Chonburi Sponsored

จักรพรรดิจีน ลมใต้ปีก 'เจ้านครอินทร์' ครองบัลลังก์กรุงศรีอยุธยา สู่ศูนย์กลางการค้านานาชาติ

Chonburi Sponsored
Chonburi Sponsored

1กรกฎาคม พ.ศ.2518

คือวัน เดือน ปี ที่สาธารณรัฐประชาชนจีนและราชอาณาจักรไทยสถาปนาความสัมพันธ์ ทางการทูตž อย่างเป็นทางการ

อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีว่า บนเส้นทางประวัติศาสตร์ จีนและไทย มีสัมพันธ์ยาวนานก่อน รัฐชาติž จะถือกำเนิด

โบราณวัตถุสถาน เอกสารลายลักษณ์ อีกทั้งวัฒนธรรมหลากหลายที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของผู้คนบนผืนแผ่นดินไทย คือร่องรอยหลักฐานอันแจ่มชัด

แน่นอนว่า หมายรวมถึงเทศกาล ตรุษจีนž ที่คนไทยเชื้อสายจีนเฉลิมฉลองอย่างเปี่ยมสุข ยิ่งใหญ่ และอบอุ่นในหัวใจความเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขจากบรรพบุรุษ

แม้ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์จีน-ไทย จะมากมายด้วยข้อมูลที่ย้อนหลังไปไกลอย่างไม่เกินคาดเดา ทว่า ปัจจุบันยังคงมีการนำเสนอข้อมูลใหม่ๆ ที่น่าสนใจยิ่ง หนึ่งในนั้นคือ ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับ โซเมียž ที่ราบในหุบเขาสูงทางตอนใต้ของจีน หรือทางตอนล่างของแม่น้ำแยงซี พื้นที่อยู่อาศัยของ เยว่ž ซึ่งเป็นคำเรียกรวมหลากกลุ่มของคนต่างภาษา หนึ่งในนั้นคือ ไท-ไต หรือไท-กะได ตระกูลภาษาที่คน ไทยž ในปัจจุบันใช้ในการสื่อสาร โดยเชื่อว่าพื้นที่ดังกล่าวคือแหล่งเก่าสุดของตระกูลภาษาไท-ไต ผู้คนในโซเมียโยกย้ายหลายทิศทางตามเส้นทางการค้า กระทั่งลงไปตั้งหลักแหล่ง มีอำนาจทางภาษาและวัฒนธรรม อยู่ร่วมกับคนในตระกูลภาษาอื่น ต่อมา กลุ่มที่อาศัยอยู่ในดินแดนที่จะกลายเป็นประเทศไทยในภายหลังสืบมาจนปัจจุบัน เรียกตนเองว่า คนไทยž (อ่าน จาก‘โซเมีย’ถึงสยาม 3,000 ปี จีน-ไทย ‘ใช่อื่นไกล…พี่น้อง’)

ตลอดระยะเวลาอันยาวนานกว่า 3,000 ปี จีนและไทยผูกสัมพันธ์แนบแน่น ลึกซึ้ง โดยในห้วงหนึ่งของประวัติศาสตร์ ปรากฏเหตุการณ์สำคัญอันนำมาสู่ความรุ่งโรจน์ของบ้านเมืองภายใต้การสนับสนุนของ จักรพรรดิจีนž นั่นคือ การขึ้นเสวยราชย์ของ สมเด็จพระนครินทราธิราชž หรือ เจ้านครอินทร์ž แห่งกรุงศรีอยุธยา กษัตริย์ผู้นำพาความมั่งคั่งมาสู่อดีตราชธานีของไทยผ่านการค้าขายทางทะเลกับอารยประเทศ สร้างความเป็นปึกแผ่นทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง ผลักดันเมืองท่าเล็กๆ ซึ่งเอกสารจีนเรียกว่า เสียนหลอž สู่ศูนย์กลางการค้านานาชาติ ปักหมุดบนแผนที่โลกอย่างภาคภูมิ

ประติมากรรมขนาดเล็กรูปหงส์ สัตว์มงคลของจีน พบในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ

