ส.ก.จอมทอง ร้อง ผู้บริหารกทม. หารือกรมบัญชีกลาง หลังผู้ประมูลงานราคาต่ำสุดไม่ได้งาน พบส่วนต่างหลายสิบล้าน
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 18 มกราคม ที่ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง มีการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่ 3) ประจำปีพุทธศักราช 2566 โดย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เข้าร่วมประชุมด้วย
ในตอนหนึ่ง นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร หรือ เฮียล้าน ส.ก.เขตจอมทอง พรรคเพื่อไทย ยื่นญัตติ เรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานคร หารือกรมบัญชีกลางประเด็นปัญหากรณีการให้แต้มต่อกับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และการใช้พัสดุที่ผลิตภายในประเทศ
นายสุทธิชัยกล่าวว่า ก่อนที่จะเสนอญัตติ ตนมองว่าผู้ประมูลต่ำสุดไม่ได้งาน หลายโครงการ เขาบอกว่าผู้ประมูลงานพวกนี้ไม่ได้ไปจดทะเบียนอยู่ในหลักเกณฑ์ SMEs แม้คุณประมูลต่ำกว่า แต่คุณก็ไม่ได้งาน เพราะมีแต้มต่อร้อยละ 10 มันเป็นเรื่องแปลก แต่เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นใน กทม.
“ในฐานะประธานคณะกรรมการเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง และติดตามงบประมาณของ กทม. เลยมาตามเรื่องนี้ดูว่า เพราะอะไรถึงเป็นอย่างนี้ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง บอกว่า ‘เพื่อสนับสนุนในช่วงที่โควิดระบาดที่มีผลกระทบกับธุรกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก’ อันนั้นพอจะเข้าใจได้ เพราะยุคนั้นไม่ว่าจะรายเล็ก รายน้อย รายใหญ่ ก็มีปัญหาเหมือนกัน มีผลกระทบกับผู้ประกอบการ และสำคัญที่สุดคือ สมมติประมูลงานได้ ให้ใช้ผลิตภัณฑ์ในประเทศเท่านั้น อีกด้วย นี่เป็นที่มาที่ยื่นญัตติในเรื่องนี้ ให้ผู้บริหารได้รับทราบ เพื่อจะหาแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ ซึ่งใช้งบประมาณมากกว่าเดิมเป็นหลายร้อยล้าน หลายๆ โครงการ” นายสุทธิชัยกล่าว
จากนั้น นายสุทธิชัย ได้ยกตัวอย่างดังนี้ สำนักโยธาฯ ผู้ประมูล SMEs จะมีข้อแตกต่าง ถ้าดูตามเนื้อหาตรงนี้ ว่าโครงการที่มีการประมูลศูนย์ฝึกอบรมดับเพลิงและกู้ภัย กทม. งบประมาณทั้งหมด ระยะเวลาที่ 1 685,000,000 ล้านบาท ถ้าดูตาราง คนที่ประมูลได้ที่ไม่มีชื่อในนี้เพราะ จด SMEs เหมือนกัน แต่ขาดคุณสมบติ ประมูลสูงกว่าราคาคนที่ประมูลต่ำที่สุดประมาณ 60-70,000,000 ล้านบาท แต่เขาได้งาน คนที่ประมูล บริษัท ยูเวิร์ค 999 เสนอราคาต่ำสุด 603,007,999 ล้านบาท เขาประมูลต่ำกว่าประมาณ 60-70,000,000 ล้านบาท กลับไม่ได้งาน แต่บริษัทงามวงศ์วานการช่าง ที่ได้งาน สูงกว่ายูเวิร์คประมาณ 30-40,000,000 ล้าน
“ลองคิดดูครับว่า ถ้าหลายๆ โครงการเป็นแบบนี้ กทม. เกิดความเสียหายไหม มันต้องเร่งแก้ไข ยกตัวอย่างแค่เคสเดียว มันยังมีมากกว่านี้อีกหลายโครงการที่จะเกิดขึ้นอย่างนี้” นายสุทธิชัยชี้
นายสุทธิชัยอธิบายต่อว่า ตามหนังสือดังกล่าว จะเห็นได้ว่า คู่มือการปฏิบัติงานตามกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2563 กรณีการจัดจ้างก่อสร้าง การจัดทำรูปแบบรายงานก่อสร้าง ให้หน่วยงานของรัฐต้องกำหนดรายละเอียดรูปแบบรายการของงานก่อสร้างและกำหนดให้คู่สัญญาต้องใช้วัสดุหรือคุรุภัณฑ์ ที่จะใช้ในงานโดยต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าวัสดุที่ใช่ในงานก่อสร้างทั้งหมด ให้หน่วยงานของภาครัฐพิจารณาการใช้เหล็กในงานการก่อสร้าง ก่อนให้หน่วยงานของรัฐกำหนดรายละเอียดในรูปแบบ รูปรายการของงานก่อสร้าง ให้คู่สัญญาต้องใช้เหล็กผลิตภัณฑ์ภายในประเทศไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของผลิตภัณฑ์เหล็กที่ใช้ทั้งหมดตามสัญญา แต่ข้อเท็จจริงคือ ผู้ผลิตเหล็กในประเทศมีน้อยราย อาจเป็นการผูกขาด และงานก่อสร้างไม่สามารถใช้เหล็กจากต่างประเทศที่มีคุณภาพที่ดีกว่าได้ ส่งผลต่อคุณภาพของงาน
