดเป็นผู้ป่วยนอกเริ่ม1มีค.
ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เตรียมแผนบริหารจัดการให้โควิด – 19 ออกจากการเป็นโรคระบาดไปสู่การเป็นโรคติดต่อทั่วไปหรือโรคประจำถิ่น คือ การที่โรคลดความรุนแรงลง ไม่มีภาวะอันตรายมาก มีการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันประชาชนมีภูมิต้านทางมากเพียงพอ จะใช้เวลาประมาณ 4 เดือนจากนี้ โดยจัดระบบบริการที่เหมาะสมกับสถานการณ์ เพิ่มการดูแลในระบบผู้ป่วยนอก ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล เรียกว่า “เจอ แจก จบ”
จัดเข้าระบบ“เจอ แจก จบ”
สำหรับ “เจอ แจก จบ” จะตรวจผู้สงสัยป่วยโควิด 19 ด้วยชุดตรวจ ATK หากพบผลเป็นบวก แพทย์จะพิจารณาจ่ายยารักษาตามอาการ 3 สูตรได้แก่ 1.ยาฟาวิพิราเวียร์ 2.ยาฟ้าทะลายโจร 3.ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ แก้ไอ ลดน้ำมูก เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ติดเชื้อในการเข้าถึงบริการ เป็นการเชื่อมโยงเข้าสู่การเป็นโรคที่ดูแลได้ด้วยตนเอง คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้วันที่ 1 มีนาคมนี้
“ขณะนี้มีจ.เชียงใหม่ และภูเก็ต ที่ดำเนินการอยู่แล้ว พบว่าได้ผลดี ส่วนศิริราชพยาบาลวางระบบต้นแบบนี้ไว้เช่นกัน โดยให้ผู้ป่วยดูแลตนเองที่บ้าน ไม่พบคนหมู่มาก พยายามแยกตัวออกจากผู้อื่น ลดการเดินทาง เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ สำหรับกลุ่ม 608 สามารถใช้ระบบนี้ได้ หากเสี่ยงสูง หรือโรคประจำตัวมาก แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาให้การรักษาแบบผู้ป่วยในต่อไป”ปลัด สธ.กล่าว
ติดเชื้อซ้ำสายพันธุ์เดียวกันพบ1ในล้าน
ขณะที่นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวให้สัมภาษณ์ถึงกรณีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซ้ำอีกครั้งในระยะเวลาเพียง 1-2 เดือน ที่อาจเป็นการติดเชื้อโอมิครอน BA.1 แล้วติดซ้ำใน BA.2 หรือไม่ ว่า ถ้าถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ ก็เป็นไปได้ แต่เกิดขึ้นน้อย ไม่ได้เจอบ่อย เป็นข้อยกเว้นต่างๆ ทั้งนี้ การตรวจหาเชื้อโควิดด้วย RT-PCR ก็อาจพบเชื้อได้นานหลายเดือน แต่ไม่ได้แพร่เชื้อแล้ว โอกาสติดซ้ำต่างสายพันธุ์เกิดขึ้นได้อยู่แล้ว แต่หากเป็นสายพันธ์เดียวกัน แล้วติดซ้ำในสายพันธุ์ย่อย โอกาสคงน้อยกว่า 1 ในล้าน หรือ 1 ในสิบล้าน
สายด่วน1330ยังแออัด-จนท.ไม่พอ
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยความคืบหน้าการจัดระเบียบสายด่วนสปสช.1330ที่มีจำนวนประชาชนโทรเข้าไปจำนวนมากนับหมื่นสายว่า สถานการณ์ขณะนี้ยังไม่ดีขึ้น มีคนโทรเข้ามาถามเรื่องเตียงประมาณ2หมื่นสาย จากการตรวจสอบเมื่อวันจันทร์ที่ 21 กุมภาพันธ์พบมีสายหลุดจากกรณีการหาเตียง60% ของสายที่โทรเข้ามาหาเตียงทั้งหมด แต่เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์พบมีสายหลุดอยู่ที่ประมาณ30% ส่วนจำนวนเจ้าหน้าที่ขณะนี้ยังมีไม่เพียงพอจึงอยากขอประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนแอดไลน์@nhso เพื่อเพิ่มเพื่อนสปสช.เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการสื่อสาร
สายไม่จำเป็น1.3พัน-ถามเรื่องเดิม5ครั้ง