อ่านชีวิต เจ้านครอินทร์ž
ผ่าน หมิงสือลู่ž-จดหมายเหตุราชวงศ์หมิง

สมเด็จพระนครินทราธิราช มีพระนามเดิมว่า อินทราชาž ทรงเป็นพระโอรสในสมเด็จพระบรมราชาธิราช หรือ ขุนหลวงพะงั่วž เดิมดำรงพระอิสริยยศ เจ้านครอินทร์ž หมายถึง ผู้เป็นใหญ่ในเมืองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ คือ พระอินทร์ ครองเมืองสุพรรณบุรี หรือรัฐสุพรรณภูมิ ราว 15-17 ปี ระหว่าง พ.ศ.1914-1929 หรือ 1931 (เอกสารบันทึกแตกต่างกัน)

เจ้านครอินทร์ทรงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดเป็นพิเศษกับจีน จึงชำนาญการค้าสำเภาและการค้าทางทะเลระยะไกลกับบ้านเมืองต่างๆ ทั้งในและนอกภูมิภาคอุษาคเนย์ หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้นเมื่อเสวยราชย์ขึ้นเป็นกษัตริย์อยุธยา ทรงวางรากฐานสรรค์สร้างให้เป็นรัฐการค้าทางทะเล ซึ่งนำไปสู่การค้าโลก

รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เปิดเผยว่า แม้พระราชพงศาวดารของไทยจะไม่ปรากฏรายละเอียดเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระองค์ ทว่า จดหมายเหตุราชวงศ์หมิง กลับกล่าวถึงเป็นจำนวนมากตั้งแต่ก่อนขึ้นครองราชย์ ไม่ว่าจะเป็นการเสด็จไปเฝ้าจักรพรรดิจีนที่กรุงนานกิง ในรัชกาลขุนหลวงพะงั่วโดยขณะนั้นเจ้านครอินทร์ดำรงตำแหน่งรัชทายาท

หมิงสือลู่ž บันทึกเรื่องราวของสยามจากหอหลวงของราชสำนักจีน ในรัชศกหย่งเล่อ ปีที่ 2 เดือน 9 วันซินไฮ่ ตรงกับวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ.1946 ออกพระนามเจ้านครอินทร์ว่า เสียมหลอกั๋วหวางเจาลู่ฉินอิงตัวหลัวตีล่าž คือ เจ้านครินทราธิราชกษัตริย์แห่งเสียมหลอ โดยทรงได้รับการรับรองสถานภาพความเป็นกษัตริย์โดย จักรพรรดิหมิงเฉิงจู่ž ซึ่งประทานตราโลโตดวงใหม่ ชุดเสื้อเครื่องยศตัดเย็บด้วยไหมกรองทอง และส่งขันทีมาอ่านประกาศ อย่างไรก็ตาม สมเด็จพระนครินทราธิราชเสด็จจากเมืองสุพรรณมาครองกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ.1952

นับเป็นกษัตริย์ที่มีความสำคัญ โดยครองถึง 3 รัฐ ได้แก่ 1.รัฐสุพรรณภูมิ ซึ่งสืบต่อมาเป็นเมืองสุพรรณบุรี 2.รัฐสุโขทัย เนื่องจากเจ้านครอินทร์เป็นโอรสขุนหลวงพะงั่ว 3.รัฐอยุธยาในนามสมเด็จพระนครินทราธิราช

วัดราชบูรณะ เชื่อว่าเจ้าสามพระยาสร้างถวายสมเด็จพระนครินทราธิราช มีกรุบรรจุวัตถุล้ำค่ามากมายในพระปรางค์
เพดานกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ เป็นลาย ‘ยู่อี่’ ลงสีแดงสด ดำ ขาว ปิดทอง สะท้อนอิทธิพลจีนในยุคต้นกรุงศรีอยุธยา

