“วาระแห่งชาติ” ทุนจีนรุ่นใหม่กลืน “ไชน่าทาวน์”
เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ – ภาคธุรกิจท่องเที่ยวคึกคักขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะหลังจีนเปิดประเทศ และไทยถือเป็นหนึ่งในหมุดหมายลำดับต้นๆ ในการเดินทางท่องเที่ยวพักผ่อน ขณะเดียวกันก็เกิดปรากฏการณ์ที่ต้องถือเป็น “วาระแห่งชาติ” เมื่อพบว่าชาวจีนรุ่นใหม่ทะลักเข้ามาประกอบธุรกิจในไทย จนสร้างความกังวลต่อผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะพื้นที่ทำเลทองแหล่งชุมชนจีน “ไชน่าทาวน์เยาวราช”
กลายเป็นกระแสร้อนแรงกรณีผู้ประกอบการไทย เจ้าของธุรกิจร้านอาหารย่านเยาวราช โพสต์เฟซบุ๊กระบายความอัดอั้นใจ ผ่านเพจ “อาม่งหม่าล่า หม้อไฟ 梦想麻辣火锅 สาขาเยาวราช” ร้านหม้อไฟชื่อดังจากเยาวราช โดยสรุปใจความสำคัญได้ว่า มีข้อกังวลต่อการที่กลุ่มชาวจีนรุ่นใหม่มาลงทุนโดยใช้นอมินี หรือมีเพียงวีซ่านักท่องเที่ยวเข้ามาประกอบธุรกิจหลากหลายประเภทในย่านเยาวราช ทั้งธุรกิจร้านอาหาร ค้าขายสินค้าต่างๆ เพราะนอกจากจะมาแย่งอาชีพคนไทยและผิดกฎหมายแล้ว ยังส่งผลกระทบให้เม็ดเงินไหลสู่ท้องถิ่นน้อยลง สร้างผลกระทบระยะยาวแก่ผู้ประกอบการไทย ที่น่าจับตาคือรูปแบบการใช้จ่าย คนจีนจะใช้จ่ายผ่านระบบของจีนระหว่างคนจีนกับคนจีนด้วยกัน ไม่สามารถรู้ว่าปลายทางของเงินจะกลับไปอยู่ที่ประเทศต้นทางหรือไม่ และที่เห็นชัดคือไม่ต้องเสียภาษีเหมือนกับนักธุรกิจชาวไทย
อย่างไรก็ดี ในประเด็นนี้ นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ประกาศชัดว่า กรณีคนต่างชาติถือวีซ่านักท่องเที่ยวแต่เข้ามาประกอบธุรกิจร้านอาหารในไทยไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ห้ามคนต่างชาติทำ หากต้องการประกอบธุรกิจดังกล่าวในไทยต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวก่อนจึงจะประกอบธุรกิจได้ และหากต่างชาติรายใดหากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับตั้งแต่ 1 แสน ถึง 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังมีโทษปรับรายวันอีกวันละ 1 หมื่น ถึง 5 หมื่นบาท จนกว่าจะเลิกฝ่าฝืน
ขณะที่ในกรณีคนไทยที่ถือหุ้นแทนคนต่างด้าวหรือร่วมเอาชื่อเข้าเป็นผู้ถือหุ้นโดยไม่ได้ลงทุนจริง หรือให้การสนับสนุนร่วมประกอบธุรกิจกับคนต่างด้าว โดยแสดงว่าเป็นธุรกิจของคนไทยเพื่อให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจโดยหลีกเลี่ยงกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000 – 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังมีโทษปรับรายวันอีกวันละ 10,000 – 50,000 บาท จนกว่าจะเลิกฝ่าฝืน
ทั้งนี้ การทะลักของชาวจีนเข้ามาประกอบธุรกิจในเมืองไทยไม่ใช่เรื่องใหม่ ไม่เพียงชุมชนจีนที่คนไทยรู้จักกันดี อย่าง “ไชน่าทาวน์ เยาวราช” ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เกิดชุมชนจีนแห่งใหม่หลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ ที่เห็นได้ชัดๆ ก็คือ “ไชน่าทาวน์ ห้วยขวาง” ย่านห้วยขวาง ถ.ประชาราษฎร์บำเพ็ญ ซึ่งไม่เคยมีร่องรอยของวัฒนธรรมจีน จะมีก็เพียงสถานทูตจีนที่อยู่ใกล้ๆ เท่านั้น
