ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน พุ่งทะยานรายวัน ถึงวันที่ 18 ก.พ. แตะถึงหลัก 1.8 หมื่นกว่าราย ทำให้มีความเป็นห่วงกันว่าการที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรายวันจะมีเตียง รพ.รองรับเพียงพอหรือไม่

ยังรับผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นได้
ที่ทำเนียบรัฐบาล เวลา 11.00 น. วันที่ 18 ก.พ. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิค-19 ที่เพิ่มขึ้น เป็นห่วงว่าระบบสาธารณสุขจะไม่สามารถรองรับได้หรือไม่ โดยนายอนุทินได้มอบหมายให้นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นผู้ตอบ นพ.โอภาสกล่าวว่า ยืนยันระบบสาธารณสุขสามารถรองรับได้ เตียงมีพอ แม้ว่าผู้ติดเชื้อมีเปอร์เซ็นต์เพิ่มขึ้น แต่จำนวนผู้เสียชีวิตและผู้ป่วยอาการหนักลดลง ส่วนข่าวที่ว่าจะมีการขยายศูนย์พักคอยเพิ่มขึ้น เป็นของ กทม. แต่ต่างจังหวัดไม่มีปัญหาเตียงยังมีว่างเยอะ
ยันยามีพอเน้นฉีดเข็ม 3–4
นายอนุทินกล่าวเสริมว่า ใน กทม.กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้สนับสนุน แต่ถ้าในต่างจังหวัดพื้นที่นอก กทม. กระทรวงสาธารณสุขรับผิดชอบ ที่ผ่านมากระทรวงให้การสนับสนุนและประสานงานให้ กทม.ทุกเรื่อง เมื่อถามว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อจะสูงมากกว่านี้อีกหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ตอนนี้เน้นเรื่องอย่าให้ขาดเตียงหรือเวชภัณฑ์ ปัจจุบันยาก็พอ หากมีความจำเป็น พร้อมจัดตั้ง รพ.สนามได้ แต่ช่วงนี้เน้นโฮมไอโซเลชัน เตียงและ รพ.ใช้เฉพาะคนที่มีอาการรุนแรง หากจะให้ยอดการติดเชื้อลดลง ต้องเพิ่มมาตรการแต่ยังไม่ใช่ทางเลือกตอนนี้ ต้องอยู่กับมันให้ได้ โดยเฉพาะต้องเร่งฉีดวัคซีนเข็ม 3 เข็ม 4 การติดเชื้อจะไม่รุนแรง
ติดเชื้อใหม่พุ่ง 18,066 ดับ 27 ราย
เวลา 11.30 น. ศบค.เผยแพร่ข้อมูลสถานการณ์โควิด-19 ในไทยว่า พบผู้ติดเชื้อใหม่ 18,066 ราย เสียชีวิต 27 ราย เป็นชาย 18 ราย หญิง 9 ราย ในจำนวนผู้เสียชีวิตเป็นผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 21 ราย 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดวันที่ 18 ก.พ. พบที่ กทม. 3,458 ราย สมุทรปราการ 957 ราย ชลบุรี 811 ราย นครศรีธรรมราช 750 ราย นนทบุรี 596 ราย ภูเก็ต 534 ราย นครปฐม 484 ราย นครราชสีมา 479 ราย สมุทรสาคร 478 ราย ปทุมธานี 397 ราย ยอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,674,477 ราย หายป่วยสะสม 2,502,323 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 22,565 ราย ยอดฉีดวัคซีนสะสม 120,924,813 โดส ไทยมีผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ ลำดับที่ 31 ของโลก

กว่าร้อยละ 90 ไม่มีอาการ