จีนคุมเส้นทาง ข้ามคาบสมุทรž
ส่งอยุธยาสู่ รัฐการค้าทางทะเลž

สำหรับปัจจัยสำคัญที่ทำให้จีนสนับสนุนเจ้านครอินทร์แห่งสุพรรณฯ ที่มีความใกล้ชิดกันอยู่แล้วนั้น ยกทัพมายึดกรุงศรีอยุธยาจาก พระรามราชา กษัตริย์อยุธยาในขณะนั้น เนื่องมาจากเหตุผลด้านการค้า

สุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้ก่อตั้งนิตยสารศิลปวัฒนธรรม มองว่า จีนปรารถนาที่จะควบคุมเส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทร มีการส่ง เจิ้งเหอž คุมกองทัพเรือใหญ่ เดินทางตลอดอ่าวไทยไปถึงแอฟริกา

“จีนต้องการคุมเส้นทางข้ามคาบสมุทร เพราะสามารถเดินทางต่อไปยังอินเดียและตะวันออกกลางได้ เจ้านครอินทร์ แห่งสุพรรณฯ ทรงมีความชำนาญการค้าทางทะเล มีเครือข่ายมากมาย ทั้งมลายู จาม จีนจึงหนุนสุพรรณฯ เพราะใช้ภาษาตระกูลไต-ไทเป็นหลักซึ่งสื่อสารง่าย ในขณะที่อยุธยายังใช้ภาษาเขมร เพราะเป็นรัฐที่สืบทอดจากละโว้-อโยธยา

เราพบเอกสารจีนว่าช่วงที่เกิดความปั่นป่วนในอยุธยา เจิ้งเหอยกกองเรือมา จีนสนับสนุนให้เจ้านครอินทร์ยกทัพจากสุพรรณฯ มายึดอยุธยา จับพระรามราชา หลังสุพรรณยึดอยุธยาสำเร็จแล้ว เจ้านครอินทร์ขึ้นเป็นกษัตริย์อยุธยา ภาษาไทยกลายเป็นภาษากลางทางการค้าแทนภาษาเขมร”Ž สุจิตต์อธิบาย

ย้อนไปก่อนหน้านั้น ขุนหลวงพะงั่วส่งโอรส คือเจ้านครอินทร์ลงเรือไปเมืองจีน 2 ครั้ง แต่ละครั้งใช้เวลานานนับปี เพราะยุคนั้น การเดินทางต้องรอมรสุม แต่ที่ผ่านมามักเข้าใจผิดกันว่าพระร่วงที่ไปเมืองจีน คือพ่อขุนรามคำแหง

อยุธยาเป็นเสมือนสถานีการค้ากับจีน และชุมทางเส้นทางคมนาคมหลายทิศทาง และเชื่อมแม่น้ำออกทะเลสมุทรอ่าวไทย สู่น่านน้ำนานาชาติ ซึ่งมีคนนานาชาติพันธุ์ไปมาค้าขายไม่ขาดสาย ที่จะส่งออกภายในสู่ภายนอก แล้วนําเข้าภายนอกสู่ภายใน

การเดินเรือขาไปจากจีน ในฤดูหนาว มีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดจากจีนไปทางสยาม

ขากลับจากสยาม ในฤดูร้อน มีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดจากสยามไปทางเมืองจีน

สิงโตทองคำแบบจีน พบในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จัดแสดงในอาคารจัดแสดงเครื่องทอง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา
จอกน้ำทองคำ ตกแต่งด้วยเทคนิคการดุนเป็นลายดอกไม้แทรกลายใบไม้อย่างอ่อนช้อย ซึ่งนักโบราณคดีสันนิษฐานว่าได้รับแรงบันดาลใจจากลวดลายของเครื่องลายครามจีน

ขอ ’ช่างจีน’ž สอนทำ สังคโลกž สินค้าใหม่ส่งออก

การที่เจ้านครอินทร์เสวยราชย์เป็นกษัตริย์อยุธยา ราชอาณาจักรสยามž จึงถือว่าเกิดขึ้นอย่างแท้จริง เพราะสามารถควบคุมได้ทั้งสุพรรณฯ อยุธยา นครศรีธรรมราช และอื่นๆ ความเป็นปึกแผ่น และมั่งคั่งของอยุธยาชัดเจนขึ้นตามลำดับ

ศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม ระบุว่า ในรัชกาลสมเด็จพระนครินทราธิราช เป็นช่วงที่กรุงศรีอยุธยาเริ่มเป็นศูนย์กลางของราชอาณาจักรอย่างแท้จริง มีอาณาเขตกว้างขวางอันเนื่องจากการรวม สุพรรณภูมิž และ สุโขทัยž เข้ามาไว้ในอำนาจ การติดต่อค้าขายกับภายนอกโดยเฉพาะจีน ส่งผลให้อยุธยาเป็นศูนย์กลางการค้าขายทั้งในและนอกประเทศ มีการรับและเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ อาทิ ทรงขอช่างปั้นจีนมาสอนและทำถ้วยชามสังคโลก โดยเลือกสุโขทัยและศรีสัชนาลัยเป็นแหล่งอุตสาหกรรม เพราะดินดี เหมาะแก่การทำเครื่องปั้นดินเผา ซึ่งต่อมามีการส่งขายต่างประเทศและหมู่เกาะใกล้เคียง เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย นับเป็นสิ่งใหม่นอกจากการส่งของป่าเป็นสินค้าออก

กรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยนี้มีความมั่งคั่งจากการค้า ทำให้เกิดการซื้อสินค้าหรูหราจากต่างประเทศ อาทิ ผ้าแพร ผ้าต่วน เครื่องประดับอันวิจิตร อีกทั้งเครื่องเคลือบงดงามจากจีน เป็นต้น

ตลับทองคำลายดอกไม้แบบจีน บนฝาตกแต่งด้วยลายหงส์คู่เกี่ยวกระหวัดอันเป็นสัตว์เทพประจำทิศใต้ และตัวแทนของฤดูร้อนตามความเชื่อในวัฒนธรรมจีน

รุ่มรวย มั่งคั่ง อารยธรรมจีนในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ

หลักฐานสำคัญที่สะท้อนถึงความมั่งคั่งอลังการในรัชกาลสมเด็จพระนครินทราธิราช ปรากฏอย่างแจ่มชัดในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเชื่อว่าสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 หรือเจ้าสามพระยา สร้างถวายสมเด็จพระนครินทราธิราช พระราชบิดา หาใช่เจ้าอ้าย เจ้ายี่ พระเชษฐาที่ชนช้างชิงราชสมบัติจนสิ้นพระชนม์ทั้งคู่แต่อย่างใด

กรุดังกล่าวบรรจุเครื่องราชูปโภคและเครื่องมหรรฆภัณฑ์ อันเป็นสัญลักษณ์ของพระจักรพรรดิราช หมายถึงเจ้านครอินทร์ มลังเมลืองด้วยเครื่องทองอันมิอาจประเมินค่าได้ ไม่ว่าจะเป็นพระเจดีย์จำลองทองคำ, เครื่องราชกกุธภัณฑ์, เครื่องถนิมพิมพาภรณ์ลวดลายอ่อนช้อย ฯลฯ ซึ่งแม้โดนโจรกรรมอย่างมโหฬารเมื่อ พ.ศ.2500 โบราณวัตถุที่หลงเหลืออยู่ก็ยังมากกว่ากรุพระปรางค์วัดมหาธาตุ ที่กรมศิลปากรขุดพบตั้งแต่แรก จึงย่อมบ่งชี้ถึงความมั่งคั่งของราชสำนักสมเด็จพระนครินทราธิราช อันสัมพันธ์กับการค้าทางทะเล การส่งบรรณาการไปยังราชสำนักหมิง รวมถึงระบบการค้าที่ทรงวางรากฐานไว้และพัฒนาขึ้นอีกในเวลาต่อมา

