1กรกฎาคม พ.ศ.2518
คือวัน เดือน ปี ที่สาธารณรัฐประชาชนจีนและราชอาณาจักรไทยสถาปนาความสัมพันธ์ ทางการทูต อย่างเป็นทางการ
อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีว่า บนเส้นทางประวัติศาสตร์ จีนและไทย มีสัมพันธ์ยาวนานก่อน รัฐชาติ จะถือกำเนิด
โบราณวัตถุสถาน เอกสารลายลักษณ์ อีกทั้งวัฒนธรรมหลากหลายที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของผู้คนบนผืนแผ่นดินไทย คือร่องรอยหลักฐานอันแจ่มชัด
แน่นอนว่า หมายรวมถึงเทศกาล ตรุษจีน ที่คนไทยเชื้อสายจีนเฉลิมฉลองอย่างเปี่ยมสุข ยิ่งใหญ่ และอบอุ่นในหัวใจความเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขจากบรรพบุรุษ
แม้ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์จีน-ไทย จะมากมายด้วยข้อมูลที่ย้อนหลังไปไกลอย่างไม่เกินคาดเดา ทว่า ปัจจุบันยังคงมีการนำเสนอข้อมูลใหม่ๆ ที่น่าสนใจยิ่ง หนึ่งในนั้นคือ ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับ โซเมีย ที่ราบในหุบเขาสูงทางตอนใต้ของจีน หรือทางตอนล่างของแม่น้ำแยงซี พื้นที่อยู่อาศัยของ เยว่ ซึ่งเป็นคำเรียกรวมหลากกลุ่มของคนต่างภาษา หนึ่งในนั้นคือ ไท-ไต หรือไท-กะได ตระกูลภาษาที่คน ไทย ในปัจจุบันใช้ในการสื่อสาร โดยเชื่อว่าพื้นที่ดังกล่าวคือแหล่งเก่าสุดของตระกูลภาษาไท-ไต ผู้คนในโซเมียโยกย้ายหลายทิศทางตามเส้นทางการค้า กระทั่งลงไปตั้งหลักแหล่ง มีอำนาจทางภาษาและวัฒนธรรม อยู่ร่วมกับคนในตระกูลภาษาอื่น ต่อมา กลุ่มที่อาศัยอยู่ในดินแดนที่จะกลายเป็นประเทศไทยในภายหลังสืบมาจนปัจจุบัน เรียกตนเองว่า คนไทย (อ่าน จาก‘โซเมีย’ถึงสยาม 3,000 ปี จีน-ไทย ‘ใช่อื่นไกล…พี่น้อง’)
ตลอดระยะเวลาอันยาวนานกว่า 3,000 ปี จีนและไทยผูกสัมพันธ์แนบแน่น ลึกซึ้ง โดยในห้วงหนึ่งของประวัติศาสตร์ ปรากฏเหตุการณ์สำคัญอันนำมาสู่ความรุ่งโรจน์ของบ้านเมืองภายใต้การสนับสนุนของ จักรพรรดิจีน นั่นคือ การขึ้นเสวยราชย์ของ สมเด็จพระนครินทราธิราช หรือ เจ้านครอินทร์ แห่งกรุงศรีอยุธยา กษัตริย์ผู้นำพาความมั่งคั่งมาสู่อดีตราชธานีของไทยผ่านการค้าขายทางทะเลกับอารยประเทศ สร้างความเป็นปึกแผ่นทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง ผลักดันเมืองท่าเล็กๆ ซึ่งเอกสารจีนเรียกว่า เสียนหลอ สู่ศูนย์กลางการค้านานาชาติ ปักหมุดบนแผนที่โลกอย่างภาคภูมิ

อ่านชีวิต เจ้านครอินทร์
ผ่าน หมิงสือลู่-จดหมายเหตุราชวงศ์หมิง