นพ.จเด็จกล่าวว่าจากการตรวจสอบข้อมูลสายด่วน สปสช. 1330 พบว่ายังมีผู้ที่โทรเข้ามาโดยไม่จำเป็นอยู่จำนวนหนึ่งโดยมีถึง 1,300 สาย ที่โทรเข้ามามากกว่า 5 ครั้งติดๆ กัน จึงอยากขอเรียนว่า เมื่อได้รับคำตอบแล้วกรุณาเว้นระยะห่างในการโทร เพราะเจ้าหน้าที่ต้องรับทุกสาย หากรับแล้วถามคำถามเดิมอาจจะทำให้ผู้ป่วยรายอื่นไม่ได้รับบริการ ตั้งแต่วันที่ 21-24 กุมภาพันธ์มีจำนวนสายกว่า 4 หมื่นสายในแต่ละวันเข้ามาที่สายด่วน 1330
จ้างจนท.รับสายเพิ่มวันละ600คน
ทั้งนี้ สปสช.รับเจ้าหน้าที่ที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์เข้ามาเพิ่มอีก 150 คน แต่เนื่องจากสายด่วน 1330 ให้บริการตลอด24ชั่วโมง จึงอาจต้องแบ่งกำลัง ช่วงที่มีคนโทรเข้ามามากที่สุดคือ 20.00-21.00 น. บางกรณีคู่สาย 3,000 คู่สายไม่เต็ม แต่เจ้าหน้าที่รับสายไม่ทัน เนื่องจากมีสายโทรเข้ามาพร้อมกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งเคยพบสูงสุดอยู่ที่ 1,800สายต่อวินาที ซึ่งวันที่ 4 มีนาคม จะว่าจ้างบริษัทเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่เข้ามานั่งประจำการอีก 150 คน หลังวันที่ 4 มีนาคมจะมีคนรับโทรศัพท์ทั้งสิ้นวันละ 600 คน
เบื้องต้น สปสช. ประชาสัมพันธ์รับอาสาสมัครเข้ามาช่วยตอบไลน์มากขึ้น มีผู้แจ้งความจำนงมาแล้ว 80 คน รวมของเดิมที่มีอยู่ 18 คน จะเป็นเกือบ100ราย จัดโอนสายโทรศัพท์กลับไปยังหน่วยบริการที่พร้อมรับโทรศัพท์ เช่น กรุงเทพมหานคร(กทม.)มี20 เขต หรือสายด่วนสำนักงานประกันสังคม (สปส.) 1506 โดยระหว่างรอสายเจ้าหน้าที่จะคอยติดตามและยังไม่วางสายจนกว่าจะติดต่อปลายทางได้
“กรณีที่ประชาชนไปตรวจที่หน่วยบริการแล้วพบว่ามีผลเป็นบวก หน่วยบริการจะจัดบริการให้ ไม่จำเป็นต้องโทรมาที่ 1330 เพราะทำให้สายล้นและรอนานจนเกินไป ท่านที่ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ เราจะแนะนำให้เข้าระบบรักษาที่บ้าน (HI) หรือรักษาในชุมชน (CI) เพราะว่าโรงพยาบาลและโรงแรมขณะนี้ หาได้ไม่ง่ายนัก” นพ.จเด็จ ระบุ
โควิดยังเป็นโรคฉุกเฉินรักษาฟรีได้ทุกที่
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ยืนยันว่า จากข้อมูลทางการแพทย์ โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนระบาดเร็ว แต่ประชาชนป้องกันได้ด้วย การปฏิบัติตนตามหลัก Universal Prevention อย่างเคร่งครัด และฉีดวัคซีนตามเกณฑ์ รวมทั้งเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะประชาชนกลุ่ม 608 และเด็กเล็ก ขณะนี้โควิด-19 ยังเป็นโรคฉุกเฉินเข้ารักษาได้ทุกที่ สถานพยาบาลเอกชนไม่สามารถปฏิเสธการรักษาได้ ส่วนการรักษาทั้งที่บ้าน ชุมชน โรงแรม โรงพยาบาล ระบบจะเข้าไปดูแล ประชาชนทุกคนมีสิทธิเข้าถึงบริการสาธารณสุขโดยต้องไม่คิดค่าใช้จ่าย ถือเป็นสิทธิพื้นฐานของทุกคน ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มาตรา 59 ในกรณีผู้รับบริการผู้ใดไม่ได้รับความสะดวกตามสมควรหรือตามสิทธิที่จะได้รับบริการสาธารณสุขที่กําหนดตาม พ.ร.บ. นี้ จากหน่วยบริการ หรือหน่วยบริการเรียกเก็บค่าบริการจากประชาชนโดยไม่มีสิทธิ สามารถร้องเรียนได้ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สายด่วน 1330 กด 12
ระบาดไทยไม่เลวร้ายอย่าพูดให้เสียหาย