ท่ามกลางโบราณวัตถุเหล่านี้ หากเพ่งมองในรายละเอียด จะพบอิทธิพลด้านแนวคิดและศิลปกรรมจากจีนหลากหลาย อาทิ ประติมากรรมทองคำรูปสิงห์แบบจีน, ตลับทองคำลวดลายมังกร สัตว์มงคลสูงสุดของจีน ราชาแห่งสัตว์มีเกล็ดทั้งมวล สัตว์เทพประจำทิศตะวันออก ตัวแทนฤดูใบไม้ผลิ, ตลับทองคำลายดอกไม้แบบจีน บนฝาตกแต่งด้วยลายหงส์คู่เกี่ยวกระหวัดอันเป็นสัตว์เทพประจำทิศใต้ และตัวแทนของฤดูร้อนตามความเชื่อในวัฒนธรรมจีน, เหรียญทองรูปหงส์ สัญลักษณ์ความรอบรู้และสิริมงคล รวมถึงความจงรักภักดี, จอกน้ำทองคำ ตกแต่งด้วยเทคนิคการดุนเป็นลายดอกไม้แทรกลายใบไม้อย่างอ่อนช้อย ซึ่งนักโบราณคดีสันนิษฐานว่าได้รับแรงบันดาลใจจากลวดลายของเครื่องลายครามจีน

ไม่เพียงเท่านั้น ในกรุชั้นที่ 2 ยังพบแผ่นทองคำรูปกลม จดจารอักษรจีน 2 ชิ้น

ชิ้นหนึ่ง อ่านว่า จินอวี้หม่านถางž คือ คำอวยพรให้มีเงินทองกองเต็มบ้าน

อีกชิ้น อ่านว่า โซ่วปี๋หนานซานž คือ คำอวยพรให้มีอายุยืนยาวเหมือนภูเขาหนานซาน ซึ่งตั้งอยู่ในมณฑลส่านซี บนแผ่นดินจีน

แผ่นทองคำรูปกลม จดจารอักษรจีน ชิ้นหนึ่ง อ่านว่า จินอวี้หม่านถาง คือ คำอวยพรให้มีเงินทองกองเต็มบ้าน อีกชิ้น อ่านว่า โซ่วปี๋หนานซาน คือ คำอวยพรให้มีอายุยืนยาวเหมือนภูเขาหนานซาน

นอกจากนี้ บนพระพิมพ์ 3 องค์ ยังปรากฏข้อความภาษาจีนที่กล่าวถึงคนจีนที่ร่วมสร้างพระพิมพ์ คาดว่าเป็นชาวจีนที่มีบรรดาศักดิ์ในราชสำนักสมเด็จพระนครินทราธิราชนั่นเอง

อีกมุมน่าสนใจคือ จิตรกรรมบนผนังกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ ซึ่งปรากฏภาพชาวจีน ทั้งขุนนาง เด็ก ผู้ใหญ่ รวมถึงคนรับใช้ บางภาพบนกรุด้านทิศใต้เกี่ยวข้องกับอาหารซึ่งสะท้อนความสำคัญของวัฒนธรรมอาหารจีน ถึงขนาดบันทึกไว้ในกรุอันนับเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ โดยมีผู้สันนิษฐานว่าอาหารจีนเข้าถึงไทยอย่างเป็นทางการสมัยเจ้านครอินทร์ สอดคล้องกับหลักฐานอื่นที่พบ ได้แก่ กระทะเหล็กในสำเภาจีนอายุราว พ.ศ.1900 ที่จมทะเลใกล้เกาะคราม อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี รวมถึงการที่พืชผักถูกขนจากจีนถึงไทย และบ้านเมืองในอุษาคเนย์โดยขบวนเรือสมุทรยาตราของแม่ทัพเจิ้งเหอ

จดหมายเหตุลาลูแบร์ ระบุด้วยว่า ข้าวปลาอาหารในราชสำนักอยุธยาแผ่นดินพระนารายณ์มากกว่า 30 เมนู ปรุงตามตำรับจีนž เพื่อเลี้ยงรับรองคณะราชทูตจากราชสำนักฝรั่งเศส

นับเป็นความสัมพันธ์จีน-ไทยในด้านการเมือง เศรษฐกิจครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ที่ส่งผลต่อสังคม วัฒนธรรม และ ความเป็นไทยž ในวันนี้อย่างลึกซึ้งจนยากปฏิเสธ

