Chonburi Sponsored

“ทิพานัน” โชว์ผลงาน “บิ๊กตู่” ปั้นโครงการศูนย์ธุรกิจ EEC วางเป้าหมาย 1 ใน 10 เมืองน่าอยู่อัจฉริยะของโลก

Chonburi Sponsored
Chonburi Sponsored
สยามรัฐออนไลน์ 16 มกราคม 2566 09:22 น. การเมือง

เมื่อวันที่ 16 ม.ค.66 น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ความสำคัญและผลักดันเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC อย่างต่อเนื่อง โดยได้เร่งรัดติดตามโครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะอย่างใกล้ชิด ซึ่งโครงการนี้มีพื้นที่โครงการ 14,619 ไร่ ตั้งอยู่ที่ ต.ห้วยใหญ่ จ.ชลบุรี มีการจัดวางโซนพื้นที่พัฒนาเมือง ได้แก่

– ศูนย์สำนักงานภูมิภาค และศูนย์ราชการ EEC
– ศูนย์กลางการเงิน EEC
– ศูนย์การแพทย์แม่นยำ และการแพทย์อนาคต
– ศูนย์การศึกษา วิจัยและพัฒนา นานาชาติ
– ศูนย์ธุรกิจอนาคต
– ที่พักอาศัยสำหรับคนทุกกลุ่ม

รวมถึงการเดินทางภายในพื้นที่ จะมีการวางโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมด้วยการไม่ใช้เครื่องยนต์เป็นหลัก เช่น รถไฟเชื่อมโยง รถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้ารางเบาในเขตพื้นที่เมืองชั้นใน รถเมล์ไฟฟ้า และเรือโดยสารภายในพื้นที่โครงการ

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ทั้งนี้จากผลการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565 ที่มีมติเห็นชอบ ได้อนุมัติให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เข้าใช้ประโยชน์ที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จำนวน 14,619 ไร่  ในท้องที่ ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี  เพื่อดำเนินโครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ  ล่าสุดในการประชุมคณะกรรมการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมาได้มีมติเห็นชอบและรับทราบความคืบหน้าโครงการที่อยู่ในเขต สปก. ตามที่ได้จัดทำแผนแม่บทแล้วเสร็จกำหนดระยะเวลาพัฒนาโครงการ 20 ปีแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะแรก 5,700 ไร่ระยะที่สอง 4,000 ไร่ และระยะสุดท้าย 4,919 ไร่นั้น สกพอ.และ ส.ป.ก. ได้ดำเนินการจ่ายค่าชดเชยให้เกษตรกรผู้มีสิทธิใช้ประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. ในระยะแรกแล้วทั้งสิ้น 2,483 ไร่ ซึ่งคาดว่าจะสามารถเตรียมที่ดินในเฟสแรกให้พร้อมได้ใน 5 ปีข้างหน้า โดยภายในไตรมาสแรกของปี 2566 นี้ จะเริ่มดำเนินการสรรหาและคัดเลือกผู้เชี่ยวชาญในการสร้างเมืองอัจฉริยะระดับโลก ที่มีประสบการณ์พัฒนาสมาร์ทซิตี้ให้สำเร็จทั้งในเกาหลี ซาอุดิอาระเบีย และญี่ปุ่น เพื่อออกแบบผังและจัดโซนของโครงการ รวมทั้งวิเคราะห์ธุรกิจที่เหมาะสมที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่ โดยกำหนดให้ทำการศึกษาแล้วเสร็จใน 18 เดือน และจะเริ่มให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนและพัฒนาพื้นที่ได้ในปี 2567

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เพื่อเดินหน้าไปสู่เป้าหมายในการพัฒนาศูนย์กลางธุรกิจและการเงินระดับภูมิภาคมาตรฐานเทียบเท่าสากลใน  เพื่อให้เป็นเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ 1 ใน 10 เมืองของโลกในปี 2580ซึ่งแหล่งที่อยู่อาศัยแห่งอนาคตให้ มนุษย์และเทคโนโลยีอยู่ร่วมกัน ตามแนวทางเศรษฐกิจ BCG ที่มีคุณภาพชีวิตระดับสากลที่เมื่อแล้วเสร็จตามเป้าหมาย จะสามารถรองรับประชากรได้กว่า 350,000 คน ภายในปี 2575 สร้างงานได้ไม่น้อยกว่า 200,000 ตำแหน่ง รองรับแรงงานคุณภาพสูง มูลค่าการจ้างงานกว่า 1.2 ล้านล้านบาท มีธุรกิจและบริการตามมาตรฐานสากล 150 -300 กิจการ และจากมูลค่าการลงทุนโดยรวมประมาณ 1.35 ล้านล้านบาท จะสามารถช่วยกระตุ้นการขยายตัวของ GDP ให้เพิ่มขึ้นประมาณ 2 ล้านล้านบาท ภายใน 10 ปี  ที่สำคัญสินทรัพย์ที่โอนกรรมสิทธิ์กลับมาเป็นของรัฐ เมื่อสิ้นสุดสัญญา 50 ปี จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นประมาณ 5 เท่า

 “พล.อ.ประยุทธ์ ผลักดันศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะมีความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน  เพื่อสร้างอนาคตที่ดีให้กับคนรุ่นถัดไป  ควบคู่ไปกับมาตรการต่างๆที่ช่วยเหลือเยียวยาและสร้างโอกาสให้กับประชาชนทุกกลุ่ม ลงลึกครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศตามนโยบายไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ”รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
 

Chonburi Sponsored
อำเภอ บางละมุง

อำเภอบางละมุงแต่เดิมมีฐานะเป็นเมืองบางละมุง ตั้งอยู่ที่บ้านบางละมุง ตำบลบางละมุง จนถึง พ.ศ. 2444 ได้ยุบเมืองบางละมุงเป็นอำเภอขึ้นต่อจังหวัดชลบุรี โดยมีที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่บริเวณริมคลองนกยาง ซึ่งขณะนั้นบริเวณดังกล่าวเป็นท่าน้ำที่สำคัญทั้งทางด้านการคมนาคมและเป็นที่ชุมนุมของเรือสินค้าต่าง ๆ ต่อมาคลองนกยางตื้นเขินไม่สะดวกต่อเรือสินค้าต่าง ๆ จะล่องเข้าออก ทั้งสภาพพื้นที่ไม่เหมาะสมที่จะขยายชุมชนให้กว้างขวาง นายอำเภอสมัยนั้น คือ นายเจิม (ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาสัตยานุกูล) จึงย้ายที่ว่าการอำเภอไปตั้งที่ใหม่บริเวณริมทะเลในตำบลนาเกลือ เมื่อ พ.ศ. 2452