สมเด็จพระนครินทราธิราช มีพระนามเดิมว่า อินทราชา ทรงเป็นพระโอรสในสมเด็จพระบรมราชาธิราช หรือ ขุนหลวงพะงั่ว เดิมดำรงพระอิสริยยศ เจ้านครอินทร์ หมายถึง ผู้เป็นใหญ่ในเมืองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ คือ พระอินทร์ ครองเมืองสุพรรณบุรี หรือรัฐสุพรรณภูมิ ราว 15-17 ปี ระหว่าง พ.ศ.1914-1929 หรือ 1931 (เอกสารบันทึกแตกต่างกัน)
เจ้านครอินทร์ทรงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดเป็นพิเศษกับจีน จึงชำนาญการค้าสำเภาและการค้าทางทะเลระยะไกลกับบ้านเมืองต่างๆ ทั้งในและนอกภูมิภาคอุษาคเนย์ หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้นเมื่อเสวยราชย์ขึ้นเป็นกษัตริย์อยุธยา ทรงวางรากฐานสรรค์สร้างให้เป็นรัฐการค้าทางทะเล ซึ่งนำไปสู่การค้าโลก
รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เปิดเผยว่า แม้พระราชพงศาวดารของไทยจะไม่ปรากฏรายละเอียดเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระองค์ ทว่า จดหมายเหตุราชวงศ์หมิง กลับกล่าวถึงเป็นจำนวนมากตั้งแต่ก่อนขึ้นครองราชย์ ไม่ว่าจะเป็นการเสด็จไปเฝ้าจักรพรรดิจีนที่กรุงนานกิง ในรัชกาลขุนหลวงพะงั่วโดยขณะนั้นเจ้านครอินทร์ดำรงตำแหน่งรัชทายาท
หมิงสือลู่ บันทึกเรื่องราวของสยามจากหอหลวงของราชสำนักจีน ในรัชศกหย่งเล่อ ปีที่ 2 เดือน 9 วันซินไฮ่ ตรงกับวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ.1946 ออกพระนามเจ้านครอินทร์ว่า เสียมหลอกั๋วหวางเจาลู่ฉินอิงตัวหลัวตีล่า คือ เจ้านครินทราธิราชกษัตริย์แห่งเสียมหลอ โดยทรงได้รับการรับรองสถานภาพความเป็นกษัตริย์โดย จักรพรรดิหมิงเฉิงจู่ ซึ่งประทานตราโลโตดวงใหม่ ชุดเสื้อเครื่องยศตัดเย็บด้วยไหมกรองทอง และส่งขันทีมาอ่านประกาศ อย่างไรก็ตาม สมเด็จพระนครินทราธิราชเสด็จจากเมืองสุพรรณมาครองกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ.1952
นับเป็นกษัตริย์ที่มีความสำคัญ โดยครองถึง 3 รัฐ ได้แก่ 1.รัฐสุพรรณภูมิ ซึ่งสืบต่อมาเป็นเมืองสุพรรณบุรี 2.รัฐสุโขทัย เนื่องจากเจ้านครอินทร์เป็นโอรสขุนหลวงพะงั่ว 3.รัฐอยุธยาในนามสมเด็จพระนครินทราธิราช


จีนคุมเส้นทาง ข้ามคาบสมุทร
ส่งอยุธยาสู่ รัฐการค้าทางทะเล
สำหรับปัจจัยสำคัญที่ทำให้จีนสนับสนุนเจ้านครอินทร์แห่งสุพรรณฯ ที่มีความใกล้ชิดกันอยู่แล้วนั้น ยกทัพมายึดกรุงศรีอยุธยาจาก พระรามราชา กษัตริย์อยุธยาในขณะนั้น เนื่องมาจากเหตุผลด้านการค้า
สุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้ก่อตั้งนิตยสารศิลปวัฒนธรรม มองว่า จีนปรารถนาที่จะควบคุมเส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทร มีการส่ง เจิ้งเหอ คุมกองทัพเรือใหญ่ เดินทางตลอดอ่าวไทยไปถึงแอฟริกา
