Chonburi Sponsored

คืบหน้าแผนพัฒนาเขื่อนกันคลื่นกัดเซาะชายหาดอ่าวดงตาลสัตหีบเชื่อแล้วเสร็จดึงดูดนักท่องเที่ยวได้อีกเพียบ

Chonburi Sponsored
Chonburi Sponsored

คืบหน้าแผนพัฒนาเขื่อนกันคลื่นกัดเซาะชายหาดอ่าวดงตาลสัตหีบเชื่อแล้วเสร็จดึงดูดนักท่องเที่ยวได้อีกเพียบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ศูนย์ข่าวศรีราชา – คืบหน้าแผนพัฒนาเขื่อนกันคลื่นกัดเซาะชายหาดอ่าวดงตาลสัตหีบ หลังกรมโยธาฯ ทุ่มงบกว่า 47 ล้านบาทฟื้นฟูพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลสัตหีบให้เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจชมพระอาทิตย์ตกดิอย่างยั่งยืน

วันนี้ ( 12 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานได้ลงพื้นที่สำรวจความคืบหน้าโครงการฟื้นฟูบูรณะปรับปรุงภูมิทัศน์ชายหาดดงตาล อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี อีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลยอดนิยมที่ประชาชนและนักท่องเที่ยวมักพากันเดินทางเข้ามาพักผ่อนหย่อนใจและนั่งชมพระอาทิตย์ตกดินในยามเย็น ซึ่ง กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้นำอ่าวดงตาลสัตหีบ เข้าสู่แผนพัฒนาภายใต้โครงการการสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งตลอดความยาว 400 เมตร

โดยจะพัฒนาเขื่อนในลักษณะพื้นผิวด้านบนเป็นพื้นซีเมนต์ ที่นักท่องเที่ยวสามารถใช้เป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ (จากเดิมพื้นดิน) ได้นอกเหนือจากการรักษาพื้นที่บริเวณชายฝั่ง ส่วนในทะเลได้นำหินขนาดใหญ่ถมเป็นแนวเอียงราบ เพื่อให้สามารถเดินลงไปในทะเลได้ด้วยความปลอดภัย และหากนักท่องเที่ยวพลัดตกลงไปในทะเล ก็สามารถช่วยเหลือตัวเองได้

ขณะที่แผนการก่อสร้างเริ่มตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค.65 และมีระยะเวลาสิ้นสุดโครงการในวันที่ 1 ต.ค.67 รวมระยะเวลา 650 วัน ภายใต้งบประมาณ 47,440,000 บาท ซึ่งขณะนี้มีความคืบหน้าไปมาก


โดยในเบื้องต้นเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งจะหันหน้าออกไปในทะเลที่เต็มได้ด้วยเกาะแก่งต่าง ๆ และยังมีภาพความสวยงามของท่าเรือน้ำลึกสำหรับใช้จอดเรือรบหลวงแห่งราชนาวีไทย

และหากโครงการแล้วเสร็จคาดว่าจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางเข้ามาในพื้นที่ได้อีกมาก เพราะนอกจากประชาชนและนักท่องเที่ยวจะได้ชื่นชมความงามยามพระอาทิตย์อัสดงตกลงสู่หลังทิวเขาสูงแล้ว บริเวณถนนเลียบชายทะเลตลาดสัตหีบ ยังถือเป็นถิ่นประมงเก่าแก่ที่มีอายุยาวนานนับร้อยปีและยังมีเอกลักษณ์ต้นตาลสูงตลอดแนวชายหาดที่ยังคงความสวยงามทางธรรมชาติได้เป็นอย่างดี

Chonburi Sponsored
อำเภอ สัตหีบ

ช่วงประมาณรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 สัตหีบเป็นเพียงหมู่บ้านชายทะเล ชาวบ้านประกอบอาชีพทำไร่ ทำนา หาของป่า และประมง การคมนาคมจะใช้ทางน้ำโดยเรือเมล์หรือเรือใบ ส่วนทางบกมีแต่ทางเกวียน ถนนไปชลบุรียังไม่มี ภูมิประเทศส่วนใหญ่ยังเป็นป่ารกทึบ การเดินทางระหว่างเมืองจึงใช้เรือเป็นหลัก ในหมู่บ้านสัตหีบ มีผู้ที่ชาวบ้านนับหน้าถือตามากอยู่คนหนึ่ง ชาวบ้านเรียกว่า "ยายแจง" แกมีฐานะดีมี ที่ดิน เรือ สวน ไร่นามากมาย ตลาดสัตหีบ หนองตะเคียนและโรงเรียนสิงห์สมุทรรวมถึงบริเวณเขาแหลมเทียนอันเป็นที่ตั้งของฐานทัพเรือสัตหีบในปัจจุบันก็เคยเป็นของแก ต่อมา เมื่อกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ทรงฝึกภาคทะเลกับกองเรือและทรงพักที่อ่าวสัตหีบ ทรงเห็นว่าอ่าวสัตหีบเหมาะเป็นที่ตั้งหน่วยเรือ เพราะมีเกาะใหญ่น้อยช่วยกำบังคลื่นลม พระองค์จึงได้บอกถึงพระประสงค์ที่จะใช้บริเวณเขาแหลมเทียนเป็นที่ตั้งหน่วยทหารเรือ ยายแจงก็ยินดีที่จะถวายให้