อีกด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรืออีโอซี ผ่านระบบทางไกลกับผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขว่า ไทยพบผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากเป็นสายพันธุ์โอมิครอน แต่กว่าร้อยละ 90 ไม่มีอาการ ร้อยละ 3 มีอาการหนัก อัตราเสียชีวิตต่ำกว่าร้อยละ 0.1 ความเสี่ยงยังเกิดจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อในครอบครัว คนรู้จัก ขณะทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น ทานอาหารร่วมกัน เล่นกีฬา รวมทั้งกิจกรรมงานบุญ งานศพ งานแต่งงาน ผู้เสียชีวิต ส่วนใหญ่ยังคงเป็นกลุ่ม 608 ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนและบูสเตอร์โดส โดยเฉพาะผู้ป่วยติดเตียง จึงกำชับให้เน้นตรวจคัดกรองหาเชื้อในกลุ่มผู้ดูแลเคร่งครัด ใช้มาตรการ VUCA ในศูนย์ดูแลผู้ป่วยสูงอายุ
ตายเพราะโรคร่วมอาจแยกนับ
นพ.เกียรติภูมิกล่าวต่อว่า ได้รับรายงานมีผู้ป่วยอาการหนักใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มขึ้นมากในพื้นที่ กทม. ปริมณฑล และพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต อุดรธานี เชียงใหม่ ผู้เสียชีวิตบางรายในพื้นที่ กทม. ไม่ได้รายงานอาการป่วยก่อนจะได้รับการรักษาในระบบ Co-Ward บางรายตรวจพบเชื้อในวันที่เสียชีวิต ผู้มีโรคร่วมอยู่เดิมแล้วแต่ติดโควิด-19 ที่ไม่มีอาการจึงไม่รู้ว่าติดโควิด แต่พอป่วยหนักด้วยโรคประจำตัวมารับการรักษาที่ รพ. พอตรวจหาเชื้อจึงรู้ว่าติดโควิด ด้วยโรคเดิมที่รุนแรงอยู่แล้วก็ทำให้เสียชีวิตได้ บางกรณี จึงไม่ใช่เสียชีวิตด้วยโควิด เพราะอาการที่เกิดไม่เกี่ยวกับปอด ระบบทางเดินหายใจ กำลังหารือถึงการรายงานว่า เสียชีวิตจากโควิดหรือโรคประจำตัว แต่ตามหลักยังต้องระบุสาเหตุจากโควิดทั่วโลกนับแบบนี้ ถ้าเรานับอาจจะไม่ถูกต้อง จึงอาจต้องแยกนับว่าเป็นการเสียชีวิตจากโรคร่วม เช่น มะเร็ง เพราะอาการที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากโควิด แต่ถ้ามีอาการหายใจไม่ออก หอบเหนื่อย จะใช้ว่าเสียชีวิตจากโควิด
แคมป์ก่อสร้างแทบทุกแห่งติดเชื้อ
นพ.สุทัศน์ โชตนะพันธ์ ผอ.สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) กรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ กทม.ว่า ขณะนี้พบมากในแคมป์คนงานก่อสร้างแทบทุกแห่ง เนื่องจากการก่อสร้างต่างๆเริ่มกลับมาทำแบบปกติ แต่ที่พบอัตราการติดเชื้อมากที่สุดเป็น กทม.ตอนเหนือในจุดเดิมที่เคยมีการติดเชื้อโควิด ปัจจัยมาจากพฤติกรรมการทำงานของคนงานส่วนใหญ่ เมื่อเหนื่อยก็ละเลย ไม่เคร่งครัดการป้องกันตนเอง ดื่มน้ำรับประทานอาหารร่วมกันทำให้ติดเชื้อ สปคม.กับ กทม.เน้นย้ำเรื่องการปฏิบัติตัวป้องกันตนเองในกลุ่มคนงานก่อสร้าง ส่วนอาการผู้ป่วยกลุ่มคนงานพบไม่มีอาการ จึงใช้มาตรการดูแลรักษาในบับเบิลแอนด์ซีล มีบางส่วนที่มาพักรักษาในฮอสพิเทล ทำให้ขณะนี้อาจจะพบปัญหาในส่วนนี้ว่าเตียงสีเขียวอาจไม่เพียงพอ
ผู้ป่วยเด็กใน รพ.เพิ่มขึ้น
ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงการบริหารจัดการเตียงผู้ป่วยโควิด-19 ว่า ขณะนี้ผู้ติดเชื้อมากขึ้น เปรียบเทียบผู้ป่วยที่รักษาอยู่ใน รพ.เดือน ม.ค.และ ก.พ.65 โดยวันที่ 16 ม.ค. อยู่ที่ 33,286 คน เพิ่มเป็นสองเท่า วันที่ 16 ก.พ.อยู่ที่ 64,900 คน แต่ผู้ป่วยปอดอักเสบลดลงเล็กน้อย ผู้ใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่ม 50 คน คิดเป็นร้อยละ 0.1 ผู้เสียชีวิตเฉลี่ยรายเดือน ม.ค. 18 คน เฉลี่ย ก.พ. 23 คน ผู้ป่วยเด็กเพิ่มขึ้นที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี หรือ รพ.เด็ก เดือน ม.ค.ทั้งเดือนมีผู้ป่วยเด็ก 207 คน เทียบกับ ก.พ.ครึ่งเดือนมี 147 คน ยอมรับผู้ป่วยใน รพ.มากขึ้น
HI–CI กทม.รับผู้ป่วยเขียววันละหมื่น
นพ.สมศักดิ์กล่าวต่อว่า การประเมินจากหน่วยบริการทุกสังกัดใน กทม. เช่น ศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร 69 แห่ง คลินิกชุมชนอบอุ่นและ รพ.ขนาดเล็ก 132 แห่ง รพ.สังกัดกรมการแพทย์ 16 แห่ง รพ.สังกัด UHosNet 3 แห่ง รพ.สังกัดสำนักการแพทย์กรุงเทพมหานคร 8 แห่ง กาชาด 11 อีก 1 แห่ง สามารถรับผู้ป่วยใหม่เข้าสู่ระบบ HI ได้อย่างน้อยวันละ 5,500 คน ส่วน CI ที่ดำเนินการอยู่มีประมาณ 3,400 กว่าเตียง ครองเตียงประมาณครึ่งหนึ่ง ผู้ว่าฯ กทม.ประกาศจะเปิดเพิ่มอีก 13 แห่ง กว่าพันเตียง ดังนั้นรวม HI และ CI จะรับผู้ป่วยใหม่สีเขียวได้วันละประมาณ 1 หมื่นคน ที่ต่างจังหวัดมีกระบวนการทำ CI ร่วมกับภาคท้องถิ่นเข้มแข็ง

เน้นให้เตียงรับผู้ป่วยจำเป็น
อธิบดีกรมการแพทย์กล่าวด้วยว่า ส่วนเตียงใน รพ. 13 เขตสุขภาพทั่วประเทศ รวมถึงฮอสพิเทล มีเตียงรองรับ 174,029 เตียง ครองเตียงไปแล้ว 80,756 เตียง ยังว่าง 93,273 เตียง เตียงใน กทม.และปริมณฑลเฉลี่ยยังว่างเกือบครึ่ง ส่วนใหญ่อยู่ที่เอกชนที่ยังดำเนินการ หลังวันที่ 1 มี.ค.ถ้ายกเลิก UCEP ฮอสพิเทลอาจหายไปบางส่วน ได้เตรียมการรองรับไว้แล้ว ยังเน้นย้ำถึงนโยบาย HI&CI First เพื่อให้มีเตียงรองรับผู้ป่วยที่จำเป็นเปรียบเทียบช่วงพีกปีที่แล้วเดือน ก.ย.64 จำนวนเตียงใน กทม.ขยับไปถึง 76,208 เตียง ทำให้ผู้ป่วย Non-COVID เสียโอกาส ผู้ป่วยบางรายต้องเลื่อนผ่าตัดเพราะปรับมารับผู้ป่วยโควิด ปลายปี 64 สถานการณ์ดีขึ้น รพ.ต่างๆมาดูแลผู้ป่วย Non-COVID แต่มีความพร้อมหากมีผู้ป่วยโควิดมากขึ้น สามารถขยายปรับมารองรับได้
โคราชใช้เตียงเขียวไป 100%
นพ.สมศักดิ์กล่าวต่อว่า ภาพรวมจังหวัดมีเตียงเพียงพอ แต่หากพิจารณาจังหวัดที่มีผู้ป่วยจำนวนมาก อย่างเช่น นครราชสีมา เตียงสีเขียวใช้ไป 100% แล้ว ระลอกนี้ต่างจากระลอกที่แล้ว พบว่ามีผู้ป่วยโรคอื่นๆ เบาหวาน ความดัน โรคหัวใจที่ควบคุมไม่ได้ โรคกระเพาะหรือมีเลือดออกในกระเพาะเข้ามารักษาใน รพ.ด้วยโรคอื่นที่ว่า แต่ตรวจคัดกรองแล้วพบเป็นโควิดด้วย ต้องแยกมานอนใน รพ. ทั้งที่เป็นผู้ป่วยสีเขียว แต่มีโรคอื่นก็ถูกจัดเป็นสีเหลือง ทั้งนี้ขอย้ำผู้ป่วยสีเขียวที่ไม่มีโรคร่วมให้ใช้นโยบาย HI&CI First เพื่อนำเตียงรองรับผู้ที่มีอาการจำเป็นจริงๆให้ รพ.รับคัดกรองเด็กต่ำกว่า 1 ปี