“จีนต้องการคุมเส้นทางข้ามคาบสมุทร เพราะสามารถเดินทางต่อไปยังอินเดียและตะวันออกกลางได้ เจ้านครอินทร์ แห่งสุพรรณฯ ทรงมีความชำนาญการค้าทางทะเล มีเครือข่ายมากมาย ทั้งมลายู จาม จีนจึงหนุนสุพรรณฯ เพราะใช้ภาษาตระกูลไต-ไทเป็นหลักซึ่งสื่อสารง่าย ในขณะที่อยุธยายังใช้ภาษาเขมร เพราะเป็นรัฐที่สืบทอดจากละโว้-อโยธยา
เราพบเอกสารจีนว่าช่วงที่เกิดความปั่นป่วนในอยุธยา เจิ้งเหอยกกองเรือมา จีนสนับสนุนให้เจ้านครอินทร์ยกทัพจากสุพรรณฯ มายึดอยุธยา จับพระรามราชา หลังสุพรรณยึดอยุธยาสำเร็จแล้ว เจ้านครอินทร์ขึ้นเป็นกษัตริย์อยุธยา ภาษาไทยกลายเป็นภาษากลางทางการค้าแทนภาษาเขมร” สุจิตต์อธิบาย
ย้อนไปก่อนหน้านั้น ขุนหลวงพะงั่วส่งโอรส คือเจ้านครอินทร์ลงเรือไปเมืองจีน 2 ครั้ง แต่ละครั้งใช้เวลานานนับปี เพราะยุคนั้น การเดินทางต้องรอมรสุม แต่ที่ผ่านมามักเข้าใจผิดกันว่าพระร่วงที่ไปเมืองจีน คือพ่อขุนรามคำแหง
อยุธยาเป็นเสมือนสถานีการค้ากับจีน และชุมทางเส้นทางคมนาคมหลายทิศทาง และเชื่อมแม่น้ำออกทะเลสมุทรอ่าวไทย สู่น่านน้ำนานาชาติ ซึ่งมีคนนานาชาติพันธุ์ไปมาค้าขายไม่ขาดสาย ที่จะส่งออกภายในสู่ภายนอก แล้วนําเข้าภายนอกสู่ภายใน
การเดินเรือขาไปจากจีน ในฤดูหนาว มีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดจากจีนไปทางสยาม
ขากลับจากสยาม ในฤดูร้อน มีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดจากสยามไปทางเมืองจีน


ขอ ’ช่างจีน’ สอนทำ สังคโลก สินค้าใหม่ส่งออก
การที่เจ้านครอินทร์เสวยราชย์เป็นกษัตริย์อยุธยา ราชอาณาจักรสยาม จึงถือว่าเกิดขึ้นอย่างแท้จริง เพราะสามารถควบคุมได้ทั้งสุพรรณฯ อยุธยา นครศรีธรรมราช และอื่นๆ ความเป็นปึกแผ่น และมั่งคั่งของอยุธยาชัดเจนขึ้นตามลำดับ
ศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม ระบุว่า ในรัชกาลสมเด็จพระนครินทราธิราช เป็นช่วงที่กรุงศรีอยุธยาเริ่มเป็นศูนย์กลางของราชอาณาจักรอย่างแท้จริง มีอาณาเขตกว้างขวางอันเนื่องจากการรวม สุพรรณภูมิ และ สุโขทัย เข้ามาไว้ในอำนาจ การติดต่อค้าขายกับภายนอกโดยเฉพาะจีน ส่งผลให้อยุธยาเป็นศูนย์กลางการค้าขายทั้งในและนอกประเทศ มีการรับและเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ อาทิ ทรงขอช่างปั้นจีนมาสอนและทำถ้วยชามสังคโลก โดยเลือกสุโขทัยและศรีสัชนาลัยเป็นแหล่งอุตสาหกรรม เพราะดินดี เหมาะแก่การทำเครื่องปั้นดินเผา ซึ่งต่อมามีการส่งขายต่างประเทศและหมู่เกาะใกล้เคียง เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย นับเป็นสิ่งใหม่นอกจากการส่งของป่าเป็นสินค้าออก
กรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยนี้มีความมั่งคั่งจากการค้า ทำให้เกิดการซื้อสินค้าหรูหราจากต่างประเทศ อาทิ ผ้าแพร ผ้าต่วน เครื่องประดับอันวิจิตร อีกทั้งเครื่องเคลือบงดงามจากจีน เป็นต้น

รุ่มรวย มั่งคั่ง อารยธรรมจีนในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ
หลักฐานสำคัญที่สะท้อนถึงความมั่งคั่งอลังการในรัชกาลสมเด็จพระนครินทราธิราช ปรากฏอย่างแจ่มชัดในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเชื่อว่าสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 หรือเจ้าสามพระยา สร้างถวายสมเด็จพระนครินทราธิราช พระราชบิดา หาใช่เจ้าอ้าย เจ้ายี่ พระเชษฐาที่ชนช้างชิงราชสมบัติจนสิ้นพระชนม์ทั้งคู่แต่อย่างใด
กรุดังกล่าวบรรจุเครื่องราชูปโภคและเครื่องมหรรฆภัณฑ์ อันเป็นสัญลักษณ์ของพระจักรพรรดิราช หมายถึงเจ้านครอินทร์ มลังเมลืองด้วยเครื่องทองอันมิอาจประเมินค่าได้ ไม่ว่าจะเป็นพระเจดีย์จำลองทองคำ, เครื่องราชกกุธภัณฑ์, เครื่องถนิมพิมพาภรณ์ลวดลายอ่อนช้อย ฯลฯ ซึ่งแม้โดนโจรกรรมอย่างมโหฬารเมื่อ พ.ศ.2500 โบราณวัตถุที่หลงเหลืออยู่ก็ยังมากกว่ากรุพระปรางค์วัดมหาธาตุ ที่กรมศิลปากรขุดพบตั้งแต่แรก จึงย่อมบ่งชี้ถึงความมั่งคั่งของราชสำนักสมเด็จพระนครินทราธิราช อันสัมพันธ์กับการค้าทางทะเล การส่งบรรณาการไปยังราชสำนักหมิง รวมถึงระบบการค้าที่ทรงวางรากฐานไว้และพัฒนาขึ้นอีกในเวลาต่อมา
ท่ามกลางโบราณวัตถุเหล่านี้ หากเพ่งมองในรายละเอียด จะพบอิทธิพลด้านแนวคิดและศิลปกรรมจากจีนหลากหลาย อาทิ ประติมากรรมทองคำรูปสิงห์แบบจีน, ตลับทองคำลวดลายมังกร สัตว์มงคลสูงสุดของจีน ราชาแห่งสัตว์มีเกล็ดทั้งมวล สัตว์เทพประจำทิศตะวันออก ตัวแทนฤดูใบไม้ผลิ, ตลับทองคำลายดอกไม้แบบจีน บนฝาตกแต่งด้วยลายหงส์คู่เกี่ยวกระหวัดอันเป็นสัตว์เทพประจำทิศใต้ และตัวแทนของฤดูร้อนตามความเชื่อในวัฒนธรรมจีน, เหรียญทองรูปหงส์ สัญลักษณ์ความรอบรู้และสิริมงคล รวมถึงความจงรักภักดี, จอกน้ำทองคำ ตกแต่งด้วยเทคนิคการดุนเป็นลายดอกไม้แทรกลายใบไม้อย่างอ่อนช้อย ซึ่งนักโบราณคดีสันนิษฐานว่าได้รับแรงบันดาลใจจากลวดลายของเครื่องลายครามจีน
ไม่เพียงเท่านั้น ในกรุชั้นที่ 2 ยังพบแผ่นทองคำรูปกลม จดจารอักษรจีน 2 ชิ้น
ชิ้นหนึ่ง อ่านว่า จินอวี้หม่านถาง คือ คำอวยพรให้มีเงินทองกองเต็มบ้าน
อีกชิ้น อ่านว่า โซ่วปี๋หนานซาน คือ คำอวยพรให้มีอายุยืนยาวเหมือนภูเขาหนานซาน ซึ่งตั้งอยู่ในมณฑลส่านซี บนแผ่นดินจีน

นอกจากนี้ บนพระพิมพ์ 3 องค์ ยังปรากฏข้อความภาษาจีนที่กล่าวถึงคนจีนที่ร่วมสร้างพระพิมพ์ คาดว่าเป็นชาวจีนที่มีบรรดาศักดิ์ในราชสำนักสมเด็จพระนครินทราธิราชนั่นเอง