นายสุทธิชัยกล่าวอีกว่า นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น ถึงเวลาแล้วยังที่ผู้บริหาร กทม. ต้องแก้ไขปัญหา
“นี่เป็นเรื่องเร่งด่วน เราเสียงบประมาณที่สูงกว่า คุณภาพของเหล็ก ก็สู้เขาไม่ได้ แต่อุตสาหกรรมเขาดูความพร้อม ดูมาตรฐานทุกขั้นตอน เขาใช้แร่เหล็กทำ ความคงทนถาวรมผิดกัน แล้วเขาราคาถูกกว่า
“ผมเคยพูดในคณะกรรมการวิสามัญ ผมจะตามก็ต่อเมื่อเรื่องที่มันจำเป็นจริงๆ เราต้องตามสิ่งที่มันป็นประเด็น เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นใน กทม. ให้ผู้บริหารได้รับทราบ และเร่งแก้ไข ไม่งั้นจะเสียงบประมาณโดยคนประมูลต่ำสุด ไม่ได้ นั่นคือสิ่งที่เราจะต้องประสานกรมบัญชีกลาง หรือเราจะแก้ไขอย่างไร หรือยกเว้นเฉพาะกทม. ไหม หลายสำนักเป็นอย่างนี้ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นว่า เราจะต้องทำอย่างไรให้การแก้ไขปัญหาลุล่วงไปด้วยดี” นายสุทธิชัยกล่าว
ในช่วงท้าย นางกนกนุช กลิ่นสังข์ ส.ก.เขตดอนเมือง ร่วมอภิปรายว่า ในปี 66 งบประมาณส่วนใหญ่ที่ใช้จะเป็นเรื่องของการพัฒนาถนนหนทางและตรอกซอกซอย ซึ่งในพื้นที่ดอนเมือง มีการดำเนินการก่อสร้างถนนพร้อมท่อระบายน้ำหลายแห่ง จึงขอนำเสนอโครงการการวางท่อระบายน้ำในลักษณะที่ต่างจากของ กทม.โดยอยู่ในพื้นที่บางละมุง จังหวัดชลบุรี จากการสอบถามผู้ควบคุมพบว่าหากมีการวางท่อได้เป็นอย่างดี และเมื่อสามารถเชื่อมท่อได้ดีจะทำให้ไม่เกิดปัญหาเรื่องของการ Crack และรับน้ำหนักพื้นถนนได้ดีขึ้น กรณีการก่อสร้างถนนเส้นยาวๆ จะมีผลกระทบต่อการใช้รถใช้ถนนและการจราจร กทม.จึงควรนำนวัตกรรมใหม่มาใช้บ้าง โดยต้องมีมาตรฐานอุตสาหกรรมด้วย ทั้งนี้ มาตรฐานของกรมบัญชีกลางมีหลายอย่าง แต่ไม่ทราบว่ามีการกำหนดมาตรฐานใหม่ๆ เช่นนี้หรือไม่ จึงขอให้ กทม.พิจารณานำไปปรับใช้ในโครงการจัดซื้อจัดจ้าง ด้วย
ด้าน นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ฝ่ายบริหารต้องขอขอบคุณ ส.ก.ที่นำเสนอแนวคิดเหล่านี้ ซึ่งกรุงเทพมหานครพิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นแนวคิดที่ควรนำไปดำเนินการ ขณะนี้สำนักการคลังอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักการระบายน้ำ และสำนักการโยธา เพื่อนำเสนอกระทรวงการคลัง โดยแบ่งเป็น 2 ประเด็น คือ การของบประมาณมาสนับสนุนในส่วนที่เกินหลังจากที่มีการประมูลไปแล้ว แนวคิดที่ 2 คือ กรุงเทพมหานครจะขอยกเว้นให้กรุงเทพมหานครปฏิบัติตามกฎกระทรวงดังกล่าว ซึ่งแนวคิดขอ งส.ก.จะสามารถนำไปใช้แก้ไขปัญหาการเงินการคลังของกรุงเทพมหานครได้
- อ่านข่าว : ส.ก. 3 เขต รุมจี้ผู้ว่าฯ แก้มลภาวะสายตา ออกไอเดียเก็บภาษี ‘สายสื่อสารรุงรัง’ ต้องคุย กฟน.จริงจัง
- ส.ก.บางรัก อายฝรั่ง ‘สายสื่อสารรุงรัง’ แต่ทำไรไม่ได้ – ส.ก.บางซื่อ ลุกโชว์รูป ‘สายไฟล้อมบ้านปชช.’ เสี่ยงไฟไหม้
- ส.ก.บางกอกใหญ่ อยากร้องไห้ รัฐวิสาหกิจเอาเปรียบกทม. – แฉสภาพถนน ‘รฟม.ตีขลุม’ แค่ 30 ล้านยังไม่จ่าย
- ‘ส.ก.ราชเทวี’ โวย กทม.ไปคุยกันก่อน ‘ขี้เลนลอกท่อ’ ให้ทิ้งไหน? ราชทัณฑ์ทำช้ามาก กว่าจะเสร็จผู้ว่าฯ คงหมดวาระ
- ส.ก.จวกก่อสร้างไม่คืบ ‘ยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง’ งบ 1.6 พันล้าน สร้างเมืองสวรรค์ได้ ตร.-เขตเป็นใบ้ ตอบอะไรไม่ได้