นพ.สมศักดิ์กล่าวด้วยว่า ที่รพ.เด็ก พยาบาลหน้างานต้องหมุนเตียงทุกวัน เนื่องจากมีการแอดมิตผู้ป่วยเด็กสีเขียวค่อนข้างมาก เข้าใจหัวอกพ่อแม่ บางรายรับไว้นอน รพ.สังเกตอาการ 1-2 วัน หากไม่มีอะไรให้ไปรักษาที่บ้านต่อให้ครบ 10 วัน โดยเฉพาะเด็กต่ำกว่า 1 ปีจะรับมาช่วยดูก่อน ต้องทำความเข้าใจพ่อแม่รายไหนที่จำเป็นนอน รพ.จะต้องหาเตียงรับให้ได้ ฝากถึง รพ.ทุกแห่งให้ช่วยรับผู้ป่วยโดยเฉพาะต่ำกว่า 1 ปี คัดกรองอาการว่าจำเป็นต้องนอน รพ.หรือไม่ เช่น รพ.เด็กที่ต้องเวียนรับและหมุนเตียงตลอด
เตรียมแผนรับมือหากผู้ป่วยพุ่ง
นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า แผนระยะต่อไป หากจำนวนผู้ป่วยเพิ่ม ต้องยอมรับว่าผู้ติดเชื้อไต่ระดับทุกวัน ได้เตรียมเพิ่มการจัดระบบโฮเทลไอโซเลชัน มีโรงเรียนแพทย์บางส่วน รพ.สังกัดกรมการแพทย์ รพ.สังกัดกรุงเทพมหานคร กำลังเตรียมการได้พูดคุยกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จัดทำเกณฑ์ UCEP Plus หากประเมินเป็นผู้ป่วยสีเหลืองขึ้นไป ผู้ป่วยโควิดสีเขียวและมีโรคร่วมเข้าข่าย UCEP Plus นอน รพ.ไหนก็ได้รวมทั้ง รพ.เอกชน สถิติรอบที่แล้วกลางเดือน ส.ค.64 ผู้ป่วยใน กทม.สูงสุด 5,140 คน ทั่วประเทศสูงสุดอยู่ที่ 23,000 กว่าคน หากขึ้นถึงระดับนั้นอาจต้องเตรียมเตียง Non-COVID มาเป็นเตียงโควิด

วัคซีนเชื้อตายปลอดภัย
นพ.สมศักดิ์ยังกล่าวถึงกรณี นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ระบุถึงกระทรวงสาธารณสุขอนุมัติให้ฉีดวัคซีนเชื้อตายในเด็กเสี่ยงเกิดผลข้างเคียงอันตรายและยังไม่มีผลการศึกษารองรับ ว่า หากพูดถึงเรื่องความปลอดภัย วัคซีนเชื้อตายไม่มีประเด็นเลย จีนฉีดไปแล้วจำนวนมากไม่มีอันตรายกับเด็ก เรื่องผลข้างเคียงไม่มี แต่ประสิทธิภาพอาจไม่ได้สูงเท่าตัวอื่น แต่ป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ การฉีดเป็นสิทธิของประชาชนเลือกไม่ได้บังคับ ส่วนที่ รพ.เด็กยังฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม อยู่ระหว่างประสานกรมควบคุมโรคเพิ่มสูตรการฉีดวัคซีนเชื้อตายในเด็ก ย้ำว่าประชาชนสามารถเลือกได้
รพ.เอกชนเข้าใจผิดเก็บเงินผู้ป่วย
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมการปรับให้ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ให้ได้รับสิทธิการรักษาตามระบบปกติ เนื่องจากความรุนแรงของโรคโควิด-19 ลดลง ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถดูแลรักษาที่บ้านได้ โดยไม่จำเป็นต้องเข้าพักที่สถานพยาบาล ซึ่งจะช่วยให้การบริหารจัดการเตียงสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจากโรคโควิด-19 หรือโรคอื่นๆ เป็นไปอย่างเหมาะสม โดยคาดว่าจะมีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เพื่อรองรับสิทธิการรักษาของผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในช่วงเดือน มี.ค.นั้น พบว่ามีสถานพยาบาลเอกชนบางแห่งมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน ทำการเรียกเก็บ ค่ารักษาพยาบาลจากผู้ป่วยโรคโควิด-19 หรือญาติ
ขู่โทษและทั้งจำทั้งปรับ