อีกมุมน่าสนใจคือ จิตรกรรมบนผนังกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ ซึ่งปรากฏภาพชาวจีน ทั้งขุนนาง เด็ก ผู้ใหญ่ รวมถึงคนรับใช้ บางภาพบนกรุด้านทิศใต้เกี่ยวข้องกับอาหารซึ่งสะท้อนความสำคัญของวัฒนธรรมอาหารจีน ถึงขนาดบันทึกไว้ในกรุอันนับเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ โดยมีผู้สันนิษฐานว่าอาหารจีนเข้าถึงไทยอย่างเป็นทางการสมัยเจ้านครอินทร์ สอดคล้องกับหลักฐานอื่นที่พบ ได้แก่ กระทะเหล็กในสำเภาจีนอายุราว พ.ศ.1900 ที่จมทะเลใกล้เกาะคราม อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี รวมถึงการที่พืชผักถูกขนจากจีนถึงไทย และบ้านเมืองในอุษาคเนย์โดยขบวนเรือสมุทรยาตราของแม่ทัพเจิ้งเหอ
จดหมายเหตุลาลูแบร์ ระบุด้วยว่า ข้าวปลาอาหารในราชสำนักอยุธยาแผ่นดินพระนารายณ์มากกว่า 30 เมนู ปรุงตามตำรับจีน เพื่อเลี้ยงรับรองคณะราชทูตจากราชสำนักฝรั่งเศส
นับเป็นความสัมพันธ์จีน-ไทยในด้านการเมือง เศรษฐกิจครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ที่ส่งผลต่อสังคม วัฒนธรรม และ ความเป็นไทย ในวันนี้อย่างลึกซึ้งจนยากปฏิเสธ

3 จักรพรรดิแห่งราชวงศ์หมิงที่เสวยราชย์ร่วมสมัยกับสมเด็จพระนครินทราธิราช
จักรพรรดิหมิงไท่จู่ คือ เมี่ยวเฮ่า (หรือพระนามศาลบรรพชน) ของพระปฐมจักรพรรดิ พระนามเดิม จูหยวนจาง ชื่อปีรัชศกหงหวู่ เสวยราชย์ 23 มกราคม พ.ศ.1911-24 มิถุนายน 1941 ราชธานีอยู่ที่นานกิง
จักรพรรดิหมิงฮุยจง พระราชนัดดาในหมิงไท่จู่ พระราชโอรสในองค์รัชทายาทอี้เหวิน เสวยราชสืบต่อจากพระอัยกา ตามบันทึกกล่าวว่าสวรรคตในพระราชวังหลวงกรุงนานกิง เมื่อแรกไม่ปรากฏพระนามหลังสิ้นพระชนม์ จนต่อมาในปีที่ 1 ของพระจักรพรรดิกวางตี่ (พ.ศ.2187) สมัยหมิงใต้ จึงมีการเฉลิมพระนามเป็น ฮุยจง
จักรพรรดิหมิงเฉิงจู่ คือเมี่ยวเฮ่าของรัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์หมิง ทรงมีพระนามเดิมว่า จู่ตี่ ชื่อปีรัชศกหย่งเล่อ เสวยราชสมบัติตั้งแต่ 17 กรกฎาคม พ.ศ.1945-12 สิงหาคม 1967 เมื่อแรกเสวยราชที่กรุงนานกิง จนถึง พ.ศ.1956 จึงย้ายราชธานีไปยังกรุงปักกิ่ง
ข้อมูลจากหนังสือ เจ้านครอินทร์ เมืองสุพรรณ สร้างสรรค์อยุธยา ราชอาณาจักรสยาม รวมบทความวิชาการ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, สืบแสง พรหมบุญ, ศรีศักร พรหมบุญ, ศรีศักร วัลลิโภดม และรุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล / สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พฤศจิกายน 2565