ความอลังการของเครื่องทองกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะสะท้อนความมั่งคั่งของกรุงศรีอยุธยาในยุคเจ้านครอินทร์ได้เป็นอย่างดี

3 จักรพรรดิแห่งราชวงศ์หมิงที่เสวยราชย์ร่วมสมัยกับสมเด็จพระนครินทราธิราช

จักรพรรดิหมิงไท่จู่ คือ เมี่ยวเฮ่า (หรือพระนามศาลบรรพชน) ของพระปฐมจักรพรรดิ พระนามเดิม จูหยวนจาง ชื่อปีรัชศกหงหวู่ เสวยราชย์ 23 มกราคม พ.ศ.1911-24 มิถุนายน 1941 ราชธานีอยู่ที่นานกิง

จักรพรรดิหมิงฮุยจง พระราชนัดดาในหมิงไท่จู่ พระราชโอรสในองค์รัชทายาทอี้เหวิน เสวยราชสืบต่อจากพระอัยกา ตามบันทึกกล่าวว่าสวรรคตในพระราชวังหลวงกรุงนานกิง เมื่อแรกไม่ปรากฏพระนามหลังสิ้นพระชนม์ จนต่อมาในปีที่ 1 ของพระจักรพรรดิกวางตี่ (พ.ศ.2187) สมัยหมิงใต้ จึงมีการเฉลิมพระนามเป็น ฮุยจง

จักรพรรดิหมิงเฉิงจู่ คือเมี่ยวเฮ่าของรัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์หมิง ทรงมีพระนามเดิมว่า จู่ตี่ ชื่อปีรัชศกหย่งเล่อ เสวยราชสมบัติตั้งแต่ 17 กรกฎาคม พ.ศ.1945-12 สิงหาคม 1967 เมื่อแรกเสวยราชที่กรุงนานกิง จนถึง พ.ศ.1956 จึงย้ายราชธานีไปยังกรุงปักกิ่ง

ข้อมูลจากหนังสือ เจ้านครอินทร์ เมืองสุพรรณ สร้างสรรค์อยุธยา ราชอาณาจักรสยาม รวมบทความวิชาการ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, สืบแสง พรหมบุญ, ศรีศักร พรหมบุญ, ศรีศักร วัลลิโภดม และรุ่งโรจน์  ภิรมย์อนุกูล / สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พฤศจิกายน 2565

Chonburi Sponsored
อำเภอ สัตหีบ

ช่วงประมาณรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 สัตหีบเป็นเพียงหมู่บ้านชายทะเล ชาวบ้านประกอบอาชีพทำไร่ ทำนา หาของป่า และประมง การคมนาคมจะใช้ทางน้ำโดยเรือเมล์หรือเรือใบ ส่วนทางบกมีแต่ทางเกวียน ถนนไปชลบุรียังไม่มี ภูมิประเทศส่วนใหญ่ยังเป็นป่ารกทึบ การเดินทางระหว่างเมืองจึงใช้เรือเป็นหลัก ในหมู่บ้านสัตหีบ มีผู้ที่ชาวบ้านนับหน้าถือตามากอยู่คนหนึ่ง ชาวบ้านเรียกว่า "ยายแจง" แกมีฐานะดีมี ที่ดิน เรือ สวน ไร่นามากมาย ตลาดสัตหีบ หนองตะเคียนและโรงเรียนสิงห์สมุทรรวมถึงบริเวณเขาแหลมเทียนอันเป็นที่ตั้งของฐานทัพเรือสัตหีบในปัจจุบันก็เคยเป็นของแก ต่อมา เมื่อกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ทรงฝึกภาคทะเลกับกองเรือและทรงพักที่อ่าวสัตหีบ ทรงเห็นว่าอ่าวสัตหีบเหมาะเป็นที่ตั้งหน่วยเรือ เพราะมีเกาะใหญ่น้อยช่วยกำบังคลื่นลม พระองค์จึงได้บอกถึงพระประสงค์ที่จะใช้บริเวณเขาแหลมเทียนเป็นที่ตั้งหน่วยทหารเรือ ยายแจงก็ยินดีที่จะถวายให้