เมื่อวันที่ 28 ม.ค. ที่ จ.ชลบุรี นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง (ยผ.) พร้อมด้วยนายพงษ์นรา เย็นยิ่ง รองอธิบดี ยผ. นายสักรินทร์ อินทรสถิตย์ ผอ.สำนักสนับสนุนและพัฒนาตามผังเมือง น.ส.สุภัทรา ชัยเทวารัณย์ ผู้ตรวจราชการ ยผ. และนายญาณศิลป์ ภัสรางกูร ยผ.จ.ชลบุรี และคณะผู้บริหาร ยผ. ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่ชุมชนบางเสร่และพื้นที่ต่อเนื่อง ต.บางเสร่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ภายใต้กรอบโครงการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เพื่อรองรับการขยายตัวของเมือง ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พร้อมสร้างมาตรฐานและความปลอดภัยในการดำรงชีวิต ส่งเสริมศักยภาพการท่องเที่ยววิถีชุมชน ยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนในพื้นที่
นายพงศ์รัตน์ กล่าวว่า เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายในการพัฒนาพื้นที่ EEC เพื่อส่งเสริมการลงทุน ซึ่งจะเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและทำให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตขึ้นโดยครอบคลุมพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา จ.ชลบุรี และ จ.ระยอง ซึ่งนโยบายดังกล่าวส่งผลให้เกิดทิศทางการพัฒนาและการขยายตัวของเมืองเพื่อรองรับกิจกรรมต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต ซึ่งชุมชนบางเสร่ เป็นชุมชนประมงเก่า มีอาคารบ้านเรือนที่มีเอกลักษณ์ เป็นสถานที่พักผ่อนตากอากาศชายทะเลที่มีชื่อเสียง ตลอดจนเป็นย่านการค้าที่สำคัญของ อ.สัตหีบ และ จ.ชลบุรี
“ยผ. เล็งเห็นความสำคัญและความจำเป็นของการวางผังเมืองเพื่อการพัฒนาพื้นที่ในอนาคต จึงได้ดำเนินวางและจัดทำผังเมืองเพื่อพัฒนาพื้นที่เฉพาะชุมชนบางเสร่ และเป็นกรอบแนวทางชี้นำการพัฒนาพื้นที่ชุมชนต่อไป อย่างไรก็ดี โครงการนี้ครอบคลุมพื้นที่ชุมชน ตลอดจนถนนและคลองสาธารณะในเขตเทศบาล ต.บางเสร่ อาทิ การก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ทางเท้า เขื่อนป้องกันตลิ่ง และการปรับปรุงคลองระบายน้ำ” นายพงศ์รัตน์ กล่าว
นายพงศ์รัตน์ กล่าวถึงกรณีที่ชาวบ้านอ.เมืองอ่างทอง จ.อ่างทอง โวยการก่อสร้างโครงการพัฒนาคลองลำท่าแดง ใช้งบประมาณกว่า 158 ล้านบาท หลังสร้างมานานกว่า 4 ปี แต่ยังไม่มีวี่แววว่าจะเสร็จ พบหลายจุดชำรุดแล้ว ผนังคอนกรีตแตกร้าว สายไฟถูกปล่อยทิ้ง ราวเหล็กไม่ยึดนอต ว่า โครงการก่อสร้างที่ล่าช้านี้ เป็นโครงการพัฒนาพื้นที่เฉพาะบริเวณคลองลำท่าแดง อ.เมืองอ่างทอง จ.อ่างทอง ซึ่งในระหว่างทำการก่อสร้าง ได้เกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้ต้องหยุดการก่อสร้างในช่วงระยะเวลาดังกล่าวไป ต่อมาได้รับการผ่อนผันให้ขยายระยะเวลาก่อสร้าง โดยการคิดค่าปรับในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ เป็นผลให้สิ้นสุดสัญญาวันที่ 1 มี.ค. 68
นายพงศ์รัตน์ กล่าวด้วยว่า จากการตรวจสอบพื้นที่โครงการฯ พบปัญหาและงานก่อสร้างบางส่วนที่ชำรุด จึงได้สั่งการให้ดำเนินการแก้ไขแล้ว ซึ่ง ยผ. ได้มีมาตรการเร่งรัดการปฏิบัติงานให้ผู้รับจ้างดำเนินงานก่อสร้างในส่วนที่เหลือ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ ปัจจุบันมีผลการดำเนินงาน 87% โดยงานทั้งโครงการมีกำหนดการจะแล้วเสร็จในเดือน พ.ค. 66 เพื่อให้พี่น้องประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างสะดวกและปลอดภัยต่อไป.