‘ไทย’ พบติดเชื้ออีก 1.8 หมื่นราย ‘ศปก.ศบค.’ ฝากฝ่ายปกครองเข้มพื้นที่ระบาดซ้ำซาก ขอ ปชช.ป่วยสีเขียวรักษาตัวที่บ้าน ประคองระบบสาธารณสุข วอนอย่าตื่นตระหนกตามนักวิชาการ ยันยังไม่มีล็อกดาวน์
เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 21 กุมภาพันธ์ ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 18,883 ราย ติดเชื้อในประเทศ 18,704 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 18,618 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 86 ราย มาจากเรือนจำ 17 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 162 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 14,914 ราย อยู่ระหว่างรักษา 166,397 ราย อาการหนัก 796 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 202 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 32 ราย เป็นชาย 13 ราย หญิง 19 ราย อายุ 60 ปีขึ้นไป 25 ราย มีโรคเรื้อรัง 7 ราย
พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ขณะนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,731,198 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,542,145 ราย มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 22,656 ราย ส่วนยอดฉีดวัคซีนวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 141,661 โดส ยอดฉีดสะสมตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 จำนวน 121,725,326 โดส ขณะที่สถานการณ์โลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 424,990,285 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 5,906,093 ราย

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดได้แก่ กทม. 2,753 ราย นครศรีธรรมราช 960 ราย สมุทรปราการ 926 ราย ชลบุรี 884 ราย นนทบุรี 852 ราย ภูเก็ต 628 ราย นครศรีธรรมราช 563 ราย ระยอง 475 ราย นครปฐม 429 ราย บุรีรัมย์ 421 ราย ปทุมธานี 421 ราย โดยคลัสเตอร์ที่พบในวันนี้ยังพบร้านอาหารที่เปิดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ จ.สงขลา ขอนแก่น คลัสเตอร์โรงเรียน ที่ จ.น่าน หนองคาย เลย สุพรรณบุรี นครราชสีมา สุรินทร์ ร้อยเอ็ด จันทบุรี หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ พะเยา คลัสเตอร์ตลาดพบที่ จ.นครราชสีมา อุบลราชธานี นครพนม จันทบุรี สุรินทร์ เพชรบุรี คลัสเตอร์พิธีกรรม พบที่ จ.มุกดาหาร กาฬสินธุ์ หนองคาย
“ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) เน้นย้ำไปที่ฝ่ายปกครอง ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ให้ติดตามเฝ้าระวังพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดซ้ำ เช่น ตลาด ขอให้เข้าไปเข้มงวดมาตรการ เพราะหลายแห่งมีการติดแล้วติดอีก นอกจากนี้ ยังพบการระบาดในสถานพยาบาล อาทิ โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลศิริราช รวมถึงโรงพยาบาลใน จ.สุรินทร์ เชียงใหม่ ขอนแก่น ยะลา การระบาดในสถานที่พยาบาลจะทำให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขต้องกักตัวและขาดแคลนบุคคลากรในการดูแลประชาชน จึงขอให้เข้มงวดการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ พร้อมกันนี้ ศบค.อยากให้ประชาชนงดเว้นกิจกรรมรวมกลุ่ม อะไรที่ชะลอได้ขอให้ชะลอไว้ก่อน แต่ถ้าจำเป็นต้องจัดกิจกรรมขอให้เข้มงวดมาตรการ เช่น การตรวจโควิดก่อนทำกิจกรรม” พญ.อภิสมัยกล่าว
นอกจากนี้ พญ.อภิสมัยกล่าวถึงการครองเตียงในปัจจุบันว่า กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่า อัตราครองเตียงในปัจจุบันยังมีเพียงพอในการรองรับผู้ป่วยหนักและมีโรคประจำตัว ใครป่วยเป็นโควิดแล้วมีอาการสีเขียวขอให้เลือกรักษาตัวที่บ้าน เข้าใจว่าผู้ป่วยที่มีอาการน้อยอยากรักษาตัวที่โรงพยาบาล เพราะอาจจะไม่มั่นใจในระบบการรักษาที่บ้าน เราจึงขอความร่วมมือทุกคนให้ช่วยกันพัฒนาระบบ ติดขัดอะไรก็ขอให้ร้องเรียนเข้ามาเพื่อปรับปรุง เราต้องประคับประคองระบบสาธารณสุขให้ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นจริงๆ เชื่อว่าเราน่าจะผ่านวิกฤตตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงนี้ไปได้ และหากใครไม่สามารถรักษาตัวที่บ้านได้ก็ขอให้ประสานเจ้าหน้าที่เพื่อเข้ารักษาตัวที่ศูนย์พักคอยในชุมชน ยืนยันจะได้รับความสะดวกอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เน้นย้ำให้ทุกจังหวัดจัดเตรียมโรงพยาบาลสนามรองรับสถานการณ์หากมีความจำเป็น
พญ.อภิสมัยกล่าวถึงกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าในการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ในวันพุธที่ 23 กุมภาพันธ์นี้ อาจจะพิจารณาล็อกดาวน์ และยกเลิกระบบ Test&Go ว่า ในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กวันนี ไม่ได้พูดถึงเรื่องการล็อกดาวน์ ทั้งนี้ ศบค.ชุดใหญ่คงไม่ได้พิจารณาและประเมินแค่ยอดติดเชื้อใหม่ ยอดผู้ป่วยหนัก หรือยอดผู้เสียชีวิตเท่านั้น แต่ยังต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน ทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน ดังนั้น บางครั้งในช่วงที่ประชาชนมีความกังวล จึงอาจไปบริโภคข้อมูลจากนักวิชาการ อาจารย์ และผู้เชี่ยวชาญซึ่งอาจจะทำให้เกิดความตกอกตกใจว่าจะมีการล็อกดาวน์หรือไม่ โดยต้องยืนยันว่าปัจจุบันยังไม่มีทิศทางที่จะประกาศล็อกดาวน์ นอกจากนี้ อยากจะขอความร่วมมือจากนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญว่า ในตอนที่ให้ความเห็นขอให้ระบุด้วยว่าเป็นความเห็นส่วนตัวของตัวเอง เพื่อไม่ให้ประชาชนและผู้ประกอบการเกิดความกังวล
พญ.อภิสมัยกล่าวต่อว่า ส่วนระบบ Test&Go ที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าจะระงับการเดินทางเข้าประเทศด้วยระบบนี้ แต่เมื่อไปดูในยอดของระบบ Test&Go นับตั้งแต่วันที่ 1-20 กุมภาพันธ์ 2565 มีผู้เดินทางเข้าประเทศมา จำนวน 137,090 คน พบรายงานติดเชื้อ 3,495 ราย คิดเป็นร้อยละ 2.55 คือใน 100 คน มีติดเชื้อไม่ถึง 3 คน ซึ่งถือว่าระบบสาธารณสุขและมาตรการที่ใช้อยู่ยังสามารถรองรับได้ ต่อให้เป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากประเทศแถบยุโรปที่มีการผ่อนคลายมาตรการแล้วแต่ เมื่อเดินทางเข้ามาในประเทศไทยก็ยังคงต้องทำตามมาตรการของสาธารณสุขไทยอยู่
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก
Line @Matichon ได้ที่นี่