“นิวไชน่าทาวน์” แห่งนี้ เกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดจากการเข้ามาของ “คนจีนรุ่นใหม่” หรือเรียกว่า “ซิน อี้ หมิน” สร้างปรากฎการณ์ร้านขายของเจ้าประจำต้องย้ายออก เจ้าของเก่าขายกิจการเปลี่ยนมือให้คนจีนรุ่นใหม่ ซึ่งปัจจุบันย่านห้วยขวาง ตลอดเส้นทาง ถ.ประชาราษฎร์บำเพ็ญ 700 เมตร ไปถึงแยกประชาอุทิศ ซอกซอยเล็กๆ มีชุมชนจีนอยู่เป็นระยะๆ เป็นย่านที่จีนรุ่นใหม่ที่เข้ามาอยู่เยอะกว่าทุกที่ มีทั้งกลุ่มนักศึกษาจีน, ผู้ช่วยมัคคุเทศก์, ครูอาสาชาวจีน ฯลฯ
ไล่เรียงการเปลี่ยนแปลงในย่านประชาราษฎร์บำเพ็ญสู่ชุมชน “นิวไชน่าทาวน์” เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ในช่วงปี 2556 เป็นช่วงที่ทัวร์จีนบูม มีการขยับขยายธุรกิจคนจีนรุ่นใหม่ที่ตั้งใจทำธุรกิจอยู่แล้ว ทะลักเข้ามาทำธุรกิจในเมืองไทยและตัดสินใจอยู่กันยาวๆ อีกทั้งประเทศจีนมีนโยบายการก้าวออกไป (Going-out Strategy) คนจีนก็เข้ามาทำธุรกิจกันในเมืองไทยเป็นปรากฎการณ์
เรียกว่า ทำเลทองชุมชนคนจีนจาก “เยาวราช” ถึง “ประชาราษฎร์บำเพ็ญ” มีคนจีนรุ่นใหม่เข้ามาปักหลักตั้งตัวทำธุรกิจจำนวนมาก เรียงรายไปด้วยกิจการของจีนรุ่นใหม่ ร้านอาหารจีนหม้อไฟสุกี้ ร้านขายของเบ็ดเตล็ด ร้านขายยาแผนปัจจุบัน ฯลฯ
ประเด็นที่น่าสนใจ คือ คนจีนรุ่นใหม่เข้ามาเมืองไทยและประกอบธุรกิจอย่างถูกกฎหมายหรือไม่ และประเทศไทยได้ประโยชน์หรือได้รับผลกระทบอย่างไร โดยเฉพาะเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการไทย กำลังบอกว่าคนจีนเข้ามาแย่งตลาด ชิงทำธุรกิจร้านอาหารในย่านไชนาทาวน์ ท้ายที่สุดธุรกิจที่มีเจ้าของเป็นคนไทยในย่านไชนาทาวน์อาจต้องพ่ายต่อทุนจีน
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยได้กำหนด “อาชีพสงวนเฉพาะคนไทย” ซึ่งแรงงานข้ามชาติทุกสัญชาติห้ามทำโดยเด็ดขาด ฝ่าฝืนมีโทษทั้งนายจ้าง และลูกจ้าง โดยไม่มีข้อยกเว้น
หนึ่งในนั้นคือ “อาชีพช่างตัดผม” ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้เป็นข่าวคึกโครมกรณีกองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค2 ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง จ.ชลบุรี เข้าตรวจสอบจับกุมร้านเสริมสวย ชื่อ “แฮร์ ซาลอน” ตั้งอยู่ริมถนนพัทยาสายสอง เลขที่ 463/78 ม.9 ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี หลังสืบทราบว่ามีเจ้าของและพนักงานเป็นคนจีนทั้งหมด แอบลักลอบประกอบอาชีพสงวนของคนไทย
นายหวัง เจ้าของกิจการชาวจีน อ้างว่าเปิดร้านเสริมสวยมากว่า 1 ปีแล้ว โดยมีพนักงานรวม 5 คน ไว้เพื่อรองรับลูกค้าคนจีนและต่างชาติ โดยไม่รู้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และเป็นอาชีพที่สงวนของคนไทย ก่อนเจ้าตัวถูกดำเนินคดีในฐานความผิด “เป็นนายจ้างรับบุคคลต่างด้าวเข้าทำงานโดยไม่มีใบอนุญาต” ส่วนพนักงานที่เหลือ ได้ตั้งข้อหา “เป็นบุคคลต่างด้าวทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต”
ทั้งนี้ พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติมว่า สำหรับประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ มีทั้งสิ้น 40 งาน เป็นงานห้ามคนต่างด้าวทำเด็ดขาด 27 งาน ตามบัญชีที่ 1 ได้แก่ 1. งานแกะสลักไม้ 2. งานขับขี่ยานยนต์ ยกเว้นงานขับรถยก (Forklift) 3. งานขายทอดตลาด 4. งานเจียระไนเพชร/พลอย 5. งานตัดผม/เสริมสวย 6. งานทอผ้าด้วยมือ 7. งานทอเสื่อ หรืองานทำเครื่องใช้ด้วยกก หวาย ฟาง ไม้ไผ่ ขนไก่ เส้นใย ฯลฯ 8. งานทำกระดาษสาด้วยมือ 9. งานทำเครื่องเขิน 10. งานทำเครื่องดนตรีไทย 11. งานทำเครื่องถม 12. งานทำเครื่องทอง/เงิน/นาก 13. งานทำเครื่องลงหิน 14. งานทำตุ๊กตาไทย 15. งานทำบาตร 16. งานทำผ้าไหมด้วยมือ 17. งานทำพระพุทธรูป 18. ทำร่มกระดาษ/ผ้า19. งานนายหน้า/ตัวแทน 20. งานนวดไทย 21. งานมวนบุหรี่ 22. งานมัคคุเทศก์ 23. งานเร่ขายสินค้า 24. งานเรียงอักษร 25. งานสาวบิดเกลียวไหม 26. งานเลขานุการ และ27. งานบริการทางกฎหมาย