นพ.ธเรศกล่าวต่อว่า ขณะนี้ยังไม่มีการยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโควิด-19 หากสถานพยาบาลเอกชนเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลจากผู้ป่วยโควิด-19 หรือญาติ ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกประกาศฉบับเดิม ถือว่าทำผิด พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ผู้ประกอบกิจการและผู้ดำเนินการสถานพยาบาลมีโทษ จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ การออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับใหม่ต้องมีการประชุมหารือเตรียมการให้พร้อมก่อนและเตรียมจัดทำ UCEP Plus เพื่อรองรับการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด-19 ที่ฉุกเฉินวิกฤติเข้าข่ายสีเหลืองสีแดง หรือผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาใน ICU ส่วนผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ หรือสีเขียวจะให้รักษาแบบกักตัวอยู่ที่บ้าน หรือ HI หรือศูนย์กักตัวในชุมชน หรือ CI หรือสถานที่กักตัวในโรงแรม (Hotel Isolation)
ป่วยโควิดถูกทิ้งกลางทาง
ขณะเดียวกัน ได้มีเรื่องราวรันทดใจของผู้ป่วยโควิดคนหนึ่ง โดยได้มีผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อว่า “ช่างเบีย ศรีเทพ รถยก รถสไลด์ อยู่ที่จุดบริการประชาชนมูลนิธิพ้งไล้ 16 ศรีเทพ” โพสต์รูปภาพหญิงอายุ 54 ปี เป็นผู้ป่วยโควิด-19 พร้อมระบุข้อความว่า “ผู้ป่วยโควิดหารถกลับลพบุรี #ผู้ป่วยถูกญาติทิ้งกลางทาง_ผู้ป่วยไม่ได้เข้าไปเดินในโลตัสน่ะครับ #มาถึงจุดนี้แล้วหรือ” โพสต์ดังกล่าวมีคนเข้ามากดไลค์ กดแชร์ จำนวนมากพร้อมแสดงความคิดเห็นสงสารหญิงคนดังกล่าว

ลูกปล่อยให้แม่กลับบ้านเอง
ต่อมาผู้สื่อข่าวพบนายณัฐชกิจนันท์ ยอดไสว อาสามูลนิธิพ้งไล้ 16 จุดศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ผู้โพสต์ข้อความ เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งว่าหญิงรายนี้ป่วยโควิดต้องการเดินทางกลับบ้านที่ จ.ลพบุรีและมาเดินอยู่ที่หน้าห้างโลตัส ต.สระกรวด อ.ศรีเทพ จึงจัดทีมงานใส่ชุด PPE เข้าไปพูดคุย ทราบว่าหญิงคนดังกล่าวมาอาศัยอยู่กับลูกที่ อ.ศรีเทพ ลูกและครูที่โรงเรียนแห่งหนึ่งพามาตรวจโควิด-19 ที่คลินิกใน อ.ศรีเทพ ผลติดเชื้อ จากนั้นลูกและครูที่มากับลูกได้ทิ้งผู้เป็นแม่ไว้ที่คลินิกบอกให้หาทางกลับบ้านเองที่ อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี เพราะสิทธิ์ในการรักษาโควิด-19 อยู่ที่นั่น จึงเดินเท้ามาเรื่อยๆ ประมาณ 1 กิโลเมตรถึงหน้าห้างโลตัส ระหว่างที่เดินมาไม่ได้แวะที่ไหนเมื่อมีคนเข้าใกล้จะตะโกนบอกว่าติดโควิดอย่าเข้าใกล้ เวลาปวดปัสสาวะก็แวะปลดทุกข์บริเวณข้างทางที่ลับตาคน รู้สึกสงสารมาก จึงจัดหารถกระบะและมีอาสาสมัครขับรถไปส่งหญิงดังกล่าวกลับบ้านที่ อ.ท่าวุ้ง ไปรักษาตัวแล้ว
ชลบุรียอดพุ่งทะยาน 1,520 ราย
