Chonburi Sponsored

จิตอาสาชลบุรี สานพลัง “ช่วยพ่อดูแลคลองหลวง” รวมใจพัฒนาอ่างเก็บน้ำคลองหลวง รัชชโลทร “ท้องน้ำพระมหากษัตริย์”

Chonburi Sponsored
Chonburi Sponsored

     เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2566 ณ ลานพลับพลา อ่างเก็บน้ำคลองหลวง รัชชโลทร อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลท่าบุญมี อำเภอเกาะจันทร์ จังหวัดชลบุรี นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี และในฐานะ ผอ.ศอ.จอส.พระราชทานจังหวัด นำข้าราชการตุลาการ ทหาร ตำรวจ หัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน และประชาชนประกอบพิธีทำบุญครบรอบ 7 ปี สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จทรงเปิดโครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวง รัชชโลทร อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2559 เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำรัสให้พิจารณาก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองหลวง สำหรับกักเก็บน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ ดูแลรักษาระบบนิเวศให้กับพื้นที่และช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ต่อจากนั้น ได้เปิดโครงการจิตอาสาพัฒนา “เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” ช่วยพ่อดูแลคลองหลวง โดยการปลูกต้นไม้ ปล่อยพันธุ์ปลา ทำความสะอาดและกำจัดวัชพืชในพื้นที่โครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวง รัชชโลทร อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

     ทั้งนี้ โครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวง รัชชโลทร อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดชลบุรี เป็นโครงการพระราชดำริในหลวง ร.9 ที่ทรงพระราชทานไว้อำนวยประโยชน์แก่ชาวไทยทุกพื้นที่ครอบคลุมการแก้ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติทั้งดิน น้ำ และป่า สร้างชีวิตสร้างผลผลิตให้ดีขึ้น ช่วยให้ชาวบ้านรอดพ้นทุกข์จากภัยน้ำท่วมและมีน้ำกินน้ำใช้อย่างมีความสุข ซึ่งอ่างเก็บน้ำคลองหลวง รัชชโลทร เป็นอ่างขนาดใหญ่ เป็นเขื่อนดินสูง 21.85 เมตร กว้าง 8 เมตร ความยาวสันเขื่อน 3,829 เมตร เก็บกักน้ำได้ 98 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทานได้ถึง 44,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 11 ตำบลในอำเภอเกาะจันทร์และอำเภอพนัสนิคม รวมถึงเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ และปัจจุบันชาวบ้านบริเวณรอบอ่างและในพื้นที่มีการรวมกลุ่มอาชีพทั้งเกษตรทฤษฎีใหม่ ประมง และแปรรูปผลผลิตมากมาย เกิดชุมชนเข้มแข็งสืบสานแนวพระราชดำริด้วยความเชื่อมั่นในหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อหลวง นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งจัดสรรน้ำให้โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี และยังเตรียมขยายผลต่อยอดโครงการฯ เพื่อทำให้การใช้น้ำมีความมั่นคงเพิ่มขึ้น

Chonburi Sponsored
อำเภอ พนัสนิคม

สมัยเมืองพนัสนิคม ในปี พ.ศ. 2371 กำเนิดเมืองขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชานุญาตให้กลุ่มลาวอาสาปากน้ำมาสร้างภูมิลำเนาขึ้นในพื้นที่รกร้างระหว่างเมืองชลบุรีกับเมืองฉะเชิงเทรา พระราชทานนามเมืองว่าพนัสนิคม (บางเอกสารเขียน“พนัศนิคม”) มีฐานะเป็นเมืองจัตวา ขึ้นกับกรมท่า กรุงเทพมหานคร ให้ท้าวอินทิสาร (บางเอกสารเขียน”อินทพิศาล”) หรือ ท้าวทุม ปลัดลาว เมืองสมุทรปราการ บุตรชายคนโตของท้าวไชย (บางเอกสารเขียน”ศรีวิไชย”) อุปราชเมืองนครพนม ให้เป็นเจ้าเมืองพนัสนิคมคนแรกและพระราชทานราชทินนามและบรรดาศักดิ์ที่พระอินทอาษา (บางเอกสารเขียน“อินทรอาษา, อินทอาสา, อินทราษา“) มีข้อความในพระราชพงศาวดารว่า “พวกลาวอาสาปากน้ำ ตั้งขึ้นเมื่อครั้งในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าสุลาลัย ภายหลังเมื่อปีชวดสัมฤทธิศก พวกลาวไม่สบาย ขอไปตั้งอยู่ที่เมืองพระรถ จึงโปรดให้ตัดเอาแขวงเมืองชลบุรี เมืองฉะเชิงเทรา มาตั้งเป็นเมืองขึ้นชื่อเมืองพนัศนิคม เจ้าเมืองชื่อพระอินทอาษา” (พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 เล่ม 2 ของ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ฉบับคุรุสภา พิมพ์ครั้งที่หนึ่ง พ.ศ. 2504 หน้า 180) โดยลาวบุกเบิกเมืองพนัสนิคม เป็นลาวเมืองนครพนม อ้างถึงการอพยพมาสยามครั้งแรกนำโดยท้าวไชย อุปราชเมืองนครพนม เป็นโอรสในพระบรมราชา (ท้าวกู่แก้ว) เจ้าเมืองนครพนม (เมืองนครพนมในอดีต เป็นหัวเมืองในราชอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ ประเทศราชของสยาม) ไม่สมัครใจอยู่ในปกครองของพระบรมราชา (มัง) เจ้าเมืองนครพนมคนใหม่ จึงอพยพพาสมัครพรรคพวก บุตรหลาน ท้าวเพี้ย ขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2352 และโปรดเกล้าฯให้ตั้งบ้านเรือนอยู่คลองมหาวงษ์ เมืองสมุทรปราการ ยุคนั้นจึงเรียกคนกลุ่มนี้ว่าพวกลาวอาสาปากน้ำ แต่ทนสภาพแวดล้อมไม่ไหว เพราะเป็นชาวดอนน้ำจืด ถูกให้ไปอยู่เมืองลุ่มน้ำกร่อยและเค็ม เลยขอเปลี่ยนไปอยู่ที่อื่น ซึ่งสภาพใกล้เคียงที่ดอน ลาวนครพนมกลุ่มนี้ได้บุกเบิกสร้างเมืองพนัสนิคม