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมกล่าวตอนหนึ่งระหว่างเป็นประธานในพิธีเปิดงานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สินครัวเรือน ครั้งที่ 1 กรุงเทพมหานครและปริมณฑลถึงปัญหาการระบาดโควิด-19ในประเทศไทย ไม่ได้เลวร้ายไปกว่าประเทศอื่น จึงขอความร่วมมือ อย่าพูดให้ประเทศเกิดความเลวร้าย ตนไม่ทราบว่าทำไปเพื่ออะไร ทุกคนทำงานเต็มที่ เพื่อไม่ให้เกิดการระบาด ทุกคนมีส่วนร่วมว่าจะทำอย่างไร ประพฤติตนอย่างไรในแต่ละวันไม่ให้เกิดการระบาด เพราะจะนำไปสู่เรื่องการใช้เตียงจากโรงพยาบาล ค่าใช้จ่ายต่างๆ แน่นอนว่ารัฐบาลต้องดูแล เพราะเป็นหน้าที่ แต่ถ้าเราช่วยกัน จะไม่ดีกว่า หรือเพื่อที่จะได้นำงบประมาณไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น ซึ่งตนพร้อมแก้ปัญหาอยู่แล้ว
“เมื่อสถานการณ์ระบาด ผลกระทบของโรค บางส่วนถูกเลิกจ้าง ถูกหักเงินเดือน แม้รัฐบาลจะมีโครงการเข้ามาช่วยเหลือ ต้องถามว่าจะใช้เงินชดเชยอีกเท่าไหร่ ไม่มีก็ต้องหาเงินให้จนมี แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือบอกว่ารัฐบาลไม่ดูแล ผมไม่เข้าใจหลักคิดของคนบางคนคืออะไร” นายกฯ กล่าว
สั่ง50เขตผลATKเป็นบวกส่งเข้าCIได้ทันที.
นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานประชุมเตรียมการป้องกัน ควบคุม และแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรควิด-19 ในกรุงเทพมหานคร ในที่ประชุม สำนักงานประชาสัมพันธ์รายงานสถานการณ์ระบาดในรอบสัปดาห์ จากนั้นสำนักการแพทย์รายงานผลดำเนินงานศูนย์พักคอยในกรุงเทพฯ และสำนักงานเขตรายงานปัญหา อุปสรรคการดำเนินการ นายขจิตเผยว่า จากกรณีนายกฯเป็นห่วงสถานการณ์ระบาด โดยกำชับทุกหน่วยงานสื่อสารทำความเข้าใจประชาชน รวมทั้งจัดช่องทางให้ประชาชนได้แจ้งเรื่อง และให้เร่งเพิ่มประสิทธิภาพระบบ HI/CI ประกอบกับแนวโน้มผู้ป่วยโควิด เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จึงกำชับให้สำนักงานเขตที่ยังไม่มีศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ หรือ CI ในพื้นที่ เร่งจัดตั้ง และให้ขยายศักยภาพเตียงในศูนย์ CI ที่มีอยู่แล้วให้เพียงพอ นอกจากนี้ ให้เขตทบทวนขั้นตอนประสานงานระหว่างสำนักงานและสถนพยาบาลที่จับคู่เพื่อให้ดูแลประชาชนให้ได้รักษาทันที โดยผู้ป่วยที่มีผล ATK เป็นบวก ถ้าประเมินแล้วเข้า CI ได้เลย ไม่ต้องตรวจ RT-PCR ซ้ำ และหากเป็นผู้ป่วยเป็นครอบครัว มีเด็ก หรือเป็นผู้ป่วยติดเตียงที่มีผู้ดูแลมาด้วย รับเข้า CI ได้เช่นกัน
ชลบุรีระบาดพุ่งป่วยนิวไฮ1.4พันคน
วันเดียวกัน มีรายงานสถานการณ์ระบาดหลายจังหวัดที่ยังน่าเป็นห่วง เนื่องจากตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด โดยเพจเฟซบุ๊กสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี (สสจ.ชลบุรี) รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่มี 1,419 ราย แบ่งเป็นคนที่พักอาศัยในจ.ระยอง มารักษาในจ.ชลบุรี 64 ราย สะสม 2,227 ราย และจังหวัดอื่นรวมสะสม 507 ราย คลัสเตอร์ บริษัท ไทรอัมพ์ มอเตอร์ไซเคิลส์ (ไทยแลนด์) จำกัด อ.พานทอง 3 ราย สะสม 27 ราย คลัสเตอร์บริษัท ฟูจิตสึ เจเนอรัล (ประเทศไทย) จำกัด อ.ศรีราชา 3 ราย สะสม 110 ราย คลัสเตอร์บริษัท วิศวกิจพัฒนา จำกัด อ.