Chonburi Sponsored

'อาจารย์ธรณ์' ไขข้อสงสัย ภาพลูกพะยูนเกาะหลังเต่า เพราะพลัดหลงแม่-เต่ารับเลี้ยง

Chonburi Sponsored
Chonburi Sponsored

‘อาจารย์ธรณ์’ ไขข้อสงสัย ภาพลูกพะยูนเกาะหลังเต่า เพราะพลัดหลงแม่-เต่ารับเลี้ยง

31 มกราคม 2566, 10:23น.

           อาจารย์ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นักวิจัยด้านท้องทะเล โพสต์ภาพพะยูนน้อย ว่ายน้ำคลอเคลียเกาะหลังเต่าตนุ ที่อ่าวดงตาล อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี คล้ายกับยึดเอาเต่าตนุเป็นแม่ เนื่องจากเต่าตนุตัวนี้ มีขนาดใหญ่มาก อาจารย์ศักดิ์อนันต์ คาดว่า หากเต่าตัวนี้ไม่ช่ำชองในพื้นที่ คงติดอวนประมงตายไปนานแล้ว เต่าจึงรู้ว่าเส้นทางไหนปลอดภัย อะไรกินได้ กินไม่ได้ จึงรับดูแลพะยูนน้อยตัวนี้

          ด้าน ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาพนี้ว่า ธรรมชาติของลูกพะยูน เมื่ออยู่กับแม่ จะลอยตัวเหนือแม่ เพราะภัยอันตรายจะมาจากด้านล่าง เช่น  ฉลามจู่โจม  ส่วนศัตรูทางธรรมชาติจากด้านบนไม่มี เพราะไม่มีนกชนิดใดที่กินพะยูน นอกจากนี้ การอยู่ด้านบน ยังมีแม่คอยหนุนเวลาโผล่หายใจ เป็นพฤติกรรมของลูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมในทะเลทั้งหลาย ตั้งแต่เริ่มเกิด

          แต่เมื่อเกิดพลัดหลงกับแม่ด้วยสาเหตุต่างๆ  ลูกพะยูนจะหาสัตว์ใหญ่ที่ยอมรับตัวเองให้เข้าไปอยู่ด้วย แต่จริงๆแล้วเรื่องนี้เกิดขึ้นยากมาก เพราะพะยูนตัวอื่นคงไม่ยอมรับ อีกทั้งที่อ่าวดงตาล ก็มีพะยูนไม่มากนัก ซึ่งตามข้อมูล พบว่ามีประมาณ 5 ตัว ดังนั้น สัตว์ใหญ่ที่จะโผล่ขึ้นมาหายใจเหนือน้ำเป็นระยะ คงมีแต่เต่าตัวใหญ่ ที่มีอยู่พอสมควร เนื่องจากพื้นที่สัตหีบมีเกาะคราม เกาะแห่งเต่าอันดับหนึ่งของไทย

          อาจารย์ธรณ์ บอกว่า ลูกพะยูนตัวนี้ คงสับสนในชีวิต กลัวไปหมดทุกอย่าง เมื่อว่ายไปเจอเต่าตนุ จึงขออยู่ด้วย เต่าใหญ่คงไม่ว่าอะไร อยากอยู่ก็อยู่ไป จึงกลายเป็นภาพการพึ่งพาของ 2 ชีวิต

          อาจารย์ธรณ์ ยังบอกด้วยว่า ตามปกติแล้ว เต่าตนุกินอาหารหลายอย่าง รวมถึงหญ้าทะเล  จึงเป็นเรื่องปกติที่จะพบเต่าอยู่ในแหล่งหญ้า ลูกพะยูนจึงคอยพึ่งพิงเต่า อาศัยอยู่ในแหล่งหญ้าทะเลที่เป็นอาหารร่วมกัน แต่อาจารย์ธรณ์ ยังเป็นห่วงว่า ลูกพะยูนน้อยตัวนี้ หย่านมหรือยัง กินแต่หญ้าอย่างเดียวจะรอดหรือไม่ และจะเรียนรู้พฤติกรรมเพื่อดำรงชีวิตจากใคร แต่การที่ลูกพะยูนมาอยู่กับเต่าได้ แค่นี้ก็เป็นที่สุดของปาฏิหาริย์  ซึ่งอาจารย์ยังไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน และหวังว่า ลูกพะยูนอยู่รอดต่อไปให้นานที่สุด รอดจนเติบใหญ่ กลายเป็นเมาคลีแห่งท้องทะเล เป็นเครื่องเตือนใจเราว่า เมื่อไม่ยอมแพ้ ชีวิตย่อมมีหนทาง  แม่หาย กำพร้า หลงทางกลางทะเล ยังสู้ต่อไป ถือเป็นภาพเด็ดสุดในรอบหลายปีของทะเลไทย

#ลูกพะยูนเกาะหลังเต่า

cr : Sakanan Plathong

cr : Thon Thamrongnawasawat

ข่าวทั้งหมด

Chonburi Sponsored
อำเภอ สัตหีบ

ช่วงประมาณรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 สัตหีบเป็นเพียงหมู่บ้านชายทะเล ชาวบ้านประกอบอาชีพทำไร่ ทำนา หาของป่า และประมง การคมนาคมจะใช้ทางน้ำโดยเรือเมล์หรือเรือใบ ส่วนทางบกมีแต่ทางเกวียน ถนนไปชลบุรียังไม่มี ภูมิประเทศส่วนใหญ่ยังเป็นป่ารกทึบ การเดินทางระหว่างเมืองจึงใช้เรือเป็นหลัก ในหมู่บ้านสัตหีบ มีผู้ที่ชาวบ้านนับหน้าถือตามากอยู่คนหนึ่ง ชาวบ้านเรียกว่า "ยายแจง" แกมีฐานะดีมี ที่ดิน เรือ สวน ไร่นามากมาย ตลาดสัตหีบ หนองตะเคียนและโรงเรียนสิงห์สมุทรรวมถึงบริเวณเขาแหลมเทียนอันเป็นที่ตั้งของฐานทัพเรือสัตหีบในปัจจุบันก็เคยเป็นของแก ต่อมา เมื่อกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ทรงฝึกภาคทะเลกับกองเรือและทรงพักที่อ่าวสัตหีบ ทรงเห็นว่าอ่าวสัตหีบเหมาะเป็นที่ตั้งหน่วยเรือ เพราะมีเกาะใหญ่น้อยช่วยกำบังคลื่นลม พระองค์จึงได้บอกถึงพระประสงค์ที่จะใช้บริเวณเขาแหลมเทียนเป็นที่ตั้งหน่วยทหารเรือ ยายแจงก็ยินดีที่จะถวายให้