เกาะล้านขาดน้ำอย่างหนัก สม.จี้ฝ่ายบริหารหาทางแก้คาดปัดฝุ่นโครงการวางท่อลอดน้ำประปาใต้ทะเล
เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
ศูนย์ข่าวศรีราชา –เกาะล้านขาดแคลนน้ำประปาอย่างหนัก ทำชาวบ้าน -ผู้ประกอบการเดือดร้อน สม.พัทยา จี้ฝ่ายบริหารหาทางแก้หลังบริษัทผลิตน้ำแบบ RO คู่สัญญาจ่ายน้ำไม่ทันความต้องการหวั่นกระทบธุรกิจท่องเที่ยว ขณะรองนายกเมืองพัทยา เตรียมเสนอปัดฝุ่นโครงการศึกษาวางท่อลอดน้ำประปาใต้ทะเล
จากกรณีที่ นายวสันต์ สุขขี สมาชิกสภาเมืองพัทยา ได้ตั้งกระทู้ถามสดถึงฝ่ายบริหารเมืองพัทยา ในการประชุมสภาเมืองพัทยาเมื่อวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อขอรับทราบถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำประปาบนเกาะล้าน ซึ่งที่ผ่านมามักถูกชาวบ้านร้องเรียนอยู่บ่อยครั้ง และต่างพากันรอคอยความหวังเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม
โดยเฉพาะผู้ประกอบการร้านอาหารและที่พักบนเกาะที่ได้รับความเดือดร้อนไม่แพ้กันเนื่องจากปัจจุบันนอกจากจะอยู่ในช่วงไฮซีซันแล้ว ยังเป็นช่วงการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติหลังไทยเปิดประเทศจนหวั่นว่าจะกระทบเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว
และยังระบุอีกว่าสาเหตุของปัญหาน้ำประปาไม่เพียงต่อความต้องการ บนพื้นที่เกาะล้าน เพราะมีเพียงการจัดทำระบบกรองน้ำทะเลเป็นน้ำจืด หรือระบบ RO (Reverse Osmosis) ของบริษัท อีสวอร์เตอร์ จำกัด แต่เพียงผู้เดียวจึงทำให้มีกำลังผลิตน้ำประปาไม่ถึง 50 % ของปริมาณการใช้ในพื้นที่จนต้องแบ่งการจ่ายน้ำออกเป็น 4 โซนหมุนเวียนกันไปในแต่ละวันนั้น
ล่าสุด นายมาโนช หนองใหญ่ รองนายกเมืองพัทยา ได้ออกมาเปิดเผยถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำประปาบนเกาะล้าน ว่ามี 2 แนวทางคือในระยะสั้น เมืองพัทยา จะต่อสัญญากับ บริษัท อีสวอเตอร์ฯ เพื่อให้ ผลิตน้ำทะเลเป็นน้ำจืดหรือน้ำประปาออกไปอีก 3 ปี
และจะให้มีการเพิ่มกำลังผลิตน้ำจาก 300 ลูกมาศก์เมตรต่อวันเป็น 1,000 ลูกมาศก์เมตรต่อวันเพื่อแก้ ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในระยะสั้นให้กับทั้งประชาชนและนักท่องเที่ยวบนเกาะล้าน
ส่วนการแก้ไขปัญหาในระยะยาว เมืองพัทยา จะได้ทำการศึกษาร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เกี่ยวกับโครงการขยายกำลังผลิตน้ำประปาเพิ่มอีก 3,000 ลูกมาศก์เมตรต่อวันด้วยการวางท่อน้ำประปาจากฝั่งลอดใต้ทะเลไปยังเกาะล้าน และเมื่อนำไปรวมกับกำลังการผลิตน้ำประปาเดิมที่มีอยู่แล้ว 300 ลูกมาศก์เมตรต่อวัน ก็จะทำให้สามารถผลิตน้ำไปประปาได้เพิ่มเป็น 3,300 ลูกมาศก์เมตรต่อวันในอนาคต
โดยการดำเนินการดังกล่าวจะเป็นไปในลักษณะการร่วมทุนกับภาครัฐและเอกชน (Public Private Partner ship หรือ PPP)
“ ในยุคการบริหารก่อนหน้านี้พบว่าเคยมีการวางแผนเพื่อวางท่อลอดของระบบไฟฟ้าและการวางท่อลอดน้ำประปาใต้ทะเลจากฝั่งไปยังพื้นที่เกาะล้านก่อนจะส่งจ่ายให้กับประชาชนและภาคธุรกิจท่องเที่ยว แต่ปัจจุบันกลับเหลือเพียงการวางท่อลอดระบบไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว ส่วนการวางท่อลอดเพื่อแก้ปัญหาน้ำดิบในช่วงประสบปัญหาแหล่งน้ำดิบไม่เพียงต่อการผลิตน้ำประปา จึงทำให้แนวคิดดังกล่าวถูกระงับไป อย่างไร เมืองพัทยา อาจจะได้นำกลับมาศึกษาใหม่อีกครั้ง” รองนายกเมืองพัทยา กล่าว
…