ศรีราชา 3 ราย สะสม 18 ราย อาชีพเสี่ยงพบปะผู้คน 40 ราย บุคลากรแพทย์ 29 ราย มีประวัติเดินทางมาจากต่างจังหวัด 24 ราย สัมผัสผู้ป่วยยืนยัน ในครอบครัว 289 ราย จากสถานที่ทำงาน 235 ราย บุคคลใกล้ชิด 89 ราย ร่วมวงสังสรรค์ 12 ราย สัมผัสผู้ป่วยยืนยัน (อยู่ระหว่างสอบสวนโรค) 58 ราย อยู่ระหว่างสอบสวนโรค 570 ราย ขณะนี้มีการระบาดเป็นวงกว้างทั้งจังหวัดชลบุรี ร้านอาหารจำหน่ายแอลกอฮอล์ ต้องคัดกรองลูกค้าด้วย ATK ทุกคน และเริ่มระบาดในสถานประกอบการจำนวนมาก พนักงานต้องได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์และเคร่งครัดมาตรการองค์กร
โคราชติดเชื้อ882-ตาย3จับตา17คลัสเตอร์
นายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา รองประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฯ โดยรายงานสถานการณ์ระบาดของจังหวัดพบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่ยังสูง 882 ราย วันนี้มีผู้ป่วยเสียชีวิต 3 ศพ ยอดผู้ป่วยเสียชีวิตสะสม 37 ราย รวมผู้ป่วยสะสม 15,191 ราย รักษาหายสะสม 8,759 ราย ยังรักษาอยู่จำนวน 6,395 ราย พบติดเชื้อในจังหวัด 845 ราย นอกพื้นที่จังหวัด 37 ราย โดยอ.เมืองนครราชสีมาพบเชื้อสูงสุด 154 ราย ทั้งนี้ นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาเป็นห่วงและสั่งเฝ้าระวังการระบาดของคลัสเตอร์ทั้งเก่าและใหม่ 17 คลัสเตอร์ จำแนกการระบาดแบบกระจายเป็นคลัสเตอร์พฤติกรรมเกี่ยวข้องกับ ตลาด 4 คลัสเตอร์ , เกี่ยวข้องกับงานประเพณี 3 คลัสเตอร์ เกี่ยวกับงานศพ 2 คลัสเตอร์ เกี่ยวกับโรงเรียน 4 คลัสเตอร์ เกี่ยวข้องครอบครัว 1 คลัสเตอร์ เกี่ยวกับโรงงาน 3 คลัสเตอร์ และเพิ่มเติมของส่วนราชการ 1 คลัสเตอร์
นครพนมห้ามดื่มเหล้าในร้านถึง15มีค.
ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครพนม มีมติปรับลดจำนวนคนร่วมกิจกรรมต่างๆ หรือรวมกลุ่มของบุคคลไม่เกิน 200 คน ให้แจ้ง ศปก.อำเภอ และรายงานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด กำหนดให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมต้องมีหลักฐานฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม หรือ ATK ไม่เกิน 48 ชั่วโมง มีผลวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ให้ชะลอหรือเลื่อนจัดกิจกรรม งานบุญประเพณี งานมงคลสมรส ระหว่างวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 7 มีนาคม หากจำเป็นต้องจัดให้แจ้งศปก.อำเภอ ให้ผู้จัดหรือผู้รับผิดชอบ งดดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ขบวนแห่และมหรสพทุกชนิด และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิดเคร่งครัด
สำหรับงานศพ ซึ่งต้องจัดระหว่าง วันที่ 25 กุมภาพันธ์- 7 มีนาคม ให้เจ้าภาพจำกัดผู้เข้าร่วมงานไม่เกิน 200 คน ระยะเวลาจัดงานไม่ควรเกิน 3 วัน ให้หลีกเลี่ยงรับประทานอาหารร่วมกัน ไม่ให้มีมหรสพทุกประเภท ขอความร่วมมือข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ บริษัทห้างร้าน สถานประกอบการ และประชาชน งดจัดกิจกรรมทางสังคมงานสังสรรค์ งานเลี้ยง งานรื่นเริง หรือรับประทานอาหารร่วมกัน ยกเว้นบุคคลในครอบครัว ระหว่างวันที่ 25 กุมภาพันธ์ถึง 7 มีนาคม งดจำหน่ายและบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้านจำหน่ายอาหารทุกประเภท มีผลตั้งแต่วันที่ 1-15 มีนาคม