และงานที่ให้คนต่างด้าวทำได้ โดยมีเงื่อนไข 13 งาน ตามบัญชีที่ 2 ได้แก่ วิชาชีพบัญชี วิชาชีพวิศวกรรม วิชาชีพสถาปัตยกรรม โดยมีเงื่อนไขให้คนต่างด้าวทำงานได้ตามข้อตกลงระหว่างประเทศหรือพันธกรณีที่ประเทศไทยมีความผูกพันภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย ซึ่งต้องเป็นคนต่างด้าวของประเทศที่มีข้อตกลงกับประเทศไทยเท่านั้น จึงจะสามารถทำได้ ตามบัญชี 3 ได้แก่ 1.งานกสิกรรม 2.งานช่างก่ออิฐ/ช่างไม้/ช่างก่อสร้างอาคาร 3.งานทำที่นอน 4.งานทำมีด 5.งานทำรองเท้า 6.งานทำหมวก 7.งานประดิษฐ์เครื่องแต่งกาย 8.งานปั้นเครื่องดินเผาโดยมีเงื่อนไขให้คนต่างด้าวทำงานฝีมือหรือกึ่งฝีมือนั้นได้ก็แต่เฉพาะงานที่มีนายจ้าง
และตามบัญชีที่ 4 ได้แก่ งานกรรมกร และงานขายของหน้าร้าน โดยมีเงื่อนไขให้คนต่างด้าวทำงานนั้นได้ก็แต่เฉพาะงานที่มีนายจ้างและได้รับอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองภายใต้บันทึกข้อตกลงหรือบันทึกความเข้าใจที่รัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ (MoU)
สถานการณ์กลุ่มแรงงานต่างด้าวที่แย่งอาชีพคนไทย นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กำชับไปยังกรมการจัดหางานให้บริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าวอย่างรอบคอบ มอบหมายสำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ และสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 ประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง พร้อมลงพื้นที่ตรวจสอบ ปราบปราม จับกุม และดำเนินคดีคนต่างด้าวที่ทำงานผิดกฎหมายฯอย่างจริงจัง
หากตรวจพบการฝ่าฝืกฎหมาย คนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ จะมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท และถูกผลักดันส่งกลับ และในส่วนนายจ้างที่จ้างคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000-100,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี
กรมธุรกิจการค้าออกมายอมรับว่าไทยกำลังเผชิญการกลับมาของธุรกิจนอมินี ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ระหว่างปี 2558 – 2565 ตรวจสอบพบนิติบุคคลที่เข้าข่ายความผิดนอมินี พบว่ามีการออกหนังสือให้ผู้ถือหุ้นให้ชี้แจงข้อเท็จจริง 500 – 600 ราย ดำเนินคดีแล้ว 66 ราย
ส่วนการออกใบอนุญาตและหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ระหว่าง มี.ค. 2543 – ธ.ค. 2565 มีการออกใบอนุญาตและหนังสือรับรองให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจไปแล้ว 13,915 ราย แบ่งเป็นใบอนุญาต 6279 ราย หนังสือสนธิสัญญา 2,048 ราย คนต่างด้าวที่แจ้งเลิกประกอบธุรกิจและถูกเพิกถอนใบอนุญาต 3509 ราย คงอยู่ 10,406 ราย
น่าติดตามว่า ภาครัฐจะรับมือกับคลื่นทุนจีนรุ่นใหม่อย่างไร ให้ประเทศชาติไม่เสียเปรียบและประชาชนคนไทยได้รับผลกระทบน้อยที่สุด