ขณะที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 พุ่งถึง 1,520 ราย มาจากผลตรวจ RT-PCR 811 ราย ผลตรวจ ATK 709 ราย พื้นที่ระบาดใน 10 อำเภอ สูงสุด 4 อันดับ มี อ.บางละมุง 407 ราย อ.ศรีราชา 380 ราย อ.เมืองชลบุรี 173 ราย อ.บ้านบึง 142 ราย มีการระบาดกลุ่มก้อนในสถานประกอบการหลายแห่ง บุคลากรการแพทย์ติดเชื้อเพิ่ม 7 คน ผู้เสียชีวิตใหม่ 1 คนอายุ 77 ปี เป็นผู้มีโรคประจำตัวคือเบาหวาน ความดันสูง
หวั่นคลัสเตอร์เขาวงพระจันทร์
ภายหลังมีประชาชนจากทั่วสารทิศหลั่งไหลไปกราบสักการะรอยพระพุทธบาทบนวัดเขาวงพระ จันทร์ อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี พร้อมพิสูจน์ศรัทธาการเดินขึ้นเขาวงพระจันทร์พิชิตบันได 3,790 ขั้น โดยวัดเปิดให้ขึ้นเขาตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. ทำให้บรรยากาศที่วัดมีความคึกคักแน่นขนัดไปด้วยผู้คนทั้งกลางวันกลางคืนจนเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นคลัสเตอร์ เนื่องจากมีนักแสวงบุญเดินทางมามากในช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ จนรถราติดเป็นทางยาวนับ 10 กม. ต่อมาวัดได้ขยายวันขึ้นเขาไปจนถึง 27ก.พ.หวังลดจำนวนคนไม่ให้แออัดเกินไป ทำให้คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดลพบุรีมีความห่วงใยและมอบหมายให้สำนักงานสาธารณสุขอำเภอโคกสำโรงจัดทีมเข้าไปตรวจ ATK ผู้ประกอบการร้านค้าในพื้นที่วัดเขาวงพระจันทร์กว่า 130 ร้านค้า 200 กว่าคน กำหนดให้ผู้ที่จะขึ้นเขาต้องผ่านจุดคัดกรองแสดงผลการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 2 เข็ม สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาขณะเดินขึ้นลงเขาเพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 และวัดจะเปิดไฟขึ้นเขาตอนกลางคืนจนถึงวันที่ 20 ก.พ. หลังจากนั้นจะให้ขึ้นได้เฉพาะเวลากลางวัน

โสมขาวอ่วมติดเชื้อพุ่งนิวไฮ
ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดที่เกาหลีใต้ยังวิกฤติหนัก มีรายงานผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งทะลุเกิน 1 แสนคน เป็นครั้งแรกนับแต่เริ่มการระบาดใหญ่ โดยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เมื่อ 18 ก.พ. สูงถึง 109,831 คน ทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสม 1,755,806 คน ขณะที่มีผู้เสียชีวิต 45 ราย นับเป็นอัตราการเสียชีวิตที่ค่อนข้างต่ำที่ 0.41% เนื่องจากประชาชนในประเทศกว่า 86% ได้รับวัคซีนครบถ้วนและกว่า 58% ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้ว ขณะที่ทางการเริ่มผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มทางสังคมบางส่วนตั้งแต่ 19 ก.พ. ทั้งที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขออกคำเตือนว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันอาจทะลุ 1.7 แสนคนในช่วงสิ้นเดือนนี้ คาดว่าจะสูงสุดถึง 2.7 แสนคนช่วงกลางเดือน มี.ค. วันเดียวกัน กัมพูชาประกาศเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กลุ่มเด็กเล็กอายุ 3-4 ปี ตั้งแต่วันที่ 23 ก.พ. โดยใช้วัคซีนซิโนแวคและซิโนฟาร์ม และฉีด 2 เข็ม ในระยะเวลาห่างกันอย่างน้อย 28 วัน